“ชวน” กรีด เสียดาย “เศรษฐา ทวีสิน” หลังศาล รธน. วินิจฉัยพ้นนายกฯ ปมจริยธรรมและคุณสมบัติ เหตุรัฐบาลเลือกพวกพ้อง เชื่อ อำนาจไม่เปลี่ยนมือ
“เศรษฐา ทวีสิน” กลายเป็น อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย หลังจาก ศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัย โดยให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และมีพฤติการณ์ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) โดยมีมติ 5:4
เกี่ยวกับเรื่องนี้ “เรา” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ กับ "นายชวน หลีกภัย" อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรี มองเรื่องนี้ว่า อย่างที่เคยพูดไปแล้วว่า ส่วนตัวมีความชื่นชม สว.ทั้ง 40 คน ที่กล้ายื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้ เนื่องจากฝ่ายค้านไม่กล้าทำ
นายชวน กล่าวว่า ส่วนตัวผมเชื่อว่า “ท่านเศรษฐารู้ว่าสิ่งที่ทำไปนั้นมันไม่ถูก แต่เชื่อว่าท่านคงเกรงใจผู้มีพระคุณ” ซึ่งเรื่องนี้ผมเคยพูดมาแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาพูดวันนี้ การแต่งตั้งคุณพิชิต (พิชิต ชื่นบาน) ก็เหมือนเป็นการตอบแทนสิ่งที่คุณพิชิต เคยทำ และเรื่องนั้นเขาคงไม่คิดและทำเอง เพราะมีผู้ใหญ่ให้เขาทำ
...
ส่วนสิ่งที่ท่านเคยทำ และเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องโดยที่ท่านไม่รู้ คือ “เรื่องภายในพรรค” กรณีแต่งตั้งตำรวจ โดยมี สส.ขอมา และท่านก็ตอบว่า ได้บ้างไม่ได้บ้าง เป็นที่มาของคำถามว่า “นักการเมืองทำสิ่งเหล่านี้ได้หรือไม่...” ซึ่งประเด็นนี้ผมวิจารณ์ว่าท่านไม่รู้จริงๆ ดังนั้น คนที่มีความรู้จึงควรแนะนำท่าน
นายชวน ยังกล่าวถึงข่าวลือต่างๆ ก่อนที่ศาลจะวินิจฉัยว่า หลายคนพูดก่อนหน้านี้ว่า “ผิดจริง แต่รอด...” การพูดแบบนี้เพราะเป็นการประเมินศาล รธน. น้อยเกินไป เพราะ ศาล รธน. ไม่ใช่แค่นักกฎหมาย หรือนักปกครองธรรมดา แต่ละท่านล้วนมีประสบการณ์สำคัญมาหลายด้าน บางท่านเคยเป็นศาสตราจารย์ คณบดี แต่เรากลับมอง “คำวินิจฉัย” ไม่ถูกใจใครบางคน เรื่องแบบนี้ตามระบบสามารถวิจารณ์ได้ แต่เราต้องให้เกียรติศาลแต่ละท่าน เพราะท่านเหล่านั้นย่อมคิดอะไรถี่ถ้วนแล้ว เพราะสิ่งที่ท่านวินิจฉัย แต่ละท่านจะจารึกไว้ว่าตัดสินอย่างไร”
นายชวน ยอมรับว่า ผลการตัดสินออกมาแล้ว ส่วนตัวไม่อยากจะให้ความเห็นมากมาย เพียงแต่อยากจะเท้าความว่าก่อนหน้านี้ว่าเป็นมาอย่างไร
เสียดาย เศรษฐา ไม่เลือกนิติธรรม แต่เลือกพวกพ้อง
อดีตประธานรัฐสภา มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ เสียงข้างมากย่อมเป็นเสียงข้างมาก และคิดว่าคงจะมีการเปลี่ยนตัวไปตามวาระ บางทีเราอาจจะเห็นว่า “ความวุ่นวาย” นั้นอาจจะเป็นเพียงความรู้สึก การเมืองในระบบนี้ก็มีตัวบทกฎหมายกำหนดระเบียบต่างๆ ไว้ชัดเจน เราก็ต้องปฏิบัติไปตามนั้น เพียงแต่ว่าเราไปมองเรื่องคำตัดสิน คาดการณ์ต่างๆ เพื่อหลีกหนีความวุ่นวาย
“ผมว่าการใช้หลักการแบบนี้ไม่ถูกต้อง บ้านเมืองต้องยึดหลักกฎหมาย หลักนิติธรรม ที่ผ่านมาเคยเกิดขึ้นกับ “ภาคใต้” ในเวลานี้ ก็ต้องยอมรับว่ามาจากความพลาดเรื่องนโยบาย ตั้งแต่ 2544 ที่เราเลือกใช้วิธีการ “นอกหลักกฎหมาย” ด้วยเก็บหรือฆ่ากัน กลายเป็นที่มาของปัญหา”
นายชวน ย้ำว่า เคยพูดถึงรัฐบาลนี้ในการอภิปรายในมาตรา 152 ว่า “รัฐบาลนี้มีโอกาสเลือกว่าจะยึดหลัก “นิติธรรม” หรือ “เลือกพวก” แต่น่าเสียดาย รัฐบาลเลือกเอาพวก แต่เวลาท่านเศรษฐาพูด ท่านก็มักจะพูดว่ายึดหลักนิติธรรม ดังนั้นเมื่อเรามีหลักก็ไม่วุ่นวายอะไร เสียงข้างมากก็สามารถเสนอชื่อที่ปรากฏตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป แม้จะเกี่ยงกันบ้าง แต่เสียงข้างมากก็ยังชัดเจนอยู่ และเชื่อว่าไม่มีพรรคไหนอยากออกมาเป็นฝ่ายค้าน
...
วิ่งเต้น เส้นสาย มีอยู่จริง อย่าคิดว่าทำอะไรก็ได้!
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลต่อ “ผู้อยู่เหนือ” พรรคเพื่อไทย หรือไม่ นายชวน คิดว่า ไม่เปลี่ยนแปลงอะไร เพียงแต่ว่า “ความเชื่อ” ที่คิดว่าจะวิ่งเต้น หรือทำอะไรได้นอกกติกา มันคงไม่ง่ายเสมอไป อย่างน้อยบุคคลในองค์กร หรือองค์กรอิสระ ก็มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี
“ที่ผมพูดแบบนี้ เพราะในอดีตมีการ “วิ่ง” กันทุกเรื่อง วิ่ง...จนคนวิ่งติดคุก เรื่องนี้ผมรู้ดี เพราะผมเป็นคนสู้คดียุบพรรคมา 3 ครั้ง และทุกครั้งที่รอดมาได้ ก็ยังขอบคุณตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ยึดความชอบธรรมถูกต้อง แต่คนที่ไม่ถูกต้อง และถูกยุบโดยศาล ก็มีการด่าทอ พูดง่ายๆ คือ อะไรที่วิ่งไม่ได้ก็โกรธ และคนคนหนึ่งทำให้ความเชื่อของประชาชนต่อสถานบันรู้สึกลังเล ทำไมคนคนหนึ่งมีสิทธิเหนือคนอื่น ทำไมไม่เสมอภาค ดังที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้แถลงเมื่อเดือนก่อน และเป็นองค์กรที่กล้าพูดในสิ่งที่คนทั่วไปก็รู้ และทำไมรัฐบาลไม่พยายามพูด”
นายชวน กล่าวต่อว่า รู้สึกเสียดาย รัฐบาลเลือกพวก มากกว่า นิติธรรม หากเลือกนิติธรรม รัฐบาลก็ไปรอด อย่ามีเงื่อนไข กรณีนี้ต้องงดเว้น ขอแค่ยึดหลักกฎหมาย อาจจะยากหน่อย สำหรับคนที่เคยชินในระบบเส้นสาย วิ่งเต้น แต่ถ้าไม่ยึดหลักนี้ บ้านเมืองเราก็จะไม่สามารถเดินหน้า บางเรื่องเราต้องยอมเจ็บปวด เราต้องยึดกฎหมายเป็นหลัก หากพบว่ากฎหมายไม่ดี เราก็แก้ไขได้ หากเราไม่ต้องการให้เกิดการ “ยุบพรรคการเมือง” เราก็ต้องไปแก้ที่กฎหมาย แต่ตราบใด กฎหมายยังเขียนอยู่ เราก็ต้องยึดหลักกฎหมาย
“เงินสำหรับบางคนมันซื้อได้ มันจึงทำให้เกิดหลายมาตรฐาน เราตำหนิต่างประเทศที่เข้ามาวุ่นวายกับเรา แต่ต่างประเทศเองก็มองว่าเหตุใดหลักกฎหมายไม่น่ามั่นคง หรือน่าเชื่อถือ เพราะทำไมบางคนมีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่น บางคนมีสิทธิมากกว่าคนทั่วไป แม้กระทั่งเรื่อง “นักโทษ” อย่างที่เราเห็น มันตำตาคนทั่วไป”
...
แคนดิเดตนายกฯ และท่าทีของ ปชป.
คนที่มีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป นายชวน บอกว่า ตนไม่มีสิทธิที่จะวิจารณ์ เพราะโดยเงื่อนไขรัฐธรรมนูญก็มีข้อจำกัดจากบุคคลที่ระบุชื่อไว้ในพรรคการเมือง
คิดว่าคนที่อยู่เหนือพรรคเพื่อไทย จะยึดโยงในการเลือกนายกฯ อย่างไร นายชวน เชื่อว่า เขายังมีอำนาจอยู่เต็มที่ เขามีเสียงในรัฐบาล เพราะถ้าขาดเสียงเขา ก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้ แต่ส่วนตัวเชื่อว่าเสียงที่มียังคงหนักแน่นอยู่
ท่าทีของประชาธิปัตย์ นายชวน กล่าวว่า ประชาธิปัตย์ ก็เป็นประชาธิปัตย์ มี 25 เสียง คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ส่วนตัวใครอยากไปร่วมรัฐบาล ก็ถือเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ในส่วนพรรคจะทำอะไรก็ต้องทำตามมติพรรค
จะมีการดึงตัว หรือมีการชวนร่วมรัฐบาลหรือ ไม่ นายชวน ตอบว่า ไม่ทราบ เพราะตนไม่ใช่คณะกรรมการ เป็นเพียงสมาชิกพรรคคนหนึ่ง
การเปลี่ยนนายกฯ ระหว่างเทอม ส่งผลอย่างไรบ้าง ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย ตอบว่า มันคงจะสะดุดไปเล็กน้อย ในการตั้งหลักรัฐบาลใหม่ ก็เชื่อว่ามีเท่านี้ หลังจากนี้จะมีการแถลงนโยบายใหม่ ซึ่งบ้านเรามีระบบอยู่แล้ว เชื่อว่าไม่ถึงขั้นทำให้ประเทศหยุดชะงัก...
...
อ่านบทความที่น่าสนใจ