"ทุกคนมีฝัน เราจึงต้องเข้าไป" คุยเปิดใจกับ 'บัลกริซ จันทร์เพชร' ครู สกร.อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส ผู้ทุ่มเทชีวิตให้การศึกษานอกระบบกว่า 19 ปี ปัจจุบันเดินทาง ไป-กลับ รวม 190 กม. ทุกวัน "เพราะยังรักที่จะเป็นครู"
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ เชื่อว่าในแผ่นดินขวานทองนี้ ยังคงมี 'ครู' ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์อีกจำนวนมากให้เราค้นหา เพื่อชักชวนมาถ่ายทอดประสบการณ์ สร้างแรงบันดาลใจ และส่งต่อจิตวิญญาณแห่งวิชาชีพ ซึ่งวันนี้เราก็ได้พบกับครูคนนั้น
"เราภูมิใจที่ได้เป็นครู สกร. จะยืดหยัดเพื่อการศึกษาต่อไป"
นี่คือประโยคช่วงหนึ่งจากการสนทนา ระหว่าง ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ กับ 'น.ส.บัลกริซ จันทร์เพชร' อายุ 42 ปี ตำแหน่งครู สกร. อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส
...
ซึ่งประโยคข้างต้น… ครูบัลกริซตกผลึกจากความคิด ชีวิต และประสบการณ์การสอนของตน ที่ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจ มุ่งหวังมอบโอกาสและสร้างชีวิตใหม่ ให้กับผู้ที่อยู่ในการศึกษานอกระบบ ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 ถึง 2567 รวมเวลากว่า 19 ปี
หมายเหตุ : สกร. ย่อมาจาก 'กรมส่งเสริมการเรียนรู้' เดิมชื่อ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หรือ กศน.
แอบพ่อแม่ไปสอบที่ สกร.ปัตตานี :
เดิมทีแล้วครูบัลกริซไม่ได้อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ แต่อาศัยอยู่กับครอบครัว ณ จ.สงขลา และเป็นพนักงานของหน่วยงาน สกร. (ชื่อเดิมในขณะนั้น คือ กศน.) โดยอยู่ที่นั่นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 แต่เพื่อความก้าวหน้าในอาชีพ ประมาณปี พ.ศ. 2550-2551 จึงตัดสินใจไปสอบเป็น 'พนักงานข้าราชการ ครูอาสาสมัคร' ประจำ สกร.ปัตตานี
ครูบัลกริซ เล่าว่า ด้วยสถานการณ์ของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ขณะนั้นไม่ค่อยสู้ดีนัก มีข่าวความรุนแรงให้เห็นอยู่เป็นประจำ ส่งผลให้คนนอกพื้นที่ ซึ่งรวมถึงพ่อแม่ของตน ไม่อยากให้เดินทางเข้าพื้นที่ ทำให้ครูบัลกริซต้อง 'แอบ' พ่อแม่ไปสมัครสอบ
"ตอนไปสอบที่ปัตตานี มีพี่สาวและพี่ชายรู้เรื่องด้วย เพราะพวกเขาไปเป็นเพื่อนในการสอบ เราไม่กล้าบอกพ่อแม่ กลัวว่าเขาจะห้าม แม้ว่าพ่อแม่จะโอเคกับอาชีพครู เพราะเขาอยากให้ทำอาชีพนี้ แต่ก็เป็นห่วงเราจะไปในพื้นที่เสี่ยง"
ครูบัลกริซ เล่าต่อว่า ผลออกมาว่าเราสอบได้ ก็เลยไปบอกพ่อกับแม่ เขาเป็นห่วงมาก ซึ่งเราเข้าใจในมุมของผู้ใหญ่ แต่พยายามอธิบายว่า หลังจากมีโอกาสได้สัมผัสกับบรรยากาศจริง ทำให้รู้ว่าปัตตานีไม่ได้เป็นอย่างที่ข่าวออกซะทีเดียว
"บวกกับการนับถือศาสนาอิสลาม มีความเชื่อว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตถูกกำหนดโดยเบื้องบน เลยบอกแม่ว่า ถ้าเบื้องบนขีดไว้แล้ว ไม่ว่าจะหลีกแค่ไหน สุดท้ายก็ต้องเป็นไปแบบนั้น แม่จึงยอมเข้าใจและให้ไปอยู่ปัตตานี"
หลังจากทำงานอยู่ปัตตานีได้ประมาณ 4-5 ปี ครูบัลกริซที่เคยอยู่ตัวคนเดียว ก็ได้มีสามีและลูก เข้ามาช่วยเติมเต็มคำว่าครอบครัวของเธอ ปัจจุบันอดีตครู สกร.ปัตตานี สอบผ่านและได้รับการบรรจุเป็นครูอยู่ที่ สกร. อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2561
...
'จิตอาสา' จุดเริ่มต้นเข้าถึงความเป็นครู :
ครูบัลกริซ เผยกับทีมข่าวฯ ว่า เธอนั้นไม่ได้จบครูมาโดยตรง แต่เดิมทีแล้วหน่วยงานของ สกร. มักจะรับบุคลากรที่มี 'จิตอาสา' ดังนั้นหากมีใจที่คิดอยากทำเพื่อคนอื่น ก็ยังพอจะสามารถทำข้อสอบได้ ทำให้เรามีโอกาสได้เข้าไปอยู่ใน สกร.
ครูบัลกริซ กล่าวอย่างเปิดใจว่า การที่เรามาทำงานของ สกร. เรามีจิตอาสาอยู่บ้าง แต่ช่วงแรกอาจจะยังไม่ได้มีมากเท่าไร ส่วนที่ไปสอบเพื่อเป็นพนักงานข้าราชการ ครูอาสาสมัคร ประจำ สกร.ปัตตานี เพราะแค่อยากให้ตัวเองมีความก้าวหน้าในอาชีพ เนื่องจากถ้าก้าวไปเป็นพนักงานได้ ก็ไม่ต้องมาคอยต่อสัญญาปีต่อปี
อย่างไรก็ตาม ความคิดของเธอก็เริ่มเปลี่ยนไป ครูบัลกริซ บอกว่า หลังจากได้ย้ายตัวเองเข้าไปอยู่ในพื้นที่ของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทำให้รู้ว่าบริบทการทำงานของ สกร. ต้องเต็มไปด้วยจิตใจที่อาสา และรักการบริการ เพราะมีแรงกดดันจากหลายด้านสูงมาก และการเป็นครูของ สกร. ไม่ใช่แค่สอนให้คนมีความรู้ แต่ต้องใช้หัวใจทุ่มเท เพื่อหาวิธีสร้างโอกาสให้กับชีวิตของเขาด้วย
...
"การเข้าไปสัมผัสการทำงานตรงนั้นจริงๆ ทำให้เราได้เจอกับคนมากมาย เจอระบบและความเป็นจริงของ สกร. ผู้เรียนมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทำให้เราเข้าใจถึงคำว่าครูมากขึ้น"
อดีตครูอาสาสมัคร สกร.ปัตตานี เล่าว่า ผู้เรียน สกร. หลายคนน่าสงสารมาก บางคนไม่ใช่แค่ไม่มีเงิน แต่อาจจะไม่มีอาหารกินเลย พอเราได้เจอความเป็นจริงเหล่านั้น ทำให้รู้ใจตัวเองว่าถึงจะไม่ได้จบครู แต่มีใจอยากช่วยเหลือและพัฒนาคน
"เมื่อพ่อแม่เห็นเราได้ทำเพื่อคนอื่น เขายิ่งภูมิใจที่เราทำอาชีพนี้ ทำให้ระยะหลัง ความกลัวที่ครอบครัวเคยมีต่อพื้นที่นั้น หายไปเลยด้วยซ้ำ" ครูบัลกริซ กล่าวกับเรา
...
อยู่ได้เพราะมีอุดมการณ์ :
ครูบัลกริซ กล่าวว่า 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีทรัพยากร ภาษา และวัฒนธรรมที่สวยงามมาก แต่คนในพื้นที่น่าสงสารมากเช่นกัน เพราะตั้งแต่เกิดความไม่สงบ พวกเขาก็เหมือนโดนทอดทิ้ง ตั้งแต่ชีวิตความเป็นอยู่ จนไปถึงระบบการศึกษา
"เราเข้าไปประมาณปี 2550-2551 ภาพที่ถูกสะท้อนออกไปช่วงแรก บางครั้งเหตุการณ์ก็ไม่ได้รุนแรงมาก แต่บางครั้งก็รุนแรงกว่าที่เป็นข่าว เราไม่รู้ว่าต้นเหตุจริงๆ เป็นเพราะอะไร แต่พูดตรงๆ ว่า คนที่จะเข้ามาอยู่ใน 3 จังหวัดนี้ ถ้าไม่มีอุดมการณ์จริงๆ อยู่ไม่ได้ บางทีในเมืองวางระเบิดพร้อมกัน 10 จุด เหมือนกับว่าเราอยู่ในสนามรบ"
ครู สกร.ยี่งอ เล่าต่อว่า พอเหตุการณ์เป็นแบบนั้น ทำให้การศึกษาของคนในพื้นที่ไม่ต่อเนื่อง พวกเขาไม่ได้ศึกษาในแบบที่ควรจะเป็น ทำให้โอกาสหลายๆ อย่างหายไป อย่างไรก็ตาม ช่วงหลังถือว่าดีขึ้นเยอะมาก มีหลายหน่วยงานพยายามลงพื้นที่ให้โอกาส เราเห็นแบบนี้ก็รู้สึกดีใจ
ความท้าทายของการเป็นครู สกร. :
"เป็นครู สกร. ต้องใช้พลังกายและพลังใจเยอะมาก"
ครูบัลกริซ ให้เหตุผลที่กล่าวเช่นนั้นว่า เนื่องจากความพยายามทั้งหมดที่ทุ่มเทไป ไม่ได้แปลว่ากลุ่มเป้าหมายจะร่วมมือตลอด ในใจลึกๆ ผู้เรียนหลายคนก็ยังต่อต้าน เนื่องจากพอขึ้นชื่อว่า สกร. พวกเขาก็ไม่รู้ว่าจะเรียนไปทำไม นี่จึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นหลัก ที่สร้างความท้าทายให้กับองค์กร
"สกร. เปิดโอกาสให้คนทุกวัยเข้ามาเรียนได้ คนที่มาอยู่กับเรา มีทั้งคนเต็มใจและไม่เต็มใจ บางคนมาเพื่อไปเดินตามฝันของตัวเองต่อ ซึ่งจะสอนไม่ยาก แต่บางคนถูกบังคับมา ซึ่งกลุ่มนี้จะสอนยาก เพราะเขาไม่รู้จะเรียนไปทำไม เลยท้าทายพวกเราว่าจะปรับเปลี่ยนความคิดเขาได้อย่างไร"
ครูบัลกริซ เล่าให้ฟังว่า การจะปรับความคิดคนได้ เราต้องรู้จักรับฟัง และพยายามค้นหาว่า "พวกเขามีความฝันอะไร?"
"พวกเราเชื่อว่าทุกคนมีความฝัน เพียงแต่ไม่มีใครสนใจพวกเขา ทำให้บางมุมของคนที่หลุดจากระบบมา พวกเขาน่าสงสารมาก เพราะคิดว่าไม่มีใครต้องการ เราต้องทลายความรู้สึกเหล่านั้น โดยให้เด็กเห็นคุณค่าตัวเอง ถ้าเราทำให้เขาเห็นคุณค่าตัวเองได้ เราจะสามารถพาคนเหล่านั้นมาเรียนได้ โดยที่ไม่ต้องบังคับ และถ้าได้รู้ฝันแล้ว ต้องพยายามชี้แนวทางเท่าที่ทำได้"
นอกจากนั้น ต้องพยายามทำให้เห็นว่าการมีกับไม่มีการศึกษาต่างกันอย่างไร เมื่อบางคนคิดได้ เขาจะเลือกก้าวออกจากความมืด สู่แสงสว่างของการศึกษา…
'ทนแรงกดดัน, ใช้จิตวิทยา, ประสานทฤษฎี' 3 ความยากสำหรับการทำงาน :
