เปิดใจ "ศุภวุฒิ สายเชื้อ" ที่ปรึกษาคณะกรรมการเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย สร้างงานเพิ่มรายได้ และการเมืองแบบพอดีๆ

สิ่งสำคัญที่สุดคือ “การสร้างงานที่ดีและเพิ่มรายได้ที่มากขึ้นให้กับประชาชน” เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับระลอกคลื่นวิกฤติเศรษฐกิจภายในปีนี้ และจะนำไปสู่การสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ รับฟังมุมมองจาก “นายศุภวุฒิ สายเชื้อ” ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร และหนึ่งในที่ปรึกษาคณะกรรมการเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ผ่านการสนทนากับ “ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์”

“นายศุภวุฒิ สายเชื้อ” ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร และหนึ่งในที่ปรึกษาคณะกรรมการเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย
“นายศุภวุฒิ สายเชื้อ” ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร และหนึ่งในที่ปรึกษาคณะกรรมการเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย

...

นโยบายเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย :

“มีหลากหลายนโยบายนะครับ รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นด้วย อย่างไรก็ดีในความเห็นของผม คิดว่านโยบายที่สำคัญมากๆ และได้นำเสนอต่อพรรคเพื่อไทยแล้วก็คือ นโยบาย Reskill Upskill ซึ่งเป็นนโยบายที่จะช่วยให้ประชาชนมีงานทำ มีอาชีพ และมีรายได้ที่ดี เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับประชาชนทุกคน เพราะที่สุดแล้วในระยะยาว หากเราสามารถฝึกฝนให้ประชาชนสามารถหาอาชีพที่ตัวเองถนัดมากๆ ได้ ประชาชนก็จะมีโอกาสในการทำมาหากินได้ดีขึ้นโดยเฉพาะอาชีพเฉพาะทางที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด เช่น อาชีพโปรแกรมเมอร์ หรือนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) เป็นต้น

สำหรับประเด็นนี้ หากรัฐบาลสามารถร่วมมือกับภาคเอกชนที่รู้ว่ากำลังขาดแคลนคนที่มีทักษะในด้านใด จากนั้นก็ดำเนินการเร่งฝึกฝนคน เพื่อให้ได้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในจุดนั้นเข้าไปเติมเต็ม มันก็จะเท่ากับเป็นการทำให้ประชาชนมีอาชีพที่มีรายได้มากขึ้นไปในที่สุด

ขณะเดียวกันเป็นที่ทราบกันดีว่า ณ ปัจจุบันมีผู้คนจำนวนมากที่อยากเป็นเจ้าของธุรกิจ SME ฉะนั้นแนวคิดเบื้องต้นสำหรับทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยก็คือ การเข้าไปช่วยลดขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจใหม่สามารถทำได้ง่ายขึ้นเร็วขึ้น รวมถึงสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่างๆ  ได้มากขึ้นและง่ายขึ้นด้วย ซึ่งสำหรับส่วนตัวผม ขอย้ำอีกครั้งนะครับว่า นโยบายเหล่านี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด” 

ทัศนะต่อวิกฤติเศรษฐกิจโลก :

“สหรัฐอเมริกาและยุโรปกำลังมีปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อให้เงินเฟ้อลดลง แต่การทำเช่นนั้นเวลาเศรษฐกิจชะลอตัวมันก็เริ่มสร้างปัญหาให้กับภาคธุรกิจรวมทั้งภาคการธนาคารด้วย เพราะเมื่อมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารก็หาสภาพคล่องได้ยากขึ้น

ส่วนหากถามว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด จะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้ออีกหรือไม่ หลังจากล่าสุดมีการปรับขึ้นอีก 0.25% จนกระทั่งทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ขยับขึ้นไปอยู่ในระดับ 4.75-5% นั้น ผมคิดว่าไม่มีใครทราบว่า เฟดจะตัดสินใจอย่างไร แต่เท่าที่ได้ติดตามข่าว ดูท่าทางเหมือนว่าน่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อีกสักครั้งหนึ่ง หากเงินเฟ้อยังไม่ลดลง เพราะเฟดมีความมุ่งมั่นที่จะเอาเงินเฟ้อลงให้ได้

ซึ่งแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปเวลานี้ ในที่สุดก็ต้องมาถึงประเทศไทยได้เหมือนกัน ซึ่งเอาล่ะ...อาจจะไม่ได้รุนแรงเท่า เพราะประเทศไทยอาจไม่ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากเท่ากับสหรัฐฯ หรือยุโรป แต่หากถามว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ คำตอบคือ...แบงก์ชาติจะขึ้นดอกเบี้ย และจะขึ้นดอกเบี้ยต่อไปอีก! (เน้นเสียง)

...

และด้วยเหตุผลเช่นนี้ ส่วนตัวผมจึงมองว่าสำหรับประเทศไทยนโยบายที่ดีที่สุด คือ นโยบายที่จะต้องไปช่วยให้มีการผลิตสินค้าใหม่ หาอาชีพใหม่ คือ เพิ่มด้าน Supply ย้ำอีกครั้งนะครับ เพิ่มด้าน Supply เพราะทั้งโลกเขากำลังจะกด Demand เพราะการขึ้นดอกเบี้ย คือ การกด Demand และในประเทศไทยเองก็มีการขึ้นดอกเบี้ย เพื่อจะกด Demand เพราะเราก็กลัวเงินเฟ้อในระดับหนึ่งเหมือนกัน

ส่วนหากถามว่าผลกระทบจะมาถึงประเทศไทยเมื่อไหร่ คำตอบคือ มันจะค่อยๆ มา โดยเห็นได้จากราคาสินค้าและพลังงานมีการขยับราคาสูงขึ้น รวมไปจนกระทั่งถึงการส่งออกของประเทศที่โตช้าลง หรืออาจจะติดลบด้วยซ้ำ เพราะเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลง เมื่อเป็นเช่นนั้นประเทศไทยจึงต้องหาทางให้ประชาชนมีงานทำและมีอาชีพที่ดี”

“แล้ววิกฤติที่ว่านี้จะมาถึงประเทศไทยเมื่อไหร่ครับ” ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ถามย้ำอีกครั้ง

“ตอนนี้ก็มาถึงแล้วครับ ดูตัวเลขการส่งออกก็เห็นแล้ว นอกจากนี้ช่วงไตรมาสที่ 2 โดยปกติก็เป็นไตรมาสที่เศรษฐกิจจะแผ่วลงอยู่แล้ว เพราะการท่องเที่ยวจากต่างประเทศก็จะแผ่วลงทั้งไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 ฉะนั้นมันจะค่อยๆ มา”

...

ธนาคารแห่งประเทศไทย กับ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย :

“หลายๆ คนก็คาดนะครับว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปอีก ซึ่งตอนนี้อยู่ที่ 1.5% และทุกคนคาดว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 2-2.25% ภายในปีนี้ หรืออาจจะล้นไปถึงปีหน้าก็เป็นไปได้ แต่ภายในระยะเวลา 6-9 เดือนข้างหน้านี้ เราน่าจะได้เห็นดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกสักประมาณ 0.5-0.75% ซึ่งแบงก์ชาติเองก็ตั้งความหวังเอาไว้ว่าเมื่อมีการปรับดอกเบี้ยแบบนี้แล้ว เงินเฟ้อจะกลับเข้ากรอบนโยบายภายในปลายปีนี้ แต่ถ้า...ไม่ได้ (เน้นเสียง) ก็อาจจะต้องปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นไปอีกมากกว่านี้ แต่ถ้าเผื่อโชคดีเงินเฟ้อลงไปเร็ว ก็ไม่ต้องขึ้นดอกเบี้ยถึงขนาดนั้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับข้อมูลเงินเฟ้อนะครับ”

ประเทศไทย กับ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก :

“วิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังก่อตัวขึ้น สิ่งแรกที่ทุกคนต้องปรับตัว คือ ต้องระมัดระวังตัวเองให้ดี ผมมักจะพูดย้ำอยู่เสมอว่า เวลาพูดเรื่องนโยบายเศรษฐกิจจะต้องดูเรื่องผลกับตัวประชาชนแต่ละคน ฉะนั้นผมจะมักไม่ค่อยพูดว่า GDP จะลด หรือเพิ่มเท่าไร เพราะมันอยู่ไกลตัวประชาชน

...

สำหรับประชาชน เรารู้ว่าคนไทยเวลานี้มีปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนสูง เป็นหนี้มาก เวลาเป็นหนี้มาก แล้วดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น คุณย่อมมีความเสี่ยง ซึ่งหากถามว่าจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร แนวทางสำหรับผมคือ ทำให้ทุกคนมีงานที่ดีทำ และมีเงินเดือนสูง เพื่อที่จะใช้หนี้ได้ แล้วก็จะสามารถดูแลตัวเอง ดูแลครอบครัวได้

ฉะนั้น การมีงานทำที่ดี ซึ่งผมย้ำอยู่บ่อยๆ จึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด และนี่ภาพรวม ภาพใหญ่ สำหรับทุกคนที่ต้องการให้ตัวเองมีอนาคตที่ดี ซึ่งมันต้องเริ่มจากการมีงานทำที่ดีเป็นลำดับแรก

ทิศทางใหม่เศรษฐกิจไทย :

สำหรับเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ต้องถามว่าแนวทางจะเดินไปทางไหนในภาพใหญ่ มันมีแนวทางเดินในอดีต ยกตัวอย่างเช่น เราบอกว่าเราจะเป็น Detroit of Asia เราผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ เราเป็นผู้ผลิตรถยนต์ในลำดับที่ 5 หรือ 6 ของโลก หากแต่มาถึงเวลานี้ผมว่ามันไม่ใช่แล้ว เพราะปัจจุบันเทรนด์โลกกำลังมุ่งไปที่รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีความสามารถในการแข่งขันเรื่องนี้มากพอ เพราะเราไม่มีแร่ลิเธียม หรือแร่โคบอลต์ และตลาดเราก็ไม่ได้ใหญ่ขึ้น เพราะประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

ดังนั้นสำหรับผมแล้ว ประเทศไทยจะต้องไปในทิศทางภาคการบริการมากกว่าภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะบริการด้านการท่องเที่ยวที่มีการอัปเกรดขึ้นเป็นการบริการด้านสุขภาพ โดยเฉพาะการรักษาพยาบาลเพื่อให้การดูแลคนไทยและหารายได้จากชาวต่างชาติด้วย

อีกเรื่องคือ อาหาร เพราะอาหารไทยทั้งอร่อยและได้รับความนิยมไปทั่วโลก ฉะนั้นหากเราสามารถเพิ่มเรื่องของคุณภาพเข้าไป เราก็จะสามารถขายอาหารในราคาที่สูงขึ้นได้ แต่การจะไปให้ถึงจุดนั้นได้ จะต้องมีการปฏิรูปภาคการเกษตรอย่างจริงจัง โดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการพัฒนาเรื่องการเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้นเป็นต้น” 

ศุภวุฒิ สายเชื้อ กับ นโยบายประชานิยม :

“สำหรับผม นโยบายประชานิยมน่าจะได้รับความนิยมจากประชาชนในระยะสั้น เพราะสำหรับผมเมื่อมีการใช้ไป...มันก็จะหมดไป มันไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจ หรือความเป็นอยู่ของประชาชนเกิดความยั่งยืนขึ้นได้ และมันจะเป็นภาระในอนาคตอย่างมาก เพราะรัฐบาลจะต้องกู้และสร้างหนี้มากขึ้น ตรงนั้นผมจึงไม่ได้ให้ความสำคัญ และไม่ได้พูดถึงเลย

และตรงกันข้าม หากมีการไปทำตรงนั้นในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นดอกเบี้ย มันก็เหมือนกับว่านโยบายการเงินไปทางหนึ่ง ในขณะที่นโยบายการคลังไปอีกทางหนึ่งด้วยซ้ำ และถึงที่สุดแล้ว...มันก็จะได้ผลประโยชน์ในระยะสั้น ไม่ได้ผลประโยชน์ในระยะยาว ผมจึงอยากพยายามให้มามุ่งเน้นในเรื่องของการสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้กับประชาชนมากกว่า เพราะหากมีอาชีพที่ยั่งยืน มีรายได้ที่ดี ก็ย่อมสามารถลดหนี้ให้กับตัวเองได้ด้วยนะครับ”

ทีมเศรษฐกิจ VS ทีมการเมือง :

“การเมือง เป็นความพยายามที่จะทำให้เกิดความพอดี ฉะนั้นขอให้เรามีจุดยืนในการบริหารเศรษฐกิจที่ถูกต้องในระยะยาว แน่นอนในระยะสั้นก็อาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องดูแลในจุดนั้นบ้าง แต่ที่สุดแล้วมันก็ต้องกลับมาเพื่อให้เกิดความพอดี เพราะระบอบประชาธิปไตย คือ ระบอบที่คุณจะต้องถกเถียงกัน และคุณจะต้องหาจุดที่ ที่เป็นที่ยอมรับได้และพอดี แต่ขอย้ำนะครับว่าจะต้องมีความรู้ความเข้าใจว่าในระยะยาวเศรษฐกิจไทยจะต้องเดินอย่างไรเพื่อให้เกิดความยั่งยืนและประชาชนอยู่ดีกินดี และแนวทางแจกเงินไม่ใช่แนวทางที่จะทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีในระยะยาว!

ซึ่งผมว่า...ทุกคนก็รู้ เพราะว่าการแจกเงินก็คือการเอาเงินของประชาชนในอนาคตมาแจกให้กับประชาชนในวันนี้

และผมคิดว่าส่วนหนึ่งในฐานะที่เป็นประชาชนคนหนึ่งก็จะพยายามช่วยให้พรรคเพื่อไทยเดินนโยบายเศรษฐกิจไปในทิศทางที่ผมคิดว่ามันถูกต้องสำหรับการสร้างอนาคตที่ดีให้กับประเทศนะครับ พูดกันตรงๆ ซึ่งผมก็บอกไปแล้วว่าแนวคิดของผมเป็นอย่างนี้นะครับ” นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ปิดท้ายการสนทนากับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง