'ต้องตาย' แล้วทำไมถึงกลัวตาย? คุยกับ นพ.ลัญฉน์ศักดิ์ อาจารย์แพทย์ศูนย์ชีวาภิบาลฯ ผู้ทำความเข้าใจถึงวาระสุดท้ายของมนุษย์
*เราต้องพบการเปลี่ยนแปลง และทุกคนต้องตาย*
ภาพยนตร์เรื่อง 'สัปเหร่อ' มาแรงและเป็นกระแสแบบฉุดไม่อยู่ ในเวลาเพียง 2 สัปดาห์ สามารถทำรายได้ไปมากกว่า 500 ล้านบาท ขึ้นแท่นภาพยนตร์ไทย ที่ทำรายได้สูงสุดในรอบ 8 ปี แม้จะชื่อ 'สัปเหร่อ' แต่นี่ไม่ใช่หนังผี 100% แต่เป็นหนังสะท้อนเรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต ที่สอดแทรกให้เราเห็นและยอมรับความจริง การจากลา และความตาย ได้อย่างแยบยล...
แม้ 'ความตาย' จะเป็น 'สิ่งสามัญ' และเป็นความจริงในโลก ที่เราไม่มีทางปฏิเสธได้ว่า 'มนุษย์ทุกคนต้องตาย' ไม่ว่าคุณจะยากดีมีจน รวยล้นฟ้าหรือยาจก สุดท้ายร่างกายนั้นจะกลับคืนสู่ผืนดิน และเหลือเพียงเรื่องราวดี-ชั่ว ให้ผู้อื่นได้เล่าขาน แต่ในเมื่อมนุษย์รู้ว่า 'ต้องตาย' แต่ทำไมถึงยัง 'กลัวตาย' บางคนอาจเลือกที่จะไม่พูดถึง หรือยอมรับกับสิ่งนี้ด้วยซ้ำ ซึ่งเรื่องราวนี้ปรากฏให้เราเห็นในภาพยนตร์ 'สัปเหร่อ' เช่นกัน
...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาผู้อ่านทุกท่าน ไปทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้มากขึ้น ผ่านการพูดคุยกับ 'นพ.ลัญฉน์ศักดิ์ อรรฆยากร' อาจารย์แพทย์ประจำศูนย์ชีวาภิบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ซึ่งเป็นศูนย์ที่เป็นต้นแบบในการประสานการบริบาล ให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตจนวาระสุดท้าย ครอบครัวยอมรับและปรับตัวได้
ความตายสอนว่า... :
ตลอดชีวิตการทำงานของ นพ.ลัญฉน์ศักดิ์ เขาพบเจอกับผู้คนมากมาย ทั้งคนที่มีลมหายใจอยู่บนโลก หรือคนที่ใกล้จะลาลับแบบไม่มีวันหวนกลับ แน่นอนว่าการทำงานของเขา และการพบเจอกับคนที่ใกล้โลกแห่งความตาย ย่อมสอนอะไรบางอย่างเกี่ยวกับ 'ความตาย'
นพ.ลัญฉน์ศักดิ์ กล่าวว่า ความตายสอนให้เขาใช้ชีวิตในทุกๆ วันอย่างคุ้มค่า อย่าเอาเวลาไปยึดติดกับเรื่องต่างๆ มากเกินไป เพราะมนุษย์ทุกคนต่างมีเวลาอยู่บนโลกใบนี้ไม่เท่ากัน เราไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่าวาระสุดท้ายของลมหายใจแห่งชีวิต จะมาถึงเมื่อไร..
