คาดการณ์ 'สูญพันธุ์ใหญ่ ครั้งที่ 6' หายนะโลกครั้งใหม่ ภัยคุกคามสิ่งแวดล้อมจากน้ำมือมนุษย์ ความหลากหลายที่รอวันถูกทำลาย ถ้าไม่หันมาใส่ใจและดูแล...

ตลอดระยะเวลากว่า 500 ล้านปีที่ผ่านมา โลกที่เป็นดั่ง 'บ้าน' ของสรรพชีวิต เกิดความสูญเสียจาก 'การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่' หรือ 'Mass Extinction' มาแล้ว 5 ครั้ง แต่ละครั้งสิ่งมีชีวิตบนโลกกว่า 50-90 % ต้องสูญหายไปจากผืนแผ่นดิน ทิ้งไว้เพียง 'หลักฐาน' บางอย่าง ให้นักมนุษย์ได้ศึกษา 

แต่แล้ววันดีคืนดีในขณะมนุษย์กำลังใช้ชีวิต ท่ามกลางอารยธรรมที่สรรค์สร้าง ก็เกิดการพูดถึง 'การสูญพันธุ์ใหญ่ ครั้งที่ 6' ขึ้นมา สิ่งที่เคยพูดกันในวงแคบๆ กลับได้รับความสนใจ และเริ่มเข้าสู่กระแสหลัก จนเกิดการตั้งคำถามว่า หรือนี่กำลังเป็นการนับถอยหลัง ปิดฉากหน้าประวัติศาสตร์สิ่งมีชีวิตโลกอีกครั้ง?

อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจของการสูญเสียครั้งนี้ เกิดจากข้อสันนิษฐานว่า 'มนุษย์' อาจจะเป็น 'ตัวการสำคัญ' ที่ทำให้เกิดการสูญพันธุ์ใหญ่ ไม่ใช่ 'กลไกธรรมชาติ' แบบที่ผ่านๆ มา

...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาผู้อ่านไปรู้จักกับ 'การสูญพันธุ์ใหญ่ ครั้งที่ 6'  หรือ The Sixth Mass Extinction ให้มากขึ้น พร้อมทั้งพาย้อนอดีตสู่ช่วงการสูญพันธุ์ 5 ครั้งที่ผ่านมา ผ่านการสนทนากับ 'ผศ.ดร.กันตภณ สุระประสิทธิ์' อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเจ้าของเพจ Dom Paleoworld 

อย่างไรก็ตาม บทสนทนานี้ยังคงเป็น 'การคาดการณ์' และวิเคราะห์สิ่งที่ 'อาจจะ' เกิดขึ้น…

ผศ.ดร.กันตภณ สุระประสิทธิ์
ผศ.ดร.กันตภณ สุระประสิทธิ์

การสูญพันธุ์ใหญ่ ครั้งที่ 6 เริ่มต้นขึ้นแล้ว ? : 

ดร.กันตภณ ระบุว่า โดยปกติแล้วการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ จะเป็นการสูญพันธุ์มากกว่า 50% ของสายพันธุ์ที่ปรากฏทั้งหมดบนโลก ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน และทั้ง 5 ครั้งที่ผ่านมา โลกสูญเสียสายพันธุ์ไปมากกว่า 50% ทุกครั้ง 

การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่มีคีย์เวิร์ดที่สำคัญ คือ "เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน" ไม่ใช่การนำหลายช่วงมารวมกัน เช่น จะเอา 1 ล้านปีที่แล้วหายไป 30% กับ ปัจจุบันหายไปอีก 40% มารวมกันไม่ได้

ทีมข่าวฯ สอบถามว่า แล้วการสูญพันธุ์ใหญ่ ครั้งที่ 6 เริ่มต้นขึ้นแล้ว จริงหรือไม่ ?

อาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา ตอบว่า ในส่วนนี้คงยังไม่มีใครตอบได้อย่างชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร แม้ว่าในแต่ละปีจะมีสิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์จากน้ำมือของมนุษย์ และอาจจะอยู่ในภาวะเสี่ยง แต่ก็ยังไม่ได้อยู่ในภาวะที่จะกลายเป็นการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่

มนุษย์ = ตัวเร่งการสูญพันธุ์ : 

ผศ.ดร.กันตภณ กล่าวว่า แนวคิดหลักที่มีคนเขียนเรื่องเกี่ยวกับการสูญพันธุ์ใหญ่ ครั้งที่ 6  คือ ถ้าปล่อยให้สิ่งมีชีวิตเป็นไปตามธรรมชาติ การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่จะไม่เกิดขึ้นเร็ว แต่เมื่อมีอิทธิพลของมนุษย์เข้ามาตั้งแต่ช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม ก็ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด 

เราเรียกยุคนี้ว่า 'แอนโทรโปซีน' (Anthropocene) ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้เรียกสมัยทางธรณีวิทยาอย่างไม่เป็นทางการ โดยจะหมายถึงช่วงเวลาเมื่อไม่นานมานี้ ที่การดำรงอยู่ กิจกรรม และพฤติกรรมของมนุษย์ ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศของโลกอย่างมีนัยสำคัญ 

...

จากเดิมที่ธรรมชาติเป็นตัวควบคุมกลไกทั้งหมด แต่หลังจากโลกเข้าสู่ยุคแอนโทรโปซีน มนุษย์ก็เข้ามามีอิทธิพลและบทบาทเยอะขึ้น ดังนั้น สิ่งที่มีชีวิตที่เกิดขึ้นในอนาคต กลไกการอยู่รอดจะไม่ได้ขึ้นอยู่แค่กับธรรมชาติแต่ขึ้นอยู่กับมนุษย์ด้วย 

อีกทั้ง มนุษย์ยังเป็นตัวเร่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้มันไม่เป็นไปตามกระบวนการของธรรมชาติ เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้อุณหภูมิโลกเปลี่ยน แม้เพียง 1-2 องศา ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตหลายสายพันธุ์ นอกจากนั้น เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ดี ทำให้ชีวิตของมนุษย์ยืนยาวขึ้น จนอาจจะใช้ทรัพยากรเกินความจำเป็น และไปเบียดเบียนธรรมชาติ 

"จึงทำให้เกิดแนวคิดว่า ถ้าไม่อนุรักษ์ จะนำไปสู่การสูญพันธุ์ใหญ่ ครั้งที่ 6 ซึ่งคาดการณ์ว่าเร็วกว่าปกติแน่นอน แต่ยังตอบไม่ได้แน่ชัดว่าเมื่อไร" ดร.กันตภณ กล่าว

...

การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่ผ่านมา : 

ตลอดระยะเวลากว่า 500 ล้านปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า โลกเคยเกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ มาแล้วถึง 5 ครั้ง แต่ละครั้งมีสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตมากกว่าครึ่งหนึ่ง ของช่วงเวลาขณะนั้นหายสาบสูญไป โดยอาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เลคเชอร์ เนื้อหาสรุปแต่ละครั้ง ดังนี้

การสูญพันธุ์ครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อ สิ้นสุดยุคออร์โดวิเชียน ประมาณ 445 ล้านปีที่ผ่านมา ขณะนั้นสิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในมหาสมุทร การสูญพันธุ์ครั้งนี้ มีสาเหตุมาจากการเกิดยุคน้ำแข็งที่รุนแรง ทำให้ระดับน้ำทะเลลดลงอย่างฉับพลัน  ตามมาด้วยช่วงที่โลกร้อนขึ้นอย่างฉับพลัน ระดับน้ำทะเลจึงเปลี่ยนแปลงสูงอีกครั้ง สิ่งมีชีวิตกว่า 60-70 % ของสายพันธุ์ทั้งหมดในขณะนั้นสูญพันธุ์ 

ครั้งต่อมาเกิดขึ้นในช่วง ปลายยุคดีโวเนียน ประมาณ 375-360 ล้านปีที่ผ่านมา สาเหตุการสูญพันธุ์ครั้งนี้ อาจจะเป็นผลจากหลากหลายปัจจัย เช่น การปะทุของภูเขาไฟในไซบีเรียอย่างรุนแรง ทำให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศ และเกิดภาวะโลกร้อน เถ้าภูเขาไฟบดบังแสงอาทิตย์ โลกอยู่ในสภาวะมืดมนเป็นเวลานาน พืชไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ ออกซิเจนลดลง กว่า 75% ของสายพันธุ์ต้องสูญหายไป

...

เมื่อมาถึงประมาณ 252 ล้านปีที่ผ่านมา สิ้นสุดยุคเพอร์เมียน โลกเผชิญกับการสูญพันธุ์ครั้งรุนแรงที่สุด กว่า 95% ของสิ่งมีชีวิตในขณะนั้นได้หายสาบสูญไป เหตุการณ์นี้เรียกได้ว่าเป็น The great extinction นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มเชื่อว่า การสูญพันธุ์ครั้งนี้มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ได้แก่ ผลกระทบจากอุกกาบาตชนโลก และการปะทุของภูเขาไฟอย่างรุนแรง 

การสูญพันธุ์ครั้งที่ 4 เกิดขึ้นในช่วง สิ้นสุดยุคไทรแอสซิค ประมาณ 200 ล้านปีที่ผ่านมา การเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก 'แพนเจีย' ทำให้เกิดการปะทุของภูเขาไฟตามขอบแผ่นเปลือกโลก ส่งผลให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมหาศาล เกิดภาวะโลกร้อน และยังมีหลักฐานอุกกาบาตพุ่งชนโลกอีกด้วย  ทำให้ 70-80 % สิ่งมีชีวิตต้องสูญพันธุ์ เช่น ไดโนเสาร์หลายสายพันธุ์ รวมไปถึงสัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กคล้ายปลาไหลชื่อ 'โคโนดอนต์'

และครั้งที่ 5 ประมาณ 66 ล้านปีที่ผ่านมา ช่วง ระหว่างรอยต่อยุคครีเทเชียส กับยุคพาลีโอจีน อุกกาบาตขนาดใหญ่กว่า 10 กม. พุ่งชนโลก ตู๊ม!!! บริเวณประเทศเม็กซิโกปัจจุบัน แถมยังมีมีภูเขาไฟปะทุรุนแรง ทำให้อาณาจักรที่ยิงใหญ่ของไดโนเสาร์ปิดตัวลง แต่เป็นโอกาสทองให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ได้ก่อร่างสร้างตัว จนกระทั่งมีมนุษย์เกิดขึ้น

นอกจากนั้น ช่วงยุคน้ำแข็ง (Ice Age) ประมาณ 12,000 ปีที่แล้ว ก็เกิดเหตุการณ์ที่ใกล้เคียงกับการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ เรียกว่า Megafauna extinction เป็นเหตุการณ์ที่สิ่งมีชีวิตกลุ่มใหญ่บางกลุ่มหายไป เช่น แมมมอธ เสือเขี้ยวดาบ ฯลฯ แต่ช่วงนี้ยังไม่จัดเป็นการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ เพราะสัตว์ที่หายไปมีเพียงสายพันธุ์ที่มนุษย์ล่า และสายพันธุ์ที่ทนต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศแบบฉับพลันไม่ไหว 

มนุษย์อยู่ได้หรือไม่ ถ้าไม่มีความหลากหลาย :

แล้วถ้าเกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ แต่ยังเหลือมนุษย์อยู่บนโลก เราจะอยู่ได้หรือไม่ ถ้าไร้ความหลากหลายทางชีวภาพ ?

