คุยกับผู้ก่อตั้งกลุ่มผ้ามัดย้อมแม่อิงชิโบริ และแม่ครูแห่งกลุ่มทอผ้าบ้านสันปูเลย จ.พะเยา ถึงแรงบันดาลใจและที่มาของ 'เสื้อผ้าฝ้ายทอมือสีชมพูกลีบบัว ลายดอกสารภี' ที่นายกรัฐมนตรี และคณะ ครม. เลือกสวมใส่19 มีนาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมคณะ ได้เดินทางสู่หอประชุมพญางำเมือง มหาวิทยาลัยพะเยา จ.พะเยา ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรภาคเหนือตอนบน 2 สำหรับการปรากฏตัวครั้งนี้ จะเรียกว่าเป็นการพยายามผลักดัน 'ซอฟต์พาวเวอร์' ได้อีกหรือไม่? เนื่องจาก คณะ ครม. พร้อมใจกันสวม เสื้อผ้าฝ้ายทอมือสีชมพูกลีบบัว ลายดอกสารภี งานฝีมือจากภูมิปัญญาของคน จ.พะเยาอย่างไรก็ดี เมื่อนายกรัฐมนตรีเลือกใส่แล้ว ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงขออาสาพาผู้อ่านทุกคนไปรู้จักกับที่มาของเสื้อตัวนี้ให้มากขึ้น ผ่านการสนทนากับ 'คุณเอกรินทร์ ลัทธศักย์ศิริ' หรือ 'คุณเบียร์' ปราชญ์สัมมาชีพชุมชนต้นแบบอำเภอภูกามยาว และผู้ก่อตั้งกลุ่มผ้ามัดย้อมแม่อิงชิโบริศาสตร์พันปีจากเจแปน สู่ไทยแลนด์เมืองพะเยา! :คุณเอกรินทร์ เล่าว่า การก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2562 เป็นช่วงที่ชุมชนใน ต.แม่อิง อ.ภูกามยาว จ.พะเยา ประสบกับวาตภัยจากพายุวิภา ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เกิดน้ำท่วมผืนนามากกว่า 3,000 ไร่ เกษตรกรได้รับความเสียหายราว 300 ครอบครัว ขณะนั้นมีการคาดการณ์ว่า ต้องใช้เวลาประมาณ 3 เดือน น้ำจึงจะลดและสถานการณ์ปกติ แต่สุดท้ายน้ำกลับท่วมขังนานถึง 6 เดือน!!!"เราเห็นชาวบ้านทุกข์จากเรื่องที่เกิดขึ้น จึงคิดว่าเราพอจะมีความรู้เรื่องการทำผ้าอยู่ และได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายชุมชนอยู่แล้ว เลยลองถามเขาว่าอยากทำอันไหนดี เดี๋ยวจะช่วยสอนให้เผื่อต่อยอดเป็นอาชีพเสริมระหว่างรอน้ำลด"คุณเบียร์ เล่าต่อว่า ชาวบ้านเขาก็ไม่ได้ตามเราทั้งหมดนะ เรามีความรู้ของเรา ส่วนเขาก็มีแนวทางและความคิดของเขา อย่างตอนแรกเขาไม่เอาผ้าบาติก เพราะมองว่าถึงทำไปก็สู้ภูเก็ต กระบี่ พังงา หรือสงขลาไม่ได้ หรือถ้าจะทำผ้ามัดย้อมธรรมดา ก็คงสู้ล้านนาตะวันออกอย่าง จ.แพร่ ไม่ได้ เขาเลยเลือกศาสตร์การทำผ้าที่ชื่อว่า 'ชิโบริ' (Shibori) ผู้ก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ เลกเชอร์ให้ทีมข่าวฯ ฟังว่า 'ชิโบริ' เป็นศาสตร์การทำผ้ามัดย้อมแบบญี่ปุ่น ที่ทำต่อเนื่องกันมาอย่างน้อย 1,300 ปี ถือเป็นสิ่งที่คนทั่วโลกรู้จัก เป็นศาสตร์หนึ่งสำหรับการทำ 'มัดย้อม'"ตรงนี้มีแก๊กขำๆ อยู่นิดนึงครับ ที่เขาเลือกชิโบริเพราะฟังแล้วดูแปลกใหม่ และอีกอย่างคือ ชาวบ้านเข้าใจว่า 'ชิโบริ' เป็นชื่อน้องชายของ 'โกโบริ' พระเอกจากเรื่องคู่กรรม จนเราต้องมานั่งอธิบายว่า มันเป็นชื่อเรียกเทคนิคการทำผ้าอย่างหนึ่งก็เท่านั้น" ปลายสายเล่าพร้อมหัวเราะชวนขำรื้อฟื้นภูมิปัญญาที่หายไป 30 ปี : อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่การนำศาสตร์แห่งแดนปลาดิบอย่าง 'ชิโบริ' มาใช้ทั้งหมด แต่เป็นการผสมผสานองค์ความรู้ และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เคยมาบนแผ่นดินพะเยา นอกจากนั้นยังเป็นการบูรณาการร่วมกับ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยาอีกด้วยคุณเอกรินทร์ เล่าว่า ช่วงแรกของการก่อตั้ง เริ่มต้นจากการใช้สีสังเคราะห์ ซึ่งเป็นสีที่ชาวบ้านใช้ในการย้อมหมวก เสื่อ หรืออื่นๆ กันอยู่แล้ว แต่เราอยากให้มีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น จึงเริ่มปรึกษากับทางคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ในการวิจัยและสกัดสีจากธรรมชาติ หลังจากนั้นจึงนำองค์ความรู้มาถ่ายทอดให้ชุมชน"แต่เราต้องเล่าให้ฟังก่อนว่า การทำสีจากธรรมชาติและการทำผ้า ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนชุมชนแม่อิง เพราะเรื่องนี้เป็นภูมิปัญญาของคนในชุมชนอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าประมาณ 30 ปีที่แล้ว พ่ออุ๊ย แม่อุ๊ย (ปู่ย่าตายาย) ไม่ได้ถ่ายทอดให้คนรุ่นหลัง""เขาจะสอนกันว่า 'อย่าไปยุ่งกับหม้อคราม มันมีผี มันมีครู' ซึ่งเป็นเรื่องของไสยศาสตร์ ทำให้แม่ๆ ที่มีชีวิตอยู่ก็ไม่เคยทำกันจริงๆ จังๆ ได้แค่ดูแต่ทำไม่เป็น องค์ความรู้นั้นเลยหายไปประมาณ 30 ปี นี่เลยเหมือนการรื้อฟื้นภูมิปัญญาขึ้นมาอีกครั้ง"คุณเบียร์ ย้อนอดีตจากการศึกษาให้เราฟังว่า สมัยก่อนกลุ่มทอผ้าจะมีอยู่ 4 ตระกูล อยู่ใน ต.แม่อิง แต่ตอนนี้สูญหายไป เพราะพ่ออุ๊ย แม่อุ๊ยเสียชีวิตแล้ว เราจึงพยายามเปลี่ยนการเล่าเรื่องไสยศาสตร์ ให้เป็นวิทยาศาสตร์ เพราะความรู้เหล่านี้เป็นเรื่องของการชั่ง ตวง วัด ปริมาณ สัดส่วน เทคนิค วิธีการ อุณหภูมิ "เพราะฉะนั้นผลิตภัณพ์จากแม่อิงชิโบริทุกชิ้น มันจะรวมศาสตร์อย่างน้อย 3 ศาสตร์ คือ งานอาร์ต งานคราฟ และวิทยาศาสตร์ ซึ่งในอนาคตเรากำลังพยายามให้มีเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมเป็น 5 ศาสตร์ เข้ามาด้วยกัน"สีจากธรรมชาติ ที่ชุมชนแม่อิงรังสรรค์ได้ : ทีมข่าวฯ สอบถามว่า เหตุใดจึงเลือกใช้สีจากธรรมชาติ ในเมื่อเคยใช้สีสังเคราะห์ และดูจะง่ายกว่าเสียด้วยซ้ำ?คุณเบียร์ ให้คำตอบของคำถามนี้ว่า อย่างแรกเลยเป็นการรื้อฟื้นภูมิปัญญา ส่วนอีกเหตุผลคือ ของจากธรรมชาติมันเป็นเทรนด์ของโลก ไม่ใช่แค่เฉพาะเราที่เดียว แต่ทั่วโลกกำลังพูดเรื่อง 'รักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม' และทั้งหมดนั้นนำไปสู่ศาสตร์ของพระราชาที่เน้น 'ความยั่งยืน'"ถ้าเราใช้สีสังเคราะห์ มันจะทำร้ายทุกอย่าง ทั้งสิ่งแวดล้อม ผู้ย้อมผ้า จนลามไปถึงผู้บริโภค สีสังเคราะห์ใช้งานง่ายก็จริง แต่ก็ส่งผลร้ายในระยะยาว ดังนั้น เราเลยกลับมาเน้นที่ภูมิปัญญา แล้วที่สำคัญ วัตถุดิบพวกนี้เราสามารถปลูกและผลิตได้เองในชุมชน"เราเน้นการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ นำสิ่งที่เหลือจากการเกษตร และชีวิตประจำวัน มาพัฒนาต่อยอด โดยการใช้งานวิจัยเข้ามาผสมผสาน เช่น ชุมชนปลูกดอกดาวเรืองเยอะมาก แต่ดอกเล็กคนไม่สนใจซื้อ เราก็เลยทำงานร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ เอาดอกดาวเรืองมาอบแห้งเพื่อสกัดเป็นสีย้อม "สีที่ได้จากดอกดาวเรือง คือ สีเหลือง ซึ่งเป็นสีไฮไลต์ของเรา เราสามารถทำได้ตั้งแต่เหลืองสว่าง ไปจนถึงเหลืองมัสตาร์ด ขึ้นอยู่กับเทคนิคและวิธีการทำ" คุณเบียร์กล่าวเราถามต่อไปว่า ยังมีสีไหนอีกบ้างที่กลุ่มวิสาหกิจฯ สามารถรังสรรค์ออกมาได้?คุณเบียร์ยกตัวอย่าง 'สีชมพู' มาจากครั่ง ซึ่งเป็นแมลงเศรษฐกิจ ทำรายได้ให้เราดีมาก และเป็นเพียงสีเดียวที่มาจากสิ่งมีชีวิต สีอื่นได้จากพืชหมดเลย หรือจะเป็น 'สีน้ำตาล' ที่ได้จากใบต้นอะโวคาโด ซึ่งทั่วโลกจะย้อมจากเปลือกและเมล็ด แต่ของเราที่ได้จากใบ เพราะว่าต้นที่ปลูกที่หมู่บ้านแม่อิงเป็นสายพันธุ์ดูไบ ปลูกมาแล้วสี่ปีมีแต่ใบไม่ยอมออกลูก เลยทำงานงานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยพะเยาตั้งแต่ปี 2564 ทำให้ได้สีน้ำตาลใช้ย้อมผ้า'สีฟ้า' ได้จากการย้อมคราม ซึ่งที่อื่นจะได้เป็นสีน้ำเงิน แต่ของชุมชนแม่อิงเป็นครามที่ปลูกในนา เลยทำให้ออกมาเป็นแบบนี้ ส่วน 'สีม่วง' ได้จากแก่นไม้ฝาง นอกจากนั้น ยังมีสีอื่นๆ ที่เราได้จากการใช้ทฤษฎีผสมสีอีกด้วย"มีอีกสีที่เราภูมิใจนำเสนอ คือ 'สีเทาและสีดำ' ซึ่งเป็นสีที่โด่งดังมาก เมื่อก่อนเราได้สีนี้จากโคลนแม่น้ำอิง แต่จะมีบางช่วงที่แม่ๆ เขาไม่อยากย้อมสีนี้ เพราะโคลนเหม็น บางครั้งก็มีสนิมติดมา เราเลยปรึกษากับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา เขาได้ใช้เปลือกยูคาลิปตัส โดยปกติไม้ยูคาจะเอามาทำฝืน ซึ่งมันไม่เกิดมูลค่า ดังนั้น ก่อนที่จะไปทำฟืน เราเลยลอกเปลือกออกมาก่อน นี่คือการสร้างมูลค่าเพิ่ม และอยากบอกว่า ลูกค้าแถบสแกนดิเนเวียชอบสีนี้มาก"ฝีมือทอผ้าจากกลุ่มทอผ้าบ้านสันปูเลย : แม้ว่าเสื้อสีชมพูที่ ครม.สัญจร สวมใส่ครั้งนี้ จะมาจากด้ายที่ย้อมสีโดยกลุ่มผ้ามัดย้อมแม่อิงชิโบริ แต่คนทอผ้าเป็นชาวบ้านจาก กลุ่มทอผ้าบ้านสันปูเลย ต.อ่างทอง อ.เชียงคำ จ.พะเยา ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงได้ต่อสายตรงอีกครั้ง เพื่อพูดคุยกับ 'นางเพ็ญศรี ชื่นวงศ์' หรือ 'แม่ครูเพ็ญ'แม่ครูบอกว่า การทอผ้าถือว่าค่อนข้างยาก โดยเฉพาะการยกดอกสารภี ซึ่งเป็นลายดอกไม้ประจำจังหวัดพะเยา ส่วนนี้จะช้านิดนึง เพราะต้องยกลายถี่ๆ จึงจะออกมาสวยงาม การทำงานครั้งนี้ที่มีเวลาค่อนข้างจำกัด 1 วันได้ผ้าผืนนึงสำหรับการตัดเสื้อ แต่ครั้งนี้เราไม่ได้เป็นคนตัดเสื้อเอง เพราะทำงานในเวลาจำกัด หลังทอผ้าเสร็จ ก็ได้ส่งผ้าต่อให้ทางจังหวัดนำไปตัดแม่ครูเพ็ญ เล่าให้เราฟังว่า สำหรับกลุ่มทอผ้าบ้านสันปูเลย ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2529 หมู่บ้านแห่งนี้เป็นชาวไทลื้อ เรามีภูมิปัญญาและวัฒนธรรมดั้งเดิมอยู่แล้ว จะมีลายผ้าพื้นถิ่นรที่เรียกว่า 'ลายน้ำไหล' ส่วนลายสารภีที่อยู่บริเวณตรงกลางเสื้อของ ครม. เป็นลายที่จังหวัดเพิ่งมีการคิดค้นร่วมกัน เมื่อปี 2565 นี้เอง"จังหวัดมองว่า บนผ้าควรมีลายดอกไม้ สภาวัฒนธรรมจังหวัด จึงเชิญสภาวัฒนธรรมแต่ละอำเภอมาระดมความคิดกัน ว่าจะใช้ลายของดอกอะไรเป็นลายประจำจังหวัด และมาลงตัวที่ดอกสารภี มีการออกแบบจนลงตัว เพื่อให้ทุกชนเผ่าในพะเยาสามารถทำลายนี้ได้"แม่ครู ให้ความรู้เรื่องลายดอกสารภีบนเสื้อของ ครม.สัญจร กับทีมข่าวฯ ว่า ตรงกลางด้านในสุดเปรียบเสมือนภูเขา ซึ่งแสดงถึงลักษณะของ จ.พะเยา ที่มีภูเขาเยอะ ลายล้อมไปด้วยจุดเล็กๆ 9 จุด ซึ่งหมายถึง 9 อำเภอของ จ.พะเยา ส่วนด้านนอกสุดเป็นกลับดอกไม้ที่มีอยู่ 10 กลีบ เพื่อแสดงให้เห็นว่า ชาวพะเยาร่วมใจกันทำสิ่งนี้ขึ้นมา ในรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรีแม่ครูเพ็ญ เปิดใจว่า การทำงานครั้งนี้เรารู้สึกภาคภูมิใจมาก ที่ได้มีส่วนร่วมในการสัญจรของ ครม. ถือว่าชุมชนและจังหวัดของเราสามารถทำตรงนี้ได้และประสบความสำเร็จด้วย สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือ และพลังจากเครือข่ายที่เรามี"อยากให้ผ้าไทยไปสู่สายตาชาวโลกมากขึ้น เพราะถือเป็นของดีของประเทศ ผ้าไทยไม่ได้หยุดที่เสื้อ แต่สามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้อีก การทำงานครั้งนี้ มันเหมือนเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย เพราะอาจจะมีคนเห็นแล้วชอบ พอชอบเขาก็อยากสั่ง ซึ่งเราก็อยากบอกว่าสามารถสั่งได้ คนในชุมชนพร้อมทำเสมอ"ผลิตภัณฑ์สร้างอาชีพ โดนใจต่างชาติ : ย้อนกลับมาที่กลุ่มผ้ามัดย้อมแม่อิงชิโบริ คุณเบียร์ บอกว่า งานทั้งหมดเป็นฝีมือของชาวนา โดยส่วนใหญ่พวกเขาจะทำเกษตรเชิงเดี่ยว แต่เมื่อมีวิกฤติหรือมีปัญหา เช่น ภัยพิบัติ ราคาข้าวตก ฝนแล้ว หรือน้ำท่วม งานนี้จะเป็นตัวช่วยเสริมให้พวกเขามีรายได้ แถมบางคนยังใช้เป็นอาชีพหลัก"ในวันที่เราเกิดวิกฤติ เรามีพี่น้องเกษตรกร 14 ราย มาตั้งเป็นกลุ่มอาชีพ ปัจจุบันมีการขยายเครือข่ายออกไป ถ้าคิดเป็นกลุ่มอาชีพก็มีอยู่ 11 กลุ่ม ซึ่งไม่ได้อยู่เฉพาะแค่ อ.ภูกามยาว แล้ว แต่ยังไปถึง อ.จุน อ.เชียงคำ อ.เมือง อ.แม่ใจ อ.ภูซาง กลายเป็นเครือข่ายและวงจรใหญ่ โดยที่ยังเน้นความยั่งยืน และ Sustainability""เราพยายามบูรณาการทุกภาคส่วนร่วมกัน เพื่อสร้างเศรษฐกิจและกระจายรายได้ในพื้นที่ ทุกกระบวนการเป็นวงจรเชื่อมโยงกัน เช่น เมื่อกลุ่มทอผ้าทอเสร็จแล้ว ก็จะเอาไปให้กลุ่มมัดย้อม ย้อมเสร็จก็เอาไปทอ หรือแปรรูปต่อไป เหล่านั้นเป็นวงจรในจังหวัด มันคือการสร้างห่วงโซ่แห่งคุณค่า และมูลค่า"คุณเอกรินทร์ กล่าวต่อว่า แม้ตอนนี้ยังไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศโดยตรง แต่มีการออกงานต่างๆ ผลตอบรับคือลูกค้าต่างประเทศจะชื่นชอบผลงานมาก โดยเฉพาะลูกค้าญี่ปุ่น พวกเขาปลาบปลื้มและชอบผลงานของเรามาก"ศาสตร์การทำผ้ามัดย้อม หรือชิโบริทั่วโลก ส่วนใหญ่จะมีแค่สีน้ำเงิน ซึ่งย้อมจากคราม แต่ของเราทำได้หลายสี เลยกลายเป็นที่ฮือฮา และสร้างความประทับใจให้แก่ผู้พบเห็น อีกทั้งชิโบริถือเป็นหนึ่งในศาสตร์ชั้นสูงของเขา เขารู้สึกดีที่คนไทยและชาวนาสามารถทำได้สวย และต่อยอดจนกลายเป็นรูปแบบของตัวเองได้""ผมไม่ใช่คน จ.พะเยา" : แม้ว่าคุณเบียร์จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มผ้ามัดย้อมแม่อิงชิโบริ และพยายามฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่คุณเบียร์ไม่ใช่คนท้องที่ แต่เป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด ที่ตัดสินใจมาใช้ชีวิตบั้นปลาย ณ เมืองพะเยา "เรามาอยู่ที่นี่ พอถิ่นที่เราอาศัยเกิดวิกฤติ เราก็เลยใช้องค์ความรู้ที่มี เพื่อถ่ายทอดวิชาให้คนในชุมชน ตัวเรายินดีสอนให้ ซึ่งคนที่นี่ทำได้ดี และทำได้แบบที่ต้องการ เลยกลายเป็นต้นแบบส่วนหนึ่งของความสำเร็จ ตอนนี้หลายคนได้เป็นแม่ครูช่าง เป็นตัวแทนอำเภอ ตัวแทนจังหวัด ทำผลงานโชว์ให้คนอื่นได้เห็น ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ถ่ายทอดตามหาวิทยาลัย และมีรายได้จากงานนี้"คุณเบียร์ เล่าต่อว่า ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอบคุณและชื่นชมที่เรามาช่วยพัฒนาเมืองพะเยา เราเลยแกล้งบอกท่านว่า โครงการพัฒนาบ้านเกิดเบียร์จะช่วยไม่ได้นะ เพราะเบียร์ไม่ได้เกิดที่พะเยา แต่ถ้าพัฒนาเรือนตาย เบียร์ทำได้ทุกมิติจากความมุ่งมั่นของคุณเบียร์ ทำให้เขาได้รับรางวัล 'นวัตกรชุมชนดีเด่น' จากกระทรวง อว. ในปีที่ได้รับมีนวัตกรจากทั่วประเทศ 3,740 คน ซึ่งคุณเบียร์ได้รับรางวัลสูงสุด คือ ระดับดีเด่น ตอนนี้เป็นคนแรกคนเดียว ของ จ.พะเยาทีมข่าวฯ ถามต่อไปว่า แล้วองค์ความรู้เหล่านี้คุณเบียร์ศึกษามาจากที่ไหน?ผู้ก่อตั้งกลุ่มผ้ามัดย้อมแม่อิงชิโบริ ตอบว่า เคยเรียนเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว กับชาวเนเธอร์แลนด์ ท่านชื่อ 'Lady Lia' หรือ 'คุณหญิงเลีย' ท่านเป็นช่างที่ทำผ้าถวาย สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์แห่งเนเธอร์แลนด์ เราได้เจอกับท่านในช่วงที่ท่านอุทิศตัวมาดูแลหญิงไทยเรื่อง 'ตกเขียว' ที่บ้านแร้งไข่ จ.สุรินทร์ ในอดีต"การกระทำของท่านเป็นแรงบันดาลใจให้เราคิดว่า ทำไมฝรั่งเขาถึงได้สนใจมาช่วยน้องๆ สาวๆ เด็กๆ ที่บ้านเรา เราประทับใจความเสียสละ ใจดี และเห็นว่าท่านมีวิชาด้านนี้ เลยไปขอเรียนเพื่อติดตัวไว้"รางวัลแห่งความมุ่งมั่น : จากความมุ่งมั่นของคุณเบียร์ ที่อยากให้ชาวชุมชนแม่อิงกลับมาลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง รวมเข้ากับความทุ่มเทการวิจัย ของมหาวิทยาลัยพะเยา และการไม่ยอมแพ้ของชาวบ้าน ทำให้เกิดการรื้อฟื้นภูมิปัญญาทั้งหลายทั้งปวงได้สำเร็จ จนเกิดเป็น 'แม่อิงชิโบริโมเดล' และนำมาซึ่งรางวัลแห่งความภาคภูมิใจอย่าง 'รางวัลเหรียญทองระดับภูมิภาคจากกระทรวง อว.'"เมื่อปีที่แล้วเราได้ร่วมงานพัฒนาชุมชน ในโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ซึ่งเป็นพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ถือว่าเราประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง เพราะได้เข้าไปสู่ 200 ทีม ยกระดับของพื้นบ้านสู่โอทอปพรีเมียม และท้ายที่สุดเราก็กลายเป็น 1 ใน 50 ผู้ประกอบการต้นแบบ"คุณเบียร์ มองว่า ที่มาถึงจุดนี้ได้เพราะได้รับโอกาส และความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทั้งส่วนราชการ เอกชน ประชาชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ ซึ่งมีมหาวิทยาลัยพะเยาเป็นแกนนำ หลายเหตุการณ์แม้จะเป็นวิกฤติ แต่เราสามารถพลิกให้เป็นโอกาสได้"ตอนนี้เราได้ร่วมกับพาณิชย์ และหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งเราจะได้รับเชิญให้ไปออกงาน 'ไทยเฟสติวัล' ที่โตเกียวในเดือนพฤษาคมนี้ นอกจากนั้นเราจะทำโครงการเชื่อมโยงกับครูญี่ปุ่น และอาจจะได้เชิญเขามาสอนที่พะเยาด้วย ซึ่งสมาคมโรตารี (Rotary) เป็นคนสนับสนุน"คุณเบียร์บอกเราว่า ตลอดการทำงานกับแม่อิงชิโบริ 3 ปี สู่ปีที่ 4 รู้สึกภูมิใจมาก ดีใจที่เรื่องราวและวิธีคิดของกลุ่ม ที่น้อมนำศาสตร์พระราชา มาสู่การปฏิบัติได้จริงๆ สร้างรายได้และจุดขายให้ชุมชน เป้าหมายสูงสุด คือ ทั้งโลกให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และชีวิตความเป็นอยู่ที่ไปด้วยกันกับธรรมชาติ"อยากให้ทุกกลุ่มลดการใช้สารเคมี และลดการใช้สีสังเคราะห์ มาลองเปิดใจใช้สีจากธรรมชาติ อยากให้ทุกคนคิดว่าการทำสีจากธรรมชาติไม่ใช่เรื่องยาก หรือหากใครสนใจองค์ความรู้จากพวกเรา เราก็ยินดีถ่ายทอดให้"ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงานภาพ : เพจ Mae ing shibori และ แม่ครูเพ็ญอ่านบทความที่น่าสนใจ : เปิดมุมคิด...ทำไมอาหารไทยจึงเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ดีที่สุด?โจทย์สตรีทฟู้ดไทย หากคิดเพิ่มราคา อะไรคือสิ่งที่ควรเปลี่ยนมีเครื่องมือแต่ขาดเทคนิค อุปสรรคซอฟต์พาวเวอร์ไทย'ท่องเที่ยวเชิงการแพทย์' โอกาสเศรษฐกิจไทย กับความท้าทายที่ต้องเร่งปรับตัว