เวลานี้คนไทยจำนวนมาก หันมาสนใจ อาชีพ “เกษตรกร” มากยิ่งขึ้น เพราะส่วนหนึ่งได้เห็นว่า คนที่ทำอาชีพนี้ บางส่วน ใช้ชีวิต “สโลว์ไลฟ์” ได้เงินจากต้นไม้ ใบหญ้า ผักสวนครัว
แต่...หยุดก่อน สิ่งที่เราเห็นในฉากหน้า กว่าจะมีวันนี้ของแต่ละคน ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย บางคนล้มลุกคลุกคลานมาหลายปี ผ่านการทดลองที่ล้มเหลวมาแล้วนับร้อยนับพันครั้ง กว่าจะมีวันนี้ได้ ล้วนผ่านความเจ็บปวดมาก่อน เฉกเช่นเดียวก้บ ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน จ.ชลบุรี นายประทีป มายิ้ม เจ้าของศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง อ.ประทีป มายิ้ม ก็เคยผ่านการล้มลุกคลุกคลานมา ด้วยการทดลองปลูกพืชแบบผสม โดยจะใช้น้ำทุกหยดให้คุ้มค่า กระทั่ง 7 ปีผ่านไปถึงสำเร็จ นอกจากนี้ ยังใช้พื้นที่บ้าน บริเวณ 1 ไร่เศษ เลี้ยงสัตว์ ไก่ หรือกุ้งก้ามกรามแดง โดยมีรายได้ปีละกว่า 6 แสนบาท
เรียนจบเกษตร ถูกจ้างไปปลูกพืชในดินแดนทะเลทราย
ลุงประทีป เล่าว่า เกิดและเติบโตในครอบครัวเกษตร เป็นชาวไร่ ชาวนา แถมยังไปเรียนด้านเกษตรอีกด้วย พอเรียนจบ ก็ไปทำงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย เรียกว่าเป็นช่วงคนไทยไปขุดทองกัน ซึ่งตอนนั้นเราเพิ่งเรียนจบ อายุ 19 ปี ไปทำหน้าที่ ปลูกต้นไม้ จัดสวนหย่อมในสนามบินที่เต็มไปด้วยทะเลทราย
การปลูกต้นไม้ในทะเล เรียกว่าเป็นการ “ฝืนธรรมชาติ” ล้านเปอร์เซ็นต์ เขาให้เราช่วย...ทำยังไงให้มีข้าว พืช ผัก ผลไม้ กิน เพราะสิ่งที่เขามีคือ “น้ำมัน” แต่มันกินไม่ได้ พวกเขาก็คิดเรื่องนี้
“เขาอยากพัฒนาพื้นที่ ที่เป็นผืนทะเลทราย ใหญ่โตกว่าประเทศไทย หลายเท่า ให้เกิดประโยชน์ และเป็นแหล่งอาหาร ตอนนั้นมีนักศึกษาเกษตรทั่วประเทศ ประมาณ 300-500 คนเดินทางไปทำงานด้านเกษตรให้กับเขา โดยที่เขาพร้อมที่จะจัดหาสิ่งที่เราร้องขอมาให้ โดยเฉพาะน้ำ ซึ่งเขามีไม่มาก เขาใช้น้ำทะเล กลั่นออกมาเป็นน้ำจืด เพื่อให้เราปลูกพืช ซึ่งเมื่อได้น้ำแล้ว เขาจะส่งไปให้กับชาวบ้านใช้ เมื่อน้ำเสียก็ส่งกลับมาที่โรงกรอง บำบัด เมื่อทำแบบนี้แล้ว เราจะได้ปุ๋ย ในการปลูกพืช ในทะเลทราย เราไปช่วยเขาปลูกพืช ก็สำเร็จระดับหนึ่ง
...
การที่เราได้ไปทำงานตรงนั้น ซึ่งพื้นดินมีแต่ทะเลทราย ทำให้เรามาปรับใช้ในการปลูกพืชของเรา เรียกว่าอะไรที่ได้ประโยชน์ เราจะนำมาใช้สูงสุด ซึ่งดินที่บ้านเราดีกว่าเขามาก
ปราชญ์เกษตร จ.ชลบุรี เล่าว่า สิ่งที่เราเรียนมากับเวลาที่ไปทำจริง แตกต่างกันสุดขั้ว เพราะประเทศไทย มีการเกษตรที่สมบูรณ์ที่สุด เมล็ดพันธุ์หล่นไปในดิน พืชก็เติบโตอยู่แล้ว เพราะน้ำ แสงแดด ทุกอย่างมันพร้อม
แต่ที่ซาอุฯ จะปลูกพืชต้องผ่านการทดลองจากพื้นที่เล็กๆ ก่อน สิ่งที่จะทำอย่างแรกในการทดลองคือ ปลูกหญ้า หากปลูกหญ้าขึ้น ปลูกพืชอื่นก็ขึ้น
“ผมทำงานที่นั่น 6 ปี ระหว่างที่อยู่ที่นั่น ก็มีโอกาสกลับมาประเทศไทย เป็นช่วงๆ ก็เริ่มทำเกษตร นอกจากนี้ ก็มีเทคโนโลยีบางอย่างที่นั่น เราก็ซื้อส่งคาร์โก้ กลับมา”
น้ำ 1 หยด รดลงดิน ต้องปลูกพืชได้มากกว่า 1 ชนิด
เมื่อทีมข่าวถามถึงหลักการในการปลูกพืชให้ประสบความสำเร็จ เป็นอย่างไร ลุงประทีป อธิบายว่า ได้มีการปลูกพืชแบบผสมผสาน ฉะนั้น น้ำ 1 หยด รดลงดิน ต้องปลูกพืชได้มากกว่า 1 ชนิด หมายความว่า สมมติ ว่าเราปลูกพืชใน 1 ตร.ม. หากเรารดน้ำลงไป แล้วเราปลูกพืชอย่างเดียว แปลว่า น้ำที่ส่งไป ก็มีพืชเพียงชนิดเดียวที่ได้ประโยชน์
แต่...หากพืชชนิดนั้น ที่เราปลูก เกิดตาย หรือถูกแมลงกัดกิน แปลว่า การลงทุนครั้งนี้เราขาดทุนยับ
หากเราปลูกพืชมากกว่า 1 อย่าง หากสูญเสียพืชอันใดอันหนึ่งไป ก็แปลว่า เราก็ยังมีอีกหลายอย่างในการซัพพอร์ต
เมื่อถามว่า เรามีหลักเกณฑ์ในการเลือกแต่ละชนิดอย่างไร ลุงประทีป อธิบายว่า มีหัวใจสำคัญ คือ พืชแต่ละชนิดต้องการน้ำ และแดด แตกต่างกัน ฉะนั้น การเลือกพืชแต่ละชนิดก็ต้องไม่ขัดแย้ง แต่ต้องส่งเสริมเกื้อกูลกัน
โดยมีหลักการปลูกแบบคอนโดฯ 7 ชั้น 7 ระดับ
ชั้นที่ 7 พืชต้องการแดด 100% ก็มักจะเป็นพืชที่มีลำต้นสูงใหญ่ ก็ต้องให้อยู่บนสุด เช่น ไม้สักทอง
ชั้นที่ 6 ก็เป็นกลุ่มมะละกอ ใช้แสงแดด 80% ก็สามารถให้ผลผลิตได้
ชั้นที่ 5 ระดับไหล่ ก็จะใช้ขึ้นค้าง ที่ต้องการแสงแดด 60-80% ถั่วพู ถั่วค้าง เสาวรส ฟักข้าว
ชั้นที่ 4 ต่ำลงมาอีก ก็จะเป็นพริก พริกขี้หนูสวน มะเขือต่างๆ ไม่จำเป็นต้องได้แดดเยอะ ถึง 60%
ชั้นที่ 3 ต่ำลงมาก็เป็นไม้ตัดใบ โหระพา กะเพรา แมงลัก เป็นพืชสวนครัว
...