อาจารย์กันตภณ แสดงความคิดเห็นต่อคำถามนี้ว่า หากวันหนึ่งสิ่งมีชีวิตจำนวนมากสูญพันธุ์ วันนั้น มนุษย์ต้องถามตัวเองว่า "จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติหรือเปล่า ?" ถ้าไม่จำเป็นต้องใช้ ก็สามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องมีสิ่งมีชีวิตอื่น แต่เราจะไม่ได้เห็น 'ธรรมชาติ' ที่แท้จริงของโลก เดินไปไหนก็เจอแต่สายพันธุ์ของตัวเอง 

"แต่ผมเชื่อว่า ณ เวลานั้น ถ้าเกิดการสูญพันธุ์ใหญ่ สิ่งที่จะยังคงเหลือคู่กับมนุษย์ก็คือพวกไวรัส เพราะเราไม่สามารถกำจัดมันได้  และพวกมันจะเป็นตัวที่คอยควบคุมจำนวนประชากรมนุษย์"

อาจารย์ธรณีวิทยา ให้ความคิดเห็นต่อว่า แม้ผมจะคิดว่า หากไม่มีสิ่งมีชีวิตอื่น มนุษย์ก็ยังคงอยู่ได้ แต่ถ้าพูดกันแบบตรงๆ ผมว่าเราไม่สามารถ 'เอาชีวิตรอด' เป็นเผ่าพันธุ์เดียวบนโลกได้ 

สุดท้ายแล้วเราต้องพึ่งพาระบบนิเวศอื่น บรรพบุรุษวิวัฒนาการขึ้นมาให้มนุษย์อยู่รอดด้วยอาหาร แต่ถ้าไม่มีอาหารหรือตัวผลิตอาหาร ที่มาจากความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต เราก็อาจจะแย่ นอกเสียจากว่าในอนาคต มนุษย์จะดัดแปลงพันธุกรรมตัวเอง ให้ร่างกายไม่ต้องการอาหาร 

การสูญพันธุ์ คือ การคัดเลือกโดยธรรมชาติ :

ทีมข่าวฯ สอบถามว่า จริงหรือไม่ การสูญพันธุ์ในแต่ละครั้ง รวมถึงการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ ล้วนเป็นการคัดเลือกโดยธรรมชาติ และมีสิ่งใดที่เราต้องทำความเข้าใจอีกบ้าง ?

ดร.กัณตภณ ตอบว่า เป็นเรื่องจริง 100% และถ้าตอบแบบนักวิทยาศาสตร์ พูดแบบตรงๆ 'การคัดเลือกโดยธรรมชาติ' มีเพียงข้อดีไม่มีข้อเสีย แต่ต้องเน้นย้ำว่า "จะต้องเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ"

ที่กล่าวเช่นนั้น เพราะว่าสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตต่างวิวัฒนาการแข่งขันกัน กระทั่งเกิดเป็นความหลากหลายที่สูงมากๆๆๆๆ แต่เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่ง ธรรมชาติจะสร้างกลไกและสถานการณ์ขึ้นมา ให้สิ่งมีชีวิตบางกลุ่มไม่สามารถปรับตัวได้ และหายไปในที่สุด

"เมื่อหายไปแล้ว พื้นที่เดิมที่เคยถูกปกครองก็จะว่างเปล่า ทำให้สัตว์ที่อยู่รอดจากการสูญพันธุ์มีโอกาส 'แจ้งเกิด' ครอบครอง ขยายพันธุ์ และวิวัฒนาการความหลากหลาย ในแวดวงวงศ์สกุลของมันเอง"

ดร.กัณตภณ เปรียบเทียบเรื่องข้างต้น กับการเกิดขึ้นของ 'มนุษย์' เพื่อให้เข้าใจโดยง่ายไว้ว่า ในยุคของ 'ไดโนเสาร์' ยังไม่มีมนุษย์เกิดขึ้น ขณะนั้นบรรพบุรุษของเรามาจากกลุ่มที่ลักษณะคล้ายลิง เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่ต้องวิ่งหนีไดโนเสาร์ หรือมุดอยู่ในรู ดังนั้น ถ้าไม่มีการสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่ 5 ก็คงไม่มีมนุษย์เกิดขึ้นมาบนโลก

แล้วในอนาคต มนุษย์มีสิทธิ์ที่จะสูญพันธุ์จากโลกใบนี้หรือไม่ ?

"มีสิทธิ์เป็นไปได้ครับ แต่ว่าจะมาจากเหตุผลอะไร ตอนนี้ก็ยังไม่มีใครตอบได้เลย มันอาจจะเกิดจากเทคโนโลยีที่เราพัฒนากันก็ได้ แม้จะมีคนบอกว่า ไม่มีใครอยู่เหนือธรรมชาติ แต่ผมก็แอบคิดเล็กๆ ว่าตอนนี้เรายังอยู่เหนือธรรมชาติ เพราะเรามีศักยภาพพอที่จะเอาตัวรอดจากธรรมชาติได้ สมมติว่าถ้าวันหนึ่งอุกกาบาตจะชนโลกเหมือนในภาพยนตร์ ผมเชื่อว่าวันนั้น เราคงมีวิธีเปลี่ยนทิศทางมันไม่ให้ชนโลก ซึ่งก็คือการฝืนธรรมชาติ"

ต้องอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ไม่ใช่เหนือธรรมชาติ : 

แม้ว่า ดร.กันตภณ จะแสดงความคิดเห็นโดยภาพรวมไว้ว่า "การสูญพันธุ์ใหญ่ อาจจะไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้" แต่ก็ยังคงแสดงความห่วงใยถึงระบบนิเวศของโลก ที่มนุษย์ทุกคนควรรีบกลับมาสนใจและดูแล

ดร.กันตภณ ระบุว่า โดยปกติแล้ว กว่าความหลากหลายจะลดลง ต้องใช้เวลาหน่วยล้านปีหรือร้อยล้านปี แต่ตอนนี้เพียงระยะสั้นๆ ประมาณ 100-200 ปี หลังจากที่มนุษย์เริ่มปฏิวัติอุตสาหกรรม สิ่งมีชีวิตก็สูญพันธุ์เป็นจำนวนมาก ฉะนั้น เราทำลายเพื่อนร่วมโลกไปมากแล้ว ถึงเวลาที่ต้องอนุรักษ์ เรากับธรรมชาติต้องไปข้างหน้าด้วยกัน ไม่ใช่เราอยู่เหนือธรรมชาติ

อยากให้มนุษย์เราคิดว่า แม้จะสูญพันธุ์สายพันธุ์เดียวก็ส่งผลกระทบได้ เพราะสายพันธุ์นั้นอาจจะมีผลต่อการผลิตอาหารของมนุษย์ มีผลต่อระบบนิเวศ หรือสายพันธุ์นั้นอาจจะเป็น Keystone Species (กุญแจหัวใจระบบนิเวศ)  ที่มีบทบาทสูงต่อระบบนิเวศ ถ้าหายไปอาจจะพังกันทั้งหมด

"ปัจจุบัน ไม่มีประเทศไหนที่อยากให้สัตว์ในประเทศสูญพันธุ์ ถือเป็นสัญญาณดีที่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์รู้แล้วว่า ที่ผ่านมาทั้งหมด เราไม่ได้อยู่ร่วมกับธรรมชาติ แต่เราฝืนธรรมชาติ"

ผศ.ดร.กันตภณ สุระประสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า โดยสรุปแล้ว การสูญพันธุ์ใหญ่ ครั้งที่ 6 มีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ดี ถ้าไม่มีตัวกระตุ้นตามกลไกธรรมชาติ เช่น อุกกาบาตชนโลก ภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ ฯลฯ ก็ยังไม่มีอะไรน่ากังวล แต่ถ้ามนุษย์ยังไม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม การกระทำนั้นอาจจะเป็น 'ตัวการสำคัญ' ที่เร่งการสูญเสีย จากนานมากก็จะเกิดเร็วขึ้น

อ่านบทความที่น่าสนใจ :