"รองศาสตราจารย์สิริวัฒน์ ไชยชนะ" อุปนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ เปิดเผยกับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ หลังลงพื้นที่ตรวจสอบอุบัติเหตุคานรับน้ำหนัก 5 ตัน ร่วงลงจากสะพานกลับรถ บนทางหลวงหมายเลข 53 หรือ ถนนพระราม 2 กิโลเมตรที่ 34 จังหวัดสมุทรสาคร ว่า จากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่เจ้าหน้าที่กรมทางหลวงได้สกัดเอาพื้นทางรถวิ่งเดิมซึ่งเป็นพื้นคอนกรีตหนา 2-3 ชั้นออก และสกัดคานออก ก่อนจะวางพื้นสำเร็จรูปลงบนคานเรียบร้อยแล้ว และกำลังอยู่ในระหว่างเตรียมการเทพื้น Topping ที่เป็นคอนกรีตหนาประมาณ 20 เซนติเมตร แต่เนื่องจากการสกัดคานและพื้นออกไปจนหมดทำให้แบริเออร์ด้านที่เกิดเหตุจึงไม่สามารถยึดกับโครงสร้างเดิมได้อย่างแข็งแรง จึงทำให้แบริเออร์ร่วงหล่นลงสู่พื้นถนน จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ศพ บาดเจ็บ 2 คน

รองศาสตราจารย์สิริวัฒน์ ไชยชนะ อุปนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ
รองศาสตราจารย์สิริวัฒน์ ไชยชนะ อุปนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ

...

“ตัวขอบมันก็หนักอยู่แล้ว ตัวคานมันก็โค้ง แถมยังไม่มีอะไรมาช่วงดึงช่วยรั้งเอาไว้ มันก็ต้องพลิกหงายท้องลงไป เหตุการณ์ที่เกิดเป็นไปในลักษณะแบบนี้ครับ”

ความผิดพลาดในการทำงาน หรืออุบัติเหตุ :

อุปนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ตอบทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ในประเด็นนี้ว่า...

“จะเรียกว่าความผิดพลาด หรืออุบัติเหตุ มันก็ไม่เชิง ผมขอเรียกว่า มันเป็นเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดมากกว่า เพราะมีอยู่ 2 ช่วงที่เขาจะทำการซ่อมแซม ช่วงอีกฝั่งหนึ่งที่เขาใช้วิธีการเดียวกันมันทำเสร็จเรียบร้อยไปแล้ว ทำให้เบื้องต้นเขาอาจเข้าใจว่าตัวคานขอบน่าจะยังแข็งแรงดี จึงได้ใช้วิธีการแบบเดียวกันในการซ่อมแซม แต่ด้วยอาจจะเป็นเพราะความเสื่อมของเหล็กเสริม หรืออะไรที่อยู่ในคาน ขอบอาจจะมีปัญหา จนกระทั่งทำให้กำลังลดลง แต่น้ำหนักยังเท่าเดิม อีกทั้งในช่วงนั้นการที่มีฝนตกอาจทำให้คอนกรีตชุ่มน้ำฝนจนกระทั่งทำให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น รวมถึงการยังปล่อยให้มีรถวิ่งอยู่เบื้องล่าง การสั่นสะเทือนก็อาจจะมีส่วนที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดเรื่องสลดนี้ขึ้นมา”

นอกจากนี้ จากการสอบถามเจ้าหน้าที่กรมทางหลวง ยังได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จุดที่คานร่วงนั้น เคยมีรถยนต์ไปประสบอุบัติเหตุไฟไหม้ มันจึงอาจจะเป็นไปได้ว่า ความร้อนของไฟอาจจะมีผลกระทบต่อคอนกรีตและเหล็กเสริม ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจมีผลต่อการยึดรั้งจนกระทั่งทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น

การซ่อมแซม :

รองศาสตราจารย์สิริวัฒน์ กล่าวต่อว่า “เนื่องจากการซ่อมแซมครั้งนี้เป็นการดำเนินการของกรมทางหลวงโดยตรง และเพื่อให้เกิดความสบายใจแก่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนที่ผ่านจุดดังกล่าว ผมจึงแนะนำให้ทำการซ่อมแซมเสริมความแข็งแรงเพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยเบื้องต้นคาดว่าน่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 1 สัปดาห์ การซ่อมแซมก็คงจะแล้วเสร็จ และสามารถเปิดการสัญจรได้ตามปกติ”

การตรวจสอบโครงสร้าง :

อุปนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ตอบคำถามในประเด็นนี้ว่า “จากการตรวจสอบโครงสร้างหลักโดยรวม เช่น เสา และฐานราก แล้วพบว่ายังมั่นคงแข็งแรงดีไม่มีปัญหาอะไร ฉะนั้นหลังการซ่อมแซมจึงยังสามารถใช้งานได้ตามปกติเหมือนเดิม”

เหตุใดจึงไม่ปิดถนนขณะกำลังทำการซ่อมแซม :

รองศาสตราจารย์สิริวัฒน์ กล่าวว่า จากการสอบถามเจ้าหน้าที่กรมทางหลวง ยืนยันว่า ในช่วงเวลาที่ทำการรื้อพื้นถนนบนสะพานกลับรถได้มีการปิดการจราจรในเบื้องล่างแล้ว หากแต่เมื่อทำการรื้อพื้นถนนเสร็จสิ้นและเข้าสู่ขั้นตอนที่กำลังทำการผูกเหล็กและเตรียมเทคอนกรีตนั้น การจราจรในเวลานั้นเกิดการติดขัดเนื่องจากมีผู้ใช้รถใช้ถนนจำนวนมากกำลังเดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานคร จึงมีการตัดสินใจเปิดการจราจรพื้นล่างตามปกติชั่วคราวเพื่อช่วยการระบายรถ และกำลังจะปิดการจราจรด้านล่างอีกครั้งเมื่อถึงช่วงที่กำลังจะเทคอนกรีต แต่ก็กลับมาเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นก่อน

...

ส่วนคำถามที่ว่า ในการซ่อมแซมครั้งต่อไป กรมทางหลวงจะมีการปิดถนนพื้นล่างเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนหรือไม่ อุปนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า สำหรับประเด็นนี้คงต้องไปถามเอาจากกรมทางหลวงเอง แต่เนื่องจากมีบทเรียนจากเหตุการณ์นี้มาแล้ว ส่วนตัวจึงเชื่อว่า กรมทางหลวงไม่น่าจะทำผิดซ้ำสอง และใช้ความระมัดระวังให้มากขึ้น.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :