นโยบาย “ซ้ำชั้น” คำถามถึง ศธ. รู้สิทธิ ไม่รู้หน้าที่ หรือ ไม่รับผิดชอบ!?

“ไม่ทำ ไม่ส่ง เพราะยังไงก็ผ่านอยู่แล้ว” 

คนเป็นครูน้ำตาตกใน ดิ่งขั้นสุด... 

เกาให้ถูกที่คัน ไม่ใช่สรรหาแต่คำมาบั่นทอนครูผู้สอน #ผู้ปกครองร้องเรียน บ้างล่ะ #ครูไม่ใส่ใจ บ้างล่ะ #ครูไม่ติดตามเด็ก บ้างล่ะ ยกเด็กขึ้นหิ้ง แล้วเหยียบครูให้จมดิน #การศึกษาไทย

นี่คือ ข้อความส่วนหนึ่งจากโพสต์ของ Suchaya Pornsai ที่ระบายความรู้สึกถึงนักเรียน และเป็นที่มาของการเรียกร้องให้โรงเรียนประกาศนโยบาย #เรียนซ้ำชั้น

ประเด็นของวันนี้ ที่ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ อยากชวนผู้อ่าน ร่วมคิด วิเคราะห์ แยกแยะ กับความเป็นจริงเรื่อง “การศึกษาไทย” ว่าเหตุใด “ภาพรวม” ถึงไม่ดีขึ้นเลย ทั้งที่โลกเราก็วิวัฒน์ไปไกลแล้ว แต่ความคิดในเรื่องพัฒนาการการเรียน กลับดิ่งเหวลงกว่าเดิม 

แนวปฏิบัติการเรียนซ้ำชั้น

หลักปฏิบัติ สพฐ.

ตามประกาศของ ก.ศึกษาธิการ เกี่ยวกับการเรียนซ้ำชั้น เพื่อให้สถานศึกษาไปปฏิบัติ ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงข้อซักซ้อมทำความเข้าใจดังนี้ 

1. การวัดและประเมินผลการเรียน

ให้สถานศึกษาวัดและประเมินผลการเรียน ระหว่างเรียน โดยใช้เทคนิคหลายอย่างประเมิน เพื่อตรวจสอบความก้าวหน้าในการเรียน หากพบปัญหา ต้องดำเนินการช่วยเหลือและ “ซ่อมเสริม” ทันที โดยเฉพาะชั้น ป.1 ให้ผู้เรียนอ่านออก เขียนได้ 

2. การสอนซ่อมเสริม

กรณีไม่ผ่าน หรือ ได้ระดับการเรียน “0” ต้องจัดซ่อมเสริม โดยใช้เวลา “นอกเหนือ” จากการสอนปกติ ทั้งนี้ ให้อยู่ในดุลยพินิจของสถานศึกษา 

3. สอบแก้ตัว

สอบแก้ตัวครั้งที่ 1 : ให้ผู้เรียนยื่นคำร้องกับครูผู้สอนประจำวิชา หรือครูประจำชั้น ให้เสร็จก่อนเปิดภาคเรียน หรือในภาคเรียนแรกของปีการศึกษาถัดไป 

สอบแก้ตัวครั้งที่ 2 : หากสอบแก้ตัวครั้งแรกไม่ผ่าน หรือไม่มาสอบ โดยสถานศึกษาแต่งตั้งกรรมการการสอนซ่อมเสริม และสอบแก้ตัวให้เสร็จก่อนเปิดภาคเรียน หรือในภาคเรียนแรกของปีการศึกษาถัดไป 

4. การเรียนซ้ำรายวิชา

ถ้าเป็นวิชาพื้นฐาน ให้เรียนซ้ำรายวิชานั้น 

ถ้าเป็นวิชาเพิ่มเติม ให้เรียนซ้ำวิชาเดิม หรือเปลี่ยนวิชาใหม่ โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสถานศึกษา 

5. เรียนซ้ำชั้น

หากพบปัญหาและมีแนวโน้มเป็นปัญหาต่อการเรียนระดับสูง

ประถมศึกษา 

1. ผู้เรียนไม่ผ่านรายวิชาเกินครึ่งหนึ่งตามโครงสร้างเวลาเรียน

2. ผู้เรียน ป.1-ป.2 ได้รับการประเมินแล้วยังอ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้ คิดเลขไม่ได้ 

มัธยมศึกษา 

การซ้ำชั้น เมื่อผู้เรียนไม่ผ่านเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่ง หรือสองข้อ คือ 

1. เกรดเฉลี่ยต่ำกว่า 1.00 หรือมีแนวโน้มเป็นปัญหาต่อการเรียนระดับสูง 

2. ผลการเรียนติด 0, ร, มส. เกินครึ่งหนึ่งของรายวิชาที่ลงทะเบียนเรียนในปีการศึกษานั้น  

ทั้งนี้ การพิจารณาให้ผู้เรียนเรียนซ้ำชั้น หรือซ้ำรายวิชา ให้สถานศึกษาดำเนินการในรูปแบบ “คณะกรรมการ” และให้สถานศึกษาแจ้งผู้ปกครองและผู้เรียนทราบเหตุผลของการเรียนซ้ำชั้น/เรียนซ้ำรายวิชา 

เรียกร้องการซ้ำชั้น เสียงสะท้อนจาก “ครู”

เพราะเหตุใด ครูถึงอยากให้นักเรียน ซ้ำชั้น

จากคำถาม สู่คำอธิบายของผู้ที่อยู่ในวงการ...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มองว่า การที่ครูเรียกร้องการซ้ำชั้น แสดงให้เห็นถึงประเด็นหนึ่งที่สำคัญมาก คือ ครู ได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างดี สมกับ “จรรยาบรรณ” ในการรับผิดชอบ นี่คือเรื่องที่ครูอัดอั้นตันใจ และสะท้อนไปถึง “ระบบการศึกษา” ว่าอาจมีส่วน “ผิดพลาด” 

“ปัญหาเรื่องการ “ซ้ำชั้น” นั้น ที่ผ่านมาเราไม่ค่อยเห็นเพราะมันมีวัฒนธรรมหนึ่งเกิดขึ้น คือ วัฒนธรรมปล่อย ถึงแม้ในระเบียบจะบอกว่า สามารถให้นักเรียนสอบตก ซ้ำชั้นได้ ยกตัวอย่าง เด็ก ป.1 อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ คิดเลขไม่ได้ ครูมีสิทธิที่จะ “สอนซ่อมเสริม” และให้โอกาสเด็กสอบ 2 ครั้ง หากไม่ผ่านต้องเข้าคณะกรรมการ ใช้ดุลยพินิจของโรงเรียน 

ระเบียบดังกล่าวมีจริง แต่...หากครูปล่อยให้เด็กสอบตก หรือซ้ำชั้น สิ่งที่ตามมาคือ...

- ครู จะถูกตั้งคำถามจาก ผู้บริหารโรงเรียน : สอนหนังสืออย่างไร ทำหน้าที่บกพร่องหรือไม่ หาเหตุผลได้ไหม ทำไมเด็กสอบตก 

โดยสรุปคือ ครู และผู้บริหาร ต้องบอกเหตุผลว่าเพราะอะไรเด็กสอบตก 

- ถูกกดดันจากผู้ปกครองเด็ก : เมื่อแจ้งให้ผู้ปกครองเด็กทราบ ผู้ปกครองบางคนจะตั้งคำถาม และอาจโยนความผิดมาที่ครู ว่าสอนอย่างไร... ทำไมลูกฉันถึงสอบตก!? 

