‘มังคุดคัด’ ราชินีผลไม้ของขึ้นชื่อแห่งเมืองนครศรีฯ อาหารจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่เป็นกระแสบนโลกออนไลน์ สร้างรายได้ให้คนพื้นที่ กิโลกรัมละ 900 บาท!...
'ผลไม้ไทย' ขึ้นชื่อเรื่อง 'ความอร่อย' ไม่แพ้ชาติใดในโลก ทั้งถูกใจคนไทย และหลายชนิดก็ถูกปากชาวต่างชาติ สามารถสร้างรสสัมผัสใหม่ สมกับคำที่ว่า Amazing Thailand!
หลังจากเลิกงาน ก็เป็นเวลาของอาหารเย็น ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้เดินทางไปที่ตลาดแห่งหนึ่งย่านสถานีรถไฟฟ้า แยก คปอ. เดินสักพักก็ต้องสะดุดตาเข้ากับร้านร้านหนึ่ง ที่มีคนยืนเต็มหน้าร้าน
มองดูไกลๆ เราก็ยังไม่เห็นว่าเขารุมอะไรกัน แต่เห็นเป็นก้อนกลมๆ สีขาวสองลูก มีไม้แหลมเสียบอยู่ลักษณะคล้ายลูกชิ้นยักษ์ พร้อมป้ายราคาตัวใหญ่ๆ "50 บาท" เมื่อเดินเข้าไปใกล้ๆ จึงพบว่านั่นคือ 'มังคุดคัด' ซึ่งสารภาพจากใจจริงว่า เกิดมายังไม่เคยเห็นมังคุด 2 ลูก 50 บาท และไม่เคยได้ยินคำว่ามังคุดคัดมาก่อนในชีวิต
วันเดียวกันนั้นเอง เราก็พบอีกว่า เจ้าสิ่งนี้กำลังเป็นกระแสฮิตในติ๊กต่อก และโลกออนไลน์ หลายคนต่างสงสัยว่า "มังคุดอะไรทำไมแพงจัง" อย่างไรก็ดี แม้จะมีคนบ่นว่าแพง แต่ยังมีคนอีกจำนวนมาก ที่ถูกมังคุดสีขาวนวลนี้ดึงดูด จนอยากจะลองลิ้มรสสักครั้ง ว่าจะอร่อยสมราคาหรือไม่
...
เมื่อเป็นเช่นนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงได้ชวน 'พี่โอ๋' หรือ 'อัครเนตร มีชนะ' เจ้าของแบรนด์มังกัสโต้ แห่งนครศรีธรรมราช มาช่วยขยายความเรื่อง 'มังคุดคัด' ให้ได้รู้จักกันมากขึ้น และมาร่วมหาคำตอบไปด้วยกันว่า "ทำไมถึงแพง" ถ้าพร้อมแล้วไปน้ำลายสอ เอ๊ย! ไปกันเลย!!!
มังคุดคัด ไม่ใช่ คัดมังคุด :
ก่อนที่พี่โอ๋จะอธิบายเรื่องราวของ 'มังคุดคัด' ให้เราฟัง เขาถามทีมข่าวฯ ว่า "มังคุดคัดในความเข้าใจคืออะไร?"
เมื่อถามเช่นนี้ เราจึงตอบไปว่า "ตามความเข้าใจเมื่อได้เห็นคำนี้ครั้งแรก มันคือ 'การคัดเลือก' มังคุดที่ดีและสวยมาปอกเปลือก เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า" และตามที่คาด... เราเข้าใจผิด!!!
เจ้าของมังกัสโต้ อธิบายให้เข้าใจถึงที่มาที่ไปไว้ว่า คำว่า 'คัด' เป็นคำกริยาภาษาพื้นถิ่นของชาวนครศรีธรรมราช แปลว่า 'งัด' หรือ 'แงะ' ซึ่งความหมายของคำนี้ก็จะสื่อไปถึงกระบวนการการผลิตอีกด้วย
'มังคุดคัด' เป็นการนำมังคุด 'แก่จัด' สีเขียวมาปอกเปลือก ซึ่งเปลือกจะ 'แข็ง' และปอกยากมาก เป็นผลผลิตจาก 'ภูมิปัญญาท้องถิ่น' ของคนเมืองคอน เนื่องจากในอดีตจะใช้ตะกร้อสอยเก็บมังคุด ทำให้มีมังคุดที่ยังไม่สุกติดมาด้วย ครั้นจะต้องนำไปทิ้งชาวบ้านก็เสียดายของดีๆ ก็เลยจัดการ 'แงะ' เปลือกมังคุดที่ยังไม่สุกนั้นออกมา
ของดีแห่งเมืองนครศรีธรรมราช :
ก่อนที่เราจะได้เห็น มังคุดคัดมาเฉิดฉายสีขาวนวลอยู่ที่เมืองหลวง ราชินีแห่งผลไม้นี้เคยเป็นอาหารที่หากินได้เฉพาะที่ 'นครศรีธรรมราช' เท่านั้น สถานที่ที่พบได้บ่อย คือบริเวณวัดเจดีย์ ราคาอยู่ที่ไม้ละ 20-25 บาท มีมังคุด 3-5 ลูก แล้วแต่ขนาดที่ต่างกัน
...
เจ้าของมังกัสโต้ เล่าว่า 'มังคุดคัด' มีมานานแล้ว เป็นเหมือนผลไม้ชั้นสูงและ 'หายาก' ไม่ใช่ว่าคนนครศรีธรรมราชทุกคนจะเคยได้กิน และมีเฉพาะในตัวเมืองนครเท่านั้น อย่างตัวผมเมื่อเด็กๆ เคยกินครั้งนึง มันอร่อยเหมือนขึ้นสวรรค์ ได้แต่คิดว่า "อยากกินอีก" ซึ่งประมาณ 20-30 ปีที่แล้ว ราคาไม้ละ 20 บาท สำหรับผมก็ถือว่าแพงมากเหมือนกัน
วิธีทำ 'มังคุดคัด' อาหารที่ต้องใช้ทักษะและประสบการณ์ :
เจ้าของมังกัสโต้ เล่าต่อว่า กระบวนการทำมังคุดคัดเป็นเรื่องที่ได้ชื่อว่า 'ยาก' ต้องใช้ทักษะ ประสบการณ์ และความชำนาญส่วนตัวที่สั่งสมมา
ขั้นแรกคือต้อง 'ปอกมังคุด' ให้สวยก่อนจะนำไปขาย แต่การจะปอกได้อย่างสวยงามนั้น จำเป็นต้องใช้ 'ทักษะ' ผมทำมังคุดคัดออนไลน์มาประมาณ 5-6 ปี ผมไม่มีทักษะการปอก ผมปอกแค่ 10 ลูก ใช้เวลาไปเกือบชั่วโมง แถมยังปอกไม่สวยอีกด้วย แต่ถ้าเป็นทีมงานที่มีประสบการณ์ ใน 1 ชั่วโมง อาจจะปอกได้ประมาณ 150 ลูกด้วยซ้ำ
...
"เรื่องแบบนี้มันเป็นทักษะบุคคล มันเลยมีมูลค่า ซึ่งทีมปอก ต่างก็ทำมานานแล้วเป็นทุนเดิม หลายคนมีทักษะแต่ไม่ค่อยได้ใช้ เพราะสมัยก่อนยังไม่แพร่หลายแบบนี้ พอเริ่มแพร่หลายเราก็ได้พวกพี่ๆ เข้ามาช่วย และตอนนี้มังคุดคัด ยังต้องปอกด้วยมือทั้งหมด มันจึงไม่สมบูรณ์แบบทุกลูก"
อย่างที่สอง คือ กระบวนการรักษาสภาพให้มีความขาว สวย ดูน่ากิน ซึ่งสูตรรักษาสภาพให้ขาวน่ากิน แต่ละผู้ประกอบการก็จะมีวิธีที่ต่างกันออกไป อย่างของมังกัสโต้ ได้นำเทคโนโลยีจากงานวิจัย ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นลิขสิทธิ์เพียงหนึ่งเดียว ซึ่งจะช่วยให้การเก็บรักษาผลมังคุดคัด ได้สดใหม่และน่ารับประทาน นานยิ่งขึ้น ร่วมวิจัยอยู่ประมาณ 1-2 ปี พอตัวนั้นเสร็จก็มาคิดค้นกระบวนการผลิตอีก
มังคุดคัด แพงเกินไปไหม? :
หลายคนอาจจะเคยเห็น 'มังคุดคัดเสียบไม้ 2 ลูก ราคา 50 บาท' กันมาบ้าง และอาจจะเคยตั้งข้อสงสัย "ทำไมมังคุดแพงขนาดนี้"
อัครเนตร กล่าวว่า คนมักจะติดภาพจำว่ามังคุดราคาโลละ 10 บาท หรือ 20 บาท เพราะที่คนไทยกินคือมังคุดดำ ซึ่งเป็นมังคุดที่อาจจะคุณภาพน้อย ถ้าจะกินมังคุดดี ต้องสั่งจากสวนโดยตรง
...
"คำว่าแพงสำหรับผม คือ ราคาไม่สมควรกับคุณภาพ แต่สำหรับมังคุดคัดของเรา หรือคนอื่นๆ กว่าจะได้มาแต่ละลูก มันมีต้นทุนการผลิต ต้นทุนแรงงาน รวมไปถึงทักษะคน ผมมองว่าราคาขายปัจจุบันกำไรไม่เยอะเลยครับ ถ้ากำไรเยอะจริงๆ คนที่ทำอาชีพนี้อาจจะรวยไปแล้ว" พี่โอ๋ แสดงความคิดเห็นให้เราฟัง
อย่างไรก็ตาม อัครเนตร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในนครศรีธรรมราชราคามังคุดคัดก็ไม่ได้คงที่ แกว่งไปแกว่งมา ที่ขายในเมืองบางทีก็ 5 ไม้ 100 บาท หรือ 6 ไม้ 100 บาท มีอยู่ปีนึงไม่ค่อยสวยเท่าไรก็ 10 ไม้ 100 บาท แสดงให้เห็นว่าราคาปรับเปลี่ยนตามต้นทุนของผู้ผลิตเหมือนกัน
รสชาติของ 'มังคุดคัด' :
พี่โอ๋บอกกับเราว่า "ระยะของมังคุดคัดที่อร่อยที่สุดและเป็นระยะที่ดี คือ ระยะใกล้สุกแต่ยังไม่สุก เพราะถ้าอ่อนไปก็จะฟาด ต้องแก่จัดจะหวานอมเปรี้ยว"
สีขาวนวลของมังคุดคัด จะมีเนื้อที่หวานอมเปรี้ยว เมื่อกัดเข้าไปจะได้สัมผัสที่กรอบอร่อย รวมเข้ากับกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของราชินีผลไม้ สามารถทานได้คำโตๆ โดยที่ไม่ต้องตายเม็ดออก และหากนำไปแช่เย็น ความอร่อยจะถึงใจมากขึ้น ใครได้กินรับรองว่าติดใจแน่นอน นอกจากนั้นยังสามารถนำไปทำเป็นของหวาน หรืออาหารคาวอื่นๆ ได้อีกด้วย
"ช่วงที่อร่อยที่สุดจะประมาณ 1-2 เดือนที่ผ่านมา (ประมาณเดือน ตุลาคม-พฤศจิกายน) กับอีกช่วงหนึ่งคือช่วงฤดูกาลของมังคุด เพราะมันจะมีให้เลือกเยอะ และจะเลือกลูกดีๆ ได้มากกว่าปกติ
แต่ถ้าจะถามผมว่า 'มังคุดคัด' อร่อยกว่า 'มังคุดปกติ' อย่างไร ผมก็คงจะอธิบายไม่ได้ ผมมองว่าอร่อยไปคนละแบบ เป็นเรื่องที่เทียบกันไม่ได้จากความเห็นส่วนตัว มังคุดสุกก็คือมังคุดสุก มังคุดคัดก็มังคุดคัด"
อัครเนตร กล่าวต่อว่า มังคุดที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นของนครศรีธรรมราช เคยลองรับจากจันทบุรีแล้ว แต่มันเดินทาง 2-3 วันแล้วมันสุก มังคุดของนครศรีฯ จะอมเปรี้ยว ส่วนทางจันทบุรีจะออกหวาน ของนครจะมีความเข้มข้นมากกว่า ซึ่งมันก็เกี่ยวข้องกับพื้นที่และดินที่ใช้เพาะปลูกด้วย