เมื่อ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ถามว่า ความยากของการทำงานคืออะไร ครูบัลกริซ จึงอธิบายเป็น 3 ข้อ ให้เราฟังว่า…
ข้อ 1 ต้อง 'ทนแรงกดดัน' จากสังคมภายนอกให้ได้ เพราะยังมีบางคนที่ไม่ได้ชื่นชมครู สกร. อาจจะมีการดูถูกหรือเหยียดหยามว่า เราไม่สามารถทำได้ดีเท่ากับการจัดการศึกษาในระบบ
ข้อ 2 ครู สกร. ต้อง 'ใช้จิตวิทยา' สูงมากในการดึงผู้เรียน เพราะเราต้องเป็นคนเข้าหาผู้เรียน เพื่อดึงเขาเข้าระบบการศึกษา ภารกิจของเราบางครั้งต้องลงถึงบ้าน อย่างคนไหนที่พิการ แต่ยังพอเรียนได้ เราก็จะไปหา แล้วโน้มน้าวให้เขาอยากเรียน
ข้อ 3 เราต้อง 'ประสานทฤษฎี' จำนวนมากเข้าด้วยกัน เพราะบางคนที่หลุดจากระบบการศึกษามาก่อน เขาทิ้งทุกอย่างไปหมด ไม่สนใจอะไรแล้ว เราจึงต้องสอนทุกอย่างให้เขาใหม่ เช่น การศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาอาชีพ การพัฒนาทักษะชีวิต
"มีเด็กคนหนึ่งอายุ 10 ขวบ เขามีปัญหาทางสภาพจิตใจ เพราะเข้ากับเพื่อนไม่ได้ ทำให้ต้องลาออกมา และไม่ได้กลับเข้าไปเรียนในระบบ พวกเราก็ต้องไปโน้มน้าวเขามาเรียน กศน. เพราะเขาต้องได้รับการศึกษา ใช้เวลาอยู่สักพักใหญ่ จนเด็กยอมกลับมาเรียน แต่อันนี้ก็ถือว่ายังเล็กน้อย เพราะครูทุกคนจะมีเด็กหรือผู้ใหญ่ที่มีความพิเศษบางอย่างอยู่ด้วย เช่น ซึมเศร้า ไบโพลาร์ เพิ่งรักษายาเสพติดหาย"
"หรือบางคนอุ้มลูกมาสอบด้วย พวกเราในฐานะครู ก็ต้องพร้อมเป็นพี่เลี้ยงเด็กตอนที่เขาไปนั่งสอบ ที่ต้องทำแบบนั้นก็เพื่อให้เขาเห็นว่ายังมีคนคอยสนับสนุนเขาในด้านการศึกษา ไม่อยากให้เขาคิดว่าการมาเรียนเป็นภาระเพิ่มเติมในชีวิต เราสามารถอยู่ข้างๆ เขาได้ ตราบใดที่ไม่เกินกำลังของเรา อย่างน้อยถ้าเขาได้วุฒิการศึกษาขั้นพื้นฐาน ก็อาจจะไปต่อยอดความฝัน หรือสร้างอาชีพให้ตัวเองได้"
สร้างโอกาส ถ่ายทอดแนวคิด ในเรือนจำปัตตานี :
นอกจากครูบัลกริซจะสอนนักเรียน กศน. ทั่วไปแล้ว 'คนในเรือนจำ' ยังเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเป้าหมายที่ครูเคยได้รับผิดชอบ…
ครูบัลกริซ เล่าว่า ขณะยังประจำที่ สกร.ปัตตานี เคยเป็นผู้บรรยายทักษะ และแนะแนวอาชีพให้กับคนในเรือนจำ เนื่องจากคนในสถานพินิจและเรือนจำ เป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย กศน. เมื่อเป็นสถานที่นี้ เราก็ต้องพูดกันตามความจริงว่าคนก็ไม่ค่อยอยากเข้าไป แต่ส่วนตัวแล้วเราอยากไป เพราะอยากเข้าใจความคิดของกลุ่มคนในเรือนจำว่า มีเหตุจูงใจอะไร ที่ทำให้พวกเขาต้องเข้ามาในนี้