- เป็นแผลใจของเด็ก : อีกหนึ่งทฤษฎี คือ หากให้เด็กซ้ำชั้น ก็จะกลายเป็นแผลเป็นที่เกิดขึ้นกับเด็ก เป็นการซ้ำเติมความรู้สึก ทำให้เด็กดูไม่ฉลาด เป็นการตีตราเด็ก 

“สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา คือ ครูจะให้เด็กสอบซ่อม เป็นพิธี และก็ผ่านด้วยเกรด 1 โดยการสอบผ่านของเด็ก ไม่ได้เกิดประโยชน์กับตัวเด็ก ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นว่า มีเด็ก ป.6 จำนวนหนึ่งเรียนจบแล้ว แต่ก็ยังอ่านไม่คล่อง เขียนไม่ถูก คิดเลขไม่เป็น...ทั้งที่ความเป็นจริง คือ ต้องทำได้ตั้งแต่ ป.1” 

วัฒนธรรมปล่อย ผู้บริหาร รอด 

ศ.ดร.สมพงษ์ ยังอธิบายภาพรวมปัญหาต่อว่า หากมีการปล่อยให้เด็กผ่าน ไม่มีเด็ก ติด 0 ติด ร หรือซ้ำชั้น ผู้บริหาร ก็จะเอา “ผลสำเร็จ” ตรงนี้ไปขอวิทยฐานะได้ ครูปล่อยเด็ก = เขาไม่เดือดร้อน  ผู้บริหาร = ได้ผลลัพธ์ เป็นประโยชน์กับตัวเอง  ครูที่เอาจริงเอาจัง = ทุกข์ใจที่เห็นเด็กตอบคำถามแบบชุ่ยๆ  “ผลที่ตามมาคือเด็กจำนวนมากไม่ทำการบ้าน ไม่ตั้งใจเรียน เพราะรู้ว่าทำอย่างไรก็สอบผ่าน...”

เทียบเด็กสมัยก่อน สอบตก ซ้ำชั้น : 

ทีมข่าวฯ ถามว่า สมัยก่อน ครูยังกดดันนักเรียน ให้ตั้งใจเรียนได้ เมื่อมีการบอกว่า จะให้ “สอบตก” เรียนซ้ำชั้น อาจารย์สมพงษ์ ตอบโดยพลันว่า สมัยคุณ กับผมนั้น มันแตกต่างจากสมัยนี้...

“เด็กสมัยนี้ (บางคน) รู้จักสิทธิของตัวเอง แต่ไม่รู้จัก “หน้าที่” และ “ความรับผิดชอบ” (โอ้โห...แรง!!) 

หากสังเกตคือ เขารู้จักสิทธิของตัวเองและใช้สิทธินั้นอย่างเต็มที่ ดังนั้น หากอยากให้เขารู้หน้าที่ ก็ต้องมาทบทวนเรื่อง “สอบตก ซ้ำชั้น” ว่ามีการปฏิบัติตามระเบียบกฎเกณฑ์ ให้เด็กซ้ำชั้นได้ คำถามคือ เด็กจะกลัวไหม... หากเขารู้สึกกลัว เขาอาจจะกลับมาตั้งใจเรียนได้” 

แสดงว่า การ “ซ้ำชั้น” ในมุมมอง คือ สิ่งจำเป็นอยู่ ศ.ดร.สมพงษ์ ให้ความเห็นว่า ส่วนตัวแล้ว ผมเป็นคนที่อยู่ในฝ่ายให้ความสำคัญกับสิทธิเด็ก แต่กรณีนี้ ที่ครูออกมาบ่น แสดงให้เห็นว่า “ทุกฝ่าย” ต้องรับฟังด้วยหูทั้งสองข้าง 

“เพราะปัจจุบันมันเกิด “วัฒนธรรมปล่อย” แล้วมันส่งผลอย่างไร ผลการเรียนเป็นอย่างไร แม้กระทั่งเข้ามัธยมแล้วยังอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ มันสะท้อนถึงการตรวจสอบ “คุณภาพ” เด็ก ว่าไปตามระดับชั้นไหม เด็กถูกผลัก และส่งต่อ จากผลการเรียนที่ด้อยคุณภาพ”

กระทรวงศึกษารู้ปัญหาดี แต่...

เรื่องนี้เชื่อว่า ก.ศึกษา รู้ปัญหาดี แต่...เหตุใดถึงปล่อยให้ดำเนินไปเรื่อยๆ ศ.ดร.สมพงษ์ ผู้ที่อยู่ในวงการการศึกษามาอย่างยาวนาน ชี้ว่า เขารู้ดี...แต่เขามีคำอ้างว่า “เขาทำแล้ว” มันอยู่ในระเบียบแล้ว และเขาไม่ได้ปฏิเสธความรับผิดชอบ

แต่มันก็แค่ตัวหนังสือ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงช่าง... อาจารย์สมพงษ์ กล่าวว่า มันเกิดวัฒนธรรมปล่อยไงครับ ผลที่เกิดขึ้นคือ ผลการสอบวัดผล อย่าง PISA มัน “ฟ้องทุกปี” คะแนนแย่มากทุกวิชา 

“ผลคะแนนที่ออกมา ถามว่า มีใคร...นักการเมือง หรือ ข้าราชการมารับผิดชอบไหม สิ่งที่จะบอก คือ ระเบียบมีอยู่แล้ว ทำแล้ว แต่เมื่อผลสัมฤทธิ์มันต่ำ ไม่ได้อยู่ในส่วนความรับผิดชอบของเขา..”

อ้าวแบบนี้แปลว่า สักแต่จะบริหาร แต่ไม่ดูผลลัพธ์หรือ?

เขาบริหาร ตามนโยบาย และคำสั่ง ของนักการเมือง และรัฐมนตรี ดังนั้น หากสังเกตก็จะพบว่านโยบายและทิศทางการศึกษาจะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอด เปลี่ยนไปตาม รัฐมนตรีแต่ละคน 

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ

ดังนั้น เรื่องจรรยาบรรณ การเรียนการสอน และแก่นการเรียนรู้ต่างๆ จึงถูกปล่อยและหย่อนยานไปตามลำดับ ซึ่งเรื่องแบบนี้ต้องติดตาม ตรวจสอบ แก้ไข แต่...สิ่งที่เกิดขึ้นโดยมาก จะมุ่งไปที่การแก้ไขปัญหาหนี้สินครู อยู่เวร ขึ้นเงินเดือน แต่การทำงาน ต้องตรวจสอบเรื่องคุณภาพการศึกษา มันกลายเป็นเรื่องยากเกินที่ นักการเมือง หรือ รัฐมนตรี จะสั่ง เข้าใจ หรือลงมือ “ล้วงลูก” และ “เข้าไม่ถึง” กับประเด็นเหล่านี้ 

เกี่ยวกับว่า คนการเมือง คือ มาแล้วไปหรือไม่... 

“มันก็ใช่นะสิ” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวและว่า “มาและก็ไป และก็ทิ้งร่องรอยของปัญหาเก่าและใหม่เพิ่มขึ้นทุกวัน” 

มาตรฐานโลก เด็กที่ควรอ่านออกเขียนได้ คิดเลขคล่อง

ครู ป.1 สำคัญที่สุด กับการปูพื้นฐาน อ่าน เขียน คิด 

ทีมข่าวฯ ถามกูรูด้านการศึกษาว่า มาตรฐานการเรียน อ่านออก เขียนได้ คิดเลขได้ ควรอยู่ที่ชั้นไหน อาจารย์สมพงษ์ ย้ำว่า ป.3 คือต้องได้อ่านออก เขียนได้ คิดเลขได้ 

“เริ่มอ่านได้ คือ ป.1 อย่างน้อย 1,000 คำ จากนั้น ป.2 ต้องอ่านได้ 3,000 คำ หลังจากนั้น ป.3 ต้องอ่านได้ทั้งหมด ผสมตัวอักษรได้แล้ว ดังนั้น หากสอนตามหลักการเรียนการสอนทั่วไป ป.5-ป.6 จะสามารถคิดเชิงวิเคราะห์ได้แล้ว” 

ครูชั้นไหน สำคัญที่สุด : 

คำตอบของคำถามนี้ อาจารย์สมพงษ์ ชี้ว่า คือ ป.1 ดังนั้น ตามมาตรฐานการศึกษา ครูที่เก่ง และสอนดีที่สุด คือ ครู ป.1 และควรเป็นครูที่มีประสบการณ์มากที่สุด เพราะเขาจะเป็นคนปูพื้นฐานการอ่านออก เขียนได้ให้กับเด็ก 

“ในครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ เป็นสิ่งที่รู้กันอยู่แล้ว แต่ปัญหา คือที่ผ่านมามีการ “วัฒนธรรมปล่อย” เพราะปล่อยไปแล้ว ไม่มีใครต้องรับผิดชอบ มีความผิดใดหรือไม่...” 

