กทม. เริ่ม 26 ส.ค.นี้ เช็กเงื่อนไข 30 บาทรักษาทุกที่ หวั่นคนไข้ล้นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ส่วนสถานพยาบาลขนาดเล็ก เสี่ยงขาดทุนหนัก แฉบางแห่งเลี้ยงไข้ไม่ส่งต่อ ร้องเรียน 40 ราย/วัน เพราะมีปัญหางบประมาณเรื้อรัง หวังเริ่มโครงการ อุดช่องโหว่เพื่อให้คนไข้เข้าถึงการรักษาสะดวก

ข้อมูลจากเว็บไซต์ ไทยคู่ฟ้า ระบุว่า รัฐบาลเตรียมเดินหน้าโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในวันจันทร์ที่ 26 ส.ค. 2567 นับเป็นจังหวัดนำร่องที่ 46 หลังเริ่มโครงการ ประชาชนที่มีสิทธิบัตรทองที่อยู่ในกรุงเทพฯ สามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิ และประจำตามสิทธิของตนเอง

หน่วยบริการนวัตกรรมอีกราว 1,500 แห่ง ที่มีสัญลักษณ์ร้านยาคุณภาพ คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น คลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น และคลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น พร้อมทั้ง บริการแพทย์ทางไกล เจาะเลือดที่บ้าน รถรับส่งผู้ป่วย รถทันตกรรมเคลื่อนที่ ตู้เทเลเมดในชุมชน โดยมีโรงพยาบาลรัฐเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อผู้ป่วย

...

เงื่อนไขการใช้ สิทธิบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่ คนไข้สามารถใช้เพียงบัตรประชาชนใบเดียว โดยมีขั้นตอนดังนี้

1.ผู้ป่วยกลับไปที่หน่วยบริการปฐมภูมิประจำของตนเอง หากเกินศักยภาพจะส่งตัวไปยังโรงพยาบาลประจำตามสิทธิ หรือในเครือข่าย

2.ร้านยา คลินิกเอกชน ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลเครือข่าย ด้วยระบบส่งต่อผู้ป่วยแบบอิเล็กทรอนิกส์

3.เจ็บป่วยฉุกเฉิน กรณีไม่ถึงขั้นวิกฤติ สามารถส่งรักษาโรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง หรือโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมกับ สปสช.

4.คนไข้วิกฤติถึงแก่ชีวิต เช่น หมดสติ หายใจไม่ออก เจ็บหน้าอกรุนแรง ส่งไปยังโรงพยาบาลรัฐ หรือเอกชนที่ใกล้ที่สุด

แม้มีข้อมูลจากหน่วยงานเกี่ยวข้องยืนยันการใช้สิทธิที่สามารถนำบัตรประชาชนใบเดียวมารักษาที่โรงพยาบาลได้ แต่ในการใช้จริงหลายพื้นที่นำร่องกลับเจอปัญหา เช่น โรงพยาบาล หรือสถานรักษาพยาบาลท้องถิ่นไม่ส่งต่อ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ หากเริ่มดีเดย์ 26 ส.ค. 67 อาจทำให้บางโรงพยาบาลมีคนไข้เข้ามารักษาเกินกว่ากำลังบุคลากรทางการแพทย์ที่จะรองรับได้

กทม. เงื่อนไขเริ่มใช้สิทธิ 30 บาทรักษาทุกที่

นายสมชาย กระจ่างแสง อนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค มองโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่เริ่มวันที่ 26 ส.ค.นี้ ว่า เบื้องต้นด้วยความที่กรุงเทพฯ มีประชากรจำนวนมาก ทำให้มีเงื่อนไขการใช้สิทธิได้ทุกที่ ภายใต้เงื่อนไขสถานพยาบาลต้องมีโลโก้ 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งใช้ความสมัครใจของสถานพยาบาลก่อน