ทีมข่าวฯ ถามว่า พอจะแนะนำวิธีสังเกตได้ไหมว่าแบบไหนที่มองแล้ว นี่แหละ! รสชาติดีแน่นอน
"วิธีดูว่าอร่อยไหม คือต้องชิมอย่างเดียวเลย" นี่คือคำตอบของคำถาม
มังคุดคัดสร้างรายได้ กิโลละ 900 บาท! :
โอ๋ มังกัสโต้ บอกกับเราว่า แบรนด์ของเขาคือผู้ประกอบการรายแรกๆ ที่คิดจะเอามังคุดคัดขายนอกจังหวัด และก็ไม่มีหน้าร้านด้วย ต้องสั่งออนไลน์อย่างเดียว แม้จะเป็นคนในจังหวัดก็ต้องพรีออเดอร์เช่นกัน
"การเปิดรับพรีออเดอร์ 1 รอบ ได้ประมาณ 100-200 บิล ใช้เวลาทำประมาณ 2 วัน เพราะต้องมีการใช้น้ำรักษาสภาพด้วย จะต่างกับร้านทั่วไป ซึ่งต้นทุนเราจะสูงขึ้น แต่ผมคิดว่าคุ้มค่ากับคุณภาพที่ได้มา เพราะมันจะกรอบ อร่อย ขาวสวยงาม และเนื้อไม่แฉะ
ราคาร้านผมอยู่ที่กิโลกรัมละ 900 บาท รวมค่าส่ง ซึ่งค่าส่งก็ประมาณ 200 บาทแล้วนะ เพราะต้องส่งแบบเย็น จังหวัดปลายทางที่มีออเดอร์เยอะจะเป็นกรุงเทพฯ โดยปกติแล้ว 'มังคุดคัด' จะมีให้กินเกือบทั้งปี เพราะแต่ละพื้นที่ผลผลิตออกมาไม่พร้อมกัน แต่ช่วงสิ้นปีนี้ผลผลิตจะลดลงไป และจะกลับมาเยอะอีกครั้งช่วงปลายมกราคม"
กระแสของมังคุดคัด เริ่มมีมากขึ้น ทำให้พี่โอ๋มียอดขายก็เยอะขึ้นด้วย พี่โอ๋เล่าว่า อย่างส่วนตัวผมยอดขายขึ้นประมาณ 5 เท่า ซึ่งเราไม่ได้รับเยอะ แต่เรารับเท่าที่ทำไหว เพราะมีหลายปัจจัย ผมอยากควบคุมคุณภาพของทุกๆ กล่อง รับเยอะไป ถ้าของไม่ดี ก็เสี่ยงโดนตีกลับ เสียของอีก ผมอยากให้คนกินแล้วรู้สึกชอบ 'มังคุดคัด' จริงๆ
ราชินีผลไม้ สร้างรายได้สู่ชาวนครฯ :
กระแสของมังคุดคัดยังมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง พี่โอ๋บอกกับเราว่า ดีใจที่มีกระแส เรานึกมาตลอดมาจะทำยังไงให้คนรู้จัก 'มังคุดคัด' ซะที ดูมา 6-7 ปี จะเกิดก็ไม่เกิดสักที แต่ตอนนี้มันเกิดแล้ว มันเป็นอาหารที่อร่อย ผมอยากให้คนจังหวัดอื่นๆ ได้กิน
"ตอนนี้คนรู้จักมากขึ้น และคิดว่ามันจะอยู่ได้ต่อไป ซึ่งเป็นการช่วยเกษตรกรอีกทางหนึ่ง เพราะบางช่วงอาจจะตัดลูกแก่ส่งมาให้เราทำมังคุดคัดขายก่อนก็ได้ ไม่ต้องรอสุกเกินไปจนล้นตลาด ถ้าจำนวนผู้บริโภคยังมีอยู่เรื่อยๆ ประมาณนี้ก็คงช่วยให้คนนครศรีฯ มีรายได้ต่อไป"
ภาพ : มังกัสโต้
อ่านบทความที่น่าสนใจ :