คุยเรื่อง 'มะกอกโอลีฟ' กับ 'วิทย์ Little Tree' จากต้นไม้เทพเจ้าในตำนาน สู่ต้นไม้แรร์ไอเทมราคาหลักล้านในเมืองไทย ความสวยงาม และเสน่ห์อันน่าหลงใหล ที่ใครๆ ต่างอยากเป็นเจ้าของ...'

'มะกอกโอลีฟ' พืชประเภท 'ไม้มงคล' หนึ่งในไม้ประดับที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน มีความเชื่อกันว่าหากปลูกแล้วจะทำให้มั่งคั่ง ประสบความสำเร็จ รุ่งเรือง ก้าวหน้า เป็นความหมายดีๆ ที่มาพร้อมกับความสวยงาม กระทั่งหลายคนยอมควักเงินจำนวนมาก เพื่อให้ได้พันธุ์ไม้ต่างประเทศเจ้าเสน่ห์นี้มาครอบครอง 

"ตอนนี้ขนาดใหญ่ที่สุดที่เราเคยนำเข้า ราคาอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านกว่า อายุประมาณ 1,700 ปี ซึ่งที่จริงแล้ว เรามั่นใจว่ามีราคาที่สูงกว่านี้อย่างแน่นอน โดยราคาจะขึ้นอยู่ที่ขนาด อายุ รูปทรง และน้ำหนัก ทุกอย่างประกอบรวมเข้ากัน" นี่คือบางส่วนจากบทสนทนาระหว่าง ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ กับ 'คุณวิทย์-ศิริวิทย์ ริ้วบำรุง' เจ้าของ Little Tree ผู้นำเข้ามะกอกโอลีฟมาปลูกในเมืองไทย

ศิริวิทย์ ริ้วบำรุง
ศิริวิทย์ ริ้วบำรุง

...

ความเชื่อ และตำนานของ 'มะกอกโอลีฟ' :

ก่อนที่จะเข้าสู่ จุดเริ่มต้นของการนำเข้าโดยคุณวิทย์ เรามาทำความรู้จักกับ 'มะกอกโอลีฟ' กันสักหน่อยดีกว่า

'ตำนานกรีก' ได้กล่าวถึงปฐมบทของ 'ต้นมะกอก' ว่าเกิดจากการแข่งขันระหว่าง 'โพไซดอน' (Poseidon) เทพเจ้าแห่งท้องทะเล และ 'เอเธน่า' (Athena) เทพีแห่งสติปัญญา ทั้งสองต้องแย่งกันดูแลนครแห่งหนึ่งในเมืองกรีซ ชนิดที่ว่า 'ไม่มีใครยอมใคร!' เดือดร้อนไปถึง 'ซูส' (Zeus) เทพผู้ปกครองสูงสุดแห่งเขาโอลิมปัส ซูสต้องการยุติความขัดแย้งนี้ลง จึงตัดสินปัญหาโดยให้ เทพและเทพีทั้งสอง เนรมิตของที่มีประโยชน์ที่สุดให้ชาวเมืองได้ใช้ และให้ชาวเมืองเป็นผู้ตัดสิน 

โพไซดอน
โพไซดอน

'โพไซดอน' เริ่มต้นโดยนำ 'ตรีศูล' จิ้มลงไปที่พื้น เกิดเป็น 'ม้า' จำนวนมากพุ่งออกมา และอธิบายประโยชน์ที่ใช้ในสงคราม ทำให้ 'เอเธน่า' ครุ่นคิดอย่างหนัก แต่ด้วยเป็นเทพีแห่งสติปัญญา จึงเนรมิต 'ต้นมะกอก' ต้นใหญ่ขึ้นมากลางเมือง พร้อมให้เหตุผลว่า ต้นมะกอกมีคุณประโยชน์หลายอย่างที่มนุษย์เอาไปใช้ได้ ตั้งแต่ต้น กิ่ง ก้าน ผล และเป็นเครื่องหมายถึงสันติภาพความรุ่งเรือง ชาวเมืองได้ใช้ประโยชน์จากต้นมะกอกมากกว่าม้า ชาวเมืองจึงตัดสินใจเลือกให้เอเธน่าเป็นผู้ชนะ และตั้งชื่อเมืองว่า 'เอเธนส์'

เอเธน่า
เอเธน่า

'กีฬาโอลิมปิก' ในยุคโบราณ ผู้ชนะจะได้รับ 'มงกุฎช่อมะกอก' ประดับศีรษะ เพื่อสื่อความหมายถึงชัยชนะ สันติภาพ การรู้แพ้ รู้อภัย นอกจากนี้สหประชาชาติยังใช้ช่อมะกอกโอลีฟเป็นสัญลักษณ์บนธง เพื่อสื่อถึงเสรีภาพและมิตรภาพ และตามความเชื่อของชาวกรีก 'มะกอกโอลีฟ' ถือเป็นสัญลักษณ์แห่ง 'อิสรภาพ' และ 'ความหวัง' อีกด้วย

เรียกได้ว่าเป็นต้นไม้ที่มีความเป็นมา ความหมาย และเรื่องราวที่ลึกซึ้งเสียจริงๆ 

...

จุดเริ่มต้นนำเข้ามะกอกโอลีฟสู่เมืองไทย :

ความหลงใหลและชื่นชอบ 'ต้นไม้' ของคุณวิทย์ เกิดขึ้นตั้งแต่เขายังเด็ก อุปนิสัยที่ชอบสะสมต้นไม้ มองเมื่อไรก็ 'มีความสุข' ทำให้จากความชอบกลายเป็นความรัก กระทั่งเขาเลือกเดินในเส้นทางอาชีพ 'นักจัดสวน'

นักจัดสวนคนนี้ กระตือรือร้นและแสวงหาพันธุ์ไม้ใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อหวังว่าจะมาเติมเต็มประสบการณ์ของตนเอง เพิ่มสีสันให้กับวงการจัดสวนของไทย และผลักดันให้วงการนี้ไหลไปอย่างไม่หยุดนิ่ง กระทั่งวันหนึ่งเขาได้พบเข้ากับต้น 'มะกอกโอลีฟ'

"จริงๆ เรามีความผูกพันกับต้นไม้มานาน เวลาเห็นต้นไม้ที่ไม่คุ้นตา เราก็จะชอบคิดว่านำมาทำอะไรได้บ้าง ตอนที่เจอ 'ต้นโอลีฟ' ที่ต่างประเทศเรารู้สึกว่าเป็นต้นไม้ที่มีเสน่ห์ สวยงาม และน่าหลงใหล ถ้าเอามาจัดสวนได้จะต้องออกมาดูดีมากแน่ๆ ประมาณ 8-9 ปีที่แล้ว เราจึงเริ่มคิดอยากจะ 'นำเข้า' พันธุ์ไม้นี้

แต่ไม่ใช่ว่าเราจะนำเข้าทันทีที่คิด การจะนำเข้าต้นไม้แต่ละชนิด มันต้องผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์ หรือทดลองมาก่อน เพราะไม่ใช่ว่าทุกพันธุ์ที่จะรอด เรา 'ทดลอง' ปลูกต้นเล็ก โดยได้ต้นมาจากคนที่เพาะเลี้ยงในเมืองไทย แต่ความต้องการของเราคือต้นขนาดใหญ่สมบูรณ์แบบที่เคยได้เห็น เรารอไปสักพักแต่ไม่มีคนนำเข้าสักที กระทั่งมีช่องทางซื้อได้ เราจึงตัดสินใจดีลเอง และได้นำเข้ามาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ นี่คือจุดเริ่มต้นที่มาจากความชอบ"

...

ความสวยสู่กระแส ที่เป็นคนเริ่มต้นโดยไม่ได้ตั้งใจ :

คุณวิทย์คิดว่า ที่ต้นโอลีฟได้ความนิยม ข้อแรกเกิดจาก 'ความสวย' ไม่ว่าจะขนาดเล็ก หรือขนาดใหญ่ก็สวยเหมือนกัน ส่วนผิวและลำต้นก็มีลีลาที่น่าสนใจ มีคุณสมบัติเหมาะกับการใช้ตกแต่ง เพราะเขาสวยของเราอยู่แล้ว ไม่ว่าจะตกแต่งอาคาร ร้าน หรือบ้าน มันก็มีความดึงดูดและสะดุดตา แถมยังมีความเชื่อว่าเป็นไม้มงคลมาตั้งแต่อดีตอีกด้วย ซึ่งความเชื่อจากต่างประเทศนั้น ก็ถูกถ่ายทอดเข้ามาสู่บ้านเรา

แต่คุณวิทย์บอกกับทีมข่าวฯ ว่า ความตั้งใจแรกที่นำเข้า 'มะกอกโอลีฟ' ไม่ได้คิดว่ามันจะได้รับความนิยม และเป็นที่ชื่นชอบเฉกเช่นทุกวันนี้

"เราไม่ได้มองว่าต้นไม้ต่างประเทศ จะดีไปกว่าต้นไม้เมืองไทย แค่บางอย่างที่คนอาจจะมองว่าไม่สวย แต่เรามองว่ามันสวย ก็เลยเลือกหยิบมาลองใช้ เพื่อเพิ่มมูลค่า จัดวางให้ถูกที่ ถูกทาง นี่คือสิ่งที่ทำให้ต้นไม้มีคุณค่ามากขึ้น 

...

การเลือกต้นไม้มาใช้แต่ละต้น เราต้องดูและวิเคราะห์ว่า เหมาะสมและนำมาใช้งานได้จริงไหม ความสวยงามเมื่อนำมารวมกับต้นอื่นๆ จะเกิดเป็นองค์ประกอบที่ลงตัวหรือเปล่า ตอนแรกเราไม่ได้คิดหรอกว่า มะกอกโอลีฟจะเป็นกระแส หรือได้รับความนิยม เราแค่อยากใช้เติมเต็มงานเรา"

คุณวิทย์ เล่าต่อว่า ก่อนที่จะเป็น 'มะกอกโอลีฟ' ต้นไม้หลายต้นที่ผ่านมือเราก็ล้วนมีคนชื่นชอบ และมักจะนำรูปที่เราถ่ายไปใช้ตามหาตามร้านต่างๆ โดยเราไม่ได้ตั้งใจว่าจะต้องเป็นคนนำเทรนด์ 

แรกเริ่มนำเข้าต้นโอลีฟ คุณวิทย์ "ไม่ได้คิดเริ่มต้นจากเชิงพาณิชย์" แถมเขายังพูดติดตลกผ่านโทรศัพท์ว่า "ถ้าเราคิดในแง่ธุรกิจหรือการลงทุนตั้งแต่แรก ตอนนี้เราคงเป็นเจ้าใหญ่"

"เราคิดแค่ว่าอยากได้มันมาก ทำยังไงก็ได้ให้มันเข้ามาในเมืองไทย และเราจะได้นำมาใช้ในงานของเราได้ แต่พอนำเข้ามาแล้วมันกลายเป็นกระแส ตอนนั้น 'เนื้อหอม' มาก ใครๆ ก็ต้องวิ่งมาหาพี่ 

หลังจากทำไปประมาณ 2 ปี เราก็มองเห็นว่ามันเป็นต้นไม้ที่ทำเงินได้ เริ่มมีเจ้าอื่นๆ เพิ่มขึ้นมา เราก็ไม่ได้รู้สึกแย่นะ รู้สึกดีด้วยซ้ำ ในแง่ของผู้บริโภคก็จะได้มีทางเลือกเยอะขึ้น และราคาก็อาจจะลดลงได้บ้าง เพราะมีคนนำเข้าเยอะ 

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้มันอาจจะมีราคาสูง ยังมีกระแสที่ดี คนยังต้องการเยอะ และมันยังไปต่อได้ แต่อย่าลืมว่าต้นไม้มียุคมีสมัย เราสนุกไปกับมันก็พอ ต้นโอลีฟยังเป็นต้นไม้ในดวงใจ แต่เรายังมีต้นอื่นๆ ที่อยากนำเสนอให้ได้เห็นอีกในสเตปต่อๆ ไป"

การนำเข้าจากต่างประเทศ :

คุณวิทย์เล่าให้เราฟังว่า 'มะกอกโอลีฟ' เป็นพืชที่เจริญเติบโตค่อนข้างช้า แต่เป็นต้นไม้ที่มีอายุมาก บางต้นอาจจะมีอายุมากถึง 2,000 ปี ซึ่งการ 'นับอายุ' มักจะใช้การประมาณขนาดลำต้น การคำนวณจากเส้นรอบวง ขนาดราก รวมไปถึงกิ่งก้านสาขาที่แตกออก แต่เราก็จะทราบอายุได้จากสวนต่างประเทศต้นทาง 

"ส่วนใหญ่ถ้าต้องการต้นไม้ หรือพันธุ์ดอกไม้ เรามักจะสั่งซื้อนำเข้าจากเนเธอร์แลนด์ เพราะเป็นตลาดกลางขนาดใหญ่สำหรับการส่งออกต้นไม้ทั่วยุโรป โอลีฟที่เรานำเข้าส่วนใหญ่จะมาจากประเทศบริเวณยุโรปตอนใต้ เช่น สเปน และกรีซ 

ซึ่งจริงๆ ต้นไม้พวกนี้ในต่างประเทศ อย่าง 'สเปน' หรือ 'กรีซ' มันเป็นต้นไม้ที่ขึ้นดาษดื่น เขาก็ล้อมไว้ใช้จัดสวนในส่วนของเขา ไม่ใช่แง่เศรษฐกิจที่จะใช้เก็บเกี่ยว แต่ล้อมไว้ใช้ประดับ เหมือนต้นไม้บ้านเราทั่วไป"

พูดไปก็ดูเหมือนง่าย แต่เราก็รู้กันอยู่แล้วว่า การนำเข้าของจากต่างประเทศไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเหมือนปอกกล้วย เพราะต้องมีกระบวนการ-ขั้นตอนต่างๆ ที่ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย จนกว่าจะได้รับ 'การอนุญาต' ให้ขนส่ง

"ปกติการนำเข้าต้นไม้ก็เป็นเรื่องที่ยากอยู่แล้ว แต่การนำเข้าต้นโอลีฟอายุหลายร้อยปีที่มีดินติดมาด้วย ก็ยิ่งกลายเป็นเรื่อง 'ท้าทาย' เข้าไปใหญ่ ต้องทำตามข้อบังคับกฎหมายอย่างเคร่งครัด"

คุณวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในตอนนี้จะมีทีมที่คอยดูแลเรื่องเอกสารและการนำเข้า ซึ่งหลักๆ แล้ว ต้องยื่นขอใบอนุญาตนำเข้าหรือนำผ่านสิ่งต้องห้ามเพื่อการค้า ณ สำนักควบคุมพืช และวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เพื่อให้ผู้นำเข้าใช้เป็น 'หลักฐาน' แสดงต่อ 'ศุลกากร' และคุณวิทย์มั่นใจว่า "การนำเข้าของเขาถูกกฎหมายแน่นอน"

การขนส่งจากต่างประเทศ :

เหตุที่เป็นต้นไม้มีอายุมากจนเหมือน 'คุณทวด' ประมาณ 100 ถึง 300 ปี และมีลำต้นขนาดใหญ่ จึงทำให้ต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่ ป้องกันความเสียหาย และความบอบช้ำเป็นพิเศษ คุณวิทย์ได้เล่าถึงการขนส่งเอาไว้ว่า...

"ด้วยขนาดที่ใหญ่ และอายุที่เยอะ ตอนแรกที่ทำเรายังไม่มีประสบการณ์ เลยไม่ค่อยมั่นใจว่าการขนส่งทางเรือจะเป็นอย่างไร หรือต้องใช้เวลานานเท่าไร แต่อย่างน้อยเดินทางขั้นต่ำ 1 เดือน ถึง 45 วัน เราจึงเลือกการขนส่งทาง 'เครื่องบิน' เพื่อจะได้ประหยัดเวลาขนส่ง เพราะถ้าเดินทางนานเกินไป ต้นไม้อาจจะบอบช้ำระหว่างทางได้"

"การขนส่งจาก 'เนเธอร์แลนด์' อยู่ในขั้นที่เรียกว่า 'เนี้ยบ' ก็ว่าได้" คุณวิทย์กล่าว

"เราเคยตีโครงเคลื่อนย้ายคร่าวๆ ปรากฏว่า 'ไม่ผ่าน' สายการบินไม่อนุญาตให้นำขึ้นเครื่อง เราจึงต้องทำกล่องไม้ปิดรอบด้านอย่างมิดชิด เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นไม้กระแทกกับสิ่งอื่นๆ พร้อมล็อกภายในอย่างดีเพื่อป้องกันการเคลื่อนที่ ซึ่งการขนส่งก็มีราคา"

การดูแลมะกอกโอลีฟ :

รู้กันอยู่แล้วว่าประเทศเรา 'ร้อน' กับ 'ร้อนมาก' จึงน่าสงสัยว่า "ต้นไม้ต่างประเทศอย่างโอลีฟจะอยู่รอดหรือ" คุณวิทย์ บอกกับทีมข่าวฯ ว่า "อยู่รอดแน่นอนแต่จะไม่ติดลูก" 

"ความร้อนและแสงแดดได้อยู่ แต่ความเย็นยังไม่ได้ เลยทำให้ไม่ติดลูก ข้อเสียของโอลีฟที่มาเมืองไทย คือ ไม่สามารถติดลูกได้ มีคนที่เรารู้จักปลูกโอลีฟมาประมาณ  20 ปี ผลปรากฏว่า 'ไม่เคยออกลูกเลย'

เราเคยเช็กกับ ‘โครงการหลวง’ ว่าทำไมไม่สนับสนุน ให้เอาเข้ามาเป็นพืชเศรษฐกิจ เช่น นำผลมาสกัดเป็นน้ำมัน เขาบอกว่าเช็กแล้ว ทำแล้ว ทดลองแล้ว มันไม่เคยออกลูกเลย จึงไม่เคยนำมาเป็นพืชเศรษฐกิจ ทำให้ยุคนี้ในประเทศไทยนิยมนำมาเป็นไม้ประดับกันมากกว่า"

คุณวิทย์แนะนำการดูแลต้นไม้ราคาสูงนี้ไว้ว่า รดน้ำเพียงวันละ 1-2 ครั้ง เท่านั้นก็เพียงพอต่อความต้องการแล้ว แต่ที่ต้องระวัง! และเน้นย้ำ! เป็นอย่างมาก คือ "ห้ามน้ำขัง หรือแฉะ เด็ดขาด!!!" สังเกตน้ำในดินอย่างสม่ำเสมอ ง่ายๆ แค่นี้ ต้นโอลีฟก็จะอยู่กับเราไปได้อีกนาน...

"ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาคนปลูกกันเยอะขึ้น แข่งขันกันเยอะขึ้น ทำให้ราคาลดลงมาบ้าง มีการขยายพันธุ์เองบ้างแต่ไม่ได้เยอะ เพราะขยายพันธุ์ยากมาก เรามองว่ากระแสโอลีฟยังไปได้อีกนาน ขณะนี้หลายคนเล็งให้เป็น 'ต้นไม้ประธาน' ในบ้าน แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ต้องยอมรับว่า 'ทุกอย่างมีเวลาของมันเอง' ในอนาคตอาจจะหมดยุคของต้นโอลีฟ มีต้นอื่นขึ้นมาแทน เราในฐานะนักจัดสวนและคนชอบต้นไม้ ก็คงต้องหาสิ่งใหม่ๆ มาสู่ตลาดต่อไป"

เอาเป็นว่าตอนนี้ ทีมข่าวฯ ขอตั้งหน้าตั้งตาทำงานก่อนดีกว่า เผื่อจะเก็บเงินไปซื้อ 'มะกอกโอลีฟ' มาปลูกไว้ได้ที่บ้านสักต้น แต่คงยังไม่เอาต้นที่อายุเป็นพันปีหรอกนะ แค่หลัก 10 ปี กระเป๋าก็แบนแล้ว...

ภาพ : ศิริวิทย์ ริ้วบำรุง

อ่านบทความที่น่าสนใจ :