เมื่อหลายวันก่อน มีงานวิจัยจากประเทศจีน ตีพิมพ์เผยแพร่ว่า เจอ “งูชนิดใหม่” ของโลก จากการทบทวนอนุกรมวิธานของงูเห่า (genus Naja Laurenti, 1768) ซึ่งถือว่าจัดอยู่ในกลุ่มงูที่มีพิษร้ายแรง
งูเห่าชนิดใหม่ที่ว่า มีชื่อวิทยาศาสตร์จากจีนว่า Naja Fuxi หากจะเรียกเป็นภาษาไทย ก็คือ “งูเห่าภูเขา” (Brown Banded Cobra)
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้พูดคุยกับ นายนิรุทธิ์ ชมงาม หรือนิค อสรพิษวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านงู เจ้าของช่อง Nick wildlife ในยูทูบ ซึ่งมีคนติดตามกว่า 1.84 ล้าน และในเฟซบุ๊ก มากกว่า 7 แสนคน
“งูเห่าภูเขา” และถิ่นที่อยู่
นิค อสรพิษวิทยา เล่าเรื่อง “งูเห่าภูเขา” ว่า จริงๆ แล้ว งูเห่าภูเขา มีอยู่แล้วในธรรมชาติ เพียงแต่งูชนิดนี้มีความคล้ายคลึงกับงูเห่าไทยมาก ตอนแรกจึงคิดว่าเป็นงูเห่าไทย ที่จริงการศึกษาเรื่องนี้ไม่ใช่แต่ทีมวิจัยของจีน แต่คนไทย ก็ทำวิจัยศึกษาเรื่องนี้อยู่เช่นเดียวกัน ซึ่งเก็บข้อมูลมาแล้ว 3-4 ปี
...
“ในรายงานของประเทศจีน เขาระบุว่า จะพบได้ในประเทศจีนเท่านั้น แต่...แท้จริง จากการศึกษาของเรา เราพบว่างูเห่าภูเขาอาศัยกระจายตัวค่อนข้างกว้าง พบได้ในจีนตอนใต้ แต่จากการศึกษาทาง DNA ของเรา ก็พบว่ามีอาศัยในประเทศไทยเช่นเดียวกัน และคาดว่าน่าจะมีอาศัยอยู่กระจายอยู่ทั่วประเทศ และอีกหลายประเทศ ซึ่งในบ้านเราจะชอบโซนป่า เกือบทุกภาคยกเว้นภาคใต้ เพราะงูชนิดนี้ไม่ชอบความเปียกชื้น ไม่เหมาะกับการอาศัยกับงูชนิดนี้ จึงทำให้ไม่เจอ”
ความแตกต่างระหว่าง งูเห่าภูเขา VS งูเห่าไทย
นายนิรุทธิ์ กล่าวว่า ลักษณะที่เด่นชัดของงูเห่าภูเขา คือ ช่วงเป็นลูกงู ลายบนตัวเขาจะเด่นชัด คือ งูเห่าภูเขา จะมีลายคล้ายลายแทง เหมือนลายขาวๆ พาดเป็นบั้ง เป็นแถบตามตัว ซึ่งชื่อสามัญของมันคือ Brown Banded Cobra หรืองูเห่าลายแถบสีน้ำตาล แต่เมื่อมันโตเต็มวัยแล้ว ลายแถบดังกล่าว อาจจะมองไม่ค่อยเห็น ตัวจะมีสีดำอมม่วงหรือน้ำเงิน ลักษณะตัวก็จะเป็นแบบนวลๆ เกล็ดแบบด้าน ไม่สะท้อนเป็นเงา แตกต่างจาก “งูเห่าไทย” จะมีลักษณะเกล็ดที่เงามากกว่า
“ตั้งแต่ช่วงหัวของงูเห่าภูเขา จะเป็นสีอ่อน เวลาแผ่แม่เบี้ย เกล็ดขยายออก จะเห็นเป็นสีส้ม น้ำตาลๆ ในบางทีสีดังกล่าว จะลามมาถึงครึ่งตัวจากฝั่งหัว ส่วนครึ่งตัวด้านล่างจะมีสีเข้มทึบ”
พฤติกรรม ขี้กลัว หากถูกคุกคาม จะฉก..พ่นพิษ!