อดีตครู สกร.ปัตตานี เล่าต่อว่า เราเจอคนหนึ่งในเรือนจำที่อายุใกล้เคียงกับแม่ เลยไปถามผู้คุมว่าคนนี้ทำผิดอะไร เพราะดูแล้วไม่มีพิษมีภัยเลย คำตอบที่ได้รับคือ เขาไม่รู้หนังสือ แล้วไปเซ็นเป็นพยานการซื้อขายที่ดิน จนเกิดปัญหาภายหลัง นับตั้งแต่วันนั้นเลยตั้งใจว่าถ้ามีโอกาสได้เข้ามาช่วยคนกลุ่มนี้ จะไม่ปล่อยให้โอกาสหลุดมือ
"เรายอมรับว่าคนที่เข้าไป มีทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ สำหรับครูแล้วคนที่ตั้งใจทำความผิด แสดงว่าเขามีทักษะในการใช้ชีวิตแล้ว แต่สำหรับคนที่ไม่ได้ตั้งใจ เราอยากทำบางอย่าง เพื่อเติมเต็มความรู้และทางเลือกให้ชีวิตเขา ในอนาคตถ้าได้ออกไป จะได้ไม่พลาดอย่างที่เคย แต่เราก็ไม่ทิ้งคนที่อาจจะตั้งใจทำพลาด เพราะ สกร. อยากมอบโอกาสให้ทุกคน"
ครูบัลกริซ แนะแนวให้คนในเรือนจำและสถานพินิจ ตั้งแต่ปี 2551-2561 อย่างไรก็ตามตลอด 10 ปีนั้น ครูไม่ได้เข้าไปทุกสัปดาห์ เพราะทางเรือนจำก็มีหน่วยงานอื่นเข้าไปแนะแนวด้วย
ครูเล่าว่า หลังจากย้ายไปทำงานที่ สกร. อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส ครูก็ไม่ได้เข้าไปทำงานในส่วนนี้อีก เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในเรือนจำ จะอยู่ในความรับผิดชอบของเขตอำเภอเมือง แต่ถ้ามีคนเชิญให้ไปช่วย เราพร้อมไปเสมอและรู้สึกยินดีมาก
เดินทาง ไป-กลับ รวม 190 กิโล! :
ช่วงที่กำลังสนทนา ทีมข่าวฯ เข้าใจว่าหลังจากที่ครูบัลกริซได้บรรจุที่ สกร.ยี่งอ เธอกับครอบครัว (สามีและลูก) ได้ย้ายจากปัตตานี ไปอยู่ที่นราธิวาส แต่คำบอกเล่าจากปากของครู กลับทำให้เราตกใจ!
"ครอบครัวไม่ได้ย้ายไปอยู่ที่นราธิวาส ทุกวันที่มีสอนเราเลือกเดินทาง ไป-กลับ ระหว่างปัตตานีกับนราธิวาส ถ้าตีเป็นเลขกลมๆ ระยะทางตกวันละ 190 กิโลเมตร"
ระยะทางไกลขนาดนี้ คุณครูเดินทางอย่างไร? ทีมข่าวฯ สอบถามปลายสาย
ครูบัลกริซ เล่าว่า ถ้าเป็นระยะแรกยังมีรถสองแถวคอยให้บริการ เราต้องออกจากบ้านตั้งแต่ประมาณ 05.30 น. เพื่อออกไปรอรถ แต่พอมีผู้ใช้บริการน้อย รถก็วิ่งบ้างไม่วิ่งบ้าง ถ้าจะไปขึ้นรถตู้ ก็อาจจะถึงที่ทำงานช้า จึงเลือกที่จะเดินทางด้วยตัวเอง…
"ช่วงแรกของการปรับตัว ยานพาหนะของเราไม่พร้อมสักเท่าไร ค่าใช้จ่ายก็สูง เงินเดือนน้อยลงกว่าตอนอยู่ปัตตานี หลักๆ เลยเลือกขี่มอเตอร์ไซค์ไปทำงาน แต่ก็มีสลับกับรถยนต์บ้าง เฉลี่ยเดินทางแต่ละรอบไม่เกิน 2 ชั่วโมง เราจะถึงที่ทำงานประมาณ 08.00 น. หรือ 08.30 น. แล้วแต่สถานการณ์บนท้องถนน บางทีก็มีสายบ้างนิดหน่อยแต่ไม่มาก"
ทีมข่าวฯ ถามต่อว่า "เส้นทางเปลี่ยวไหม ครูไม่กลัวอันตรายเลยเหรอ?"
