คุยกับ เจ้าของ “ธรรมดา การ์เด้น” หนุ่มวัย 34 ปี อดีตโบรกเกอร์ตลาดหุ้นที่ดูแลเงินให้ลูกค้าหลายร้อยล้าน ก่อนหันกลับสู่ชีวิตธรรมดา กับการปลูกผักออร์แกนิกขาย ด้วยแนวคิดผูกปิ่นโต
การเปลี่ยนงานเป็นเรื่อง ธรรมดา แต่ที่ไม่ธรรมดา คือ การเปลี่ยนงาน จาก “โบรกเกอร์” ในตลาดหุ้น หันกลับมาเป็นเกษตรกร อาชีพตามพ่อแม่ ทั้งที่อยู่ในช่วงวัยยังหนุ่มแน่น นี่คือเรื่องราวในชีวิตจริงของชายที่ชื่อว่าโอม อัครเดช ม่วงไม้ เกษตรกรวัย 34 ปี เจ้าของ ธรรมดา การ์เด้น (Tammada Garden) สวนผักออร์แกนิก ที่ตั้งอยู่ใน อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี กับแนวคิดไม่ธรรมดา “ผูกปิ่นโต” ส่งผักถึงสดถึงบ้าน
โอม อัครเดช เล่าให้ทีมข่าวฟังว่า ก่อนที่จะมาเปิดสวนผักธรรมดาแห่งนี้ เขามีอาชีพเป็น “โบรกเกอร์” ในตลาดหุ้น เรียกว่า เงินผ่านหน้าไปมาผ่าน วันละหลายร้อยล้าน ซื้อหุ้นกันที 20-30 ล้าน แต่เงินเหล่านั้นไม่ใช่ของเรา ถามว่าเรารักอาชีพนี้ไหม ถือเป็นอาชีพในฝันเลย แต่เมื่อทำงานด้านนี้สักระยะ รู้สึกว่า มันมีความกดดัน และเครียดมาก จนต้องกลับมามองหาอาชีพอื่น ซึ่งก็คือการเกษตร อาชีพที่เป็นของพ่อแม่ของเรา
“ผมทำอาชีพแบบนี้อยู่ 9 ปี และในระหว่างที่ยังเป็นโบรกเกอร์อยู่ ก็เริ่มเห็นกระแสผักผักไฮโดรโปนิกส์ ซึ่งบูมมากเมื่อหลายปีก่อน จึงเริ่มทดลองปลูก โดยใช้เวลาวันเสาร์อาทิตย์ ที่ว่างจากงานโบรกเกอร์ พอเริ่มปลูกได้ ก็ขายให้ร้านอาหารใกล้ๆ ซึ่งก็ทำอย่างนี้ 2 ปี กระทั่งเจอจุดเปลี่ยนสำคัญ
...
เบื่อชีวิตเมือง อยากมีเวลาดูแลแม่ ตอบโจทย์ด้วยเกษตรอินทรีย์
โอม อัครเดช เล่าว่า เวลานั้นมันมีอะไรประจวบเหมาะหลายอย่าง ทั้งความเบื่อชีวิตเมือง เจอรถติด เครียดกับงาน คุณแม่ป่วย จำเป็นต้องผ่าหัวเข่า ท่านก็อยากได้คนดูแล และก่อนหน้านั้นเมื่อได้ทดลองปลูกผักไฮโดรฯ แล้วชอบ (แม้จะขายได้บ้างไม่ได้บ้าง) แต่ก็ทำให้เราอยากจะกลับบ้านมาทำเกษตรอินทรีย์ โดยใช้ที่ดินของพ่อแม่ ซึ่งเป็นเกษตรกรอยู่แล้ว มีที่นา 35 ไร่ ที่สวนอีก 5 ไร่
คุณโอมบอกว่า ในช่วงปีแรก เราเน้นไปที่การขายข้าว เพราะเรามีที่นาเยอะ มีคุณพ่อคุณแม่เป็นเกษตรกรอยู่แล้ว มีโรงสีข้าวเล็กๆ ของตัวเอง เราก็ต่อยอดด้วยการเลี้ยงไก่ไข่ 30 ตัว ปลูกผักสลัด ผักสวนครัวหลากหลายชนิด โดยมีการลองผิดลองถูก ยังไม่รู้ว่าจะขายใครด้วยซ้ำ
“เราขายไม่ค่อยได้แบบนี้อยู่เป็นปี ทำให้รู้สึกว่าความยากของอาชีพนี้ คือกาต้องหาตัวตนของตัวเองให้เจอก่อน จากนั้น ค่อยหา “วิธีการขาย” และการเข้าถึงลูกค้า แม้ผักของเราจะเป็นผักปลอดสารพิษก็ตาม... กระทั่ง เราไปเห็นแนวคิดของ “ญี่ปุ่น” คือ การขายผักแบบ “ผูกปิ่นโต”
โอม ขยายความว่า การขายแบบญี่ปุ่น จะขายแบบให้คนมาสั่ง และเราในฐานะคนปลูก เราก็จะบอกว่า สัปดาห์นี้เรามีผักอะไรขายบ้าง เขาก็สั่งให้เราไปส่ง เราใช้โมเดลแบบนี้เลย หากเราแจ้งรายการผัก ผ่านไลน์แอด เมื่อลูกค้าสั่งมาเราก็ขับรถไปส่งให้เลย เรียกว่าจากสวนผัก ถึงมือผู้บริโภคเลย ดังนั้น ผักของเราก็จะสดกว่า สามารถเก็บไว้ได้นานกว่า โดยในชุด อาจจะมีข้าวสาร ไข่ไก่ และผักหลากหลายชนิด
“ปีแรกคือขายไม่ค่อยได้ เงินที่ลงทุนตอนแรก 2-3 แสนบาท เรียกว่า “ท้อ” เลย แต่ข้อได้เปรียบของเรา คือ เราไม่เสียเงินกับที่ดิน แต่ก็ใช้เงินไปกับ เมล็ดพันธุ์ ไก่ไข่ โรงเลี้ยง โรงเรือนต่างๆ”
ต่อมา โอม เลือกใช้วิธีการยุคใหม่ มีการยิงโฆษณา ในโซเชียลมีเดีย ทำให้เริ่มมีผู้คนรู้จักมากขึ้น ลูกค้ามากขึ้น เริ่มต้นด้วย 5 คน และค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็น 600 คน ซึ่งมีอยู่ 300 คน ที่เป็นลูกค้าประจำ ทำให้เรามีรายได้มากขึ้น
...
เผยรายได้ เดือนละ 60,000-80,000 บาท
นายอัครเดช เผยว่า ช่วงแรกเราจัดโปรโมชัน คือ หากสั่งข้าวครบ 24 ครั้ง เราจะให้ “ถังไม้สัก” (เวลานี้ยกเลิกแล้ว) แต่ปัญหา คือ ต้นทุนในการส่งนั้น ก็ค่อนข้างหนัก บางครั้งไปส่งแล้วไม่คุ้มทุนก็มี แต่เราก็เลือกที่จะเดินหน้าต่อ เพราะเราต้องการสมาชิก กระทั่งผ่านมา 5-6 เดือน จากที่ส่งที่เดียว ก็เริ่มเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 3-4 แห่ง
“สิ่งที่เราทำ เราเลือกทำเป็นสเกลเล็ก แผนการเกษตรของเรา เวลานี้ ยังใช้พื้นที่ปลูกผักกับเลี้ยงไก่ ภายใน 5 ไร่ นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มเกษตรกรมาช่วยซัพพอร์ตเพิ่มเติม และมีการรับพาร์ตเนอร์ในการปลูกผักปลอดสารพิษด้วย สาเหตุที่ทำแบบนี้ เนื่องจากผักออร์แกนิก มันไม่ค่อยเสถียร เนื่องจากผักปลูกแบบธรรมชาติ บางครั้งก็เจอหนอนแมลง ลูกค้าสั่ง 50 กิโลกรัม ตัดจริงๆ ได้ไม่ถึง เราก็ต้องหามาเสริม”
เจ้าของ “ธรรมดา การ์เด้น” ยอมรับว่า รายได้หลักของเราเวลานี้คือ ผักออร์แกนิก เพราะเราขายได้ทุกสัปดาห์ รายได้ก็มีราว 60,000-80,000 บาท /เดือน ซึ่งก็ไม่ได้เยอะมาก เพราะของเราเป็นสวนไม่ใหญ่
...
เทคนิคการปลูกข้าว และผักออร์แกนิก
สำหรับการปลูกข้าวของ ธรรมดา การ์เด้น นั้น จะไม่ใช้ยาฆ่าแมลงเลย ฉะนั้น บางครั้งก็อาจจะได้รับความเสียหายบ้าง ส่วนปุ๋ยที่ใช้ ก็จะหมักขึ้นมาเองทั้งหมด เป็นลักษณะปุ๋ยคอก โดยใช้การกลบฝังตอซังข้าว โดยผสมจุรินทรีย์ไว้ในน้ำ ปล่อยลงไปในดิน
ส่วนผัก ก็ใช้ปุ๋ยจากธรรมชาติ โดยและแจ้งว่า ลูกค้าว่าเราจะส่งผักอะไรบ้างทุกวันศุกร์ โดยจะมีการเก็บเกี่ยวผักทุกวันพฤหัส แปลว่า ผักที่จะไปส่งนั้น จะเก็บได้นาน และสดใหม่มาก ซึ่งแต่ละสัปดาห์ก็มีการแจ้ง 60-70 รายการ
“การที่เราเป็นโบรกเกอร์มาก่อน เราจำเป็นต้องเข้าใจลูกค้าหุ้นของเรา ฉะนั้น เมื่อเรามาเป็นเกษตร ปลูกผัก ปลูกข้าวเอง และส่งสินค้าถึงมือลูกค้าด้วยตัวเอง เราจึงจำเป็นต้องเข้าใจลูกค้า ดูแลลูกค้าในระยะยาว สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาปรับใช้
การเป็นเกษตรอินทรีย์ ไม่ง่าย...แต่รวยได้
ช่วงท้าย นายอัครเดช เผยว่า การทำเกษตรอินทรีย์นั้นถือว่ามีความเสี่ยงอยู่ เช่น เราวางแผนไว้ จะได้ผัก 50 กก. แต่เมื่อถึงเวลา เจอศัตรูพืช หนอนแมลงมาเจาะ ซึ่งบางครั้งก็มองไม่เห็น กว่าจะเห็นก็ต้องไปตัดมาแล้ว จาก 50 กก. อาจจะเหลือไม่กี่กิโลกกรัมก็ได้ แต่...สิ่งที่เราทำนั้น คือ ความตั้งใจในการผลิตสิ่งดีๆ ให้กับคนได้กิน ไม่ต้องการให้คนกินต้องกิน “สารเร่ง” ต่างๆ ในพืช นี่คือหัวใจหลักของเรา ดังนั้น หากทุกสวน หรือ ลูกหลานเกษตรกรทำ มันจะช่วยสร้างความยั่งยืนด้านอาหารได้
...
“ส่วนจะรวยได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับวิธีการของเราด้วย เราต้องรู้จักสร้างแบรนด์ของตนเองให้แข็งแกร่ง เหมือนกับเกษตรกรญี่ปุ่น ที่เขาเป็นเกษตรกร ก็มีแบรนด์ของตนเอง ไม่ต้องส่งโรงสี หรือ ล้ง ดังนั้น หากทำแล้วจบที่สวนของเราเองได้ มันก็มีโอกาสที่ดีได้ เชื่อว่าทุกคนก็ทำได้ ขอแค่รักที่จะทำ และอดทน
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