นิค อสรพิษวิทยา เล่าถึงพฤติกรรมของงูเห่าภูเขาว่า ปกติแล้ว งูเหล่านี้จะกลัวคนอยู่แล้ว เพราะคนตัวใหญ่กว่า เขาก็เลือกที่จะหนี จะเรียกว่า “ขี้กลัว” ก็ได้ เนื่องจากเป็นปกติของสัตว์ป่า แต่...หากเราไปคุกคามเขามากๆ เขาก็จะ “พ่นพิษใส่” หรือพุ่งฉก ซึ่งมันขึ้นอยู่กับจังหวะ หากเขากำลังหนี แล้วเราไปจับ เขาก็จะหันมาฉกกัดเรา หรือพ่นพิษ
สำหรับ “พิษงูเห่าภูเขา” ณ เบื้องต้น เวลานี้ยังไม่ได้ศึกษาละเอียดถึงขั้นนั้น แต่ก็คาดการณ์ว่า น่าจะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท เช่นเดียวกับงูเห่าไทย ซึ่งเบื้องต้นเชื่อว่า น่าจะมีทำร้ายหรือกัดคนบ้างแล้ว แต่เนื่องจากมันคล้ายงูเห่าไทย แผ่แม่เบี้ยมีลายเป็นรูปตัว O จึงทำให้ไม่ทราบกัน
...
แรงบันดาลใจ ช่วยเหลือคน เซฟชีวิต “งู”
เจ้าของช่อง Nick wildlife เล่าว่า ที่ผ่านมา เคยทำอาชีพเป็นเจ้าหน้าที่อุทยานฯ มาหลายปี ก่อนจะลาออกมาทำช่องสารคดีเกี่ยวกับงู รวมถึงทำการศึกษาและอบรม “อสรพิษวิทยา” เพื่อนำความรู้แบ่งปัน กลวิธีในการจับงูให้กับ “กู้ภัย” ซึ่งต้องยอมรับว่า กู้ภัยฯ บางท่านใช้วิธี “ครูพักลักจำ” ความรู้ด้านการจับงูไม่แน่นมาก เวลาลงพื้นที่ไปช่วยเหลือประชาชน แล้วอาจจะเกิดอันตรายกับตัวเอง
นอกจากนี้ ยังทำโครงการเครือข่าย เพื่อทำความเข้าใจให้กับคนรู้จักงูมากขึ้น เพราะ “ความกลัว” ที่เกิดขึ้น อาจจะมาจากสิ่งที่เรา “ไม่รู้จัก” และบางครั้งส่งผลถึงอันตรายได้ เช่น ความเชื่อผิดเรื่อง โดนงูพิษกัด ให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ เช่น เอาเชือกรัดเหนือแผล ใช้ปากดูดพิษ การทำแบบนี้นอกจากไม่ได้ช่วยอะไรแล้ว ยังทำให้เกิดอันตรายมากขึ้นด้วย ทางที่ดีควรที่จะรีบไปพบแพทย์
“สิ่งที่เราทำ คือ โครงการแบบสมัครใจ ใครขอให้ช่วย ให้ความรู้เราก็ไปช่วยเหลือ บางที่ก็มีค่าใช้จ่ายให้ บางที่ก็ไม่มี เราก็พยายามไปทำเท่าที่เราจะไหว...”
...
นิค ยอมรับว่า สิ่งที่ทำเพราะมาจากหัวใจรัก ชอบงู จับงู เล่นมาตั้งแต่ 5-6 ขวบ จนมีโอกาสได้ทำงานในกรมอุทยานฯ ได้เป็นวิทยากรให้ความรู้ และตระหนักว่า มีคนจำนวนมาก “ไม่รู้จักงู” ส่งผลให้เกิดอันตรายกับตัวคนและตัวงู และด้วย “ความกลัว” ของคน เวลาเจองู ก็เลือกจะใช้วิธีทำร้าย ไล่ตีมัน ทั้งที่มันก็ไม่มีพิษ
“งูบางชนิด ก็สร้างคุณประโยชน์กับเรา หากเป็นงูพิษ เขาก็ศึกษาพิษ เพื่อมาปรับปรุงเป็นยารักษาโรค ด้วยความไม่รู้จึงเลือกที่จะ “ทำลาย” มันหมด ผมจึงอยากนำความรู้ตรงนี้ไปเผยแพร่ให้คนเข้าใจมากขึ้น”
นิค ย้ำว่า การจะบอกให้คนทั่วไป “รักงู” มันเป็นเรื่องยาก...แต่อย่างน้อย เราก็พยายามบอกทุกคนว่า ควรอาศัยอยู่อย่างไร และไม่ทำร้ายเขา ลดความขัดแย้งและอาศัยอยู่ร่วมกัน
...