ขณะเดียวกันมีการประชุมเพื่อหาข้อสรุปที่เกี่ยวกับมติทางการเงินของสถานพยาบาลที่จะเข้าร่วม เพื่อให้สถานพยาบาลที่เข้าร่วม 30 บาทรักษาทุกที่ ในพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถอยู่ได้

การเริ่มโครงการนี้อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสื่อสารกับประชาชนให้ชัดเจน ไม่อย่างนั้นคนจะแห่ไปรักษาโรงพยาบาลชั้นนำ เช่น ศิริราช, วชิระ, พระมงกุฎเกล้า หรือโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ในสังกัดมหาวิทยาลัย จนล้นมากกว่ากำลังบุคลากรทางการแพทย์รองรับได้

หากประเมินสถานพยาบาลภาพรวมของกรุงเทพฯ แทบไม่รองรับกับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ เนื่องจากพบว่ามีคลินิก และสถานพยาบาลขนาดปฐมภูมิ ไม่ทำการส่งตัวไปยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่จำนวนมาก จากการที่เข้าไปเป็นคณะกรรมการด้านการร้องเรียนสถานพยาบาลของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ พบการไม่ส่งต่อคนไข้เฉลี่ย 40 รายต่อวัน

...

“การไม่ส่งตัวของสถานพยาบาล แม้มีโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ส่วนหนึ่งมาจากสถานพยาบาลขนาดเล็กสามารถรักษาได้ แต่อีกส่วนมาจากความจงใจไม่ส่งต่อ ด้วยเหตุผลทางการเงินของสถานพยาบาลนั้น ถือเป็นเรื่องที่ภาคประชาชนรับไม่ได้ และเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงการรักษาของประชาชน”

หน่วยรักษาระดับปฐมภูมิกว่า 200 แห่งในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ผ่านมาพยายามจะมีการปรับเปลี่ยน แต่พบว่ามีปัญหามาจากงบเหมาจ่ายรายหัวที่โอนให้คลินิกชุมชนอบอุ่นทั้งก้อน โดยคลินิกฯ ใช้ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ และส่งต่อผู้ป่วย

การดำเนินโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ในกรุงเทพฯ หลังเริ่มโครงการ ต้องมีการตั้งวอร์รูม ประเมินผลกระทบ เนื่องจากในพื้นที่มีประชากรแฝงจำนวนมาก ขณะเดียวกันงบประมาณในการส่งต่อคนไข้ อาจทำให้สถานพยาบาลขนาดเล็กบางแห่งไม่สามารถอยู่ได้

“จากการแลกเปลี่ยนกับผู้บริหารสถานพยาบาลหลายแห่ง พบว่าโครงการที่ต้องใช้งบประมาณมากในการเบิกจ่าย ส่วนใหญ่ปีที่ 1-2 โรงพยาบาลสามารถอยู่ได้ แต่พอเริ่มเข้าปีที่ 3 สถานพยาบาลเริ่มขาดทุน ทำให้เกิดการไม่ส่งตัวคนไข้ไปยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่”

...

โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ใช้งบประมาณสูง แต่จำนวนผู้ใช้บริการน้อย

"นายสมชาย" เล่าว่า จากการรวบรวมข้อมูลพบว่าสถานพยาบาลทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่สถานพยาบาลใช้เงินมากสุด แต่ตัวเลขการเข้าถึงบริการกลับน้อยกว่าพื้นที่อื่นอย่างผิดปกติ แต่ก็มีความต้องการจะให้เทงบประมาณลงไปอีก เพราะทุกวันนี้ตัวงบประมาณที่ใช้ไปจำนวนมากกลับสวนทางกับปริมาณของผู้ใช้บริการ

อีกประเด็นสำคัญที่ภาคประชาชนไม่เห็นด้วย กรณีที่โรงพยาบาลต้องการให้มีการร่วมจ่าย หรือจ่ายเพิ่มจากสิทธิการรักษา 30 บาท ถือเป็นประเด็นที่ไม่เป็นธรรมกับประชาชน ทำให้เกิดหายนะกับระบบสุขภาพในภาพรวมของประเทศได้.