เหตุสลดซื้อบ้านมือสองจากธนาคาร แต่เจ้าของเดิม วัย 66 ไม่ย้ายออก จนมีการยิงเจ้าของใหม่เสียชีวิต หลังทวงถามกันยืดเยื้อ ในทางกฎหมาย แม้การซื้อบ้านมือสอง ผู้ประมูลอาจไม่ได้เห็นบ้านมาก่อน แต่เมื่อซื้อแล้ว มีขั้นตอนขับไล่ ถึงขั้นคุมขังเจ้าของเดิมได้
ตำรวจใช้เวลากว่า 8 ชั่วโมง เจรจาอยู่นาน ก่อนผู้ก่อเหตุที่หลบอยู่ภายในบ้าน ยอมมอบตัว หลังกระหน่ำยิงหญิงเจ้าของบ้านใหม่ ที่ประมูลบ้านใน อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี จากธนาคาร โดยที่ผ่านมาพยายามเข้ามาเจรจากับคุณลุงเจ้าของบ้านเดิม และมีการยื่นข้อเสนอขายบ้านหลังนี้ให้อีกทอด แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จนวันเกิดเหตุผู้ตายได้มาที่บ้านหลังดังกล่าวอีกครั้ง ก่อนถูกคนร้ายยิงจนเสียชีวิต
ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ สอบถามไปยัง วีรศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกเทคโนโลยีสารสนเทศ และรองโฆษกสภาทนายความ อธิบายว่า กรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้น น่าเสียดายที่เจ้าของบ้านใหม่ไม่ได้ให้ทนายความเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ย ประกอบกับเจ้าของเดิม อาจมีความเจ็บแค้นหน่วยงานที่ยึดบ้านเป็นทุนเดิม ทำให้เมื่อถูกทวงถามการย้ายออก จึงได้แสดงพฤติกรรมรุนแรงออกมา
...
ตามกฎหมายใหม่ คดีขับไล่ ศาลสามารถส่งคุมขังจำเลยได้ เพื่อให้เจ้าของใหม่และเจ้าพนักงานบังคับคดีเข้าไปดูแลทรัพย์สินที่เป็นบ้านดังกล่าว กรณีเหตุนองเลือดครั้งนี้ เป็นเรื่องที่น่าเศร้า ที่ผู้ตายดำเนินการด้วยตนเอง หากมีการฟ้องร้องขับไล่อย่างเป็นขั้นตอน จะทำให้ไม่เกิดเหตุร้ายขึ้น
ตามกฎหมายการซื้อบ้านมือ 2 เจ้าของเดิม บริวาร และผู้เช่าไม่ยอมย้ายออก มีกระบวนการทางกฎหมาย ดังนี้
- กรณีเป็นเจ้าของเดิมไม่ย้ายออก เจ้าของใหม่ต้องไปร้องต่อศาลว่าบังคับคดีไม่ได้ เพราะจำเลยไม่ยอมออกจากบ้าน ศาลจะใช้อำนาจออกหมายเรียกเพื่อสอบถาม ถ้าจำเลยขัดขืนไม่ไปตามหมายเรียก ศาลจะออกหมายจับฐานขัดต่อหมายเรียกของศาล ถึงเป็นคดีแพ่ง แต่ศาลออกหมายจับได้ เมื่อออกหมายจับแล้ว เจ้าของใหม่ต้องไปคัดลอกหมายจับ พาตำรวจไปที่บ้านดังกล่าว เพื่อพาเจ้าของเดิมมาส่งศาล เมื่อศาลสอบถามแล้วพบว่า ไม่มีเหตุสมควร ศาลจะสั่งขังจำเลยได้ทันที แล้วให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไปดำเนินการต่อ จนสามารถส่งทรัพย์สินให้เจ้าของใหม่ได้
- หากเจ้าของเดิมไปขึ้นศาล เจรจาว่าขอเวลาในการย้ายออก 1 เดือน ศาลจะนัดมาใหม่หลังครบกำหนด แต่ถ้านัดแล้วจำเลยไม่มา ศาลจะออกหมายจับ ถ้ามาแล้วยืนยันไม่ยอมย้ายออก ศาลสามารถสั่งขังได้ ถือว่าให้เวลาแล้ว จากนั้นเจ้าหน้าที่บังคับคดีจะนำทรัพย์สินเจ้าของเดิมออกจากบ้าน โดยพิจารณาว่า มีหนี้ค้างอยู่หรือไม่ โดยสามารถนำทรัพย์สินนั้นไปขายทอดตลาด เพื่อชำระหนี้สินที่ค้างไว้ได้
- กรณีผู้อยู่ในบ้าน ไม่ใช่จำเลย ตามคำพิพากษายึดทรัพย์ แต่เป็นบุคคลที่ 3 เช่น จำเลยนำบ้านไปขายต่อ ทั้งที่ตนเองกำลังถูกฟ้องขับไล่ หรือเป็นผู้มาเช่าบ้าน ต้องไปแสดงสิทธิ์ต่อศาล หากไม่ไปจะพิจารณาว่าบุคคลนั้นเป็นบริวารของจำเลย ไม่มีเอกสิทธิ์ใดต่อบ้านดังกล่าว เพราะเมื่อศาลสั่งให้ขับไล่ ก็ต้องย้ายออกไปตามกฎหมาย
- กฎหมายใหม่ ถ้ามีคำพิพากษายึดทรัพย์ และเจ้าพนักงานบังคับคดีติดหมายไว้บริเวณบ้าน เจ้าของเดิมต้องไปแสดงสิทธิ์ หากศาลพิจารณาแล้วไม่มีสิทธิ์ เจ้าของใหม่ไม่ต้องไปฟ้องขับไล่เหมือนก่อน แต่ศาลออกหมายเรียกจำเลย หากไม่มาจะออกหมายจับได้ เพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยาก ต้องไปดำเนินการฟ้องใหม่ จนล่าช้าเหมือนในอดีต