แนวทางการแก้ปัญหาได้สำเร็จ ตัวอย่างต่างประเทศ 

อาจารย์สมพงษ์ ยอมรับว่า แนวทางที่ต่างประเทศทำสำเร็จ นั้นไม่ได้แตกต่างจากไทย คือ การซ่อมเสริม แต่เขาแก้ปัญหาจริงจัง แตกต่างจากบ้านเรา ไม่งั้นต่างประเทศ จะมีหลักสูตรการสอนซ่อมเสริม สอนการเรียน ใช้อุปกรณ์แตกต่าง หรือ จุดหนึ่งจะมีการสอบจริงๆ 

“ประเทศไทย นำหลักการเขามาใช้ แต่ไม่ปฏิบัติตามเขา...กลายเป็นวัฒนธรรมปล่อย” 

เราต้องยอมรับความจริงว่าประเทศเราหย่อนยานการตรวจสอบ และลงไปดูผลที่เกิดขึ้นกับเด็ก พอเกิดผลลัพธ์ ก็ไม่มีใครรับผิดชอบ ที่สำคัญคือ คนที่เกี่ยวข้องจะเข้ามาแก้ไข ไม่ได้ให้คุณในทางการเมือง 

“ส่วนราชการประจำ ที่เอาจริงเอาจังก็มี แต่ด้วยโครงสร้างที่ปล่อยเด็ก ถ้าเอาจริงจังมาก ก็จะถูกตั้งคำถาม ซึ่งทั้งความจริง เป็นเรื่องกระทบกับความรู้สึกของครูส่วนใหญ่ อยากให้มีซ้ำชั้น เมื่อสะท้อนปัญหา ก็ได้รับคำตอบว่า ระเบียบมีอยู่แล้ว คุณไม่ทำเอง...”


ระเบียบเยอะ กลายเป็น “หลุมดำ” ในการศึกษา 

ระบบการศึกษาประเทศไทยนั้น มีระเบียบเยอะ และระเบียบเหล่านี้จะกลายเป็น “หลุมดำ” ในระบบการศึกษา เช่น ค่าใช้จ่ายรายหัว ไม่ว่าโรงเรียนใหญ่-เล็ก คิดค่าใช้จ่ายรายหัวเท่ากัน...ระเบียบซ้ำชั้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีปัญหา 

“ระเบียบนับพันเหล่านี้ ทำให้ระบบการศึกษาของเราติดกรอบ จากระเบียบมากมาย ทำให้สิ่งที่เป็นธรรมชาติของเด็ก เรื่องที่เด็กให้ความสนใจ กลายเป็นแบบแผนมาตรฐาน จนไม่เข้าไปสู่คุณภาพชีวิต ความแตกต่างของเด็กแต่ละคนได้!” 

แนวทางแก้ไข คือ นักการเมือง หรือผู้เกี่ยวข้อง ต้องเอาระเบียบทั้งหมดมาสังคายนาว่า ระเบียบที่มี อันไหนควรแก้ไข ยกเลิก เช่น เรื่องทรงผม, การแต่งกาย, การลงโทษเด็ก ทั้งหมดนี้คือระเบียบกฎเกณฑ์ ที่มีข้อคิดเห็นแตกต่างกันมากมาย แต่มันมีอำนาจในการควบคุม ตามระเบียบราชการ... 

“การศึกษาของไทย จึงกลายเป็นปัญหาที่ไม่ยืดหยุ่น ติดกรอบ ระเบียบ ที่เน้นเรื่องมาตรฐาน จนกระทั่งมีเด็กเกือบครึ่งที่หลุดกรอบจากระบบการศึกษา” 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

Share

เราใช้คุ้กกี้ 

เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น

อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookie Policy)

รับทราบ