นายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย ชี้กัญชาต้องควบคุม ไม่เห็นด้วยเรื่องเสรี ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ เชื่อแม้มี พ.ร.บ.เฉพาะออกมาก็ยังคุมยาก เหตุไม่ได้ใช้เพื่อการแพทย์อย่างแท้จริง แต่มุ่งเรื่องนันทนาการ มองขณะนี้เละทุกอย่าง ควรทำประชามติให้รู้ผลชัดเจน!

ถ้าเราถามว่า "กัญชายังควรเสรีอยู่หรือไม่?" คุณผู้อ่านมีความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ ควรหรือไม่ควร เพราะเหตุใด?

ก่อนหน้านี้ทีมข่าวฯ ได้พาทุกคนไปรับฟังความคิดเห็นจาก 'คุณประสิทธิ์ชัย หนูนวล' เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ซึ่งเป็นผู้ที่สนับสนุนให้ไทยยังคงเสรีกัญชาต่อไป หากใครที่ยังไม่ได้อ่าน สามารถกดจิ้มที่ชื่อสกู๊ปด้านล่างนี้ได้เลย!

สำหรับวันนี้ เราลองมาฟังความคิดเห็นจาก 'ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์' กรรมการแพทยสภา และนายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ที่สนับสนุนให้รัฐบาลนำกัญชากลับสู่บัญชียาเสพติด อีกทั้งช่วงสนทนากัน คุณหมอย้ำกับเราว่า "ผมยืนยันไม่เห็นด้วยที่ให้เสรี ตั้งแต่วันแรกที่ปลดล็อกจนถึงวันนี้"

เอาล่ะครับ… จะรอช้าอยู่ใย เราลองมาดูกันดีกว่าว่า ผศ.นพ.สมิทธิ์ มีทรรศนะอย่างไรต่อประเด็นร้อนแรงนี้ และเมื่อคุณได้อ่านมุมมองจากทั้งสองแล้ว คุณมีความคิดเห็นอย่างไร?

...

แม้มี พ.ร.บ.เฉพาะ ก็คุมยาก : 

ผศ.นพ.สมิทธิ์ มองว่า กฎหมายที่มีปัจจุบัน ทำให้การควบคุมกัญชากลายเป็นเรื่องยาก เพราะตำรวจไม่สามารถเข้าไปจับหรือปรับได้ ต้องรอพนักงานสาธารณสุขเข้าไปตรวจสอบ และดำเนินขั้นตอนอีกมากมาย แต่ถ้าเป็นกฎหมายอื่น หากพบความผิดปกติ แค่มีคนแจ้งตำรวจก็สามารถเข้าไปจัดการได้เลย

"หรือสุดท้ายหากมี พ.ร.บ.กัญชาขึ้นมา มันก็ยังควบคุมได้ลำบาก ยกตัวอย่าง คดีเกี่ยวกับจราจร สมมติว่าเจอคนเมากัญชาขับรถชนคนตาย จะมาดูว่าผิดกฎหมายไหม ก็ยากในระดับหนึ่งเพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติด"

ทีมข่าวฯ ถามไปต่อว่า แสดงว่าแม้จะมี พ.ร.บ.กัญชา โดยเฉพาะ อย่างไรคุณหมอก็ยังมองว่า ถ้าไม่กลับไปเป็นยาเสพติด กัญชาก็ยังคงเป็นปัญหา? นายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย ตอบว่า ใช่ครับ มันมีช่องโหว่ที่ไม่สามารถคุมได้หมด ถึงแม้จะบอกว่าห้ามเสพขณะขับขี่ แต่การตรวจก็ยาก เพราะถ้าระบุว่าไม่ใช่ยาเสพติด เจ้าหน้าที่จะไปบังคับตรวจได้อย่างไร 

เป็นสารเสพติดก็ใช้ทางการแพทย์ได้ : 

ประเด็นที่มีกระแสแย้งว่า หากนำกัญชากลับสู่ยาเสพติด จะทำให้นำมาใช้ทางการแพทย์ไม่สะดวก กรณีนี้ ผศ.นพ.สมิทธิ์ อธิบายว่า ต้องเข้าใจก่อนว่าการอยู่ภายใต้กฎหมายยาเสพติด ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะสารบางอย่างที่ใช้ในการแพทย์ปัจจุบัน ก็ยังอยู่ในประมวลกฎหมายยาเสพติด แต่ไม่เห็นมีประเด็นอะไรเลย เช่น ซูโดเอฟีดรีน (Pseudoephedrine) ซึ่งเป็นยาลดคัดจมูก มันก็ยังอยู่ในประมวลกฎหมายยาเสพติด หรือ มอร์ฟีน (Morphine) ก็ยังใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ แต่อยู่ภายใต้การควบคุมที่ดีพอ

"ดังนั้น แม้กัญชาจะกลับไปอยู่ภายใต้กฎหมายยาเสพติด ก็ยังคงใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ และใช้ได้ 100% เพราะก่อนที่จะปลดล็อกก็มีการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์มาก่อนอยู่แล้ว แต่พอปลดล็อกมันชัดเจนเลยว่า มีขึ้นเพื่อการนันทนาการ ซึ่งปัจจุบันมันควรจะใช้ประโยชน์เฉพาะทางการแพทย์มากกว่า"

นายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ก่อนจะปลดล็อกผู้เกี่ยวข้อง เขาอ้างว่าเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ แต่มาดูความเป็นจริงตอนนี้ ที่เราเห็นตามทุกหัวมุมถนน มันไม่ใช่ประโยชน์ทางการแพทย์เลย หนำซ้ำยิ่งกลายเป็นสิ่งอันตราย หากไม่นำกลับเข้าไปเป็นยาเสพติด คนก็จะเข้าใจว่า การเสพเล่นก็เป็นประโยชน์ทางการแพทย์

...

"เอาง่ายๆ แค่การโปรโมตเขาก็ผิดหลักการแล้ว เขานำมาทำเป็นอาหาร แต่บอกว่าเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ถ้าไปดูของต่างประเทศ จะเห็นเลยว่าถ้าเอามาทำเป็นอาหาร แปลว่าเพื่อการนันทนาการ ไม่ใช่ประโยชน์ทางการแพทย์ เรียกง่ายๆ ว่า การสื่อสารผิดไปหมด"

คุณหมอย้ำว่า หากนำกลับเป็นสารเสพติดแล้ว คนที่ต้องการใช้ประโยชน์เพื่อทางการแพทย์จริง อย่างไรก็ทำได้ไม่ยาก เพราะสามารถออกกฎหมายย่อยจาก พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายยาเสพติดได้

การใช้ผสมสูตรยาโบราณ ควรมีผลวิจัยอ้างอิง : 

"ในตำรายาหมอพื้นบ้าน ต้องมีกัญชาผสมเสมอ เพราะกัญชาคือตัวคูณของสมุนไพรทุกชนิด แต่ตั้งแต่ปี 2522 สูตรยาสมุนไพรอ่อนลงหมดเลย เพราะขาดกัญชา ฉะนั้น 2 ปีที่ผ่านมา เรามีโอกาสที่จะรื้อฟื้นตำรับยาใหม่แล้ว แต่ปรากฏว่าจะเอากลับไปเป็นยาเสพติดอีก" ข้อความดังกล่าว มาจาก 'คุณประสิทธิ์ชัย หนูนวล' เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ที่ได้ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวฯ ผ่านสกู๊ปเรื่อง กัญชาคืนยาเสพติด ผลลัพธ์ถูกปั่นให้ร้ายเกินจริง?

...

เราจึงนำประเด็นข้างต้นสรุปโดยรวม ก่อนจะถาม ผศ.นพ.สมิทธิ์ กลับไปว่า กรณีของยาแผนโบราณ หรือสูตรยาพื้นบ้าน ที่ต้องมีกัญชาเป็นส่วนผสม จะทำอย่างไร? "อันนี้ไม่ยากครับ" คุณหมอตอบกลับพร้อมอธิบายว่า ก็ออกกฎหมายแยกขึ้นมาจากประมวลกฎหมายยาเสพติดก็ได้

อย่างไรก็ตาม การที่คุณบอกว่าผลิตยาได้เอง ต้องถามว่ายานั้นเป็นสูตรที่มีมาตรฐานหรือไม่ หรือมีอะไรเป็นเครื่องยืนยันความปลอดภัยได้บ้าง ซึ่งตามหลักการแล้ว ถ้าบอกเป็นตำรับยาพื้นฐาน โดยทั่วไปจะมีแผนแพทย์ไทย ซึ่งเขาก็ใช้กัญชาผสม มีสูตรของเขา แล้วทำไมคุณถึงไม่ใช้สูตรนี้ แต่ไปใช้สูตรที่คิดเอง

"ที่อ้างว่าสูตรยาที่คิดขึ้นเองช่วยได้ ถามกลับว่ามีงานวิจัยรองรับหรือยัง เอาง่ายๆ ว่า ถ้าผมบอกว่าชาวบ้านดื่มปัสสาวะแล้วรักษาโรคได้ แต่ไม่มีงานวิจัยอะไรมารองรับเลย แบบนี้คุณจะปล่อยให้ประชาชนใช้เหรอ"

"หากมีงานวิจัยผมจะยอมรับได้ ไปวิจัยมาให้มันแน่นอนก่อน ซึ่งการวิจัยไม่ได้ยาก ถ้าต้องการโปรโมตเรื่องนี้จริงๆ คุณก็ติดต่อแพทย์แผนไทยเลย ผมไม่ได้เชื่อว่ากัญชามันใช้ไม่ได้นะครับ แต่ถ้าคุณจะให้ผมเชื่อ คุณต้องไปวิจัยมาก่อน" ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ กรรมการแพทยสภา กล่าวย้ำกับทีมข่าวฯ

...

ไม่มีการควบคุม ทำเละหมดทุกอย่าง : 

ผศ.นพ.สมิทธิ์ มองว่า ขณะนี้ใครอยากทำอะไรก็ทำ สะดวกสบายไปหมด ไม่ต้องคุมอะไร ทุกคนทำได้ ทุกคนขายได้ ทุกคนทำมั่วๆ ได้ ปลูกแบบมีคุณภาพไหมก็ไม่รู้ เพราะไม่มีการควบคุม ตอนนี้เละไปหมด ดูสิครับว่าเยาวชนติดกัญชากันขนาดไหน ข่าวออกเรื่อยๆ ว่ามีคนใช้กัญชาเสพ จนคลุ้มคลั่งทำร้ายคนอื่น 

"ตอนนี้มันเละแล้วครับ และมันจะเละมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าไม่จัดการ อีกทั้งกัญชายิ่งทำให้สถานการณ์โรคจิตเวชหนักขึ้น และเป็นอันตรายมากขึ้น" นายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย ย้ำความคิดเห็นให้เราฟัง

สำหรับประเด็นที่ว่ากัญชาไทยได้รับการยอมรับไปทั่วโลก ผศ.นพ.สมิทธิ์ ชี้ว่า ไม่เกี่ยวกับยาและการแพทย์เลยครับ เพราะสายพันธุ์ที่ยอมรับกันทั่วโลก คือที่ใช้เพื่อการนันทนาการครับ แต่ถ้าคุณยังจะอ้างการพัฒนาสายพันธุ์เศรษฐกิจ จุดนี้ผมมองว่าทำได้ครับ ก็ไปขออนุญาตให้ถูกตามกฎหมายยาเสพติด ซึ่งก่อนหน้านี้เขาก็ทำกันได้อยู่แล้ว  ที่มีกลุ่มวิสาหกิจปลูกส่งให้แพทย์ 

ใช้กัญชาแล้วไม่คลุ้มคลั่ง เป็นเรื่องของบุคคล : 

สำหรับเรื่องใช้กัญชาแล้วจะคลุ้มคลั่งหรือไม่นั้น ผศ.นพ.สมิทธิ์ อธิบายว่า แล้วแต่คนเลยครับ เทียบกับยาบ้าบางคนกินก็ไม่คลุ้มคลั่ง กัญชาก็เช่นเดียวกัน ดังนั้น อย่าใช้เรื่องตัวเองเป็นตัวตัดสิน เพราะมีงานวิจัยออกมาชัดเจนอยู่แล้วว่า กัญชาทำให้คลุ้มคลั่งได้ 

"กัญชามีฤทธิ์กล่อมประสาท มีฤทธิ์ทำให้หลอน จุดนี้แน่นอนอยู่แล้วครับ ต้องบอกว่ามันขึ้นอยู่กับบุคคลจริงๆ บางคนใช้มา 20-30 ปี ไม่มีอาการอะไร แต่บางคนใช้ทีเดียว จนมีอาการประสาทหลอนต้องส่งรักษา แบบนี้ก็มีครับ"

ผศ.นพ.สมิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของปัจจัยที่ทำให้หลอน มันก็อาจจะมีเรื่องของยีนเข้ามาเกี่ยวเดียว แต่ก็ยังพิสูจน์ไม่ได้ ถึงจะมีงานวิจัยออกมารองรับบ้าง แต่ไม่สามารถสรุปผลได้ 100% ผมก็เลยจะย้ำว่า ขึ้นอยู่กับตัวรับในร่างกายของแต่ละคนด้วย ไม่เช่นนั้นช่วงนี้ที่ยาบ้าระบาดหนัก เราก็คงเห็นคนหลอนเละเทะกันไปหมดแล้ว ฉะนั้น คุณจะอ้างแค่ตัวเองไม่ได้ 

นำกลับสู่ยาเสพติด ทำประชามติ แล้วดูผลอีกครั้ง : 

อีกประเด็นที่สายเขียวหลายคนตั้งคำถามก็คือ ผู้ประกอบการที่ลงทุนไปแล้ว จะทำอย่างไร เพราะเสี่ยงขาดทุนสูงมาก ซึ่งข้อนี้ ผศ.นพ.สมิทธิ์ ตอบเพียงสั้นๆ ว่า ฟ้อง รมต.สธ.คนเก่าเลยครับ เขาทำผิดตั้งแต่การเปิดเสรีอยู่แล้ว เพราะสัญญากับ ป.ป.ส.ว่า จะให้มีกฎหมายควบคุมมาก่อนประกาศปลดล็อก แต่สุดท้ายก็ยังไม่มี 

