เวลานี้ต้องยอมรับว่า การใช้ “กัญชา” แพร่หลายไปไกลมาก หลายคนนำมาสูบ หรือบางคนก็นำมาบริโภค หรือบางคนก็นำมาทำผลผลิตเพื่อขายทางการแพทย์
“เป้าหมาย” การปลดล็อกกัญชา ก็เพื่อนำประโยชน์จากกัญชา มาใช้ทางการแพทย์ แต่...ดูเหมือนว่า การที่ยังไม่มี “กฎหมาย” ควบคุมโดยตรง จะส่งผลไร้ขอบเขตการใช้งาน และทำให้บางคนใช้ผิดจนเกิดเป็นโทษต่อร่างกายตนเอง หรือผู้อื่นได้
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้อธิบายสภาพกาลเวลานี้ สำหรับ “พืช” กัญชา ที่คล้ายเป็นช่วงสุญญากาศ ว่า เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข เรียกว่าเป็น “เสรีทางการแพทย์” ประชาชนเข้าถึงในการปลูกและนำมาใช้ในประโยชน์ทางการแพทย์มากขึ้น กว้างขวาง โดยตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ. 65 “กัญชา” ไม่ใช่ยาเสพติด แต่คงเป็นสารสกัด โดยหาก THC ไม่ถึง 0.2% จะไม่เป็นยาเสพติด
หลังจากวันที่ 9 มิ.ย. 65 ตามประกาศ ก.สาธารณสุข “กัญชา” ถือเป็น “สมุนไพรควบคุม” เปรียบเหมือนกับ “ใบยาสูบ” การปลูกต้นยาสูบ ไม่ได้มีปัญหาในประเด็น “ยาเสพติด” แต่เมื่อนำผลิตเป็นยาสูบ ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ หรือยาเส้น ก็จะเข้าหลักเกณฑ์ “การบริโภคยาสูบ” เช่น จะไม่มีการวางโชว์เหมือนบุหรี่ ห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี
...
“อนาคต “กัญชา” จะเป็นสมุนไพรที่ถูกควบคุม แต่...เวลานี้กฎหมาย ควบคุมกัญชา คือ พ.ร.บ.ควบคุมกัญชา กัญชง เพิ่งจะผ่านวาระแรก ซึ่งอยู่ในชั้นกรรมาธิการ และต้องไปแปรญัตติอีก ซึ่งถือว่ากฎหมายออกมาไม่ทัน จึงทำให้ ก.สาธารณสุข โดยรองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข (อนุทิน ชาญวีรกูล) ให้มาดูกฎหมาย “ที่มีอยู่” เพื่อนำมา “พอที่จะ” บังคับใช้ดูแลเรื่องกัญชาได้ ซึ่งที่มีอยู่ประกอบด้วย
1. พ.ร.บ.สาธารณสุข การสูบกัญชา เกิดเป็นควัน ก่อให้เกิดเหตุความรำคาญ ทำให้มีความผิด
2. พ.ร.บ.สมุนไพร โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์ควบคุม โดยเฉพาะการนำไปแปรรูปเป็นอาหาร หรือเครื่องดื่ม โดยกำหนดว่าต้องมาขออนุญาต และจดแจ้งว่าส่วนผสมเป็นอย่างไร โดยมีข้อกำหนดเรื่องสัดส่วนที่มีความปลอดภัย...
