“วิธีการที่ทำให้คนของท่านปลอดภัย คือ การให้ความจริงกับประชาชนของท่าน...”

จากปัญหา PM 2.5 ที่กำลังเป็นปัญหาหนักหน่วงในขณะนี้ รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถึงกับเอ่ยวลีอมตะวาจา จาก “อับราฮัม ลินคอล์น” อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ มาอยู่ในบทสนทนา พิเศษกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์

ปัญหา PM 2.5 กับปรากฏการณ์ “ฝาชีครอบต่ำ” รมควันฝุ่นพิษ คนกรุงสาหัส!

รศ.ดร.วิษณุ อธิบายถึงปรากฏการณ์ “ฝาชีครอบต่ำ” เปรียบเสมือนแรงลมดันจากด้านบน และด้านล่างพร้อมกัน ซึ่งปกติแล้วเวลาเกิดฝุ่น ฝุ่นจะลอยขึ้นไปด้านบน แต่ตอนนี้มันมีแรงดันจากด้านบนด้วย ทำให้ฝุ่นลอยไปไหนไม่ได้ เหมือนมีอะไรมาครอบไว้ เหมือนฝาชีครอบไว้ ทำให้ฝุ่นอบอวนวนเวียนอยู่กับที่

“หมายความว่า พื้นที่ระบายฝุ่นเหลือน้อย ปริมาณฝุ่นจึงเพิ่มขึ้นและอัดแน่นมากขึ้น”

ฟังคำอธิบายแล้วเห็นเป็นภาพความน่ากลัวเลย....

สาเหตุ “ฝาชีครอบต่ำ” มาจากอะไร...

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สรุปปัญหา PM 2.5 ออกมาเป็น 3 ข้อ

1.ควันจากรถยนต์ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งตอนนี้เรากลับมาใช้ชีวิตปกติแล้ว
2.โรงงานอุตสาหกรรมมีการปล่อยควัน และเผาไหม้ตลอด
3.การเผาในที่โล่งแจ้ง ในภาคเกษตร และป่าไม้

...

รศ.ดร.วิษณุ กล่าวว่า “การเผา” มี 2 แหล่ง คือ ในประเทศ และ “ฝุ่นข้ามพรมแดน”

เผาในประเทศ : มาจากพืชหลัก 3 ชนิด คือ ข้าว อ้อย และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ยังมีพืชอื่นๆ ด้วย แต่ทั้ง 3 ชนิดนี้คือมากที่สุด

นอกจากนี้ยังมีการเผาในพื้นที่ป่าไม้ ซึ่งค่าเฉลี่ยจากการเผาป่ากับพืช โดยมีค่าเฉลี่ยใกล้เคียงกัน

นี่คือประเด็นในภาพรวมทั้งประเทศ....

แต่สำหรับใน กรุงเทพฯ เราจะเจอควันพิษจาก “เกษตร” มากกว่า “ป่าไม้ เพราะแรงลมพัดจากตอนบนของประเทศลงมาด้านล่าง ก็คือ “ลุ่มเจ้าพระยา” ซึ่งถือเป็นแหล่งปลูกข้าวของประเทศ เวลาเก็บเกี่ยวเสร็จเรียบร้อยก็จะเผา...ฉะนั้นลมจึงหอบฝุ่นเข้ามาในกรุงเทพฯ

“ช่วงนี้ กทม.โดนฝุ่นจากการเผาในประเทศ เพราะจากการดูสถิติการเผาและทิศทางลม” รศ.ดร.วิษณุ กล่าว

แบบนี้เรียกว่า คนกรุงรับเต็มๆ

ฝุ่นข้ามพรมแดน :

อาจารย์วิษณุ ยังอธิบายถึงปัจจัยสำคัญคือ “ฝุ่นข้ามพรมแดน” โดยฝุ่นดังกล่าวหอบมาจากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เมียนมา กัมพูชา ประเทศที่ปลูกข้าว ข้าวโพด สำหรับเลี้ยงสัตว์เยอะ วิธีการจึงไม่ต่างจากบ้านเรา ผสมกับการ “เผา” ในประเทศด้วย จึงเป็นที่มาของ ภาคเหนือ และภาคอีสานตอนบน ก็เจอมลพิษทางอากาศไม่ต่างกัน ซึ่ง กทม. เองก็โดนอานิสงส์ด้วย

สรุปใจความง่ายๆ สั้นๆ ของ รศ.ดร.วิษณุ คือ ฝุ่นในประเทศไม่ระบายออก ฝุ่นนอกประเทศผสมโรง คนไทยจึงรับฝุ่นพิษเข้าร่างกายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้!

ปัญหาสะสมมายาวนาน รัฐบาลไม่ขึงขังแก้ปัญหา

จากคำอธิบายข้างต้น...คือ “ภาพกว้าง” ของปัญหา เมื่อเรามาลงลึกในรายละเอียด ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สรุปว่า ส่วนหนึ่งเพราะการแก้ปัญหาของภาครัฐที่ผ่านมา “เกาไม่ถูกที่คัน” และแก้ปัญหาไม่จริงจัง อาทิ มาตรการแก้ปัญหามลพิษที่เกิดจากรถ

มาตรฐานยูโร 5 :

รถยนต์ : ประเทศไทย มีเป้าหมายในการยกมาตรฐานเป็นระดับ “ยูโร 5” (เป้าหมายปี 2567) แต่ทุกวันนี้รถที่ใช้ในท้องถนนก็ยังเป็นยูโร 2-4

“ถึงปี 67 เป็นยูโร 5 จริง ก็ยังไม่ได้จบ เพราะกว่าสต๊อกรถยังมีอยู่มหาศาล ขณะที่การส่งเสริมการใช้รถยนต์ EV ก็ถือเป็นอัตราส่วนไม่มาก ส่วนประเด็นเรื่อง “น้ำมัน” ที่ใช้ คงต้องรอปี 2567 ซึ่งหวังว่าจะไม่เลื่อนอีก (เคยเลื่อนมาแล้วตอนปี 2563)

โครงสร้างภาษี : เก็บภาษีรถเก่าถูก เป็นเรื่องกลับด้านกับการแก้ปัญหามลพิษของต่างประเทศ เพราะรถยิ่งเก่า ยิ่งโดนภาษีแพง กลายเป็นว่ารถยนต์อายุเกิน 10 ปีมีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะรถบรรทุก รถมาตรฐานยูโร 1-2 เต็มถนน เพราะเขาไม่นิยมซื้อใหม่ ใช้ของเก่าและวนใหม่

รศ.ดร.วิษณุ ยืนยันว่า การแก้ปัญหาด้วยโครงสร้างภาษีเป็นสิ่งที่ทำได้จริง และต่างประเทศก็ประสบความสำเร็จมาแล้ว กลไกตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก โดยมาตรการภาษีจะมี 2 รูปแบบ คือ การจ่ายภาษีตอนซื้อรถยนต์ใหม่ กับภาษีที่ต้องจ่ายทุกปี

“ยังไม่รวมกับพื้นที่รถติด...ในต่างประเทศ หากคุณต้องการเข้าไปในพื้นที่รถติด คุณก็ต้องจ่ายค่าทางด่วนเพิ่ม เพื่อเลี่ยงให้คุณไปที่อื่น...”

...

ภาคเกษตรกรรมกับการเผา! การห้าม บังคับ ใช้ไม่ได้จริงกับสังคมไทย

อาจารย์ ม.เกษตรฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ย้ำว่า ที่ผ่านมา ภาครัฐไม่ได้ใช้กลไกทางเศรษฐศาสตร์ในการแก้ปัญหา จะใช้แต่ข้อบังคับ ห้าม...นู่นนี่ หรือ “ขอความร่วมมือ” ซึ่งก็ไม่เวิร์ก เพราะมันเป็นการ “จำกัดเสรีภาพ” เพียงแต่ภาครัฐต้องรู้จัก “ใช้แรงจูงใจ” มาเพิ่ม มันก็จะช่วยได้

เมื่อถามว่า กรณีชาวไร่ ชาวนา เราจะเสนอแรงจูงใจห้ามเผาได้อย่างไร... รศ.ดร.วิษณุ กล่าวว่า “ผมเคยทำงานให้กับกองทุนสิ่งแวดล้อม แต่ถึงวันนี้เขาก็ยังไม่ได้หยิบไปใช้”

ที่ผ่านมา ภาครัฐ มีโครงการตัดไร่อ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 โดยให้อัตราตันละ 120 บาท ซึ่งล่าสุดมีการอนุมัติงบไปแล้ว 8 พันกว่าล้านบาท แต่ก็ยังมีปัญหาอยู่

คำถามคือ หากปีหน้าไม่มีงบตรงนี้ ผลจะเป็นอย่างไร... เชื่อว่ากลับมาแน่นอน

สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน ไม่ได้ยื่นเบ็ดให้เขาไปตกปลา

...

ขณะที่ ต่างประเทศ เขาช่วยเหลือเกษตรกรแบบมีเงื่อนไข เช่น การให้เงิน 120 บาทนี้ จะต้องมีเงื่อนไขว่า ต้องเอาเงินไปปรับปรุงไร่ของคุณด้วย ทำอย่างไรก็ได้ให้คุณเอาเงินไปใช้กับเครื่องจักรเพื่อการเก็บเกี่ยว ไม่ใช่วิธีการเผา

“หากช่วยแล้วไม่ปรับตัว ก็คงต้องเริ่มปรับ...ซึ่งเงินที่ปรับได้ ก็จะนำไปรวมเป็นกองทุน แล้วเอาเงินก้อนนี้กลับไปช่วยเกษตรกรที่เผา ให้เกิดความช่วยเหลือ เพื่อให้มีการปรับตัวมีต้นทุนน้อยที่สุด”

ภาคอุตสาหกรรม “กล่องดำ” ไร้ข้อมูล

รศ.ดร.วิษณุ กล่าวว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรม คือ “กล่องดำ” ที่ไม่มีข้อมูลอยู่ที่เดียว ยกตัวอย่าง รถยนต์เก่ามีกี่คันเรารู้ ภาคเกษตรมีการเผา เรามีระบบตรวจจับ แต่ในภาคโรงงาน เราแทบไม่มีข้อมูลเลย เห็นแค่ตึก โดยเฉพาะโรงงานขนาดกลาง และขนาดเล็ก จำนวนมากไม่มีข้อมูลด้านมลพิษเลย

“นี่คือส่วนหนึ่งที่มองว่า “โรงงาน” ไม่ค่อยมีปัญหา แต่...ปัญหาของมันคือ เรา “ไม่มีข้อมูล” เพราะเข้าไม่ถึง ซึ่งหากในต่างประเทศ เขาจะบังคับโรงงานทุกที่ที่ตั้งในชุมชนต้องรายงานค่ามลพิษ แต่ประเทศไทยไม่มี เพราะเราไม่ผ่านกฎหมายปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ หรือ Pollutant Release and Transfer Register (PRTR) โดยที่ผ่านมาภาครัฐมักจะขอความร่วมมือกับกลุ่มโรงงานขนาดใหญ่ ซึ่งกลุ่มนี้ไม่ค่อยมีปัญหาด้านมลพิษอยู่แล้ว แต่...โรงงานขนาดเล็กต่างหากที่มีมากและมีปัญหา แต่ไม่มีการตรวจสอบ ซึ่งทางภาครัฐเขาคงกังวลด้านการลงทุน”

...

ต้นทุนการใช้ชีวิต กับมลพิษ PM 2.5 มูลค่า 1.37 ล้านล้าน/ปี

อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า จากการทำงานด้านวิจัยที่ผ่านมาพบว่า ผลกระทบกับต้นทุนชีวิตจาก PM 2.5 เกิดขึ้นหลายด้าน ประกอบด้วย

ด้านสุขภาพ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน

ส่วนแรก : มองเห็น คือ เกิดอาการป่วย ต้องเสียเงินไปหาหมอทันที บางคนสุขภาพไม่ดี ก็อาจจะต้องพบแพทย์บ่อย

ส่วนสอง : มองไม่เห็นฝุ่นขนาดเล็กมาก มีสารก่อมะเร็ง สูดดมเข้าร่างกาย ปะทุอีกทีก็ป่วยหนักมาก ซึ่งการรักษามะเร็งต้องจ่ายเงินรักษาไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท...

ด้านการป้องกัน : เสียเงินในการซื้อหน้ากากอนามัย เครื่องฟอกอากาศ บางบ้านมีเครื่องฟอกอากาศมากกว่า 1 ตัว

“ทุกคนต้องลงทุนเพื่อป้องกันตัวเอง นี่คือต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งหน้ากากอนามัยทั่วไปกันฝุ่น PM 2.5 ไม่ได้ จำเป็นต้องเป็นหน้ากากอนามัย N95 ราคาจะแพงกว่ามาก”

อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และสภาพอากาศ สรุปว่า ต้นทุนชีวิตคนไทยทุกคนทั้งประเทศที่ต้องเสียไปกับฝุ่น PM 2.5 คือ 1.37 ล้านล้านบาท/ปี หากเทียบเป็น GDP ก็ประมาณ 8.5% หมายความว่า สินค้าที่ประเทศไทยผลิตในราคา 100 บาท เราต้องสังเวยให้ค่าฝุ่น 8.50 บาท ซึ่งโดยปกติในทางธุรกิจ ได้กำไร 10 จาก 100 ก็คุ้มแล้ว แต่นี่แค่เริ่มต้นก็โดนแล้ว 8.50 บาท นี่คือภาระทางสังคมที่เกิดขึ้น โดยมีการคำนวณมาจากครัวเรือน ซึ่งหากคิดง่ายๆ ในราคาครัวเรือนของคนในกรุงเทพฯ จะเสียเงิน 6 พันกว่าบาท/ปี ในการใช้เงินแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5

จากการฟังปัญหาทั้งหมด รู้สึกว่า ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ PM 2.5 ไม่สามารถแก้ไขได้..?

รศ.ดร.วิษณุ รีบตอบสวนทันควันว่า “แก้ได้ๆ ถ้าตั้งใจแก้ ซึ่งการแก้ไขต้องใช้เวลา ยกตัวอย่าง อังกฤษใช้เวลา 10 ปี โดยมีโรดแมป ซึ่งแตกต่างจากของเราที่ยังไม่มีโรดแมปที่ชัดเจน”

ตัวอย่าง การแก้ PM 2.5 ของอังกฤษ คือ เขาออกกฎหมาย “อากาศสะอาด” มีหน่วยงานที่ดำเนินการอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

คำถามคือ หลายๆ หน่วยงานในบ้านเรา ทำอะไร...อย่างเขาหรือยัง

รถยนต์ควันดำ ทำอะไรหรือยัง...?
โรงงานปล่อยควันพิษ ทำอะไรหรือยัง...?

ปัญหาทั้งหลายหากเป็นงานข้ามกระทรวง ทุกอย่างจบ กฎหมาย และหน่วยงาน บูรณาการหรือยัง...?

ส่วนหนึ่งของปัญหา เพราะงบประมาณไม่เพียงพอ ยกตัวอย่างง่ายๆ “ป่าไม้” ทุกวันนี้คนทำงานป่าไม้ยังไม่เพียงพอเลย งบทุกปีก็ได้เท่าเดิม แล้วเขาจะเอาสรรพกำลังมาจากไหน...

รศ.ดร.วิษณุ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ประเทศไทยขาดคือ “ระบบติดตามตรวจสอบย้อนกลับ”

ยกตัวอย่าง ข้าวโพด หากประเทศไทยมีการเข้มงวดการเผา กลุ่มทุนก็เลือกจะย้ายไปปลูกกับประเทศเพื่อนบ้าน แล้วนำกลับมาขายในประเทศไทย

หากมี “ระบบติดตามตรวจสอบย้อนกลับ” เราก็จะรู้ว่า “ข้าวโพด” ดังกล่าวมาจากไหน หากรู้ว่ามีที่มาจากการเผา มีโอกาสที่จะห้ามนำเข้า หรือเก็บภาษีแพงขึ้น เฉกเช่นเดียวกับสภาพยุโรปที่มีการเก็บ “คาร์บอนเครดิต” ซึ่งมีหลักการเดียวกัน...

ปัญหาด้านการเตือนภัย กับมาตรฐานไทย กับโลก ที่ต่างกัน

สำหรับสิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับคนไทยในเวลานี้ คือ การให้ข้อมูลจากทางภาครัฐ รศ.ดร.วิษณุ อธิบายว่า ปัจจุบัน ประเทศไทย ยังใช้ค่ามาตรฐานในบรรยากาศทั่วไปของ PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ของประเทศไทยอยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่ของ องค์การอนามัยโลก ปัจจุบันมีการลดค่าดังกล่าวเหลือที่ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เรียกว่าแตกต่างกันถึง 3 เท่า ซึ่งหากดูแอปฯ ตรวจสอบค่าฝุ่นในบ้านเรา ก็เห็นว่ายังไม่แดงเลย แต่เมื่อเทียบกับค่ามาตรฐานของต่างชาติ สภาพอากาศบ้านเราแดงหมด...

ฉะนั้นหากจะเริ่มต้นด้วยการ “เตือนภัย” มาตรฐานที่รับรู้ก็แตกต่างกันแล้ว ซึ่งการ “ตระหนักรู้” คือส่วนสำคัญทำให้คนตระหนักถึงการป้องกัน ดังที่ ประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอร์น เคยพูดไว้ว่า “วิธีการที่ทำให้คนของท่านปลอดภัย คือ การให้ความจริงกับประชาชนของท่าน...” ซึ่งปัจจุบันดัชนีชี้วัดอากาศที่ออกมาจากภาครัฐ บางครั้งก็ไม่ใช่ความจริงมาก การที่บอกว่าให้ความสำคัญกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม แต่ถึงเวลาไม่มีงบประมาณ งบประมาณกลับน้อยลงอีก แบบนั้นพูดกับทำจึงสวนทางกันหรือไม่...?

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านบทความที่น่าสนใจ