พูดคุยกับศิษย์ดีเด่นไทยรัฐวิทยา นพ.อิทธิชัย ศักดิ์อรุณชัย หมอมือผ่าตัดสมอง 1 ใน 300 คนของไทย มองโอกาสทางการศึกษา ต้องให้ความสำคัญกับครู...
คนเรามีการเรียนรู้ และความเก่ง ไม่เท่ากัน เพราะสมอง และ การเจริญเติบโต การเลี้ยงดู และการเรียนแตกต่างกัน
แม้จะไม่ได้อยู่ในโรงเรียนที่ “ขึ้นชื่อ” ของอำเภอ จังหวัด หรือ ประเทศ แต่หากได้รับ “โอกาสทางการศึกษา” ที่ดี ได้ครู ซึ่งเป็นบุคลากรที่ดี ก็จะช่วยให้ “ช้างเผือก” หรือ “คนเก่ง” ได้มาเป็นกำลังหลักของประเทศ
เรื่องราว “ไทยรัฐวิทยา” กับ “บุคลากรดีเด่น” วันนี้เป็นเรื่องราวของ นพ.อิทธิชัย ศักดิ์อรุณชัย อาจารย์แพทย์โรงพยาบาลตากสิน เป็น 1 ใน 300 คน ของประเทศ ที่เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการผ่าตัดระบบประสาทของเมืองไทย แต่จุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ด้านภาษาอังกฤษนั้น ช้ากว่าคนอื่น และความโชคดีของเขา คือ เขาได้เจอครูดี ที่ ไทยรัฐวิทยา 21
...
ความหลัง ครั้งยังเรียน “ไทยรัฐวิทยา” ทุกอย่างฟรี มีจักรยาน
ก่อนเริ่มบทสนทนาครั้งนี้ คุณหมออิทธิชัย กล่าวกับทีมข่าวฯ ว่าเขารู้สึกซาบซึ้งใจถึง ผอ.กำพล วัชรพล ผู้ก่อตั้ง นสพ.ไทยรัฐ ผู้ริเริ่มโครงการไทยรัฐวิทยา เพราะเขาคือ เด็กน้อยคนหนึ่ง ที่ได้เรียนหนังสือในวัยประถมที่โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 21 (บ้านลำเหย) จ.กาญจนบุรี และเมื่อมองย้อนกลับไป ถือเป็น “โอกาส” ที่ล้ำค่า ที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความใฝ่ฝัน ของเขา คือ อาชีพ “หมอ” ได้เป็นจริง
นพ.อิทธิชัย ย้อนความหลังว่า สาเหตุที่เรียนโรงเรียนไทยรัฐวิทยา เพราะ เป็นโรงเรียนใกล้บ้าน แต่ความโชคดีอย่างหนึ่ง คือ โรงเรียนแห่งนี้ มีคุณครูที่โดดเด่นหลายท่าน (ความรู้สึกส่วนตัว) โดยเฉพาะ ครูภาษาอังกฤษ ซึ่งคุณครูท่านนี้คือ คุณครูบุษราภรณ์ ผมจำชื่อท่านได้เพราะท่านสอนดีมาก ท่านเองต้องลำบากเดินทางจาก อ.เมืองกาญจนบุรี มาถึง อ.บ่อพลอย สถานที่ตั้งโรงเรียนเพื่อสอนเด็ก ทุกวัน ต้องเดินทางไป-กลับ ระยะทางรวมกว่า 140 กิโลเมตร ที่สำคัญคือ วิชาภาษาอังกฤษ หากเป็นโรงเรียนในต่างจังหวัด (ยกเว้นในเมือง) จะเริ่มเรียนตอน ป.5 ซึ่งผมก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยที่เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าคนอื่นเขาเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล
“ท่านเป็นครูที่สอนดีมาก มีความเอาใจใส่ ติดตามงาน ให้การบ้านด้วยการท่องคำศัพท์ ที่สำคัญ คือ การเรียนการสอนสนุกสนาน ได้เรียนแล้วรู้สึกมีความสุข การเริ่มต้นเรียนภาษาอังกฤษ ตอน ป.5 นั้น เป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะหากไม่ได้รับการสอนพื้นฐาน...เราจะไม่มีทางเข้าใจ ไปต่อได้เลย สิ่งที่สะท้อนชัดเจนคือ หากครูไม่มีใจรักที่จะสอน มันก็จะไปไม่ค่อยรอด ดังนั้น เราจึงรู้สึกว่า โรงเรียนไทยรัฐวิทยาในเวลานั้น ภาษาอังกฤษ ไม่ได้ด้อยกว่าโรงเรียนอื่น แม้ผมจะได้เรียนเพียง 2 ปีก็ตาม...” คุณหมออิทธิชัย เล่าอย่างอิ่มเอมใจ และยังเล่าต่อว่า...
ครูอีกท่าน ที่โดดเด่นในความรู้สึก คือ คุณครูพูนศรี ครูสอนภาษาไทย ท่านจับเราคัดลายมือ ดังนั้น เวลานี้จะเรียกว่าผมเป็นหมอที่มีลายมือสวยคนหนึ่ง (หัวเราะ) ก็ได้ เพราะตอนนั้นถึงขั้นไปแข่งขัน ล่ารางวัลกันเลยทีเดียว
“หากให้คิดย้อนกลับไปว่า การคัดลายมือมันสำคัญขนาดไหน...คำตอบคือ อาจไม่ได้สำคัญมาก เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการเขียน ไม่สำคัญเท่า วิชาเลข หรือวิทยาศาสตร์ แต่เราก็ได้แข่งในระดับจังหวัด ได้อันดับ 1 ซึ่งนอกจากการเขียนสวยแล้ว สิ่งที่ได้มา คือ การเป็นคนมีระเบียบวินัย เพราะทุกๆ วันหลังเลิกเรียน จะต้องมาฝึกเขียนกับครู 1 ชั่วโมงก่อนกลับบ้าน...”
คุณหมออิทธิชัย ยิ้ม...พลางพูดว่า ผมไม่ได้เป็นหมอที่ลายมือสวยที่สุด แต่มั่นใจว่า “อ่านง่าย”
นี่คือหนึ่งในความภาคภูมิใจของ คุณหมอศัลยแพทย์ระดับประเทศ ที่เคยเป็นประธานการตัดสินงานวิจัยด้านประสาทศัลยศาสตร์ สมาคมประสาทศัลยศาสตร์อาเซียน
ไทยรัฐวิทยา 21 ทุกอย่างได้ฟรี โอกาสทางการศึกษาด้วยการให้...
...
คุณหมออิทธิชัย เล่าให้ฟังว่า คุณครูทุกคนถือว่ามีความสำคัญทั้งสิ้น โดยเฉพาะครูประจำชั้น และสมัยก่อน หากใครสอบตก คือ ตกจริงๆ แปลว่าท่านไม่ได้ “ปล่อยผ่าน” เหมือนทุกวันนี้ ฉะนั้น เวลาเรียนต้องเรียนจริงๆ เรียกว่า เรียนเป็นเรียน เล่นเป็นเล่น และต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมให้ได้
“ภาพรวมโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 21 ขณะนั้น ถือว่าไม่ได้โดดเด่นอะไร มองภาพก็คือ โรงเรียนวัดธรรมดา แต่ถือเป็นโรงเรียนที่ให้โอกาสทางการศึกษา เป็นโรงเรียนประจำหมู่บ้าน ทุกอย่างที่เป็นอุปกรณ์การเรียน ได้ฟรีหมด เครื่องเขียน หนังสือ อาหารกลางวัน นมโรงเรียน จำได้ว่า สิ่งที่นำไปเรียน คือชุดนักเรียนของเราเอง ที่เหลือได้ฟรีหมด แม้กระทั่งจักรยานก็ได้ ดังนั้น ความรู้สึกคือ ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน เมื่ออยู่ในโรงเรียน”
จำได้ว่า โรงเรียนในระดับเดียวกัน ในหมู่บ้าน หรือ หมู่บ้านใกล้เคียง “ไทยรัฐวิทยา 21” เป็นเพียงโรงเรียนเดียว ที่แจกจักรยานให้กับเด็กๆ คุณหมออิทธิชัย เองเป็นหนึ่งคนที่ได้จักรยาน จึงนำมาใช้ปั่นจากบ้านมาโรงเรียนในระยะทาง 1 กม.
...
เส้นทางการเรียน ที่ไม่ธรรมดา
หลังจากเรียนโรงเรียนไทยรัฐวิทยาจบ คือถึง ป.6 บางคนไม่ได้เรียนต่อ บางคนไปเรียนสายอาชีวะ แต่ของคุณหมออิทธิชัย ยังถือว่าโชคดีกว่าเด็กบางคน เพราะพ่อแม่ แม้ทำอาชีพค้าขาย แต่ได้สนับสนุนลูกชายอย่างเต็มที่ และแนะนำว่า ให้เราไปสอบแข่งขันเพื่อเข้าเรียนโรงเรียนระดับจังหวัด
“ตอนนั้นเราไม่เคยรู้ว่าตัวเองมีของดีติดตัว ไม่ได้เรียนพิเศษ ทำความเข้าใจในห้องเรียนอย่างเดียว คิดว่าสิ่งที่ครูสอนคือสิ่งที่สุดยอดแล้ว เมื่อไปสอบเข้าเรียนโรงเรียนประจำจังหวัด คือ โรงเรียนวิสุทธรังษี ถือเป็นเรื่องยากมาก เพราะคัดเลือกจากการสอบเข้า 100% ใครเข้าโรงเรียนนี้ได้ ถือว่าเก่งมาก ซึ่งเวลานั้น ทั้งอำเภอบ่อพลอย ไม่มีใครสอบเข้าโรงเรียนนี้ได้ แต่...ผมทำได้”
สิ่งที่แตกต่างของโรงเรียน คือ “สังคม” เพราะเด็กที่เข้ามาเรียนได้ ถูกคัดมาแล้ว และสังคมครอบครัวเขาเหล่านั้นก็ให้การสนับสนุน การเข้าที่นี่ได้ก็เปรียบเสมือนการสอบ “จอหงวน” เพราะเป็นการแข่งขันทั้งจังหวัด มีเด็กนับพันคนเข้ามาสอบ ซึ่งสิ่งที่ดีใจกว่าการสอบได้ คือ การสอบเข้าห้องท็อป หมายความว่า เราอยู่อันดับต้นๆ ของจังหวัด จำได้ว่าเราได้คะแนนสูงสุดอันดับที่ 8 ของจังหวัด โดยได้เรียนสายวิทย์-คณิต เพราะคุณแม่บอกให้ลองดู เพราะพี่น้องเราบางคนก็เรียนสายอาชีพไปแล้ว
...
“ผมไม่รู้ว่าพ่อแม่เอาความคิดเหล่านี้มาจากไหน ทั้งที่แม่จบแค่ ป.4 คุณพ่อจบ ป.6 แล้วพอได้ใส่ชุดนักเรียนวิสุทธฯ คนก็จะมองว่าเราเป็นเด็กเก่ง มันยิ่งฮึกเหิม คุณครูที่ไทยรัฐวิทยาก็ภูมิใจ เห็นเราสอบเข้าได้ คุณครูที่วิสุทธฯ ก็ถามว่าบ้านอยู่ไหน พอรู้ว่าเป็นบ่อพลอย ยังบอกว่า นี่เป็นเด็ก “ช้างเผือก” นะเนี่ย..”
คุณหมออิทธิชัย เล่าว่า ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเป็นหมอ จึงได้เข้าเรียนต่อ ที่ แพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้เกียรตินิยมอันดับ 1 และต่อด้วยแพทย์เฉพาะทาง ประสาทศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, อนุสาขารังสีร่วมรักษาระบบประสาท คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จากนั้นได้ไปเรียนต่อต่างประเทศ ซึ่งเป็นการชิงทุน Advanced Cerebrovascular Surgery, Fujita Health University, Nagoya, Japan และ Cerebrovascular and Skull Base Surgery, Teishinkai Stroke Center Hospital Sapporo, Japan
“แพทย์ทางสมองที่ญี่ปุ่น เป็นอะไรที่เป็นเลิศมาก เนื่องจากสังคมเขาเป็นสังคมแห่งความเครียด จึงมีผู้ป่วยโรคทางสมองมาก เขาจึงมีแพทย์ด้านนี้ที่ค่อนข้างเป็นเลิศ และให้การยอมรับทั่วโลก”
โอกาสทางการศึกษา กับสังคมไทย...
อาจารย์แพทย์โรงพยาบาลตากสิน ยอมรับว่า ในยุคก่อนกับยุคนี้ โอกาสทางการศึกษาแตกต่างกัน วันนี้เรากลับไปโรงเรียนไทยรัฐวิทยา มองเห็นตึกเพิ่มขึ้น ดังนั้น ภาพรวมไม่ว่าอยู่ตรงไหนของประเทศ ก็เชื่อว่ามีโอกาสทางการศึกษามากขึ้น การเดินทางสะดวกขึ้น
“สิ่งสำคัญที่สุดในโอกาสทางการศึกษา อันดับ 1 คือ “ครอบครัว” หากครอบครัวสนับสนุน ก็จะทำให้เด็กได้รับโอกาสมากขึ้น อันดับ 2 คือโรงเรียน เพียงแค่เด็กได้เดินเข้าโรงเรียนแล้วมีความสุข เชื่อว่าเด็กก็อยากที่จะไปเรียน ครูไม่ต้องเก่งมาก แต่ต้องเข้าใจเด็ก ว่าจะไปต่อทางไหน ปัจจุบันมีช่องทางมากมายที่จะสนับสนุน ขอให้เข้าไปเสนอขอ ให้เด็กได้แสดงความสามารถ เพื่อต่อยอดในการเรื่องทุนการศึกษา ก็จะต่อยอดกับสถาบันการศึกษาที่ใหญ่กว่าได้ และในปัจจุบันมีช่องทางมากกว่าสมัยก่อนมาก ทั้งทางออฟไลน์ และ ออนไลน์ ยังไม่รวมเงินสนับสนุนจากภาคเอกชน หรือรัฐบาลที่มากขึ้น มีโรงเรียนที่เป็นเฉพาะทางด้วย”
ส่วนเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ช่องว่างลดลงบ้างไหม คุณหมออิทธิชัย มองว่า ยังมีช่องว่างที่กว้างมาก เช่น หากต้องการให้เด็กได้รับการศึกษาที่ดี ของดี ไม่มีฟรี... เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง
พื้นที่โรงเรียนดีอย่างเดียวไม่พอ..เขาต้องมีการสนับสนุนและแรงจูงใจในการพัฒนาศักยภาพ เครื่องมือ อุปกรณ์ในการเรียนการสอน ปัจจัยต่างๆ มีผล
“การเรียนโรงเรียนดีๆ ต้องแลกกับเงินที่ผู้ปกครองต้องจ่าย การจ่ายเพื่อเป็นการสนับสนุนการศึกษาเด็ก และเปิดโอกาสให้เด็กได้เข้าไปเรียน”
ฉะนั้น กองทุนสำหรับการสนับสนุนการศึกษาให้กับเด็กที่ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถึงแม้เด็กบางคนไม่ได้เป็นเด็กเก่ง แต่ถ้ามีทุน ก็สามารถส่งเสริมให้เขาได้ไปต่อ เราต้องยอมรับว่า ประเทศไทยนั้นไม่เหมือนต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศแถบสแกนดิเนเวีย เช่น นอร์เวย์ ฟินแลนด์ หรือแม้แต่ญี่ปุ่น มาตรฐานการศึกษาเขาเท่ากัน ฉะนั้น บ้านใกล้ที่ไหน ก็สามารถเรียนที่นั่นได้ เพราะเขาพร้อมทั้งระบบ
“ครูของเขา ก็เป็นยาก เพราะผ่านการคัดอย่างดี เมื่อมาตรฐานดี เด็กที่มีโอกาสก็จะไปได้เร็ว ขณะที่เด็กที่ไปไม่ไหว ก็สามารถเลือกได้เลย”
เมื่อถามว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลทุกรัฐบาล ล้วนให้ความสำคัญกับระบบการศึกษา ทุ่มงบเป็นอันดับต้นๆ ของงบแผ่นดิน แล้วเพราะอะไร ถึงไม่ไปไหน คุณหมอ มองว่า เงินเรามี ไปดูงานต่างประเทศก็ไป แต่สิ่งที่ขาดคือ ผู้บริหาร การใช้ประโยชน์สูงสุดจากงบประมาณ
“หากเขาทุ่มเต็มที่ได้บุคลากร เช่น คัดครูเก่งๆ เข้ามา ให้เงินเดือนสูงๆ แทนที่จะเอาเงินไปทำอย่างอื่น แต่ควรพัฒนา พ่อพิมพ์ แม่พิมพ์ ของชาติ ให้เต็มที่ เพื่อให้ชาวบ้านได้เห็นว่า โรงเรียนนี้ เทียบเท่ากับโรงเรียนเมือง หรือ โรงเรียนดังๆ ไม่ต้องดูอะไรมาก ครูที่อยู่โรงเรียนดังๆ เขาก็ได้เงินเท่าที่เขาควรจะได้ ซึ่งส่วนนี้อาจจะมาจากผู้บริหาร ที่บริหารงานเก่ง เล็งเห็นว่า งบส่วนนี้ควรส่งเสริมให้กับครู”
ยกตัวอย่าง ตัวเอง เป็นบุคลากรทางการแพทย์ ถ้าเราไม่มีเงินสนับสนุนเขา เขาอาจจะทำได้แค่มาตรฐาน ฉะนั้น เงินสนับสนุนสำคัญ
“เงินไม่ใช่ทุกอย่าง แต่เงิน คือ สิ่งที่ทำให้ทุกอย่างมันเดินต่อไปได้ เพราะทุกคนต้องกิน ต้องใช้ เขาไม่ต้องการมาก เขาต้องการเอาใจใส่ เพื่อให้เขามีกำลังใจไปสอนเด็กๆ เราบอกทุกวันว่าเงินเราเยอะ แต่ทำไมบุคลากรทางการศึกษาได้เท่านี้ สิ่งนี้มันเกิดขึ้นมานาน มันกลายเป็นวงจรอุบาทว์ พอเป็นแบบนี้โรงเรียนกวดวิชาจะรู้ แล้วเขาจะเอาจุดด้อยมาใช้ แล้วจี้ไปที่จุดนี้ ด้วยการสอนนิดหนึ่งในห้อง แล้วไปสอนพิเศษเอา บางโรงเรียนพยายามออกข้อสอบยากๆ เพื่อให้เด็กต้องไปเรียนกวดวิชา กลายเป็นว่า เด็กต้องเรียนมากเกินไปจนเครียด และสุดท้ายไปต่อไม่ได้ ได้แต่ท่องจำ แต่ไม่เข้าใจ กลายเป็นว่าเด็กไทยเรียนหนังสือมากที่สุดในโลก เรียนเกินวัยด้วย ฉะนั้น นี่คือปัญหา ที่ต้องแก้ทั้งระบบ” นี่คือสิ่งที่คุณหมออิทธิชัย ฝากไว้
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