“หากนำมาปรุงเป็นอาหาร ลักษณะ “ร้านอาหารตามสั่ง” จะมีข้อกำหนดของกรมอนามัยควบคุม เวลานี้ทุกกรมฯ พยายามดูอำนาจภายใต้กรอบกฎหมายที่มีอยู่ เพื่อให้นำ “กัญชา” ไปใช้อย่างปลอดภัย ไม่ใช้แบบ “สันทนาการ” ซึ่งการใช้ในลักษณะนี้ยังถือเป็นเรื่องผิดตาม “อนุสนธิสัญญาเดี่ยว” ที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้กับ องค์การสหประชาชาติ”
เมื่อถามว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้คล้ายกับเป็นช่องว่าง “สุญญากาศ” ไม่มีกฎหมายควบคุมโดยตรง...นพ.ขวัญชัย กล่าวว่า สิ่งที่ทำได้คือ ต้องพยายามเดินหน้ากฎหมายกัญชากัญชงออกมาโดยเร็ว ซึ่งตามกระบวนการนิติบัญญัติต้องใช้เวลา 60 หรือ 90 วัน หรือจะทันสมัยประชุมนี้หรือไม่ สิ่งที่ทำได้ก็ต้องใช้กฎหมายที่มีอยู่ควบคุมไปก่อน
การกิน VS การสูบ ผลลัพธ์แตกต่าง
นพ.ขวัญชัย ได้อธิบายถึงการสูบและการนำมาแปรรูปบริโภคว่า ให้ผลที่แตกต่างกัน ดังนี้
การสูบ : ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “มาเร็ว เคลมเร็ว” เรียกว่า ดูดซึมเข้ากระแสโลหิตทันที ไปจับกับ receptor (หน่วยรับความรู้สึกในสมอง) โดยจะมีอาการมึนเมา เคลิบเคลิ้ม ภาษานักสูบเขาก็บอกว่า เหมือนขึ้นสู่สรวงสวรรค์ แต่มันอยู่ได้ 30 นาที
การกิน : จะดูดซึมช้า เพราะต้องไปย่อยสารอาหารในลำไส้เล็ก ดูดซึมเข้ากระแสเลือด และไป receptor ซึ่งกว่าจะเริ่มออกฤทธ์จะช้าไปประมาณ 30 นาที แต่จะอยู่นาน 4-6 ชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับการย่อยและดูดซึมของร่างกายแต่ละคน)
THC คือ สารที่ทำให้เมา ส่วนมากจะละลายกับกลุ่มไขมัน ฉะนั้นอาหารประเภท “เบเกอรี่” ที่มีการใส่มันเนย นม พอผสมกัญชาเข้าไป โดยเฉพาะ ช่อ ดอก (ห้ามใช้ผสมอาหาร) ดังนั้นเมื่อสาร THC จำนวนมากไปอยู่ในช็อกโกแลต ขนมปัง หากกินเยอะก็จะมีอาการเยอะ รวมไปถึงหากไปผสมกับแอลกอฮอล์ เช่น ยาดอง สาร THC จะออกมาเยอะ ทำให้เกิดอาการเมาเยอะ ส่วนการสกัดโดยใช้ “น้ำ” เช่น ไปทำน้ำชา สาร THC ก็จะออกมาน้อย
แบบนี้แปลว่า กลุ่มแอลกอฮอล์ กับ เค้ก ผสมกับกัญชาแล้วจะทำให้มีโอกาสเมา มากกว่า นพ.ขวัญชัย บอกว่า ควรระมัดระวังมากกว่า เป็นไปได้แค่จิบๆ ชิมดูก่อน ซึ่งเบเกอรี่บางอย่างมีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มด้วย (ตอนนวดแป้ง) ซึ่งก็จะมีผลเช่นเดียวกัน คือ เมา คลื่นไส้ อาเจียน หรือน้ำตาลตก
...
