ตอนนี้ทุกคนคงจะทราบรายชื่อผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจ ที่จะเข้าร่วมประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปก (APEC) ระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็เป็นไปตามที่แจ้งไว้ก่อนหน้านี้ว่า ทางประธานาธิบดีสหรัฐฯ “โจ ไบเดน” และ นายกรัฐมนตรีรัสเซีย “วลาดิเมียร์ ปูติน” ไม่ได้ร่วมเดินทางมาประเทศไทย มีเพียง ผู้นำ “พญามังกร” อย่าง “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน เท่านั้น ที่เดินทางมา...

วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้เชิญ รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาวิเคราะห์บทบาทของจีน และประเทศมหาอำนาจในการประชุมเอเปก

รศ.ดร.ปิติ มองว่า จีนได้ชัดเจนในการสนับสนุนแนวคิดแบบ “พหุภาคีนิยม” สนับสนุนการค้าเสรี และลงทุนเสรี ซึ่งที่ผ่านมา จีนเองเสนอ เพราะมีปัญหาเรื่องสงครามการค้าและสงครามเศรษฐกิจ

ส่วน “วาระสำคัญ” ของจีนอีกเรื่อง ก็คือเรื่อง ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

และประเด็นที่ 3 คือ การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล และการสร้างนวัตกรรม

“ผมเชื่อว่า นี่คือ 3 ประเด็นหลักที่จีนน่าจะพูดถึงเยอะ ในการประชุมเอเปก ครั้งนี้ เพราะประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ นั้น จีนพูดไปหมดแล้ว โดยเฉพาะในการประชุม G20”

...

กลับมาที่ประเทศไทย ก็พยายามพุ่งเป้าไปที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะเศรษฐกิจ BCG การสนับสนุนภาคธุรกิจโดยคำนึงด้านสิ่งแวดล้อม และยั่งยืน ถือเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับเรื่องที่ต้องการ

เฉกเช่นเดียวกับอีกประเด็นคือ เขตการค้าเสรีของเอเชียแปซิฟิก (FTAAP) จีนก็เคยพูดเรื่องนี้มานานแล้ว ตั้งแต่ปี 2014 ด้วยซ้ำ เพราะอยากทำมานานแล้ว...

การเผชิญหน้าของ ผู้นำชาติมหาอำนาจที่ส่งตัวแทนมาจากสหรัฐฯ รัสเซีย และ สี จิ้นผิง จะเป็นอย่างไร รศ.ดร.ปิติ เชื่อว่าไม่น่าจะมีอะไร...เพราะจีน ยืนยันว่า “ไม่เกี่ยวข้อง” กรณี สงครามรัสเซีย-ยูเครน ขณะที่ สหรัฐอเมริกา ก็ต้องจัดการเรื่องที่ประเทศตัวเองก้าวเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยตัวเอง

ในการประชุม G20 ที่ผ่านมา สี จิ้นผิง และ โจ ไบเดน ก็ประกาศจุดยืนชัดเจนแล้ว ว่าเขาไม่อยากเห็นการใช้ “นิวเคลียร์” ในพื้นที่นี้ ซึ่งประเด็นใหม่ กรณี “รัสเซีย” ก็คือ การพบขีปนาวุธของรัสเซีย ไปตกใน “โปแลนด์” ซึ่งตรงนี้เอง จะต้องรอดูว่า “ผู้นำ” เอเปก จะนำประเด็นนี้มาพูดคุยหรือไม่

“ผมเชื่อมั่น 100% ว่า การประชุมเอเปก ต้องมีการหยิบประเด็นทางการเมืองและขัดแย้งมาคุยกันแน่ เพราะเป็นแบบนี้มาโดยตลอด แทบจะทุกการประชุม ที่เวทีเศรษฐกิจมักนำเรื่องการเมืองมาพัวพันกันจนแยกไม่ออก ซึ่งก็เชื่อว่าหากมีการนำมาคุยกัน อาจจะมีผู้นำบางคนถึงขั้น “วอล์กเอาต์” และต่อมา อาจจะมีการแถลงการณ์ร่วมในกลุ่มที่วอล์กเอาต์ หรือ อาจจะมีการแสดงออกด้วยการเลือกเข้า หรือไม่เข้าประชุม กับบางประเทศ โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจที่ต้องจับตาได้แก่ จีน รัสเซีย ไต้หวัน ฮ่องกง โดยจะมีการมองว่าประเทศเหล่านี้ อาจจะเกาะกลุ่มกัน หรือไม่อยากเข้าร่วม”

เมื่อถามว่า การประชุมครั้งนี้ จะตึงเครียดแค่ไหน อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า น่าจะตึงเครียดระดับหนึ่ง แต่...ไม่น่ามาก เพราะเรื่องเครียดๆ ได้ผ่าน เวทีการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit- EAS) มาแล้ว ฉะนั้น เที่ยวนี้เอง จึงยังน่าจะมีความหวังที่เราจะคุยกันถึงสิ่งที่สร้างสรรค์ เป็นประโยชน์กับ 21 เศรษฐกิจ และประชากรกว่า 3 พันล้านคนได้

...

ไทยในฐานะเจ้าภาพ จะต้องวางบทบาทอย่างไรกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น รศ.ดร.ปิติ กล่าวว่า เราก็วางตัวอย่างที่เป็น คือ การเปิดพื้นที่ให้เกิดการเจรจากัน โดยพยายามที่จะรักษาสปิริต โดยพยายามคุยกันในเรื่องเศรษฐกิจ มองข้ามเรื่องการเมือง เพราะเวทีอื่นเขาก็แสดงออกอย่างชัดเจน เช่น การประชุม G20 พอมีเรื่องการเมืองเข้ามา ก็ทำให้ประเด็นหลักที่จะคุยกันก่อนหน้านี้ดาวน์ลงไป

“เราคุยเรื่องการเมืองกันมาพอแล้ว...เราควรจะคุยเรื่องเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องแผนงานความมั่นคงด้านอาหาร หรือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล หากประเทศไหน ไม่ได้มาแนวนี้ แล้วเอาเรื่องการเมืองเข้ามาคุย มันก็จะเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าผู้นำชาตินั้นๆ ห่วงเรื่องการเมืองมากกว่าการกินดีอยู่ดีของประชาชน และปัญหาเศรษฐกิจ

รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม

ที่นี่คือ เอเชีย แปซิฟิก...ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นของ ยูเครน-รัสเซีย อยู่แล้ว ในขณะที่ G20 นั้นเกี่ยวข้อง เพราะเกี่ยวกับยุโรป ซึ่งตอน G20 ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กับ ไบเดน ก็คุยกันไป 3 ชั่วโมงแล้ว ฉะนั้น เอเปกเที่ยวนี้ คุณไบเดน ก็ไม่ได้มาแล้ว ก็อยากที่จะให้คุยเรื่องจรรโลงใจบ้าง...

...

รศ.ดร.ปิติ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในมุมของจีน “ไทย” คือ “จิ๊กซอว์” ตัวสำคัญ เพราะห่วงเศรษฐกิจจีนก็ขึ้นอยู่กับเอเปก พอสมควร โครงการ Belt and Road Initiative (การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงตลาดการค้าระหว่างประเทศ) จีนและประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียและยุโรป ก็เริ่มมีการอัปเกรดไประดับโลกแล้ว โดยมีพื้นที่ตรงนี้มียุทธศาสตร์ และไทยก็เป็นผู้เล่นสำคัญ ในขณะที่ไทย ก็ควรแสดงออกว่า เราพร้อมแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกัน โดยเคารพหลักการร่วมกัน ได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