ครู สกร.ยี่งอ เล่าว่า เลือกใช้ถนนเส้นหลักที่มี 4 เลน ถ้ากลับค่ำหน่อยจะพยายามขับรถในเส้นทางที่เป็นหมู่บ้านหรือชุมชน และพยายามดูแลตัวเองให้ได้มากที่สุด เช่น แต่งกายมิดชิด วางแผนการไปกลับดีๆ
ยังไม่คิดย้ายครอบครัวไปอยู่นราธิวาส :
อยากพาครอบครัวย้ายไปอยู่นราธิวาสไหม? ครูบัลกริซ ตอบทีมข่าวฯ ว่า "ยังไม่มีแนวคิดนี้"
เธอให้เหตุผลว่า เนื่องจากบ้านที่ปัตตานีค่อนข้างสะดวกกว่า ส่วนแฟนทำงานที่ สกร.ปัตตานี ด้วย และลูกก็เรียนในโรงเรียนที่นั่น ดังนั้น ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง ให้เปลี่ยนแปลงที่เราพอ ถ้าปรับทั้งหมดน่าจะยากกว่าที่เป็น
"ที่เราต้องเดินทางขนาดนี้ เพราะเรายังรักในอาชีพที่ทำ และรักครอบครัวมากด้วย แม้ว่าทุกอย่างจะไม่ดีมาก ไม่ราบรื่นทั้งหมด แต่ก็ต้องควบคู่กันไป ไม่ได้อยากให้ตัวเองไปข้างหน้า แต่ทิ้งครอบครัวไว้"
"แม้ว่าจะมีใจรักในอาชีพมากแค่ไหน แต่เรามีความเชื่อว่าเราต้องรักครอบครัวด้วย ลูกเราเขายังต้องการเวลาและความรักจากเรา เราพยายามประคับประคองไปเรื่อยๆ เพื่อวันหนึ่งที่ลูกโตขึ้น เราจะได้ไม่เสียดายเวลา และจะไม่เสียใจว่าการเลือกอาชีพนี้ ทำให้ไม่มีเวลาให้ครอบครัว"
อย่างไรก็ตาม น.ส.บัลกริซ เผยว่า สามีของเธอพยายามช่วยสนับสนุนอยู่เสมอ เช่น บางครั้งต้องกลับจากที่ทำงานดึก ครอบครัวจะคอยไปส่งและไปรับ "เขาพยายามอำนวยความสะดวก ให้เราสามารถทำงานในจุดที่เราอยู่ได้"
ไม่เคยคิดจะลาออก ยังอยากอยู่ตรงนี้ต่อไป :
เมื่อเราถามว่า ได้รับค่าตอบแทนประมาณเท่าไร พอใช้หรือไม่?
"ถ้าถามว่าค่าตอบแทนพอไหม ส่วนตัวเรามองข้ามผ่านตรงนั้นไปแล้ว เพราะถ้าเรามองแค่ค่าตอบแทนว่าคุ้มหรือไม่คุ้ม หรือมองแค่ความยากง่ายของงาน เราจะเกิดคำถามว่า แล้วใครจะมาทำตรงนี้"
"ตอนนี้เรามองว่าความคุ้มค่า ความเหนื่อยล้า กับความท้าทายเหล่านั้น เป็นสิ่งที่เราจำเป็นจะต้องทำเพื่อพัฒนาคน ดังนั้น เราอยู่ได้ด้วยอุดมการณ์ เราอยู่ได้ด้วยใจรักในอาชีพ บางทีเราก็ถามตัวเองในใจว่า ถ้าประเทศไม่มี สกร. คนที่หลุดจากระบบการศึกษาจะเป็นยังไง"
ครูบัลกริซ บอกว่า แม้ตอนนี้จะมีบ่นเรื่องการทำงานบ้าง แต่ตั้งแต่เข้ามาแล้วเจอความเป็นจริงของชีวิตผู้เรียน สกร. ทำให้ยังไม่เคยมีความคิดจะลาออก มีแต่ศรัทธาเป้าหมายขององค์กรมากขึ้นในทุกวัน
"ความสุขของครู สกร. แค่มีเด็กไปถึงฝัน มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ก็เป็นเรื่องราวที่ดีในชีวิตแล้ว บางทีพวกเราได้รางวัลมามากมาย ก็ไม่เท่ากับได้เห็นผู้เรียนกลับมามีอนาคตอีกครั้ง"
บัลกริซ จันทร์เพชร กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้ตอนนี้หน่วยงาน สกร. อาจจะยังคงมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีในสายตาของบางคน แต่เราก็ห้ามความคิดใครไม่ได้ ถึงอย่างนั้นเราก็ยังภูมิใจที่ได้เป็นครู กศน. และจะยืดหยัดเพื่อการศึกษาต่อไป
"เราไม่เถียงว่าเราไม่สามารถบรรลุสิ่งที่คิดได้ 100% เพราะมีบ้างที่ไม่เป็นไปตามที่สังคมหวัง แต่เราก็พยายามทำให้คนที่เรารับผิดชอบ เข้าลู่เข้าทางให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้"
ภาพ : บัลกริซ จันทร์เพชร
อ่านบทความที่น่าสนใจ :