การแก้ไขอาการเมากัญชา
การสูบ : ให้ดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวาน หรือเปรี้ยว แค่ครู่เดียวก็จะมีอาการดีขึ้น เพราะได้น้ำตาล เกลือแร่เข้าสู่ร่างกาย ก็จะทำให้อาการที่เกิดขึ้นบรรเทาลงไป หรือถ้าไปนอนพักสักหน่อยก็จะดี
การกิน : ให้ดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวาน หรือเปรี้ยว แต่การกินจะเมาหนัก เมาค้างหนักกว่า ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องให้เครื่องดื่มดังกล่าวหลายๆ ครั้ง เช่น ให้ดื่ม 1 ครั้งแล้วเว้นไป 15-20 นาที ก็ให้ดื่มครั้งที่ 2 หรือครั้งที่ 3
อาการแพ้กัญชา อาจถึงตาย
เมื่อถามถึงคนที่มีอาการแพ้ จะระมัดระวังตัวอย่างไร และจะรู้ได้อย่างไรว่าแพ้ นพ.ขวัญชัย อธิบายว่า ร่างกายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้นเราไม่สามารถเอาร่างกายคนอื่นมาเป็นมาตรฐานวัดกับตัวเรา ถือเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ ฉะนั้นหากใครคิดจะลองใช้ไม่ว่าเป็นการกิน หรือสูบ จำเป็นต้องทดสอบตัวเองก่อน หากเป็นการใช้ครั้งแรก ควรใช้ “น้อยที่สุด” ก่อน เพราะคนที่แพ้จะออกอาการทันที หากสูบเข้าไปก็จะรู้ผลลัพธ์ทันที ส่วนคนที่กินก็จะรู้ผลภายใน 30 นาที
...
ยกตัวอย่าง เครื่องดื่มผสมกัญชา คนไม่เคยกิน ควรจิบๆ หรือกินเพียง 1 ส่วน 4 ของแก้ว จากนั้นรอดู พอร่างกายเริ่มดูดซึมเข้าร่างกาย คนที่แพ้ก็จะออกอาการทันที คือจะเมา อาเจียน
คนที่มีปัญหาส่วนใหญ่ คือ คนที่เริ่มต้นใช้กัญชา แต่ใช้จำนวนมาก
นพ.ขวัญชัย ย้ำว่า สำหรับคนที่แพ้จริงๆ จะเกิดอาการเวียนหัว โลกหมุน ล่องลอย หัวใจเต้นแรง เหงื่อออก น้ำตาลตก ชีพจรตก ถ้าร้ายแรงต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล ซึ่งนำไปสู่อาการช็อกเสียชีวิตได้ ซึ่งหากช่วยเหลือด้วยการฉีดกลูโคสเข้าเส้นเลือด อาการก็จะดีขึ้น
“ผมมีประสบการณ์กับตัวเช่นกัน คือ เราไปร่วมงานกัญชา โดยชิมอาหารที่มีส่วนผสมกัญชาไปหลายบูธ พอตกบ่าย เหมือนกับเราตัวลอยเลย เท้าไม่ได้ติดดิน พอมีอาการก็ต้องไปนั่งพัก สั่งเครื่องดื่มรสหวาน รสเปรี้ยวมา ต้องใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง ถึงจะดีขึ้น” นพ.ขวัญชัย เล่าประสบการณ์ตรง
ข้อควรระวัง สำหรับการใช้ในทาง “รักษา”
สำหรับคนที่ไม่เคยลองใช้เพื่อการรักษา รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะนำว่า ควรจะเริ่มใช้น้อยๆ ก่อน เช่น บางคนให้กินยาดองเหล้าผสมกัญชา ช่วยแก้ปัญหาปวดขา ปวดเข่า เราอาจจะทดลองก่อน ด้วยการใช้แค่ 1 ช้อนโต๊ะ จากนั้นรอดูอาการ 30 นาทีว่าแพ้หรือไม่ ถ้าไม่แพ้ แล้วอาการดีขึ้น เราก็กินต่อ จากนั้นก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ต้องไม่เยอะมากเกินไป
"เราอย่าบริโภคเป็นสันทนาการ ให้ใช้เป็นยา โดยต้องค่อยๆ เริ่มต้นกินน้อยๆ ก่อน เมื่อเพิ่มจนได้ในระดับได้สรรพคุณที่ต้องการแล้ว ก็เพียงพอ เช่น ช่วยให้นอนหลับ ก็ทดลองเพิ่มจนทำให้เราหลับสบายก็เพียงพอ เพราะการบริโภคเพิ่มขึ้น สรรพคุณก็ไม่เพิ่มขึ้น..."
