คุยกับ 'แอน วริศรา' ทายาทรุ่นที่ 3 แห่ง 'หยิ่นซุยฟุ้ง' ร้านตัดเย็บชุดเทพเจ้าจีนยืนหนึ่งในเยาวราช อาชีพบนความเชื่อ และฝีมือระดับตำนานที่ถูกสืบทอดกว่า 60 ปี...
ณ เยาวราช ย่านที่ร่ำรวยไปด้วยวัฒนธรรมจีน ผู้คนจำนวนมากดำเนินชีวิต และยึดถือขนบประเพณีดั้งเดิมให้เราได้เห็น นอกจากนั้น ยังคงธำรงอัตลักษณ์ของตนเองไว้ จนอาจต่อยอดเป็นอาชีพ ที่บางคนอาจจะไม่เคยเห็นหรือรู้จักมาก่อน อย่างอาชีพ 'ตัดเย็บชุดเทพเจ้าจีน' ของร้าน 'หยิ่นซุยฟุ้ง'
แล้วการ 'ตัดเย็บชุดเทพเจ้าจีน' เป็นอย่างไร? อาชีพนี้มีคนทำด้วยหรือ?
วันนี้ ขอเชิญผู้อ่านทุกท่านพบกับ เรื่องราวที่น่าสนใจของอาชีพนี้ ผ่านการสนทนาระหว่าง ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ กับ 'แอน-วริศรา สังสิทธิเวทย์' ทายาทรุ่นที่ 3 แห่ง 'หยิ่นซุยฟุ้ง'
...
จุดเริ่มต้นธุรกิจตัดเย็บชุดเทพเจ้าจีน :
ย้อนกลับไปเมื่อรุ่นที่ 1 อากงของคุณแอน ดำเนินธุรกิจ 'หยิ่นซุยฟุ้ง' เป็นร้านตัดชุดสูททั่วไป แต่แล้วร้านตัดเย็บชุดเทพเจ้าจีนที่อยู่ข้างบ้าน กำลังจะเลิกประกอบกิจการ อากงเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจ เพราะร้านแบบนี้ไม่ได้มีมากนักในเยาวราช บวกกับความสามารถในการตัดชุดที่ตนมีอยู่ จึงตัดสินใจเซ้งกิจการต่อ และทำทั้งสองอย่างควบคู่กันไป
'หยิ่นซุยฟุ้ง' ไม่ได้ตัดเย็บชุดอย่างเดียว แต่ยังรับงานที่เกี่ยวกับผ้าในศาลเจ้าทั้งหมด เช่น ไฉ่ไบ๊ (ผ้าที่แขวนไว้ในสถานที่ ที่มีการจัดงาน), ฉึ่งกุ๊ง (ผ้าหน้าโต๊ะ), ท่งฮวง (โคมจีนแบบผ้าแขวนประดับหิ้งไหว้เจ้า), ธง, ผ้าคลุมองค์เทพเจ้า ฯลฯ ซึ่งทางร้านสามารถทำได้หมด เพียงแต่ต้องมาคุยรายละเอียดกันก่อน
คุณแอน ให้ข้อมูลว่า บนถนนแปลงนามแห่งเยาวราช นอกจากร้าน 'หยิ่นซุยฟุ้ง' ยังมีร้าน 'ง่วนซุยฮง' เป็นร้านลูกชายคนโตของอากง ที่ท่านลงทุนซื้อตึกและเปิดร้านให้ เธอคาดว่า ปัจจุบันในเยาวราชมีร้านที่ทำธุรกิจเช่นนี้ ไม่เกิน 5 ร้าน และน่าจะไม่มีร้านไหนรับตัดเย็บชุดเทพเจ้าแล้ว เนื่องจากมีชุดสำเร็จรูปจำหน่าย ทำให้ตอนนี้ในเยาวราช มีเพียง 'หยิ่นซุยฟุ้ง' เท่านั้น ที่ยังรับทำ
ร้านดำเนินกิจการยาวนานกว่า 60 ปี ปัจจุบันไม่ได้ตัดเย็บชุดสูทแล้ว เพราะเสื่อมความนิยมไปตามกาลเวลา แต่ยังคงรับตัดเย็บชุดเทพเจ้า และจำหน่ายของที่เกี่ยวกับศาลเจ้า
โดยมี 'สมจิตร สุขเกษม' หรือ 'คุณหมวย' ทายาทรุ่นที่ 2 หรืออาอี๊ของคุณแอน เป็นผู้ดูแลกิจการ ส่วนคุณแอนมีอาชีพหลักเป็น Account Executive (AE) ของบริษัทแห่งหนึ่ง และเดินทางเข้าไปช่วยงานที่ร้านอยู่บ่อยครั้ง
...
