บทสรุปของซีรีส์สกู๊ปคนไทยหิวบุญ ที่ไปที่มาของเงินรายได้วัด และเงินเหล่านั้นถูกนำไปใช้จ่ายอะไรบ้าง?...
หลังติดตามอ่าน “ซีรีส์สกู๊ปคนไทยหิวบุญ” มาแล้วถึง 3 EP. สำหรับในตอนล่าสุดนี้ “เรา” เชื่อว่า “คุณ” คงอาจกำลังอยากรู้ว่า วัดแต่ละวัดในประเทศไทย มีเงินหมุนเวียนภายในวัดประมาณเท่าไร และโดยมากถูกนำไปใช้ในวัตถุประสงค์อะไรกันบ้าง?
ฉะนั้น สำหรับใน EP.4 นี้ เราจะนำข้อมูลจากผลการศึกษาเกี่ยวกับการบริหารจัดการ การเงินของวัดในประเทศไทย ของ "ผศ.ดร.ณดา จันทร์สม" สำนักวิจัยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ที่มีการสำรวจวัดจำนวนมากกว่า 490 แห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2555
มาลองให้ “คุณ” ได้ลองพิจารณาร่วมกัน เผื่อว่า…บางที “เรา” อาจมี “คำตอบ” ในใจได้ว่า ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ควรมีมาตรการกำกับดูแล หรือตรวจสอบการเงินของวัดต่างๆ ในประเทศไทย
อ้างอิง ผลการศึกษาเกี่ยวกับการบริหารจัดการ การเงินของวัดในประเทศไทย ของ "ผศ.ดร.ณดา จันทร์สม" ซึ่ง "น.ส.ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ" นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ที่เราได้มีโอกาสพูดคุยใน EP.3 เชื่อว่าน่าจะเป็นเพียงผลการศึกษาเดียวในประเทศไทยที่มีข้อมูลเรื่องตัวเลขรายรับ และรายจ่ายของวัด ตั้งแต่เมื่อปี 2555 พบว่า…
...
รายรับรวมโดยเฉลี่ยของวัดเท่ากับ 3.24 ล้านบาทต่อปี โดยมากเป็นเงินบริจาคเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะด้าน เช่น งานซ่อมแซมโบสถ์ หรือศาสนสถาน อื่นๆ เฉลี่ยเท่ากับ 2.02 ล้านบาทต่อปี
รองลงมา คือ รายรับจากการสร้างเครื่องบูชาเฉลี่ย 1.46 ล้านบาทต่อปี และเงินบริจาคในโอกาสพิเศษ เช่น ทอดกฐิน ผ้าป่า งานบวช ฯลฯ เฉลี่ยเท่ากับ 1.05 ล้านบาทต่อปี
โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
รายรับ-รายจ่ายของวัดต่อปี :
1. เงินบริจาคของอุบาสกอุบาสิกาที่มาไหว้พระ
รวมทั้งสิ้น : 181,508,499 บาท เฉลี่ย : 530,726 บาท ต่อวัดต่อปี
2. เงินบริจาคเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะด้าน เช่น งานซ่อมแซมโบสถ์หรือ ศาสนสถานอื่น ๆ
รวมทั้งสิ้น : 414,612,646 บาท เฉลี่ย : 2,022,501 บาท ต่อวัดต่อปี
3. การเรี่ยไรเงินด้วยการบอกบุญไปตามที่ต่างๆ
รวมทั้งสิ้น : 21,777,532 บาท เฉลี่ย : 226,849 บาท ต่อวัดต่อปี
4. เงินบริจาคที่ได้รับจากงานศพ
รวมทั้งสิ้น : 24,331,755 บาท เฉลี่ย : 99,313 บาท ต่อวัดต่อปี
5. เงินบริจาคในโอกาสพิเศษ เช่น ทอดกฐิน ผ้าป่า งานบวช พิธีฝังลูกนิมิต ฯลฯ
รวมทั้งสิ้น : 421,729,522 บาท เฉลี่ย : 1,054,342 บาท ต่อวัดต่อปี
6. เงินบริจาคเป็นกรณีพิเศษเฉพาะบุคคลที่มีมูลค่าสูง
รวมทั้งสิ้น : 75,424,548 บาท เฉลี่ย : 931,167 บาท ต่อวัดต่อปี
7. รายได้จากทรัพย์สินของวัด เช่น ค่าเช่าที่ดิน อาคาร
รวมทั้งสิ้น : 38,447,401 บาท เฉลี่ย : 323,087 บาท ต่อวัดต่อปี
8. รายได้จากการจัดกิจกรรม เช่น ในเทศกาลงานวัด
รวมทั้งสิ้น : 170,620,853 บาท เฉลี่ย : 907,558 บาท ต่อวัดต่อปี
9. รายได้จากการสร้างเครื่องบูชา เช่น พระพุทธรูป พระเครื่อง วัตถุบูชา ฯลฯ
รวมทั้งสิ้น : 115,411,643 บาท เฉลี่ย : 1,460,907 บาท ต่อวัดต่อปี
10. รายได้จากการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการ
รวมทั้งสิ้น : 39,613,991 บาท เฉลี่ย : 324,705 บาท ต่อวัดต่อปี
11. รายได้อื่น ๆ เช่น มูลนิธิของวัด การขายของของวัด ค่ายธรรมะ สำนักงาน พศ. จัดให้
รวมทั้งสิ้น : 9,783,592 บาท เฉลี่ย : 514,926 บาท ต่อวัดต่อปี
ยอดเงินรวมทั้งสิ้น 1,388,111,774 บาท หรือเฉลี่ยวัดละ 3,235,692 บาท ต่อวัดต่อปี
...