ชั้นที่ 2 พืชหน้าดิน ที่ต้องการแสงแดด 30-40% เช่น ผักชี ใบเลื่อย ยี่หรา ไม้คลุมหน้าดิน
ชั้นที่ 1 ชั้นใต้ดิน เช่น ขมิ้น กระชาย
เมื่อถามว่า การปลูกลักษณะแบบคอนโดฯ 7 ชั้น มีผลอย่างไรกับดิน ลุงประทีป บอกว่า ถือเป็นการใช้ทรัพยากรและปัจจัยอย่างคุ้มค่าที่สุด เพราะเราปลูกที เราได้ 7 อย่าง
เพราะเกษตรกรทั่วไป เวลาปลูกพืชอะไรสักอย่าง มักได้คืนเพียง 40% ส่วนอีก 60% จะสูญเสียไปกับการพังทลายหน้าดิน หากตายเท่ากับติดลบ
ที่สำคัญคือ เกษตรกรไทย มักคิดว่า หากปลูกหลายอย่าง จะทำให้พืชแย่งน้ำ แย่งอาหารกัน ก็เลยปลูกพืชเชิงเดียว แต่...เราคิดต่าง คิดว่าเวลาเรากินข้าว บางครั้งก็มีเศษอาหารเหลือจะเอาไปทำอะไร เช่นเดียวกัน หากพืชกินเหลือ มันจะไปไหน เท่ากับว่าเราต้องควักเงินในกระเป๋า เสียเงิน เสียเวลา แต่ไม่ได้อะไรคืน
ฉะนั้น สิ่งที่เราทำ คือ ต้องทำอย่างไรก็ได้ ให้พืชแต่ละชนิดกินอย่างคุ้มค่า ต้นนี้กิน 5 บาท ต้นนั้นกิน 2 บาท ต้นข้างหลังกิน 3 บาท เรียกว่าเป็นการจัดสรรทรัพยากรให้คุ้มค่า
“มันเป็นที่มาของคำว่า “น้ำทุกหยดมีคุณค่า รดลงไปต้องได้มากกว่า 1 อย่าง” หากเราปลูกชนิดเดียว รดลงไป มันก็จะเลยราก สูญเสียไป 60-70% ของน้ำ โดยไม่ได้อะไรขึ้นมา ดังนั้น พืชต่างๆ ที่ปลูกหลายชนิด เมื่อเรารดน้ำครั้งเดียว ก็จะได้มีการแบ่งปันกัน”
...
องค์ความรู้ แลกมาจากความล้มเหลว 7 ปี
เมื่อถามว่า องค์ความรู้นี้ ใช้เวลาแค่ไหนถึงจะเข้าใจ ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน จ.ชลบุรี ยอมรับว่า ช่วงที่มีการทดลองปลูกนั้น ล้มเหลวต่อเนื่องมา 6-7 ปี เพราะเราปลูกพืชผสมกัน แต่ “ไม่เข้ากัน”
เราทดลองปลูกพืชผสมกับหลายๆ ชนิด บางชนิดทำท่าว่าจะไปได้ดี แต่พอถึงเวลาก็ไปไม่รอด
สมมติว่า เราปลูกต้นไม้ 2 ต้น ต้นแรก ต้องการหยุดน้ำ ส่วนอีกต้น ต้องการน้ำ พอเราไปให้น้ำ ต้นที่ต้องการหยุดน้ำ ก็ไม่ให้ผลผลิต แต่พออดน้ำ ต้นที่ต้องการน้ำ ก็ไม่ให้ผลผลิต สุดท้าย เราอดได้ผลผลิต จากทั้ง 2 ต้น
ยกตัวอย่าง มะม่วงกับมังคุด ปลูกด้วยกันไม่ได้ เพราะ มังคุด มันมีระยะเวลาอดน้ำ แต่มะม่วง ต้องการน้ำ 2 ต้นนี้มันหักล้างกันเอง หรือ มะนาว กับมะเขือ เหตุผลก็เหมือนกับข้างต้น ฉะนั้น สิ่งที่เราต้องทำคือ เราต้องศึกษาพฤติกรรมพืชแต่ละชนิดว่า ต้องการน้ำ ปุ๋ย การอดน้ำ ในเวลาเดียวกันหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้น แปลว่าอยู่ด้วยกันไม่ได้
กลับกัน หากเรารู้พฤติกรรมของมันแล้ว เราก็จะเข้าใจ และสามารถจับคู่ในการปลูกพืชได้ กว่า...ที่ผมจะเข้าใจในพฤติกรรมของพืชแต่ละชนิด ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 7 ปี ยังดีว่า ตอนนั้นไม่ได้เสียเงินจำนวนมากในการทุ่มซื้อเพื่อทดลอง เพียงแต่ใช้ทุนเพียงเล็กน้อยในการทดลอง ปลูกไม่มาก
ตอนเริ่มต้น เราปลูกไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นพืชสวนครัว เพราะเราปลูกเพื่อมารับประทานกันเอง เรียกว่า พอมีเวลาก็ปลูก ปลูกไปเรื่อยๆ วันละ 2 ต้น เช้าเย็น 2 ปี ก็ได้เป็นพัน ได้ผลผลิตมากมาย
สิ่งที่ทำคือ เราตั้งเป้าไว้ว่า เราทำไว้กินเอง แต่พอทำทุกวัน ปลูกพืชทุกวัน คราวนี้กินไม่หมด ก็เอาไปแจก ให้เพื่อนบ้าน ก็ยังเหลือต้องเอาไปขาย ส่วนราคาขาย เราก็ไม่รู้จะตั้งราคาอย่างไร ก็ได้แต่บอกว่า เคยซื้อจากที่อื่นเท่าไร ก็ขายราคานั้นแหละ นอกจากนี้ บางส่วนก็เอาไปแปรรูปทำอาหารขาย แทบไม่ต้องลงทุนซื้อผักเลย
...
ปรัชญาเกษตร ไม่คาดหวังเงิน ยึดหลักปรัญญาเศรษฐกิจพอเพียง
“หลักของผม ไม่เคยคิดว่า ทำเกษตรจะได้เงินเท่าไร เพราะเรายึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง หมายความว่า ให้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยอย่างประมาณตน มีกิน มีใช้ ไม่เดือดร้อน เมื่อมีกินแล้ว ที่เหลือจึงนำมาขาย เวลาเราทำอะไร ต้องเริ่มจากสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบัน เราเริ่มด้วยเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มีการจัดลำดับผิด มันจะทำให้เศรษฐกิจโต แต่เต็มไปด้วยมลพิษ เหลือกินก็แบ่งปันให้เพื่อนบ้าน ก็คือ ช่วยเหลือสังคม สุดท้ายขายได้ เราก็มีเงิน เพราะคนที่เคยให้ เขาก็มาซื้อผลผลิตจากเรา
ถามว่า วิธีการแบบนี้มั่นคงไหม ยั่งยืนหรือเปล่า และยาวนานหรือไม่ อยู่ได้ตลอดชีวิต และมีความสุข เพราะเงินมาหาเราเองถึงบ้านทุกวัน นี่คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ
คำแนะนำ มือใหม่หัดปลูก เตือนเกษตรกร ปลูกพืชหน้าแล้ง
“สิ่งแรกต้องมีองค์ความรู้เรื่องพืชเสียก่อน ว่าเขาชอบอะไร ไม่ชอบอะไร และคนยุคนี้ถือว่าโชคดี เพราะมีโซเชียลมีเดีย และความรู้ สามารถค้นหาได้ผ่านอินเทอร์เน็ต รู้แม้กระทั่งชื่อวิทยาศาสตร์ ฉะนั้น หากต้องการปลูกพริก ก็ไปค้นว่า ปลูกพริกกับอะไรได้บ้าง"
ช่วงท้าย ลุงประทีป ได้เตือนเกษตรกรว่า “น้ำ” คือ ปัจจัยสำคัญในการปลูกพืช ฉะนั้น ปีนี้เผชิญกับ “เอลนีโญ” เข้าสู่ภาวะหน้าแล้ง ถ้าพื้นที่ไหนเสี่ยงว่าน้ำน้อย ก็อย่าเสี่ยงปลูกพืชใช้น้ำเยอะ เช่น ข้าว ควรปลูกพืชน้ำน้อย อายุสั้น เช่น ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (มีข้อเสีย แล้งเกินไป จะขาดทุนเพราะเปอร์เซ็นต์ไม่ได้) หรือถ้าเป็นนาที่แล้ง ปลูกข้าวไม่ได้ ก็แนะนำให้ปลูกหญ้าเนเปียร์ที่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้ เพราะหน้าแล้ง วัว ควาย แพะ แกะ เขากิน ก็สามารถปลูกขายได้...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