จากดราม่า แจก-ซื้อ ถุงพลาสติก สู่ปัญหา พบ ไทย มีปัญหาขยะพลาสติก อันดับ 12 ของโลก และทิ้งลงทะเลมากที่สุด อันดับ 10 ของโลก สร้างปัญหา ไมโครพลาสติก ที่สุดท้ายก็กลับเข้าร่างกายคน...

มีประเด็นดราม่าเล็กๆ กับเรื่องราวของ “ถุงพลาสติก” กรณี เพจข่าวเพจหนึ่งตั้งคำถามกับ นายวราวุธ ศิลปอาชา อดีต รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถึงการรณรงค์งดใช้ถุงพลาสติก... 

“รณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติก ห้างใหญ่สนองนโยบาย แต่หันมาขายในราคา 15 บาท ช่วยหรือซ้ำเติมประชาชนกันแน่...”  

เมื่อ อดีต รมว.ทรัพยากรฯ ในฐานะ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในปัจจุบันมาเห็น ได้พิมพ์ตอบคำถาม “ก็ลองรวมหัวกันไม่ซื้อถุง ทำให้ห้างใหญ่ที่ผลิตถุงมาขายเจ๊งไปเลยสิครับ ได้ลองดูสถานการณ์โลกบ้างไหมครับ ว่าเข้าขั้นวิกฤตแค่ไหน แล้วก็เป็นเพจข่าวกรุณาใช้คำสุภาพจะดีกว่านะครับ สงสัยในประเด็นใดหรืออยากเปิดโลกทัศน์เพิ่ม ผมยินดีให้ความรู้ครับ” 

เมื่อตอบดังนั้นจึงกลายเป็นดราม่าวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง... ซึ่งความจริงเรื่องนี้ก็มีประเด็นสำคัญแฝง “ความนัย” อยู่บ้าง และวันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะสกัดสาระสำคัญ และปัญหาของ “ถุงพลาสติก” ว่าเหตุใดยังเลิกใช้ไม่ได้ และทำไมถึงกำลังเข้าสู่วิกฤติ 

อย่างไรก็ดี หากเราตัด “อารมณ์” กับเรื่องราว “ดราม่า” ออก เรื่องนี้ก็มี “นัยสำคัญ” ที่น่าคิด วิเคราะห์ และแยกแยะ 

...

3 ปี รณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติก : 

จากข้อมูลของ “กรมควบคุมมลพิษ” ที่ได้มีการเผยแพร่เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 66 โดย นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ระบุไว้ว่า...  

จากความร่วมมือดังกล่าวทำให้ต่อมาได้มีการยกระดับการดำเนินงาน โดยร่วมกับเครือข่ายห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 90 บริษัททั่วประเทศ ร่วมงดให้บริการถุงพลาสติกหูหิ้วแบบใช้ครั้งเดียว “Everyday Say No To Plastic Bags” ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 - ธันวาคม 2565 สามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบใช้ครั้งเดียว รวมทั้งสิ้น 14,349.6 ล้านใบ หรือ 81,531 ตัน ซึ่งประชาชนกว่าร้อยละ 90 เห็นด้วยกับการรณรงค์ในเรื่องนี้ 

นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการดำเนินกิจกรรมการรณรงค์การลด และเลิกใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวอย่างต่อเนื่อง อาทิ การส่งเสริมสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การจัดทำตลาดสดต้นแบบ มาตรการลด และคัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงานภาครัฐ โครงการเปลี่ยนพลาสติกเป็นบุญ (เมื่อคุณหมุนเวียน) ทำให้สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกในภาพรวมลดลง 43% หรือ 148,699 ตัน (ข้อมูลจากการประเมินผลการดำเนินงานตามเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการฯ จนถึงปี 2564 ร่วมกับสถาบันพลาสติก โดยใช้ฐานข้อมูล Material Flow of Plastics) 