"การที่มนุษย์จะรักหรือศรัทธากับสิ่งใด นั่นเป็นเรื่องปกติที่คนเราทุกคนล้วนเจอ เราสามารถศรัทธาที่มีต่อโลก สังคม มนุษย์ หรือครอบครัวได้ แต่ต้องพึงตระหนักว่า มนุษย์ทุกคนมีเวลาจำกัด จะใช้ชีวิตอย่างไรให้คุ้มค่า อย่าไปผูกกับเรื่องต่างๆ มากเกินไป มองความตายให้เป็นปกติ"
อีกสิ่งหนึ่งที่ 'ความตาย' ได้สอนเขาก็คือ 'การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดา' หากตระหนักและพิจารณาอย่างถี่ถ้วน จะพบว่า ความสวยงามและความสมบูรณ์ต่างๆ ที่เคยเห็นอยู่ขณะมีชีวิต สุดท้ายทุกสิ่งจะดับสลายเหลือเพียงความว่างเปล่า ลาภ ยศ สรรเสริญ หรือการยอมรับ ก็ไม่ควรไปยึดติดมากเกินไป เพราะจะทำให้ใจเกิดทุกข์ หากปล่อยวางไม่ลง วาระสุดท้ายของชีวิตเราจะมีแต่ความทุกข์ เพราะรู้สึกควบคุมอะไรไม่ได้ และเราก็จะจากไปอย่างทรมาน...
เมื่อต้องตาย แล้วใยจึงกลัวตาย :
นพ.ลัญฉน์ศักดิ์ ระบุว่า ในทางจิตวิทยา 'Unconscious' หรือ 'จิตไร้สำนึก' ทำให้มนุษย์อยากอยู่ห่างจากความตายมากที่สุด เพราะความตายทำให้มนุษย์ต้องเจอกับ 2 สิ่ง ได้แก่ 'เผชิญกับความไม่รู้หลังความตาย' และ 'ต้องห่างหายจากสิ่งที่รัก การใช้ชีวิต และความสุข'
...
ไม่มีใครรู้ว่าโลกหลังความตายแท้จริงนั้นเป็นอย่างไร เราจะเจ็บปวดไหม หรือเราจะไปที่ไหนต่อ พอมนุษย์ 'เผชิญกับความไม่รู้' และตอบคำถามเหล่านี้ไม่ได้ ความตายจึงกลายเป็นความน่ากลัว
บางคนตั้งใจใช้ชีวิตมาอย่างดี เอาชีวิตตัวเองไปผูกไว้กับเรื่องต่างๆ เพื่อให้ตัวเองรู้สึกว่าต้องตายยากที่สุด เช่น อยู่เพื่อเรียนรู้ มีความสุข สะสมความมั่งคั่ง ตั้งเป้าหมายว่า ต้องรวยที่สุด ต้องสำเร็จที่สุด ต้องมีเพื่อนเยอะ ต้องมีเงินเยอะ ไม่เจ็บป่วย และสุขภาพดี ฯลฯ พอคิดว่าจะต้องตาย จึงกลัวที่จะสูญเสียสิ่งเหล่านั้นไป
อีกเหตุผลที่ทำให้มนุษย์กลัวตาย เพราะไม่ได้ยอมรับหรือเข้าใจลักษณะแห่ง 'ไตรลักษณ์' จึงทำให้ความตายเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิต
ไตรลักษณ์ ประกอบด้วยลักษณะ 3 อย่าง ได้แก่ อนิจจัง-ทุกขัง-อนัตตา
อนิจจัง - ความไม่คงที่ ไม่ถาวร ไม่เที่ยง ทุกสิ่งบนโลกย่อมเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด และจะดับสลายไปในที่สุด
ทุกขัง - ความทุกข์ของสิ่งทั้งปวง ความทุกข์นั้นเป็นเรื่องที่ธรรมดา
...
อนัตตา - ความเป็นของไม่ใช่ตัวตน คนปกติมักยึดมั่นในเรื่องตัวตน ว่านี่เป็นของเรา แต่ในทางพระพุทธศาสนาไม่มีอะไรที่เป็นของเรา
ดังนั้น คนเราจึงกลัว 3 สิ่งนี้ สิ่งที่ทำนายไม่ได้-สิ่งที่ทนอยู่ไม่ได้-สิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่ง 3 สิ่งนี้ เราเรียกรวมกันว่า 'ความตาย'
คนพร้อม 'ตาย' :
อย่างไรก็ตาม โลกมนุษย์ของเรา มีทั้งคนที่เตรียมพร้อมยอมรับความตาย และคนที่ยังไม่พร้อมยอมรับความตาย สำหรับ 'คนที่พร้อมตาย' นพ.ลัญฉน์ศักดิ์ กล่าวว่า คนลักษณะนี้ จะเตรียมความพร้อมของร่างกาย จิตใจ และสังคม ซึ่งหากยอมรับเรื่องพวกนี้ได้ เราก็จะพร้อมตาย
การเตรียมความพร้อมของร่างกาย คือ การมีสุขภาพที่ดีเท่าที่จะมีได้ แต่หากสุขภาพไม่ดี กระทั่งเป็นโรคต่างๆ คนพร้อมตายก็จะยอมรับต่อสิ่งที่เกิดขึ้นได้ กายที่พร้อมตายจึงเป็นกายที่ไม่ทุกข์
การเตรียมความพร้อมของจิตใจ คือ การพยายามเข้าใจ และยอมรับไว้ล่วงหน้า ว่าตนเองจะไม่อยู่แล้ว ตนเองต้องตายลาจากโลก
...
การเตรียมความพร้อมของสังคม คือ การถอดหัวโขนในหน้าที่การงานต่างๆ ไม่ยึดติดต่อหน้าที่การงานต่างๆ ที่เคยทำ หรือบางคนอาจจะมีการเขียนหนังสือแสดงเจตนาต่างๆ ไว้ ก่อนที่ตนเองจะสื่อสารไม่ได้ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 อย่าง ได้แก่ Living Will และ Will
Living Will หรือ หนังสือแสดงเจตนา คือ หนังสือที่แสดงเจตนาไว้ล่วงหน้า ว่าไม่ประสงค์รับบริการสาธารณสุข เพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย
Will หรือ พินัยกรรม คือ นิติกรรมแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตาย ในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือการกระทำต่างๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายแล้ว
นพ.ลัญฉน์ศักดิ์ กล่าวเสริมว่า สำหรับคนพร้อมตายนั้น หากจะต้องมีการใช้ยาเพื่อการรักษา ใช้เพียงเล็กน้อยก็สามารถควบคุมอาการได้แล้ว
คน 'ไม่' พร้อม 'ตาย' :
สำหรับ นพ.ลัญฉน์ศักดิ์ 'คนที่ไม่พร้อมตาย' มีความต่างจาก 'คนที่พร้อมตาย' ค่อนข้างชัดเจน กล่าวคือ คนที่ไม่พร้อมตาย มักมี 'ความวิตกกังวลเกี่ยวกับความตาย' หรือ 'Death Anxiety' เป็นความวิตกกังวลที่มีผลมาจากความคิดเกี่ยวกับความตายของตัวเอง หรือการตายของคนที่รัก เรียกอีกอย่างได้ว่า Thanatophobia หรือ การกลัวความตาย
บุคคลที่มี Death Anxiety มักจะแสดงความกังวลออกมา 2 ส่วน คือ Death Fear (การกลัวความตาย) และ Death avoidance behaviour (พฤติกรรมหลีกเลี่ยงความตาย)
"คนที่ไม่พร้อมตาย พวกเขาอาจจะมี Death avoidance behaviour ค่อนข้างเยอะ เช่น จะพยายามหลีกเลี่ยงการพูดถึงความตาย หลีกเลี่ยงการเตรียมความพร้อม กินอาหารเยอะ เข้าหาธรรมะหรือศาสนามากขึ้น เพื่อให้ตนเองรู้สึกว่าอยากมีชีวิตต่อ"
วิธีพูด และการรับมือ ให้ยอมรับความตาย :
โดยสามัญสำนึก มนุษย์ทุกคนมี Death Anxiety และ Death Fear ในทางการแพทย์ การทำจิตบำบัดจะพยายามลด Death Fear ให้คนกลัวตายน้อยๆ ส่วนจิตวิทยายุคใหม่ จะพยายามเพิ่ม Death Acceptance เพื่อให้คนยอมรับความตายได้มากขึ้น...
แต่หากเราจะหาคำพูดเพื่อบอกกับใครสักคนว่า "ความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ อย่าไปกลัวตาย" นพ.ลัญฉน์ศักดิ์ บอกว่า นั่นก็ยังคงเป็นเรื่องที่ยาก เนื่องจากการพูดถึงเรื่อง Death Anxiety และ Death Fear นักจิตวิทยาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ก็พยายามหาวิธีแก้ไข เพื่อให้คนเราอยู่กับความตายโดยไม่ทุกข์ แต่ก็ยังไม่มีคำตอบออกมาชัดเจน ว่าควรทำอย่างไร...
ในช่วงชีวิตการทำงานของ นพ.ลัญฉน์ศักดิ์ อรรฆยากร เขาเองย่อมเคยเจอกับผู้ป่วยที่ 'ไม่พร้อมตาย และไม่อยากตาย' เขาจึงต้องฝึกตัวเองให้มี Death Fear น้อย เพราะกำลังเจอกับคนที่มี Death Fear มาก
"อย่างแรกคือเราต้องฝึกใจของเราให้เข้มแข็ง ให้รู้ตัวอยู่ทุกขณะว่าทำอะไรอยู่ ฝึกสติและจิตใจให้รับรู้ถึงความรู้สึกของเราเอง หลังจากนั้น ต้องเปิดใจรับฟังความทุกข์ของคนตรงหน้าอย่างจริงใจและตั้งใจ เราต้องวิเคราะห์และมองว่า เขากำลังวิ่งหนี หรือวิ่งหาสิ่งใดอยู่หรือเปล่า" นี่คือหลักการทำงานเบื้องต้นของ นพ.ลัญฉน์ศักดิ์
พึงระลึกถึง 'มรณานุสติ' :
มรณานุสติ คือ การระลึกถึงความตาย เป็นการยอมรับ และพัฒนาจิตใจให้รู้จักความเป็นจริงของโลก เพื่อเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อม ต่อวาระสุดท้ายของชีวิตที่เราไม่รู้ว่าจะมาถึงเมื่อไร การระลึกถึงความตาย ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับพระพุทธศาสนา แต่คนเรามักมองข้ามเรื่องนี้ เพราะต่างก็ 'กลัวความตาย' แต่หากเราพิจารณาและวิเคราะห์เรื่องนี้ได้ เราจะใช้ชีวิตอย่างมีสติ และอยู่กับปัจจุบัน
นพ.ลัญฉน์ศักดิ์ เสริมว่า "จิตจะอยู่กับปัจจุบันได้ เมื่อเรามองเห็นว่าทุกอย่างมีเกิดขึ้น ย่อมมีดับลง หากเข้าใจและมองเห็นถึงเรื่องนี้ จิตและสติของมนุษย์จะคงอยู่กับปัจจุบัน เราต้องฝึกสติให้ยอมรับต่อความเปลี่ยนแปลงด้วย พอเราเห็นความเป็นจริงของชีวิต ตั้งแต่ต้นจนจบได้ เราจะเกิด 'สติสัมปชัญญะ' สิ่งนี้จะทำให้ใจเราไม่หวั่นไหวไปกับความตาย"
"การจากลาของมนุษย์ และคนที่เรารัก รวมถึงตัวเราต้องตายนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ คนที่ตายก่อนเรา เขาแค่มีประสบการณ์ก่อน ให้เราถือว่าเขาเป็นรุ่นพี่ ผมอยากให้มองเห็นเขาด้วยความรู้สึกเคารพ ไม่อยากให้สงสารหรือจิตตกมากไป แต่เรียนรู้สัจธรรมจากเขา มีศรัทธาและให้เกียรติความเป็นมนุษย์ ถือว่าเขาเป็นอาจารย์เรา"
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ :