หลายครั้งหลายหน ที่เราเห็นดราม่า กับเรื่องราวของ “ไลฟ์โค้ช” ที่คอยให้คำแนะนำการใช้ชีวิต ซึ่งบางคนได้รับคำแนะนำที่ดีก็ประสบความสำเร็จ แต่บางคนก็ไม่ได้ช่วยทำให้ชีวิตดีขึ้น หรือบางครั้งอาจจะแย่ลงไปด้วยซ้ำ
แต่สำหรับ “นักพูดสร้างแรงบันดาลใจ” กับ “ไลฟ์โค้ช” คุณผู้อ่านคิดว่า เหมือน หรือแตกต่างกันหรือไม่ ซึ่งคำตอบของคำถามนี้คือ “ไม่เหมือนกัน”
อาจารย์จตุพล ชมภูนิช นักพูดสร้างแรงบันดาลใจ เปิดเผยอธิบายความแตกต่างกับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า คนที่เป็น “ไลฟ์โค้ช” ต้องไปเรียนการโค้ช มีใบรับรอง มีหลักสูตร ในขณะที่ นักพูดสร้างแรงบันดาลใจอย่างตน คือ นักพูดในที่สาธารณชน เรียกว่า Public Speaking ผ่านการเรียนมาอีกแบบ คือการพูดในที่สาธารณะ เช่น 2-3 คน ขึ้นไป ก็จะเรียกว่า Public
พื้นฐานสำคัญที่สุดในการให้แรงบันดาลใจผู้คน อาจารย์จตุพล บอกว่ามีหลัก 3 ข้อ คือ จริงจริง จริงจัง และจริงใจ
...
จริงจริง : คือการพูดเรื่องจริง ไม่ใช่การนำศิลปะการพูดแล้วมาเปลี่ยนจาก “ขาว” เป็น “ดำ” หรือพูดเป็นสีน้ำตาล แบบนี้ไม่ใช่ เพราะ “ความจริง” คือ “ความจริง”
จริงจัง : การจริงจังกับอาชีพ เรื่องใดไม่ควรพูด จะไม่รับงาน ตัวอย่าง เช่น หากเป็นเรื่องที่เราพูดไม่ได้ เราจะไม่รับเลย ไม่ใช่ว่าเห็นแก่ค่าจ้าง พูดไปเรื่อยเปื่อย แล้วมาพูดเรื่องที่เขาต้องการเล็กน้อยแบบ “ตีกิน” แล้วจบ แบบนี้เราไม่ทำ
“เราจะรับงาน เรื่องที่เราเคยพูด มีตัวอย่าง ประสบการณ์ในการพูด การเป็นนักพูด ไม่ใช่ว่าจะพูดได้ทุกเรื่อง ถ้าไม่รู้ลึก รู้กว้าง อย่าพูด เพราะการทำแบบนั้น มีคนถามเรา เราตอบไม่ได้ จะทำให้คนอื่นไปบอกต่อ”
จริงใจ : มีความรู้สึกอย่างไร ต้องรู้สึกจริงๆ ไม่ใช่ว่าเรารู้สึกอย่างหนึ่ง แล้วไปพูดอีกอย่างหนึ่ง ปากกับใจไม่ตรงกัน จะพูดได้ไม่เต็มปากเต็มคำ
ความแตกต่าง นักพูดสร้างแรงบันดาลใจ VS ไลฟ์โค้ช
สำหรับ แนวทางการพูดในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คน อาจารย์จตุพล บอกว่า สิ่งแรกคือ เราต้องเข้าใจปัญหาก่อน แม้เราไม่ใช่ “ไลฟ์โค้ช” ที่อาจจะมีการนั่งซักถามปัญหาในชีวิต และหาหนทางแก้ไข
แต่การเป็นนักพูดก็ต้องเตรียมพร้อม หาข้อมูล และต้องรู้ว่า เขาเชิญเรา เขาต้องการอะไร เช่น ปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กรเขาคืออะไร เราเองต้องหาหลักการเข้าไปแก้ไข เช่น หลักการขาย การให้บริการ และวิธีการสร้างแรงบันดาลใจ ด้วยการเข้าใจความต้องการของเขา
“ที่ผ่านมา ผมคิดคำสอน และโพสต์ลงในโซเชียลมีเดียอยู่เรื่อยๆ ดังนั้น เวลาจะไปบรรยาย ผมจะเอาสิ่งที่ผมโพสต์ไว้ ไปบรรยายขยายต่อเพิ่มเติม ยกตัวอย่างเช่น...
“อย่าหนีความจริง อย่าทิ้งความฝัน อย่ารักกันในวันที่หมดเวลา”
อย่าหนีความจริง : การหนีความจริง มันแย่ เพราะจะต้องมาคอยโกหกคนอื่นตลอดเวลา หันหน้าจะเจอแสง หันหลังก็จะเจอเงา คุณหนีเงาตัวเองพ้นหรือไม่
อย่าทิ้งความฝัน : จงอยากได้ อยากมี อยากเป็น ตลอดเวลา ถ้าไม่เช่นนั้น คุณก็จะเหมือนไม้ตายซาก อย่าใช้ชีวิตเป็นวันๆ ก่อนตายเราต้องใช้ชีวิต ใช่ว่า คนเราเกิด เรียนจบ แก่ ใช้หนี้ เจ็บ ตาย เราต้องทำอะไรใหม่ๆ บ้าง “อยากเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ ต้องเปลี่ยนวิธีการ”
อย่ารักกันในวันที่หมดเวลา : การให้ดอกไม้คนรัก ควรให้วันที่เขายังหายใจ ไม่ได้เอาไปวางไว้ที่ศาลา
สิ่งนี้เอง คือ สิ่งที่เรานำมาใช้ประกอบการพูด เพื่อแก้ปัญหาว่า เขาอาจจะหมดพลังในการทำงาน การพูดตรงๆ แบบไม่มีกลยุทธ์เลย มันไม่จี้ใจเขา มันจึงไม่เกิดอะไรขึ้น การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น จำเป็นต้องมีหลักการ
กลยุทธ์การที่จะทำให้คนคนหนึ่งเปลี่ยนแปลงมันเป็นเรื่องยาก เช่น บางคนไม่ออกกำลังกายเลย เราก็บอกว่า “ร่างกาย” คือ ที่อยู่อาศัยของชีวิต เป็นเครื่องผลิตเงินให้คุณ วันใดเครื่องพัง นอกจากจะไม่ได้เงินแล้วยังต้องเสียเงินบำรุงรักษาด้วย”
...
คุณสมบัติของนักพูดที่ดี :
อาจารย์จตุพล ตอบคำถามข้างต้นว่า เป็นสิ่งที่กล่าวข้างต้น คือ จริงจริง ใช้ชีวิตอย่างตรงไปตรงมา ตามกติกา ไม่จำเป็นต้องสำเร็จ หรือ รวยแบบฟ้าผ่า หากใช้ชีวิตแบบนี้เราก็ไม่จำเป็นต้องกลัวอะไร ไม่ต้องกลัวเวรกรรม ฉะนั้น การใช้ชีวิตแบบ จริงจริง และจริงจังกับงานที่ทำ เงินทองจะตามมาทีหลัง และจริงใจ
ความสำคัญของนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ :
มีหลายคนเคยพูดว่า “ไม่จำเป็นต้องให้ใครมาสอน...” แต่ในความจริง ไม่ว่าใคร ย่อมมีวันที่เปราะบาง วันที่โลกมันมืดมน ไม่อยากอยู่ ขี้เกียจหายใจ ซึ่งเราทุกคนอาจจะเจอช่วงแบบนี้ในบางวัน เราก็แค่อยากตื่นนอน แล้วกลับไปนอน
ช่วงนี้เรียกว่า Dead Inside เรียกว่า “ข้างในมันตาย” เหมือนต้นไม้ยืนต้นตาย...
หลายๆ ครั้งที่ลงข้อความคำสอน ในโซเชียลฯ ก็จะมีคนหนึ่งเข้ามา “คอมเมนต์” เข้ามาว่า อย่างกับรู้ใจ, อาจารย์เข้ามาทันเวลาพอดี สิ่งที่คนคอมเมนต์เข้ามา แสดงว่าเรื่องนั้นๆ ตรงกับชีวิตของเขา
...
คนที่ไม่เคยอกหัก...ฟังเพลงอกหัก ยังไงก็ไม่เข้าใจ...แต่เมื่อวันใดที่คุณอกหัก เจ็บจี๊ด เพลงอกหักขึ้นมา คุณก็จะรู้สึกว่า เหมือนชีวิตเราเลย ทำไมเอาชีวิตเราไปเขียน การได้ฟังมันอาจจะทำให้เราน้ำตาไหลแบบไม่รู้ตัว
“การสร้างแรงบันดาลใจ หากเรื่องเรื่องนั้นไม่ตรงกับชีวิตใคร คนคนนั้น อาจจะไม่รู้สึก 'อยู่เองได้ หายใจเองได้' แต่เวลาที่เราสิ้นหวัง หมดกำลังใจ มาเจอข้อความเดียว คำคำเดียว มันสามารถต่อชีวิตเราให้อยู่ได้อีกนาน...อาชีพนักพูดให้กำลังใจ อย่าคิดว่าไม่สำคัญ ขอแค่มีกำลังใจ ใจมา ขาก็เดิน”
คลังความรู้ข้อความในการสร้างแรงบันดาลใจ มาจากไหน ทีมข่าวถามนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ อาจารย์จตุพล ตอบว่า มาจากทุกรูปแบบ คือ ที่เรามีประสบการณ์ส่วนตัวที่เราเจอเอง หรือจากสิ่งที่เราพบเห็น คนรอบข้าง หรือสิ่งที่เราอ่าน หรือกำลังเขียน แล้วนึกขึ้นมาได้
“ฟัง คิด อ่าน เขียน ทุกอย่างเป็นองค์ประกอบทั้งหมด หากเรื่องไหนดี แล้วเกี่ยวข้องกับเรื่องที่กำลังพูด เราก็จะนำข้อความนี้มาบรรยายให้ตรงกับใจคน”
...
ในฐานะเป็นมนุษย์เหมือนกัน บางช่วงเวลาเปราะบาง นักพูดสร้างแรงบันดาลใจ จะทำอย่างไร อาจารย์จตุพล อุทาน “โอ้โห....เรื่องนี้เคยไปพูดช่วงโควิด ช่วงนั้น เราหนักมาก เพราะงานหลักของเรา คือ งานวิทยากร แต่ตอนนั้นเขาห้ามจัดงานที่เป็นการรวมผู้คน ฉะนั้น ช่วงการระบาดโควิด 2 รอบ ไม่มีงานเลย เงินไม่มี หนี้เข้า มีแต่เงินออกอย่างเดียว แต่...ผมก็ไม่เคยหยุด เรามีโซเชียลฯ เราก็โพสต์ข้อความให้แรงบันดาลใจ
“ผมเหมือนคนที่โดนธนูปักหลังนับสิบเล่ม แต่เราต้องโพสต์ข้อความปลอบใจผู้คน บางคนเหมือนโดนมีดบาดมา แต่เรามีธนูปักหลังเต็มไปหมด ก็คอยปลอบใจ ส่วนปัญหาของเรา เราไม่จำเป็นต้องบอกใคร ไม่เอาขยะไปให้คนอื่น”
นักพูดที่มีประสบการณ์มากมายหลายทศวรรษ บอกว่า “เราสอนคนอื่นว่า เราต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเองให้เต็มที่ เราบอกทางออก วิธีแก้ ส่วนการจะออกได้ คุณต้องใช้ขาคุณเอง มีคนเอาอาหารอร่อยที่สุดมาวางตรงหน้า คุณต้องตักกินเองนะครับ จะให้อาหารทางสายยาง ก็แปลว่าคุณอาการหนักแล้ว
ประเด็นเรื่องต้องห้าม กับการสร้างแรงบันดาลใจ :
คำถามข้างต้น เชื่อว่าหลายคนก็อยากรู้ นักพูด นักคิด นักสร้างแรงบันดาลใจ ย้อนนึกถึงเหตุการณ์ที่เคยโดนทัวร์ลง เพราะมีคนนำคำพูดผมไปโยงกับเรื่องบางเรื่อง ซึ่งในความเป็นจริง เวลาเราจะโพสต์ข้อความใด เราจะโพสต์ในลักษณะกลางๆ ไม่เคยเจาะจงใคร ไม่มีฝัก ไม่มีฝ่าย หรือพรรคใด เพราะสิ่งที่ต้องการสื่อสารเพื่อให้ทุกคนเสพได้เต็มที่ แต่บางคนเอาข้อความเราไปตีความและโยง ซึ่งเราก็ไม่ได้ติดใจอะไร
“จริงจริง ของเราคือ อย่าใช้วาทะ ศิลปะการพูด เพื่อโน้มน้าว สร้างแรงบันดาลใจเพื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หากเราเชียร์ หรือด่าใคร คำคำนั้นจะไม่สามารถใช้กับทุกกลุ่มทุกฝ่ายได้อีก สิ่งที่ผมระมัดระวังตัวตลอด คือ ความสุภาพ ความเชื่อ ศาสนา การเมือง”
อาจารย์จตุพล อธิบายว่า ความเชื่อ บางความเชื่อมีมานับพันปี เราก็ไม่อยากไปแตะต้อง ศาสนาทุกศาสนาดีหมด ส่วนเรื่องการเมือง เราต้องเป็นกลาง
ชื่อเสียง แฟนคลับ ดั่ง “ไม้กระดานกระดก” ต้องดูแลให้ดี
จากกรณี “ไลฟ์โค้ช” ที่บางคนไปเรียนแล้วเจอปัญหา หรืออยากซื้อคอร์ส เพราะต้องการชีวิตดีๆ มีวิธีการพิจารณาอย่างไร นักสร้างแรงบันดาลใจ แนะนำว่า คนที่จะเป็นไลฟ์โค้ช หรือคนที่พูดในการสร้างแรงบันดาลใจนั้น เราต้องเอาใจใส่คนที่จะมาเรียน และให้เขาเป็นศูนย์กลาง ได้รับประโยชน์สูงสุด
“เมื่อมีเสียงชื่นชม ชื่นชอบ คนเราเหมือน “ไม้กระดานกระดก” จะมีฝั่งหนึ่งขึ้น และอีกฝั่งหนึ่งลง เมื่อมีเสียงชื่นชมมาก อีกฝั่งหนึ่งก็จะสูงขึ้น เรื่องนี้คือการสะท้อนในทุกสาขาอาชีพ ไม่ใช่แต่อาชีพ “ไลฟ์โค้ช” ดารา ซุป’ตาร์ ก็เช่นเดียวกัน หากเราดูแลเขาไม่ดี คนที่เคยชื่นชอบ ชื่นชมก็จะออกจากจุดจุดนั้น ไม้ที่เคยกระดกสูง ก็จะถูกถ่วงลงไปที่เดิม เพราะขาดคนสนับสนุน นี่คือ แง่มุมความเป็นจริง”
ส่วนคนที่จะเลือกซื้อคอร์ส ไลฟ์โค้ช หรือมาฟังนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ อาจารย์จตุพล ย้ำว่า เราก็ต้องดูอดีต ปัจจุบันเขาด้วย ว่าเขาเป็นอย่างไร เพราะเราเสียเงินซื้อ มันเป็นเงินเรา ส่วนผลที่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเรา แต่สิ่งสำคัญคือต้องเลือกให้ดี เพราะบางคนเขาอาจจะจัดครั้งเดียว ไม่ได้ตามผลก็ได้ เราต้องคิดให้ดี ไม่งั้นเราอาจเสียเงินฟรี และเสียความรู้สึก
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