ใกล้เข้ามาทุกที สำหรับ การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่จะลงคะแนนในวันที่ 22 พ.ค.นี้ ซึ่งคราวนี้มีผู้สมัครมากถึง 31 คน โดยมีคนเด่นคนดัง ร่วมสมัครมากมาย อาทิ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร, นายสกลธี ภัททิยกุล นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รวมไปถึงอดีตผู้ว่าฯ กทม. อย่าง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง
แน่นอนว่า การเป็นผู้ว่าฯ เมืองหลวงมีงานรอให้เข้ามาแก้ปัญหา และพัฒนามากมาย ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพิเศษ ได้พูดคุยกับ ดร.พิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าฯ กทม. เมื่อปี 2539 ซึ่งปัจจุบันนี้ กลายเป็นหนึ่งในพลังสำคัญของทีมนาย “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ที่เวลานี้ต้องบอกว่า มีคะแนนนำทุกโพล...
นายพิจิตต เล่าย้อนให้ฟังว่า หลังจากพ้นตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ไป ก็ไปทำงานด้านวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ไปเป็นที่ปรึกษาองค์กรจัดการภัยพิบัติแห่งเอเชีย นอกจากนี้ ยังไปร่วมกับ 17 องค์กรมหาวิทยาลัย โดยเขาชวนให้ไปเป็นผู้ประสานงาน ร่วมกันเรียนรู้ด้านภัยพิบัติและพัฒนาคนให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ กว่า 200 คน โดยมีการประชุมทางวิชาการ และทำงานวิจัยร่วมกัน โดยผู้ที่ได้รับประโยชน์ คือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
“แม้จะไม่ได้ดำรงตำแหน่งอะไร แต่ก็ทำงานด้านนี้มาตลอด ซึ่งผมก็มีโอกาสเจอกับ “อาจารย์ชัชชาติ” ตั้งแต่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย และเรามาเจอกันอีกครั้งช่วงวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ 2554 ตอนนั้น เราในฐานะประชาชนก็ลงไม้ลงมือ ช่วยขนกระสอบทราย โดยจุดที่มีปัญหามากที่สุด คือ ทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ บริเวณอนุสรณ์สถาน เราจึงมีโอกาสพูดคุยกัน เห็นว่าทางราชการได้ใช้กระสอบทรายขนาดเล็กมากั้น ซึ่ง “เอาไม่อยู่” เราจึงนั่งคิดกัน โดยหารือกับ “อาจารย์ชัชชาติ” สมัยทำงาน ก.คมนาคม และร่วมกัน จัดทำ “Big Bag” ขึ้นมา เราได้ร่วมงานตรงนั้น เห็นถึงบุคลิกที่เป็นคนตัดสินใจเร็ว แต่รอบคอบ มีการชั่งตวงวัด ผลดีผลเสีย ใครได้หรือเสียประโยชน์ และก็ทำงานด้วยกัน จึงเห็นว่า “เหมาะ” กับงานของเมือง อย่างเช่น กทม.”
...
อดีตผู้ว่าฯ กทม. อย่างนายพิจิตต บอกว่า เราได้คุยกันเรื่องการลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งเราเห็นพ้องร่วมกันว่า “ไม่ควรลงในนามพรรคการเมืองใดเลย” ควรจะเป็น “อิสระ” เพราะการสังกัดพรรคการเมือง หากมีการเลือกตั้งครั้งหน้า มีพรรคอีกพรรคเข้ามา เจรจากันไม่ได้อีก ซึ่งการไม่สังกัดพรรคนี้เอง จึงเป็นข้อดี ว่าจะไม่ถูกครอบงำ ชี้นำในการทำงาน ไม่สามารถสั่งให้เราต้องนำงบไปลงเขตไหน เพราะมี ส.ส. เขตนั้นอยู่
คุณภาพชีวิตคน กทม. ต้องแก้เป็นอันดับแรก
ทีมข่าวฯ ถาม ดร.พิจิตต ว่า เรื่องไหน ต้องแก้เป็นอันดับแรก ดร.โจ ตอบว่า เรื่องคุณภาพชีวิตคน กทม. ก่อน เพราะคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน ถือว่าเลวลงเรื่อยๆ ทั้งอากาศเป็นพิษจาก PM 2.5 ความแออัดของคน ขัดสาธารณูปโภค ต่างๆ โดยเฉพาะ ขนส่งมวลชน เมื่อก่อนคิดว่า รถขาด ก็เพิ่มรถเมล์เข้าไป แต่ปัจจุบันมีรถไฟฟ้า ก็มีปัญหาแออัด ซึ่งเรื่องนี้เราจำเป็นต้องปรับให้ดี นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องบาทวิถี ซึ่ง กทม. มีบาทวิถีกว่า 3 พันกิโลเมตร แต่เรากลับใช้ทางเดิน ไม่เป็นปกติ ยังไม่รวมผิวจราจร ที่ทุกวันนี้แทบจะเป็น “ดวงจันทร์” ยังไม่รวมปัญหาสุขภาพ
“งานแรกที่ ผู้ว่าฯ ต้องทำ คือ ต้องแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตคน กทม. ให้ดีขึ้นบ้าง อย่างน้อยต้องแก้ให้เห็นผลอย่างน่าพอใจ ในระยะสั้นที่สุด งานประเภท ก่อสร้างต่างๆ ใช้อิฐ หิน ปูน ทราย พวกนี้อย่าเพิ่งไปสนใจ เอางานด้านคุณภาพชีวิตนี้ให้ดีก่อน”
ทำไม ผู้ว่าฯ หลายคนไม่สานต่องานคนเดิม...
อดีตผู้ว่าฯ ยอมรับว่า มีหลายเรื่อง ที่อดีตผู้ว่าฯ ได้ทำไว้ และถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็มี อดีตผู้ว่าฯ หลายคนที่คิดว่า ไม่ใช่งานที่ริเริ่ม จึงไม่สานต่อ แต่เชื่อว่าหลังจากนี้จะทำไม่ได้ เนื่องจากปัจจุบันมีโซเชียลมีเดีย และกระแสชุมชนต่างๆ เกิดขึ้น หากมีโครงการไหนดี หรือ ไม่ดี ต้องตอบคำถามชุมชนได้ ดังนั้น จะแกล้งทำเป็นลืม งานดีๆ ของผู้ว่าฯ คนเก่า แบบนี้ก็ทำไม่ได้ หรือคิดจะทำโครงการห่วยๆ มา ก็ไม่ได้ เพราะจะถูกถามว่า ทำไปเพื่ออะไร
เมื่อถึงตรงนี้ จึงย้อนถามว่า งานเก่าๆ สมัยผู้ว่าฯ ที่ชื่อ “พิจิตต” อยากกลับมาทำมีไหม ดร.โจ ถึงกับหัวเราะ ตอบว่า เข้าใจว่าเยอะเหมือนกัน แต่ไม่กล้าแสดงความไม่พอใจ เอาเป็นว่าถ้า “คุณชัชชาติ” ชนะ ผมก็จะผลักดันงานเก่าๆ ที่เคยทำไว้กลับมาทำอีก เช่น “โครงการหนวดปลาหมึก” คือสายไฟบนเสาไฟฟ้า ถนนปลอดขุด 10 ปี เช่น ศูนย์บัญชาการขณะเกิดเหตุภัยพิบัติ หรือ จะเพิ่มด้วยการทำทางม้าลายให้มีไฟกะพริบ หรือ สะท้อนแสง เป็นต้น
...
ปัญหาที่คนกรุงเทพฯ ร้องเรียนมากที่สุด
จากหัวข้อข้างต้น ดร.พิจิตต บอกว่า ข้อมูลจากศูนย์ร้องเรียน กทม. 1555 เรื่องที่คนกรุงเทพฯ ร้องเรียนมากที่สุด ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรเลย ส่วนมากเป็น “เรื่องเล็กๆ” ทั้งนั้น เช่น โครงการเอกชน หรือ รัฐมาก่อสร้าง ทำให้บ้านเรือนประชาชนทรุด ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ ฟุตปาท เดินไม่ได้ หรือ บางพื้นที่น้ำท่วมขังซ้ำซาก ในจุดย่อยๆ เก็บขยะไม่ตรงเวลา รถควันดำ ปล่อยเข้าอาคารพาณิชย์ ถูกเจ้าหน้าที่รัฐ มาข่มขู่เรียกทรัพย์สิน หรือ หัวแดง จุดถังดับเพลิง
แล้วเมื่อถามว่า ปัญหาเล็กๆ ที่ว่า ทำไมแก้ไขกันไม่ได้ ดร.โจ เชื่อมั่นว่า คุณชัชชาติ จะช่วยแก้ไขได้ ไม่ใช่ว่าผมจะหลับหูหลับตาเชียร์ แต่คิดว่า บุคลิกแบบคุณชัชชาติ จะแก้ไขได้ ถึงแม้คนนั้นจะไม่ชัชชาติ ยกตัวอย่างผู้สมัครคนอื่น ที่บุคลิกเหมือนกัน ก็เชื่อว่าแก้ได้
“คนที่จะมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. ต้องเป็นคนที่มีลักษณะกระโจนเข้าใส่ปัญหา ต้องไม่ใช่คนทำงานฉาบฉวย หรือ มาเพื่อตัดริบบิ้นเปิดงาน หรือ จะสั่งให้ข้าราชการ กทม. ทำงานอย่างเดียว ผมบอกเลยว่า “การสั่ง” งานไม่เกิดนะครับ เหมือนผู้บริหารเราบางคน ที่บอกว่า สั่งให้แก้ไขปัญหาแล้ว.. ผมถามว่า สั่งยังไง สั่งแบบไหน ทำไมถึงไม่เกิดการแก้ปัญหา ซึ่งคนจะเป็นผู้ว่าฯ มันต้องติดตามปัญหา แบบ “จิกเรื่องให้จบ” ตำแหน่ง ผู้ว่าฯ กทม. เหมือนคนดูแลบ้าน หากคนดูแลบ้านนั่งอืด แล้วข้าราชการ กทม. ไม่ใช่ว่าเขาไม่อยากทำงาน เขาอยากทำงาน แต่ถ้าผู้นำเขาไม่ทำ เขาก็ไม่ทำ ผมเชื่อว่า ข้าราชการ กทม. เขาก็อยากทำงาน เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากชาวบ้าน”
...
ฝากอะไรถึง “ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.”
ดร.พิจิตต กล่าวสั้นๆ ว่า ขอให้ขยันทำงานเหมือนตอนหาเสียง อย่านึกว่า พอชนะการเลือกตั้งไปแล้ว จะนั่งสบายๆ เหมือน รัฐมนตรี หรือ รัฐมนโท แบบนี้ถือว่า เข้าใจผิด ถ้าเป็นแบบนี้อย่ามาสมัครเลยดีกว่า... แต่ก็มีสมัครแล้วกว่า 30 คน แต่ก็หวังว่าผู้สมัครทั้ง 30 กว่าคน จะคิดแบบผม...ทำผิดทำถูกพออภัยได้ แต่ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย แล้วคอยให้ข้าราชการ กทม. กว่า 8 หมื่นคนช่วยกันแก้
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