พื้นฐานชุดเทพเจ้าจีน :
'ชุดเทพเจ้าจีน' จะถูกสวมใส่โดยคนที่เรียกกันว่า 'ม้าทรง' สีพื้นฐานของชุดจะมีทั้งหมด 5 สี คือ แดง เหลือง เขียว น้ำเงิน และดำ แต่ในปัจจุบันสีมีการพัฒนามากขึ้น เช่น สีเขียวมิ้นต์ สีชมพู สีฟ้า หรือสีพาสเทล ฯลฯ เป็นผลมาจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป อิทธิพลจากแฟชั่น และหนังจีน
คุณแอน ให้ความเห็นว่า ปกติแล้วถ้าซื้อชุดสำเร็จรูปก็ใส่ได้ แต่หากมองเรื่องของความสวยงาม หรือการทำตามความต้องการของผู้ซื้อ เสื้อผ้าแบบสำเร็จรูปอาจจะไม่ตอบโจทย์ตรงนี้ และการจะซื้อชุดเทพเจ้า 1 ชุด ก็ไม่ได้อยู่ที่ความชอบของม้าทรงอย่างเดียว แต่ต้องตอบสนองต่อความต้องการของเทพเจ้าด้วย
ชุดเทพเจ้าสำเร็จรูปส่วนใหญ่ จะมีอยู่ไม่กี่แบบ เช่น ของเทพเจ้าผู้ชาย จะมีลายสิงห์, มังกร ฯลฯ ส่วนของเทพเจ้าผู้หญิง ก็จะเป็นลายหงส์, นก ฯลฯ ซึ่งบางครั้งลูกค้าต้องการผสมผสานลาย เลือกเนื้อผ้า และสีผ้า ดังนั้น การสั่งตัดชุดใหม่ จึงอาจตรงต่อความต้องการได้มากกว่า
สำหรับเนื้อผ้า ลูกค้าสามารถระบุความต้องการ และทางร้านสามารถจัดทำให้ได้ คุณแอนเล่าว่า ปัจจุบันมีลูกค้ามาขอตัดชุดโดยใช้ผ้าชีฟอง ซึ่งสมัยก่อนไม่มี แต่ทางร้านก็ยังไม่แนะนำให้ใช้สักเท่าไร เนื่องจากการเป็นม้าทรงอาจจะต้องต้องอยู่ใกล้ไฟ และผ้าชีฟองติดไฟง่ายมาก ทางร้านจึงเป็นห่วงความปลอดภัย และสวัสดิภาพของลูกค้า
...
ตัดชุดตามความต้องการเทพเจ้า? :
สำหรับการออกแบบชุดเทพเจ้าแต่ละชุด ทางร้านไม่ได้เป็นคนออกแบบ แต่แบบเกิดจากความต้องการของเทพเจ้าและม้าทรง ที่ทำการสื่อสารกันมาแล้ว ร้านเพียงให้คำแนะนำเพิ่มเติมบางอย่าง ส่วนคนที่มาสั่งตัดอาจจะเป็นม้าทรง หรือลูกศิษย์คนใกล้ชิด
"ความต้องการของเทพก็ส่วนหนึ่ง ความต้องการของม้าทรงก็อีกส่วนนึง แต่ละคนก็จะมีจริตที่แตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม ทางร้านและช่างจะบอกให้ม้าทรงไปตกลงกับเทพก่อน ซึ่งบางทีที่ม้าทรงไม่ได้บอก เพราะว่าต้องการเซอร์ไพรส์ แต่เทพอาจจะไม่อยากได้
อย่างทางร้านเอง เคยเกิดเหตุการณ์ที่ช่างปักไม่ได้ บางทีเย็บผ้าเข็มก็หักเรื่อยๆ หรือช่างอาจจะไม่สบายแบบไม่รู้สาเหตุ ทำให้บางครั้งช่างก็ต้องเป็นคนจุดธูปเพื่ออธิษฐานให้ทำงานต่อได้"
...
การสื่อสารระหว่างเทพกับม้าทรงก็จะมีหลายรูปแบบ เช่น จุดธูป ทำสมาธิ เสี่ยงเซ้งปวย หรือบางครั้งเทพก็ประทับร่างม้าทรงที่ร้าน
"ขณะที่เทพเจ้าประทับร่าง ม้าทรงจะพูดภาษาที่ฟังไม่ออก แต่คล้ายกับภาษาจีน หรือบางทีเราจะเรียกกันว่าภาษาเทพ ถ้ามาสั่งที่ร้าน ม้าทรงจะพูดภาษาไทยกับเรา แต่เคยมีเหตุการณ์ที่เทพเจ้าประทับม้าทรงตอนมาสั่งชุด ทางร้านก็ต้องให้ เถ่านั้ง หรือลูกศิษย์ที่ติดตามมาเป็นคนช่วยสื่อสาร เพราะแม้ว่าแม่และอาอี๊พูดภาษาจีนได้ แต่ก็ฟังสิ่งที่ม้าทรงพูดไม่ออก"
ทีมข่าวฯ ถามคุณแอนว่า แล้วม้าทรงรู้ได้อย่างไรว่าต้องมาตัดชุดที่ 'หยิ่นซุยฟุ้ง' ?
"ส่วนหนึ่งที่คนรู้ว่าต้องมาตัดที่นี่ อาจจะเป็นเพราะเยาวราชเป็นย่านของคนจีนอยู่แล้ว และจากคำบอกเล่าของลูกค้าที่มาร้าน เขาบอกว่าไม่รู้จะต้องไปที่ไหน แต่ลางสังหรณ์บอกว่าต้องมาที่นี่ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับม้าทรง หรือว่าพี่เลี้ยงของม้าทรง บางคนให้เหตุผลว่าเจ้าพามา น้อยมากที่จะบอกแบบปากต่อปาก" คุณแอน ตอบ
สำหรับการสั่งตัดชุดใหม่ หรือจะเปลี่ยนชุดเมื่อไร อยู่ที่ความต้องการของเทพเจ้าและม้าทรง บางคนอาจรอชุดพังก่อนแล้วค่อยเปลี่ยน บางคนอาจจะตัดใหม่เพื่อแก้บน หรือว่าต้องการถวายเป็นพิเศษ
ทีมฝีมือแห่ง 'หยิ่นซุยฟุ้ง' :
แม้ว่าเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับธุรกิจนี้มากขึ้น ร้านอื่นต่างเริ่มออกแบบและสั่งตัด ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ แต่ 'หยิ่นซุยฟุ้ง' ยังคงใช้ฝีมือคนในการตัดเย็บทุกขั้นตอน
ในอดีตจะมีทีมช่างประจำอยู่ที่ร้านประมาณ 5-6 คน แต่ปัจจุบันพื้นที่ร้านครึ่งหนึ่ง ได้แบ่งให้ญาติเปิดร้านอาหาร ประกอบกับสถานการณ์ทางบ้านของช่าง จึงต้องกลับไปอยู่บ้านที่ต่างจังหวัด
ตอนนี้ทางร้านมีช่างทั้งหมด 3 คน ซึ่งยังคงเป็นช่างดั้งเดิมในทุกขั้นตอนการตัดเย็บ เพียงแค่ว่าแต่ละคนจะทำงานต่างสถานที่กัน ซึ่งชุด 1 ชุด จะใช้ช่าง 3 คน โดย 1 คน จะทำ 1 ขั้นตอน
'สมจิตร สุขเกษม' หรือ 'คุณหมวย (อาอี๊)' รับหน้าที่ ร่างแบบ และเย็บประกอบชุด ทำงานที่ร้าน ณ เยาวราช
'ดารา นาวัลย์' หรือ 'พี่ลา' รับหน้าที่ ตัดผ้าให้ได้ตามแบบที่กำหนด ทำงานที่ จ.ร้อยเอ็ด บ้านเกิดของตน
'กาย โกมิฬ' หรือ 'พี่น้อย' รับหน้าที่ปักลายตามแบบ ทำงานที่บ้านของตน ในกรุงเทพฯ
ดังนั้น เมื่อมีงานเข้ามาอาอี๊ก็จะติดต่อให้ทั้งสองคนทราบ และเริ่มดำเนินงานตามขั้นตอน
กระบวนการตัดชุดของ 'หยิ่น ซุย ฟุ้ง' :
เมื่อลูกค้าเดินทางมาถึงที่ร้าน 'อาอี๊' จะเริ่มพูดคุยและทำการตกลงถึงรายละเอียดต่างๆ ของชุด ในขั้นตอนนี้ลูกค้าสามารถออกแบบได้ตามความต้องการ หรือบางครั้งร้านจะนำงานที่เคยทำมาให้ดู เผื่อประกอบการตัดสินใจ หากพูดคุยกันเรียบร้อย อาอี๊ก็จะร่างแบบชุดใส่กระดาษลอกลาย ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป
คุณแอน เสริมว่า "บางครั้งลูกค้าจะร่างแบบหรือปรินต์มาให้ร้านเอง เราก็ต้องถามช่างด้วยว่าทำตามแบบได้ไหม หากทำได้ก็ดำเนินการต่อ"
หลังจากนั้นอาอี๊จะซื้อผ้า และส่งไปรษณีย์ไปให้ 'พี่ลา' ที่ จ.ร้อยเอ็ด เมื่อถึงมือของพี่ลา เธอมีหน้าที่ตัดผ้าตามแบบแต่ละส่วนให้ครบ เช่น แผ่นเสื้อด้านหน้า-ด้านหลัง, ผ้ากางเกงด้านหน้า-ด้านหลัง, ผ้าทำเข็มขัด ฯลฯ เมื่อพี่ลาตัดผ้าครบทุกส่วน ก็จะส่งไปรษณีย์กลับมาให้อาอี๊ที่เยาวราช
เมื่อผ้ากลับมาถึง อาอี๊จะติดต่อให้ 'พี่น้อย' ช่างปักประจำร้านมารับผ้าไปปักลาย การปักของพี่น้อย จะใช้สะดึงขึงผ้าให้ตึง แล้วใช้จักรปักเข็มขึ้น-ลง ขยับผ้าซ้าย-ขวา ไปเรื่อยๆ จนเกิดลายตามแบบที่ร่างไว้บนผ้า เมื่อพี่น้อยดำเนินงานในส่วนปักเรียบร้อย ก็จะนำผ้ากลับมาส่งที่ร้าน
อาอี๊จะตรวจงานหลังรับงานจากพี่น้อย หากเรียบร้อยแล้ว เธอจะนำทุกส่วนของชุดมาเย็บประกอบ ให้กลายเป็นชุดที่สมบูรณ์ และอาจจะมีการกุ๊นผ้าเพิ่มเติม เพื่อเก็บรายละเอียดให้สวยงามมากขึ้น หรือบางชุดต้องการความอลังการ เช่น เทพผู้หญิง ต้องการร้อยลูกปัด ก็จะเกิดขึ้นในขั้นตอนนี้ หากตรวจสอบว่าทุกอย่างเรียบร้อยดีแล้ว ทางร้านจะติดต่อให้ลูกค้าเข้ามารับชุด
อ่านมาถึงตรงนี้ ทุกคนอาจจะเกิดความสงสัยว่า ในเมื่อพี่ลากลับไปอยู่ที่ จ.ร้อยเอ็ด ทำไมร้านจึงไม่หาช่างคนใหม่ แทนที่จะต้องส่งผ้าไปให้พี่ลาทุกครั้ง ?
คุณแอน อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า 'พี่ลาก็เหมือนส่วนหนึ่งของครอบครัว และ หยิ่นซุยฟุ้ง' พี่ลาเข้ามาอยู่ที่ร้านตั้งแต่อายุ 13 ปี ในฐานะแม่บ้าน เธอครูพักลักจำวิชาจากในร้าน จนสามารถตัดเย็บชุดได้ ทางร้านจึงไว้ใจ และให้พี่ลาเป็นช่างอีกหนึ่งคนของร้าน
กระทั่งวันหนึ่ง พี่ลาต้องกลับไปดูแลคุณแม่ที่ จ.ร้อยเอ็ด แม้ระยะทางจะห่างไกล แต่ความผูกพันของ หยิ่นซุยฟุ้ง ที่มีต่อพี่ลายังคงเหมือนเดิม ดังนั้น ทางร้านจึงมองว่า ไม่ใช่เรื่องลำบากที่จะส่งผ้าไปให้พี่ลาตัด เนื่องจากเป็นการสร้างอาชีพ และพี่ลาก็ยังได้ทำงานที่ตนเองรัก
ส่วน 'พี่น้อย' เคยเป็นช่างปักอยู่ร้านที่เป็นพาร์ตเนอร์กัน หลังจากร้านนั้นปิดตัวลง พี่น้อยก็รับช่วงทำเองต่อกับทางร้านเรื่อยมา
ทำให้ตอนนี้ การตัดชุดของหยิ่นซุยฟุ้ง เท่ากับ 'พี่ลาตัด-พี่น้อยปัก-คุณหมวยเย็บ' นั่นเอง!
จำนวนการตัด ราคา และรายได้ :
ราคาการสั่งตัดเย็บชุดใหม่ แต่ละชุดจะราคาไม่เท่ากัน คุณแอน ระบุว่า เริ่มต้นตั้งแต่หลักพัน ไปจนถึงหลักหมื่น ซึ่งราคานั้นจะขึ้นอยู่กับรายละเอียดที่ลูกค้าต้องการ เช่น หากจะปักดิ้นทอง ราคาชุดก็จะเพิ่มขึ้นไปอีก เป็นต้น
"ในแต่ละปี เราตัดชุดไม่ได้เยอะมาก อยู่ที่ประมาณ 10 ถึง 20 ชุดต่อปี เพราะว่ากระบวนการในการผลิตค่อนข้างใช้เวลา บางชุดต้องใช้เวลาทำถึงหนึ่งเดือน หรือบางครั้งหากมองว่าจะทำไม่ทัน ทางร้านก็ต้องปฏิเสธงานลูกค้า
สำหรับกำไรจากการตัดชุด เรามองว่าเหลือน้อยมาก หากหักต้นทุนและค่าแรงทุกอย่างไป แม้บางชุดราคาหลักหมื่นก็เหลือกำไรไม่เท่าไร เพราะราคาชุดที่สูงก็แลกมากับต้นทุนที่สูง บ้านเราก็ยังมีค่าน้ำค่าไฟและค่าเช่าที่ที่ต้องจ่ายทุกเดือน"
ความยากและการสานต่อธุรกิจ :
สำหรับคุณแอน ความยากของ 'ธุรกิจ' นี้ขึ้นอยู่กับ 'ความเชื่อ' ทั้งความเชื่อในเรื่องเทพเจ้า และความเชื่อในตัวของผู้ดำเนินธุรกิจ กล่าวคือ หากวันหนึ่งความเชื่อหมดลงไป ธุรกิจนี้ก็อาจจะต้องหมดลงไปด้วย และในปัจจุบันหลายร้านใน จ.ภูเก็ต ทำเป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น ร้านเหล่านั้นอาจจะเข้ามาแทนที่การตัดเย็บด้วยมือก็ได้
ส่วนความเชื่อต่อผู้ดำเนินธุรกิจ คุณแอนยกตัวอย่าง เหตุการณ์ก่อนที่อาอี๊จะเข้ามาทำตรงนี้ ลูกค้าเก่าก็เคยไม่เชื่อในตัวอาอี๊มาก่อน ดังนั้น หากวันหนึ่งคุณแอนจะเข้ามาสานต่อธุรกิจ เธอมองว่าตนเองก็ต้องพิสูจน์ตัวเองให้ทุกคนได้เห็น และสร้างความเชื่อใจให้กับทุกคนได้
แต่ หากในอนาคต คุณแอนจะสานต่อธุรกิจนี้จริงๆ เธอคิดว่า อาจจะไม่ได้มองเรื่องตัวเงินเท่าไรนัก แต่มองไปถึงเรื่องการสืบทอดและสานต่อภูมิปัญญา ซึ่งความรู้สึกนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจาก การทำจุลนิพนธ์เกี่ยวกับชุดเทพเจ้าจีนของตน ครั้งยังเรียนคณะนิเทศศาสตร์
คุณแอนมีโอกาสได้ไปเก็บข้อมูลทำจุลนิพนธ์ที่ จ.ภูเก็ต และขอเข้าสัมภาษณ์ร้านหนึ่ง ทำให้รู้ว่าเจ้าของร้านเคยมานั่งเรียนตัดชุดกับพี่ลา เพราะ ศาสตร์ของการตัดเย็บชุดเทพเจ้าไม่ได้มีหลักสูตรให้นั่งเรียน พี่ลาจึงเป็นเหมือนครูของเขา
การทำจุลนิพนธ์ครั้งนั้น จึงทำให้คุณแอนได้รับรู้เรื่องราวของอาชีพนี้มากขึ้น และตอกย้ำว่าสิ่งนี้มีคุณค่าและภูมิปัญญาที่น่าสืบทอด ทำให้เธอเปลี่ยนจากคนที่เคยตั้งคำถาม สู่คนที่มองเห็นคุณค่ามากยิ่งขึ้น
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ขอบคุณภาพจาก คุณแอน วริศรา
อ่านบทความที่น่าสนใจ :