ขณะที่ผลสำรวจด้านรายจ่ายของวัดชี้ว่า รายจ่ายรวมเฉลี่ย ของวัดเท่ากับ 2.77 ล้านบาทต่อปี ส่วนมากเป็นค่าก่อสร้างและซ่อมแซมอาคารสถานที่ในวัดเฉลี่ยเท่ากับ 2.38 ล้านบาทต่อปี รองลงมาเป็นค่าซ่อมบำรุงรักษาสถานที่และอุปกรณ์เฉลี่ย 451,832 บาทต่อปี
โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
รายรับ-รายจ่ายของวัดต่อปี
1. ค่าก่อสร้างและซ่อมแซมอาคารสถานที่ในวัด
รวมทั้งสิ้น : 996,572,974 บาท เฉลี่ย : 2,384,146 บาท ต่อวัดต่อปี
2. ค่าซ่อมบำรุงรักษาสถานที่และอุปกรณ์
รวมทั้งสิ้น : 103,017,784 บาท เฉลี่ย : 451,832 บาท ต่อวัดต่อปี
3. ค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ โทรศัพท์
รวมทั้งสิ้น : 83,407,873 บาท เฉลี่ย : 175,966 บาท ต่อวัดต่อปี
4. ค่าน้ำมัน ยานพาหนะ
รวมทั้งสิ้น : 13,311,955 บาท เฉลี่ย : 85,542 บาท ต่อวัดต่อปี
5. ค่าจ้างคนที่ทำงานประจำให้กับวัด
รวมทั้งสิ้น : 34,810,032 บาท เฉลี่ย : 316,455 บาท ต่อวัดต่อปี
...
6. ค่าใช้จ่ายด้านอาหาร ปัจจัย 4 และอัฐบริขารอื่นๆ
รวมทั้งสิ้น : 12,981,612 บาท เฉลี่ย : 133,831 บาท ต่อวัดต่อปี
7. ค่าใช้จ่ายสำหรับพระ-เณร เรียนหนังสือ
รวมทั้งสิ้น : 24,041,045 บาท เฉลี่ย : 175,482 บาท ต่อวัดต่อปี
8. ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าสร้างวัตถุมงคล ค่ายารักษาโรค ค่าใช้จ่าย สำหรับเด็กที่มาเรียน เบ็ดเตล็ด เป็นต้น
รวมทั้งสิ้น : 10,485,140 บาท เฉลี่ย : 499,292 บาท ต่อวัดต่อปี
ยอดเงินรวมทั้งสิ้น 1,327,274,263 บาท หรือเฉลี่ยวัดละ 2,770,927 บาท ต่อวัดต่อปี
สำหรับข้อมูลเงินอุดหนุนวัดทั่วประเทศ อีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญสำหรับการพิจารณารายรับและรายจ่ายของวัดในประเทศไทยนั้น อ้างอิงจากการสำรวจในจากงานวิจัยแนวโน้มการฟอกเงินในประเทศไทย : ศึกษาเฉพาะกรณีการฟอกเงินผ่านนิติบุคคลและธุรกิจบังหน้า ทนายความและนักบัญชี บริษัทนำเที่ยว ทรัสต์ต่างประเทศที่ดำเนินการในประเทศไทย การเล่นแชร์ที่มีการฉ้อโกง และการฟอกเงินผ่านองค์กรไม่แสวงหากำไร ของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI
...
พบว่าในช่วงระหว่างปี 2556-2562 มีตัวเลขรวมกันถึง 24,409 ล้านบาท หรือคิดเป็นค่าเฉลี่ย 3,000 ล้านบาทต่อปี
โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ :
ปี 2556 : 2,773 ล้านบาท
ปี 2557 : 2,964 ล้านบาท
ปี 2558 : 2,830 ล้านบาท
ปี 2559 : 4,707 ล้านบาท
ปี 2560 : 4,671 ล้านบาท
ปี 2561 : 2,226 ล้านบาท
ปี 2562 : 4,238 ล้านบาท
เงินที่ผ่านเข้าวัดในประเทศไทย มากหรือน้อย สุ่มเสี่ยงหรือควรมีการกำกับดูแลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องไม่ดีไม่งามขึ้นในอนาคตหรือไม่ เมื่อ “คุณ” ได้รับฟังข้อมูลจากซีรีส์ทั้งหมดนี้แล้ว มีความเห็นอย่างไรกันบ้าง?
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก : ชลธิชา พินิจรอบ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง