มองกรณีญี่ปุ่นจ่อยกเลิกฟรีวีซ่าไทย ผ่านสายตาผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าและการลงทุนไทย-ญี่ปุ่น คาดนี่เป็นเพียงการแจ้งเตือนไทยเร่งหามาตรการ หากยกเลิกจริง ญี่ปุ่นอาจเสียโอกาส และเม็ดเงินจากการท่องเที่ยว...

ส่อแววเป็นเรื่องอีกหรือไม่!? หลังมีข่าวออกมาว่า ญี่ปุ่นอาจยกเลิกฟรีวีซ่าให้คนไทย หากจำนวน 'ผีน้อย' หรือ คนไทยที่อยู่เกินวีซ่ายังคงเพิ่มขึ้น เพราะจากสถิติ 3 ปีย้อนหลังจากกรมการกงสุล พบว่าคนไทยที่อยู่เกินวีซ่าในญี่ปุ่นยังไม่มีท่าทีจะลดลง โดยปี 2564 จำนวน 8,688 คน ปี 2565 จำนวน 9,549 คน และปีล่าสุด 2566 จำนวน 11,472 คน 

อย่างไรก็ตาม ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ยกโทรศัพท์ ต่อสายตรงถึง 'คุณสืบศิษฏ์ ศานติศาสน์' หรือ 'คุณชาร์ต' ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าและการลงทุนไทย-ญี่ปุ่น ผู้อำนวยการฝ่ายพันธมิตรระหว่างประเทศ ธนาคารญี่ปุ่นในประเทศไทย เพื่อสอบถามความคิดเห็น คาดการณ์ และวิเคราะห์ต่อสถานการณ์นี้

คุณสืบศิษฏ์ ศานติศาสน์
คุณสืบศิษฏ์ ศานติศาสน์

...

'ผีน้อย' มากขึ้น เพราะ 'ฟรีวีซ่า' : 

คุณสืบศิษฏ์  กล่าวว่า เมื่อพูดถึงเรื่อง 'ผีน้อย' เราจะพูดถึงคนที่เข้าไปทำงานแบบผิดกฎหมาย ซึ่งปัญหานี้มักจะมาพร้อมกับการเปิด 'ฟรีวีซ่า' (Free Visa) เนื่องจากช่วงบังคับใช้วีซ่า การเดินทางเข้าประเทศจะลำบาก ต้องมีการตรวจสอบเข้มงวด แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีคนบางกลุ่มที่อาจจะใช้วีซ่าท่องเที่ยวแล้วอยู่ต่อ 

"ในอดีตนักท่องเที่ยวจากเมืองไทยไปญี่ปุ่นน้อยมาก อยู่ที่หลักแสน ถ้าจำไม่ผิดประมาณ 3 แสนคน ภาพจำตอนนั้นสำหรับการไปเที่ยวญี่ปุ่น คือเป็นประเทศสำหรับคนมีเงินในระดับหนึ่ง เป็นการเดินทางไปที่ค่อนข้างลำบาก ต้องเตรียมเรื่องค่าใช้จ่าย และต้องขอวีซ่า แต่ตั้งแต่ปี 2556 ทางรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดโอกาสฟรีวีซ่าให้คนไทย โดยสามารถอยู่ญี่ปุ่นได้ 15 วัน โดยไม่ต้องใช้วีซ่า"

คุณชาร์ต กล่าวเสริมว่า อย่างไรก็ตามหลังจากฟรีวีซ่า การเดินทางไปเที่ยวก็ง่ายขึ้น การตรวจสอบเอกสารต่างๆ เริ่มลดลง ในส่วนนี้มีข้อดีคือ จำนวนคนไทยเดินทางไปญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น อย่างปีนี้มีการคาดการณ์ว่า คนไทยจะไปญี่ปุ่นประมาณ 1.2-1.5 ล้านคน แต่แน่นอนว่า เมื่อมีจำนวนมากขนาดนี้ ก็ย่อมมีคนบางกลุ่ม ตั้งใจจะไปอยู่ทำงานต่อที่ญี่ปุ่นหลังเกินกำหนด

แหล่งทำงานของผีน้อย : 

คุณสืบศิษฏ์ เล่าว่า จากการที่ส่วนตัวผมเองเคยไปทำงานอยู่ที่ญี่ปุ่น และได้เรียนที่นั่นด้วย ทำให้เราได้รู้จักกลุ่มคนไทยในญี่ปุ่น ซึ่งพวกเขาก็มีความหลากหลาย ตั้งแต่เป็นนักเรียน คนทำงาน คนทำธุรกิจ ไปจนถึงคู่ชีวิตของคนญี่ปุ่น 

ประเทศญี่ปุ่นมีแรงงานต่างชาติค่อนข้างเยอะ จากตัวเลขประชากรปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 100 กว่าล้านคน อยู่ในวัยที่เป็นกำลังทำงานประมาณ 69 ล้านคน มีชาวต่างชาติที่เป็นกำลังแรงงานอยู่ประมาณ 2 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นมาจากปี 2559 ประมาณเกือบเท่าตัว จากที่เคยมีประมาณ 1.1 ล้านคน

"แรงงานเหล่านั้นอยู่ในกลุ่มธุรกิจ Manufacturer การผลิต หรือไม่ก็บริการ ประมาณ 43% โดยส่วนใหญ่เป็นชาวเวียดนาม 25% ตามมาด้วยชาวจีน 19% คราวนี้เมื่อพูดถึงชาวไทย เราก็มีส่วนที่เข้ามาทำงานถูกกฎหมายเหมือนกัน ทั้งภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม หรือภาคบริการ แต่ก็มีบางส่วนที่เข้ามาทำงานแบบไม่ถูกต้องตามกฎหมาย"

คุณชาร์ต มองว่า ในเรื่องของผีน้อย พวกเขาอาจจะใช้ช่องทางฟรีวีซ่าเข้ามาทำงานธุรกิจของคนไทยในญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารคนไทยที่มีตามเมืองใหญ่ หรือจะเป็นตามร้านนวดต่างๆ และธุรกิจของคนไทยในญี่ปุ่นก็มีจำนวนไม่น้อย เราเข้าใจว่าคนบางส่วนจึงใช้ช่องทางตรงนี้ เข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมายด้วย

"ผีน้อย จะไม่ได้ทำงานในบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น เพราะบริษัทไม่จ้างคนที่หลบหนีเข้าเมือง เนื่องจากการทำงานรูปแบบบริษัท และภาคธุรกิจมีการตรวจค่อนข้างเข้มงวด จะต้องมีการตรวจสอบใบอนุญาต การเสียภาษี การจ่ายเงินเดือน ตรวจสอบพนักงานบริษัท และอีกมากมาย"

...

'ผีน้อย' กับภาพลักษณ์เมืองไทย : 

เมื่อเกิดสถานการณ์แบบที่เป็นข่าวอยู่ ทีมข่าวฯ จึงสงสัยว่า ปัญหา 'ผีน้อย' ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของคนไทย หรือประเทศไทยอย่างไรบ้าง? ซึ่งคุณชาร์ต แสดงความคิดเห็นต่อคำถามนี้ว่า…

"ต้องเริ่มพูดถึงภาพรวมก่อน ทางผมเองคลุกคลีกับคนญี่ปุ่นค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะนักธุรกิจญี่ปุ่น และคนที่ทำงานภาคราชการญี่ปุ่น เมื่อเราพูดถึงแรงงานที่อาจจะมาสร้างปัญหาในญี่ปุ่น มุมมองของพวกเขาแทบไม่มีภาพจำว่า คนไทยทำเรื่องแบบนั้น"

"เพราะถ้าพูดถึงเรื่องคนต่างชาติหลีกหนีเข้าไปทำงานในญี่ปุ่น จนสร้างปัญหา กระทั่งกลายเป็นข่าว หรือคดีความต่างๆ คนญี่ปุ่นจะพูดถึงประเทศอื่นซะมากกว่า" ผู้เชี่ยวชาญกล่าวกับเรา

ยกเลิกฟรีวีซ่า คือ คำเตือนถึงรัฐบาลไทย : 

แม้ว่าคุณชาร์ตจะบอกว่า คนญี่ปุ่นไม่มีภาพจำเรื่องคนไทยสร้างปัญหา แต่คุณชาร์ตก็เข้าใจถึงสถานการณ์ที่กำลังเป็นข่าวอยู่ในตอนนี้ 

คุณสืบศิษฏ์ กล่าวกับทีมข่าวฯ ว่า เราเข้าใจว่าในส่วนของทางการ เขาคงจะมีตัวเลข ที่แสดงจำนวนคนหลบหนีจากการท่องเที่ยวแล้วไปทำงาน ซึ่งตัวเลขค่อนข้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะใน 2-3 ปีให้หลัง ทำให้เรื่องนี้เป็นสัญญาณบอกคนญี่ปุ่นว่า พวกเขาน่าจะต้องมีมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมไม่ให้ตัวเลขมากไปกว่านี้ เป็นเสมือนการควบคุมไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นในอนาคต

...

"ที่คนญี่ปุ่นคิดแบบนั้น มันเป็นผลสืบเนื่องจากวิถีชีวิตของเขา ซึ่งจะดำเนินชีวิตแบบ Protective (ป้องกัน) คือ เขาจะชอบป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา มากกว่าการรอให้เกิดปัญหาแล้วค่อยมาป้องกัน"

ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าและการลงทุนไทย-ญี่ปุ่น กล่าวต่อว่า เพราะฉะนั้นในส่วนตัวของผม ที่มีประสบการณ์การทำงานกับคนญี่ปุ่น และจากมุมมองของตัวเอง ผมมองว่าการที่เกิดข่าวแบบนี้ หรือภาครัฐญี่ปุ่นแสดงออกแบบนี้ มันคล้ายกับการส่งสัญญาณเฉยๆ ว่า ตอนนี้มีปัญหาในส่วนนี้ และปัญหากำลังเข้มข้นขึ้น เพื่อดูว่าทางรัฐบาลไทย จะช่วยแก้ปัญหา หรือจะช่วยสนับสนุนอย่างไรบ้าง มากกว่าการที่จะปิดกั้นคนไทย หรือยกเลิกฟรีวีซ่า 

"การกระทำลักษณะนี้เป็นการส่งสัญญาณเตือนครั้งแรก ให้รัฐบาลไทยตระหนักส่วนนี้ และต้องมีมาตรการต่างๆ เข้ามาช่วยควบคุมไม่ให้ปัญหาบานปลาย ผมต้องย้ำว่า อะไรที่ดูจะเป็นปัญหาในอนาคต เขาก็จะมีมาตรการในการป้องกัน เรื่องนี้จึงเหมือนคำเตือน ไม่ใช่การยื่นคำขู่"

โอกาสท่ามกลางปัญหา : 

...

คุณชาร์ต ไม่ปฏิเสธว่าผีน้อยอาจจะนำไปสู่ปัญหาในอนาคต แต่ก็อยากให้หน่วยงานรัฐของไทย มองว่าเรื่องนี้มาพร้อมกับ 'โอกาส' เพราะมันแสดงว่าคนไทยอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น อยากสร้างเนื้อสร้างตัว อยากไปทำงานต่างประเทศ จึงน่าจะส่งเสริมและทำส่วนนี้ให้อยู่ในระบบระเบียบ

ผู้เชี่ยวชาญฯ กล่าวต่อว่า ตอนนี้ญี่ปุ่นกำลังขาดแคลนแรงงาน เพราะเขากลายเป็นประเทศสังคมผู้สูงอายุเรียบร้อยแล้ว ในปี 2565 ญี่ปุ่นมีอัตราส่วนของผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ประมาณ 30% ซึ่งถือว่าเยอะมาก ใน 10 คนที่เราเจอ 3 คนเป็นผู้สูงอายุแล้ว

เมื่อเป็นอย่างนั้น จึงทำให้ญี่ปุ่นขาดแรงงานที่หลากหลาย อย่างในธุรกิจร้านอาหารใหญ่ๆ ก็มีปิดตัวไป เพราะว่าหาพนักงานไม่ได้ ถ้าได้มีโอกาสไปเที่ยวช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา จะเห็นว่าพนักงานร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร หรือพนักงานห้าง จะไม่ค่อยใช่คนญี่ปุ่นแล้ว จากเดิมที่จะเจอแต่คนญี่ปุ่นตลอด แต่เราจะเจอคนจีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ หรือแม้แต่คนไทย

"เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า ญี่ปุ่นมี Demand (อุปสงค์ : ความต้องการ) เรื่องแรงงานค่อนข้างสูง ล่าสุดเขาก็ออกข่าวเรื่อง Visa Digital Nomad คือคนที่ทำงานออนไลน์ Work form anywhere ซึ่งมีอยู่ในโลกนี้จำนวนมาก ญี่ปุ่นก็อยากได้คนเหล่านี้มานั่งทำงานในประเทศ โดยกำหนดว่าต้องมีรายได้มากกว่า 10 ล้านเยน/ปี และจะให้วีซ่าอยู่นานถึง 6 เดือน อันนี้ก็เป็นจุดหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าญี่ปุ่นเขามี Demand"

คุณสืบศิษฏ์ กล่าวต่อว่า ทีนี้เรามามองในส่วนของ Supply (อุปทาน : จัดหา) ซึ่งคนไทยมีซอฟต์สกิล และฮาร์ดสกิล หลายอย่างที่ไม่ได้ด้อยไปมากกว่าคนอื่น คนที่อยากทำงานญี่ปุ่นก็มีมากขึ้น โอกาสที่จะสร้างรายได้ นำเงินกลับมาเมืองไทยก็มี

ดังนั้น รัฐบาลควรมองเป็นโอกาส ต้องมาคิดเพิ่มว่าจะส่งคนไทยไปญี่ปุ่นอย่างไร ให้ถูกต้องตามระเบียบวิธี ดูว่าเรามีแรงงานไทยด้านไหนที่ยังแข็งแกร่ง ศึกษาจุดนี้ให้ชัดเจนขึ้น วางแผนเอื้ออำนวยให้คนเหล่านี้ไปทำงานที่ญี่ปุ่นได้ หาคนที่เขาต้องการจ้างแรงงานฝั่งญี่ปุ่น เพื่อนำมาจับคู่ให้กับคนไทย สร้างบุคลากรไทยไปทำงานต่างประเทศ และส่งเม็ดเงินกลับเข้าประเทศ

"ผมมองว่าเป็นไปได้ ที่คนส่วนใหญ่เขาหลบหนี ไปทำงานเป็นผีน้อยในต่างประเทศ เขาก็ไม่อยากเป็นผีน้อยนักหรอก เพียงแต่คนเราอาจจะมีความรู้ มีพื้นฐานที่ต่างกัน บางคนอาจจะอยากทำมาก แต่ไม่รู้จะสมัครอย่างไร จึงเลือกหาวิธีที่มันง่ายกว่า ซึ่งแน่นอนว่าอาจไม่ใช่วิธีที่ถูกกฎหมาย"

ผลกระทบต่อญี่ปุ่น หากยกเลิกฟรีวีซ่าไทย : 

ทีมข่าวฯ สอบถามว่า หากมีการยกเลิกฟรีวีซ่า คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อไทย หรือญี่ปุ่นอย่างไรบ้าง?

คุณชาร์ตแสดงความคิดเห็นว่า ในส่วนของประเทศไทย แน่นอนว่าจะทำให้การเข้าญี่ปุ่น กลายไปเป็นเรื่องอยาก นอกจากนั้น อาจมีผลกระทบเล็กน้อยสำหรับบางคน ที่มีการค้าขาย หรือการทำธุรกิจ สำหรับญี่ป่น

สำหรับญี่ปุ่น แน่นอนผีน้อยจะลดลง แต่ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวไทยก็จะลดลงด้วย คนไทยจะหันไปเที่ยวประเทศอื่น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ 'เม็ดเงิน' เข้าประเทศของญี่ปุ่น

"ด้วยเหตุที่กล่าวมา ผมเลยมองว่าเขาจะไม่ยกเลิกฟรีวีซ่า เพราะว่าเวลาพูดถึงการไปเที่ยวต่างประเทศของคนไทย ญี่ปุ่นคืออันดับ 1 มาหลายปีติด แล้วคนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นปีนึงถึงหลักล้านคน ที่สำคัญคือคนไทยชอบไปซ้ำ หมายความว่าเมื่อไปแล้วชอบ เลยไปแล้วไปอีก อย่างเราเองไปญี่ปุ่นปีนึงประมาณ 5-6 ครั้ง"

คุณสืบศิษฏ์ กล่าวต่อว่า เพราะฉะนั้น หากญี่ปุ่นตัดฟรีวีซ่า จะเป็นเหมือนการตัดโอกาสที่จะได้รับเม็ดเงินจากคนไทย คนไทยจะกลับไปคิดแบบเดิมว่า ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่เข้าถึงยาก ทำให้ไม่อยากไปซ้ำ

"ฟรีวีซ่ามีผลต่อการท่องเที่ยวมาก อย่างล่าสุด จีนก็เพิ่งให้ฟรีวีซ่าคนไทย จากเดิมที่คนไปเที่ยวญี่ปุ่นมากกว่า ตอนนี้เริ่มโดนจีนกินส่วนแบ่งไปเรื่อยๆ เรื่องนี้เลยยิ่งทำให้มองว่า ญี่ปุ่นเองก็คงไม่อยากทิ้งคนไทย ยังไงก็ต้องพยายามดึงไว้ แต่ก็อย่างที่บอกครับ เขาใช้ชีวิตแบบ Protective เขาจึงต้องรีบแสดงออกมาแบบนี้"

มองไทยแก้ปัญหาได้ : 

คุณสืบศิษฏ์ มองว่า หน่วยงานของบ้านเราน่าจะจัดการกับเรื่องนี้ได้ เพราะเมื่อญี่ปุ่นออกตัวมาแบบนี้ ก็เป็นเหมือนตัวกระตุ้นแล้ว 

"ไทยกับญี่ปุ่น ต้องเรียกว่าเหมือนเป็นประเทศพี่น้อง เรามีการค้าขาย มีการลงทุนระหว่างกันเป็นหลักร้อยปี ความสัมพันธ์ที่มีมานานขนาดนี้ ทั้งภาคธุรกิจและการท่องเที่ยว ค่อนข้างแน่นแฟ้น การจะลดระดับความสัมพันธ์มีโอกาสได้ไม่มาก"

คุณชาร์ตกล่าวต่อว่า แต่นั่นก็เป็นกรณีที่เราไม่ได้สร้างปัญหาให้เขาจริงๆ ซึ่งตรงนี้ต้องพูดเผื่อไว้ เพราะก็ไม่รู้ว่าในอนาคต 2-3 ปีข้างหน้า ปัญหาจะรุนแรงมากแค่ไหน ตอนนี้เขาเพียงต้องการยกคนนอกระบบให้เข้าสู่ระบบ

อ่านบทความที่น่าสนใจ :