นพ.ขวัญชัย อธิบายเพิ่มว่า ปกติร่างกายเราจะผลิตสารที่คล้ายกับกัญชาอยู่แล้ว เรียกว่า “เอ็นโด แคนนาบินอยด์” แต่บางครั้งร่างกายผลิตไม่เพียงพอ หรือมีปัญหาว่าร่างกายของเราไม่ไปจับสารดังกล่าวนี้ ทำให้ร่างกายรับไม่เพียงพอ
...
ดังนั้นการใช้กัญชาซึ่งมีสาร “แคนนาบินอยด์” (Cannabidiol หรือ CBD) จากพืช เมื่อเราเติมเข้าไป ก็จะช่วยกระตุ้น เพื่อจับกับ receptor (หน่วยรับความรู้สึก)
“ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมติร่างกายเรามี receptor อยู่ 10 ตัว แต่ร่างกายสร้าง “เอ็นโด แคนนาบินอยด์” ออกมาแค่ 2 ตัว ยังเหลืออีก 8 ตัวที่ว่างอยู่ หากเราเสริมเข้าไป และเข้าไปจับครบ 8 ตัวก็เพียงพอแล้ว หากกินเข้าไป 20 ตัว มันก็จับไม่ได้ เพราะมัน receptor จับได้แค่ 10 ตัว เป็นต้น”
นพ.ขวัญชัย พยายามบอกว่าทุกคนที่คิดจะลองใช้ว่า ใช้มากไปก็ไม่มีประโยชน์
ปมเสียชีวิตจาก “กัญชา” กับปริมาณที่ทำให้ตาย!
เมื่อถามว่า ล่าสุดพบว่ามีการแถลงข่าวมีการเสียชีวิตจากการเสพกัญชา 1 ราย และเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลอีก 3 รายนั้น นพ.ขวัญชัย กล่าวว่า อยากจะให้มีการสอบสวนการเสียชีวิต จำเป็นต้องเก็บข้อมูลการเสียชีวิต หรืออาการกำเริบทั้ง 4 รายให้ละเอียด
โดยเฉพาะชายวัย 51 ปีที่เสียชีวิต ทราบว่าก่อนเสียชีวิตได้เสพกัญชาเขาไป หลังจากนั้น 2-3 ชั่วโมงก็มีอาการหัวใจหยุดเต้น ซึ่งเรื่องนี้ต้องตรวจสอบว่าเกี่ยวข้องกับกัญชา 100% หรือไม่ เราต้องให้แพทย์ชันสูตรให้ชัดเจน ต้องตรวจสอบว่ามีโรคประจำตัวหรือไม่ นอกจากเสพกัญชาแล้วมีการเสพยาตัวอื่นร่วมด้วยหรือไม่
นพ.ขวัญชัย เผยว่า เพราะจากการศึกษาวิจัย การเป็นพิษในกัญชา โดยการทดลองในสัตว์ เช่น หนู หรือกระต่าย โดยการนำสาร THC ฉีดเข้าไปเพื่อหาดูว่า สาร THC จะทำให้หนู หรือกระต่าย เสียชีวิตไปครึ่งหนึ่ง ถ้ามีการฉีดแล้วในปริมาณสาร THC สูงมากแล้วสัตว์ตาย ก็จะมองว่าสารนี้ยังมีความปลอดภัย ซึ่งผลการทำลองพบว่า ต้องฉีดไปถึง 800 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ถึงจะทำให้หนูตาย ซึ่งเป็นปริมาณที่สูงมากๆ
ถ้าสาร THC จำนวน 800 มิลลิกรัมจากการสูบ ต้องสูบด้วยจำนวนมหาศาลมาก ซึ่งการสูบกัญชาในความเป็นจริง คนไม่ได้สูบเยอะขนาดนั้น เพราะสูบน้อยๆ ก็ล่องลอย จากนั้นก็ค่อยกลับมาสูบใหม่ ฉะนั้นที่บอกว่า การตายโดยมีสาเหตุจาก “กัญชา” นั้น ต้องมีการสอบสวนโรคที่ชัดเจนก่อน....
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