เบื้องหลังชีวิต กว่าจะมาเป็น “ยูทูบเบอร์” สายงู
การทำงานเกี่ยวกับงู เหมือนจังหวะชีวิตนำพาไป จากเจ้าหน้าที่อุทยานฯ มาทำสารคดี The Snake Master ฉายช่อง Now 26 และช่อง Discovery หลังจากนั้นเป็นต้นมา ก็มีคนแห่โทร. มาหาให้ไปช่วยจับงู จนวันหนึ่งคือไม่ไหว เพราะต้องเดินทางไปทั่วประเทศโดยใช้ทุนของตัวเอง ทั้งเหนื่อยและไม่มีงบมาทำ เราจึงคิดว่าเราเผยแพร่ความรู้สู่คนอื่นดีกว่า ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้คน
“สิ่งที่เราทำ เพราะเรารัก ชอบ และมีความสุข แต่วันหนึ่ง...ได้เจอ ได้เห็นความเดือดร้อน ซึ่งบทสรุปนั้น มักจบด้วยความตายของ “คน” หรือ “งู” และในฐานะที่เรารู้สึกว่าเราพอจะทำอะไรได้ สามารถสร้างคุณค่าโลกใบนี้ได้ก็เลยอยากที่จะทำ เพราะเรารู้สึกมีความสุข ได้ช่วยเหลือ ได้เพื่อน ทำในสิ่งที่คนอื่นหลีกเลี่ยงที่จะทำ”
นิค อสรพิษวิทยา เผยความในใจว่า หลังจากนี้ อยากจะใช้ชีวิตด้วยการสำรวจ เพื่อหางูชนิดใหม่ๆ สปีชีส์ใหม่ๆ ซึ่งเชื่อว่าในประเทศไทยมีอีกมากมายที่รอการค้นพบ
เมื่อถามว่า ความฝันสูงสุดของ “นิค” คืออะไร เจ้าตัวอมยิ้ม แล้วบอกว่า “อยากมีความสุข” ฟังแล้ว...อาจจะดูแปลกๆ เช่น ได้ทำสารคดีให้ความรู้กับคนต่อไป สร้าง “อสรพิษวิทยา” ให้สามารถลดความขัดแย้งคนกับงูได้ เราภาคภูมิใจและสนุกกับการช่วยเหลือ ซึ่งก็ยอมรับว่า ปัจจุบัน รู้สึกเหนื่อย จากอะไรหลายอย่าง แม้จะมีอุปสรรคใหญ่เข้ามาต่อเนื่อง บางครั้งรู้สึกว่า “เหมือนตัวคนเดียว” เพราะเราเป็นเหมือน “หัวเรือ” ที่ต้องนำพาคนไปข้างหน้า แต่เจอปัญหาติดขัด ก็เลยมีบางส่วนต้องจำใจจากลา ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากตัวเองที่ไม่ชอบขออะไรจากใคร...
เมื่อถามว่า เหตุการณ์เป็นแบบนี้จะยืนระยะไหวไหม เมื่อสิ่งที่ทำอาจไม่ได้ทำให้รวย...แล้วเราทำไปเพื่ออะไร นิค นิ่งไปครู่หนึ่ง แล้วตอบว่า “ผมรู้สึกว่า สิ่งที่ผมพยายามทำอยู่ เป็นการสร้างคุณค่าให้กับโลกใบนี้ บางครั้งสิ่งที่ทำก็มีโอกาสที่จะถูกผลักดันไปทิศทางหากำไรส่งเสริมธุรกิจได้ แต่...เมื่อย้อนถามตัวเอง ก็ได้รับคำตอบว่า สิ่งที่ทำมันไม่มีความสุข เช้าที่ตื่นขึ้นมา รู้สึกว่าไม่มี “Passion” ที่จะทำ เรารู้สึกอยากทำสิ่งที่ชอบและมีความสุข
“คนกับงู สุดท้ายก็ต้องอยู่ร่วมกัน บางคนบอกฆ่าให้หมด...แต่มันก็ไม่มีทางหมด วิธีเดียวกันจะอยู่ร่วมกันได้ คือ อยู่อย่างเข้าใจ เช่น รู้ว่าเขาชอบเข้าบ้านเราเพราะอะไร ตอนไหน และเราป้องกันตรงจุดนั้น คือ พยายามดูแลบ้านให้สะอาด ไม่รก เศษอาหารไม่ควรปล่อยไว้ เพราะหากปล่อยไว้ ก็จะมีหนูเข้ามา พอมีหนู งูก็เข้ามา หากแต่เมื่อเจองู ก็พยายามมีสติ เคลื่อนไหวตัวช้าๆ เพราะการเคลื่อนตัวเร็วจะส่งเสริมให้เป็นการกระตุ้น จากนั้นแจ้งกู้ภัยที่อยู่ใกล้บ้าน อย่าทำอะไรเอง หากไม่มีความชำนาญ”
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ขอบคุณภาพ : Nick wildlife
อ่านบทความที่น่าสนใจ