นั่นคือข้อมูลการลดใช้ถุงพลาสติกแบบครั้งเดียวที่มีการเก็บข้อมูลไว้ แต่...ในความเป็นจริงสิ่งที่เกิดขึ้นจริง คือ เรายังเห็นคนไทยใช้ถุงพลาสติกกันอย่างเป็นปกติ มีเพียงแต่ห้างสรรพสินค้า และร้านค้าปลีกขนาดใหญ่เท่านั้น ที่เขา “ลด” หรือ “เลิก” ให้ถุง แต่กลับหันมาขาย “ถุงผ้า” หรือ “ถุงพลาสติก” แทน จึงไม่แปลกที่ประชาชนทั่วไปจะมองว่าคนที่ได้ประโยชน์กลับไม่ใช่ประชาชนที่ต้องเสียความสะดวกสบายไป 

สถานการณ์ขยะถุงพลาสติกไทย วิกฤติ อันดับ 12 ของโลก : 

กับประเด็นดราม่า และปัญหาสิ่งแวดล้อมจากพลาสติก ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย มองว่า สิ่งที่ท่านวราวุธพิมพ์นั้น หากดูเนื้อแท้ก็คือท่านก็หวังดี แต่สิ่งที่ไม่มี คือ การไม่ให้รายละเอียดที่มากพอ แต่สิ่งที่อยากจะสื่อคือ เวลาให้คำตอบ ท่านควรจะใช้คำที่นุ่มนวลสักนิด เพราะเรื่องนี้ความจริงคือ ในฐานะชาวบ้านทั่วไปสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ เพราะท่านคือ “นักการเมือง” ถือเป็นบุคคลสาธารณะ อย่างไรก็ตาม การที่ท่านไม่ให้ข้อมูลก็อาจจะเป็นเพราะไม่ได้นั่งในตำแหน่งเดิม จึงไม่อยากที่จะกล่าวถึง

นายสนธิ กล่าวว่า เวลานี้ประเทศไทยผลิตขยะพลาสติกอยู่ในอันดับ 12 ของโลก และทิ้งลงทะเลมากที่สุดเป็นอันดับ 10 ของโลก 

เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 64 ที่ผ่านมา ทาง ครม.ได้มีมติ “แบน” พลาสติก 4 ชนิด และต้องไม่มีใช้ในปี 2565 ประกอบด้วย 

...

1.ถุงพลาสติกหูหิ้ว ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน 

2.กล่องโฟมบรรจุอาหาร (ไม่รวมโฟมกันกระแทกในภาคอุตสาหกรรม) 

3.แก้วพลาสติกความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน 

4.หลอดพลาสติกทั้งหมด (ยกเว้นในการใช้กับคนชรา และคนป่วยเท่านั้น) 

“ครม.มีมติดังกล่าว หมายความว่า ในปี 2565 ต้องไม่มีใช้...แต่ทุกวันนี้ จะสิ้นปี 2566 อยู่แล้ว เรายังเห็นใช้กันเป็นปกติ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ “มติ ครม.” ที่ไร้ประสิทธิภาพ หาเจ้าภาพในการทำงานไม่ได้ สิ่งที่ กรมควบคุมมลพิษ ทำคือ การดูแลว่าผลดังกล่าวเป็นอย่างไร แต่คนที่จะบังคับใช้เรื่องนี้กลับไม่มี ดังนั้นเราจึงเห็นว่าตามตลาด ร้านค้า โดยเฉพาะตลาดปลายังใช้กันหมด” 

ห้างไม่แจก แต่ขายถุง 15 บาท? 

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ตามห้างใหญ่ๆ ไม่มีการแจกถุงพลาสติด แต่มีการขายในราคาแตกต่างกัน ซึ่ง นายสนธิ ก็เห็น พร้อมกับบอกว่า หากเป็นในต่างประเทศ ไม่สามารถทำแบบนั้นได้ หากมี เขาจะเก็บภาษีเพิ่ม หมายความว่า หากห้างไหนให้ถุงพลาสติกที่ “รีไซเคิล” ไม่ได้ แบบ “ใช้แล้วทิ้ง” ต้องจ่ายภาษี ยกตัวอย่างในยุโรป พลาสติก 0.8 ยูโรต่อพลาสติก 1 กก. 

...

ด้วยเหตุนี้สินค้าที่จะไปขายในยุโรปได้ หากมีพลาสติกจะต้องเป็นพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้เกือบ 100% ดังนั้นเขาจึงไม่ใช้พลาสติกแบบ Single-use ถ้าจำเป็นต้องแจกถุง เขาจะให้ถุงกระดาษ หรือถุงที่สามารถย่อยสลายได้

ไทย ขอความร่วมมือ VS ยุโรป ออกเป็นกฎหมาย และผลลัพธ์ที่แตกต่าง...

ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ชี้ถึงสาเหตุที่ไทยกับยุโรปมีผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน เพราะ ประเทศไทย เลือกใช้วิธีการ “ขอความร่วมมือ” แต่ยุโรป คือ “กฎหมาย” 

“การที่ไทยใช้คำว่า “ขอความร่วมมือ” จึงกลายเป็นช่องโหว่ ร้านค้าปลีกยักษ์ หรือ ห้าง ก็สบายๆ เลย เรียกว่าให้ความร่วมมือลดจ่ายถุงพลาสติก กลายเป็น “ลดค่าใช้จ่าย” ไปด้วย แถมขายได้อีก กลายเป็นคำถามว่า “เอื้อประโยชน์” ให้กับเหล่าห้างหรือไม่..”  

นายสนธิ ย้ำว่า สิ่งที่ภาครัฐควรทำ คือ การออกกฎหมายเป็นเรื่องเป็นราว คือต้อง “ไม่ผลิต” ถุงพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งเลย หรือเปิดทางเลือกคือให้ผลิต แต่ต้องเสียภาษีมากขึ้น 

“ไทยต้องจัดการอย่างจริงจัง ก่อนอื่นเลยต้องมีการตั้งคณะกรรมการให้ชัดเจน มี “เจ้าภาพ” ในการจัดการอย่างจริงจัง หันมาดูเลยว่าทำไม “มติ ครม.” วันที่ 15 ก.พ. 64 ทำไมทำไม่ได้ การออกมติ ครม.แบบนี้ แต่ทำไม่ได้ ใครจะเชื่อถือ โฟม ถุงบรรจุอาหารยังเห็นเต็มเมือง ดังนั้นทางออกของเรื่องนี้คือต้องไม่ผลิต ใครผลิตต้องจ่ายภาษีมหาศาล” 

ไม่ใช้ “พลาสติก” อะไรคือสิ่งทดแทน กับต้นทุนที่อาจสูงขึ้น :

กับคำถามข้างต้น นายสนธิ ระบุว่า เรามีทางเลือกอยู่ คือ ใช้ถุงกระดาษ หรือถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้ สิ่งที่ทำต้องมาแนวนี้ คำถามคือ มติ ครม.ออกมาแบบนั้น แต่ไม่มีอะไรรองรับ

...

เมื่อถามว่า “ต้นทุน” ถุงพลาสติกย่อยสลายได้มีราคาแพงกว่าหรือไม่ นายสนธิ ยอมรับว่า อาจเป็นเช่นนั้น แต่ภาครัฐก็ต้องหาวิธีการจูงใจ เช่น การลดภาษีให้กับผู้ใช้ถุงพลาสติกที่ทำจากผักตบชวา หรือเยื่อไม้ต่างๆ ซึ่ง “ถุงผักตบชวา” นั้นย่อยสลายง่ายมาก ฝัง 3 วันก็ย่อยสลายแล้ว 

“ที่ผ่านมาเห็นมีหลายวิสาหกิจชุมชนใช้ถุงพลาสติกย่อยสลายได้ เขาก็ทำกัน ประเด็นปัญหาคือ รัฐบาลส่งเสริมหรือไม่ คือ มีมติ (ครม.) แต่ไม่มีมาตรการที่ชัดเจน มันเลยทำไม่ได้”

วิกฤติ “พลาสติก” วงจรที่เวียนกลับสู่ “ร่างกาย” คนไทยกลายเป็นมะเร็ง! 

นายสนธิ กล่าวว่า ประเด็นปัญหาคือ ประเทศไทย ทำอะไรไม่จริงจัง มีมติ ครม. บอกปี 65 ต้องงดใช้ 100% แต่นี่จะปี 67 แล้ว ก็ยังใช้กันอยู่ และปัจจุบัน ประเทศไทย ในปี 2565/2566 พบว่ามีขยะประมาณ 25.7 ล้านตัน แบ่งเป็น พลาสติก ราว 1.2 ล้านตัน/ปี ซึ่งกระจายทั่วประเทศ เป็น “ภูเขาขยะ” ราว 2,000 กอง เวลาร้อนมันอาจจะกลายเป็นเชื้อเพลิงให้เกิดไฟไหม้ เวลาฝนตกก็อาจจะไหลลงสู่ทะเล 

ที่ผ่านมามีการเสนอว่าให้ใช้ “ขยะพลาสติก” เป็นเชื้อเพลิงขยะ เรียกว่า Refuse Derived Fuel (RDF) มาทำเป็นโรงไฟฟ้าขยะ แต่สุดท้ายก็ไม่ไหว เพราะพลาสติกมีเยอะเกินไป เนื่องจากมี “เงื่อนไข” ว่า ขยะพลาสติกที่จะมาใช้ต้องฝังกลบอย่างน้อย 5 ปี ซึ่งประเทศไทยไม่ได้ทำการฝังกลบขยะพลาสติก แต่เราใช้วิธีการเทกองเป็นภูเขาขยะ 

“ทั่วโลกมองว่าเราทำให้สถานการณ์เลวร้าย ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลเป็นอันดับ 10 ของโลก เขามองว่าเราเป็นประเทศทัศนียภาพไม่ดี สกปรก หาดทรายสกปรก ส่งผลให้มีการ “ลดอันดับ” จากการจัดอันดับประเทศที่น่าท่องเที่ยว แทนที่จะเป็น 1 ของโลก กลายเป็นที่ 3-4 แม้จะมีการ “ห้าม” นำเข้าพลาสติก แต่กลับทิ้งเสียเอง” 

สิ่งสำคัญที่ นายสนธิ ย้ำคือ นานาชาติเขาห่วงเรื่องปัญหา “สัตว์ทะเล” ที่ได้รับผลกระทบจาก “ไมโครพลาสติก” คือ พลาสติกที่ย่อยสลายไม่หมด กลายเป็นเศษเล็กน้อย ส่งผลให้สัตว์ทะเลที่กินเข้าไปก็เสียชีวิต โดยเฉพาะ “เต่าทะเล” หรือแม้แต่ “แพลงก์ตอน” ก็กินเข้าไป จากนั้นปลาเล็กกิน “แพลงก์ตอน” ปลาใหญ่กินปลาเล็ก สุดท้าย กลับเข้าสู่ร่างกายคน คนกินเข้าไปกลายเป็นการสะสม “ไมโครพลาสติก”

สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อคนกินปลาปนเปื้อนสารเหล่านี้เข้าไป ก็จะไปทำลายเม็ดเลือดแดง ทำลายระบบทางเดินโลหิต ท้ายของท้ายที่สุดคือ คนไทยที่กินเข้าไปก็จะกลายเป็น “มะเร็ง”

อีกด้านหนึ่งหากเผาพลาสติกประเภทโฟมจะกลายเป็นมลพิษทางอากาศ เกิดก๊าซสไตรีน (Styrene) หากดูดซึมเข้าร่างกายทางผิวหนัง และปอด จะมีผลระยะยาว ทำให้ปวดหัว อ่อนเพลีย อ่อนแอ เกิดภาวะซึมเศร้า หากเผาประเภทพีวีซี จะปล่อยก๊าซไดออกซิน หากเข้าสู่ร่างกาย สุดท้ายก็จะกลายเป็นสารก่อมะเร็ง

“สิ่งที่ต้องระวังคือ ตอนนี้กำลังจะเข้าสู่หน้าหนาวแล้ว หากมีพลาสติกเผาเมื่อไหร่ เหล่าก๊าซที่เกิดขึ้นจะไปอาศัยอยู่ใน “รูพรุน” ของ PM 2.5 เมื่อหายใจเข้าไป แทนที่จะตายช้า คราวนี้ตายเร็ว มีโอกาสเป็นมะเร็งสูง หากกินเข้าไปในร่างกาย ก็จะเข้าสู่กระแสโลหิต” 

ช่วงท้าย นายสนธิ ย้ำว่า ภาครัฐต้องดูนโยบายให้ชัดเจน ทำให้เป็นวาระแห่งชาติโดยมีมาตรการ ให้ชัดเจนตาม ครม.ที่ออกมา โดยอาจจะต้องมีคณะทำงานที่ชัดเจน ส่วนภาคประชาชน เราต้องแยกขยะ ไม่ทิ้งพลาสติก บางส่วนเอามาใช้ใหม่ อันไหนรีไซเคิลได้ เราก็ควรนำกลับมาใช้ใหม่. 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