"หรือเอาจริงๆ เรื่องพวกนี้สามารถออกบทเฉพาะกาลได้ เช่น เอาเฉพาะที่คุณปลูกไว้ เว้นให้คุณขายได้สัก 5-6 เดือน หลังจากนั้นคุณก็ไปทำอย่างอื่น ส่วนเรื่องโรงเพาะชำ คุณสามารถย้ายไปปลูกกัญชงได้ ซึ่งประโยชน์เยอะกว่ากัญชาด้วยซ้ำ"

นายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย ระบุว่า คนเขาอยากให้กลับไปเป็นยาเสพติดอยู่แล้วครับ เพราะคนที่ใช้มีเปอร์เซ็นต์น้อยกว่าอยู่แล้ว ลองดูที่โพลที่เขาออกมาก็ได้ว่าประชาชนที่ตอบกว่าครึ่ง ก็อยากให้กลับมาเป็นยาเสพติด ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นตอนนี้ ผิดตั้งแต่จุดเริ่มต้นแล้วครับ ไม่มีที่ไหนในโลกทำแบบเรา

ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ กรรมการแพทยสภา ย้ำจุดยืนกับทีมข่าวฯ ว่า ผมยังพูดและยืนยันเหมือนเดิมว่า กัญชาควรกลับไปเป็นยาเสพติด ผมไม่เห็นด้วยที่ให้เสรี ตั้งแต่วันแรกที่ปลดล็อกจนถึงวันนี้

"เรื่องพวกนี้ขึ้นอยู่กับสังคมด้วยครับ สุดท้ายแล้ว ผมว่าเอากลับมาเป็นยาเสพติดก่อน แล้วลองทำประชามติว่า ประชาชนอยากให้เสรีไหม ถ้าประชามติออกมาว่า สังคมอยากให้เสรี ตรงนี้ผมยอมรับ เพราะที่อื่นเขาก็ทำแบบนี้ แต่ที่ผ่านมามันเกิดจากความต้องการของคนแค่พรรคเดียว"

ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์
ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์

ผลสำรวจความคิดเห็น 'กัญชาเป็นยาเสพติด?' : 

ทีมข่าวฯ ขออ้างอิงผลสำรวจตัวอย่าง จาก ศูนย์สำรวจความคิดเห็น 'นิด้าโพล' ซึ่งได้สำรวจความคิดเห็นเรื่อง "กัญชาเป็นยาเสพติด?" ระหว่างวันที่ 14-15 พฤษภาคม 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศรวม 1,310 หน่วยตัวอย่าง ซึ่งเป็นการสุ่มตัวอย่างหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

ผลสำรวจจากนิด้าโพล เมื่อถามถึง 'ความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับกัญชาเป็นยาเสพติด' เผยให้เห็นว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 53.74 ระบุว่า เป็นยาเสพติด แต่มีประโยชน์ รองลงมา ร้อยละ 33.59 ระบุว่า เป็นยาเสพติดและไม่มีประโยชน์ใดๆ ร้อยละ 11.60 ระบุว่า ไม่เป็นยาเสพติด และร้อยละ 1.07 ระบุว่า ไม่แน่ใจ

ในส่วน 'ความคิดเห็นของประชาชนต่อการกำหนดนโยบายกัญชาของรัฐบาล' ตัวอย่าง ร้อยละ 74.58 ระบุว่า เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และรักษาโรค รองลงมา ร้อยละ 19.39 ระบุว่า รัฐบาลไม่ควรออกนโยบายใดๆ เพื่อสนับสนุนกัญชาหรือผลิตภัณฑ์กัญชา ร้อยละ 10.53 ระบุว่า เพื่อสนับสนุนการสร้างผลิตภัณฑ์กัญชาที่ถูกกฎหมาย ร้อยละ 7.40 ระบุว่า เพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชนทั่วไป ร้อยละ 3.21 ระบุว่า เพื่อสนับสนุนความบันเทิงในสังคม ส่วนอีกร้อยละ 0.99 ระบุว่าไม่ทราบ, ไม่ตอบ, ไม่สนใจ

เข้าสู่หนึ่งในประเด็นที่หลายคนตั้งคำถาม คือ 'การนำกัญชากลับเข้าบัญชียาเสพติดอีกครั้ง' ผลสำรวจจากนิด้าโพล พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 60.38 ระบุว่า เห็นด้วยมาก รองลงมา ร้อยละ 15.27 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 14.50 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย ร้อยละ 8.93 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย และร้อยละ 0.92 ระบุว่า ไม่ทราบ, ไม่ตอบ, ไม่สนใจ

ภาพ : ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์, iStock และ ThairathPhoto

อ่านบทความที่น่าสนใจ :