กลายเป็นดราม่า เมื่อมีผู้โพสต์คลิปวิดีโอรูปปั้นพระอุปคุต ลักษณะพุงป่อง ที่วัดสุวรรณภูมิ อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี มีชาวโซเชียลเข้ามาวิจารณ์ถึงความเหมาะสม ซึ่งรับชมกว่า 2 ล้านครั้ง ด้านนักโบราณคดี ให้ความเห็นว่า ไม่เคยพบพระอุปคุตปางนี้มาก่อน แม้มีการวิจารณ์ทางลบ แต่อยากให้มองถึงหลักธรรมที่ซ่อนอยู่ในพุทธศิลป์

คลิปดังกล่าวถูกเผยแพร่ใน "ติ๊กต่อก" โดยผู้ใช้ชื่อว่า บอย บุญญสิทธิ์ มีคนเข้ามาวิจารณ์กว่า 1.4 หมื่นราย ส่วนหนึ่งวิจารณ์ลักษณะที่รูปปั้นพระอุปคุตที่แปลกตา และความไม่สมส่วนของสรีระ ขณะที่ช่วงท้องมีลักษณะพุงป่อง ใต้ฐานระบุว่า พระอุปคุตโต เมื่อเรื่องนี้ถูกเผยแพร่ผ่านโซเชียล ซึ่งพบว่าพระพุทธรูปดังกล่าวอยู่ที่ วัดสุวรรณภูมิ อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี

พระผู้ดูแลให้ความเห็นว่า พระอุปคุต สร้างมาแล้ว 3 ปี ทำพิธีการบวงสรวงแล้ว มีความสูง 2.80 เมตร รูปปั้นดังกล่าวเป็นแนวคิดท่านเจ้าอาวาส เชื่อว่า พระอุปคุต มีอิทธิฤทธิ์ รักษาความสงบสุข ดลบันดาลความอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านในพื้นที่เคยมาขอพร และถูกหวยมาแล้วหลายราย

...

ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี กล่าวกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า พระอุปคุต ลักษณะพุงป่องยังไม่เคยเห็นมาก่อน เพราะปกติส่วนใหญ่เป็นปางอุ้มบาตร หรือนั่งอุ้มบาตร ในพม่านิยมปั้นพระอุปคุตแบบนั่งอุ้มบาตร ซึ่งตามประวัติศาสตร์ศิลปะยังคงรูปแบบเดิม ที่อุ้มบาตรอยู่บนฐานบัว

“พระอุปคุต ปางแปลกๆ ไม่ค่อยปรากฏให้เห็น ที่ผ่านมาพบมากในพม่าและภาคเหนือของไทย ส่วนใหญ่ไม่มีลักษณะพุงป่อง รูปปั้นที่เป็นข่าวอาจมีการดัดแปลง ส่วนที่อุ้มบาตรกลายเป็นพุงป่องแทน ซึ่งไม่เคยเห็นปางนี้ที่ไหน ตัวอย่างในพม่า แม้มีการดัดแปลง แต่คงเอกลักษณ์อุ้มบาตร มีกลีบดอกบัวผสมผสานตั้งแต่ฐานไปถึงยอด”

ตามประวัติศาสตร์ศิลปะ ไม่เคยปรากฏพระอุปคุตที่พุงป่อง แต่ถ้ามองเชิงศิลปะ ทุกอย่างต้องมีการเคลื่อนที่ให้เหมาะสมกับความเชื่อในท้องถิ่น ซึ่งถ้าท่านเจ้าอาวาสพยายามสื่อสารคติหลักธรรมผ่านรูปปั้นพระอุปคุตดังกล่าว ถือว่าไม่ผิดหลักจริยธรรม แม้มีการวิจารณ์ในทางลบ แต่อยากให้มองถึงคติธรรมเป็นหลัก เพราะศิลปะพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ถ้าทำแต่รูปแบบเดิม อาจไม่เท่าทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลง

การปั้นพระพุทธรูปที่มีลักษณะพุงป่อง ตามประวัติศาสตร์ในเอเชีย มีเพียงพระสังกัจจายน์ พบครั้งแรกในเขมร ราวทศวรรษ 15-16 พบมากในศิลปะจีน ลักษณะพระพุทธรูปมักสะท้อนถึงคติความเชื่อศาสนาในพื้นที่นั้น เช่น พระสังกัจจายน์ปั้นให้มีพุงป่อง แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์

พระอุปคุต ประวัติศาสตร์สะท้อนความเชื่อเอเชีย

ดร.ทนงศักดิ์ กล่าวต่อว่า พระอุปคุต ตามความเชื่อชาวเอเชีย ช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย คุ้มครองให้รอดพ้นจากอันตรายทั้งปวง ไทยพบมากทางภาคเหนือไปถึงพม่า ปัจจุบันบรรดาเซียนพระเรียกว่า พระบัวเข็ม

ลักษณะพระอุปคุตดังกล่าวไม่เข้าข่ายการลบหลู่ เพราะความเชื่อทางพระพุทธศาสนาขึ้นอยู่กับว่าคนที่ได้รับความเชื่อนั้นจะเชื่อต่ออย่างไร เพราะเรื่องราวพระอุปคุต ยังเป็นเรื่องเล่าว่ามีอิทธิฤทธิ์ทางด้านการปราบมาร ถ้ามองหลักความเป็นจริง อาจเป็นเพียงเรื่องเล่าที่เหนือจริง แต่อยากให้มองการสร้างพระเพื่อเป็นตัวแทนคำสอนของพระพุทธเจ้า มากกว่ายึดหลักโบราณ จนไม่ได้มองถึงความเป็นจริง

“งานศิลปะเกี่ยวกับพุทธศาสนาและความเชื่อ เป็นสิ่งที่มีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับความรู้ของแต่ละคนที่จะสร้างงานศิลปะ เพื่ออธิบายความคิดของตนเอง ดังนั้น งานศิลปะเกี่ยวกับศาสนาจึงมีการตีความหมายอย่างไม่จบสิ้น”

ตัวอย่างเช่น ยุคต้นรัตนโกสินทร์ ปรากฏพระปรางค์รูปแบบใหม่กว่า 100 รูปแบบ ที่ไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์มาก่อน ดังนั้น สิ่งเหล่านี้ย่อมแสดงให้เห็นว่า ศิลปะ มีการปรับเปลี่ยนไปตามความเชื่อของยุคสมัย ซึ่งไม่ควรจะทำลายรูปแบบใหม่ที่ได้สร้างขึ้น แต่ประชาชนทั่วไปต้องวิเคราะห์ถึงคติธรรมที่ซ่อนอยู่ในรูปแบบของการปั้นมากกว่า.

ขอขอบคุณภาพจาก TikTok บอย บุญญสิทธิ์