หลัง “เรา” ได้ร่วมกันย้อนอดีตปมปัญหาความขัดแย้งที่นำไปสู่ความร้าวฉานร่วม 30 ปี และบทวิเคราะห์การเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียครั้งสำคัญของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กันแล้วใน ไทย-ซาอุดีอาระเบีย EP.1 จากความขัดแย้งสู่ศักราชใหม่

ก้าวต่อไปที่น่าจับตาหลังการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียคืออะไร และรัฐบาลไทยควรเตรียมความพร้อมสำหรับการตั้งรับเงินทุนและต่อยอดการค้าขายระหว่างทั้งสองประเทศอย่างไร ทั้งหมดนี้คือหัวข้อการสนทนาระหว่าง ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ กับ ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม อาจารย์คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลาง และ นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในวันนี้

ประโยชน์ที่จะได้รับหลังการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ :

“ในความเห็นผมคิดว่า ไทยจะเป็นฝ่ายได้ประโยชน์จากซาอุดีอาระเบีย มากกว่าการที่ซาอุดีอาระเบียจะได้ประโยชน์จากไทย หลังการรื้อฟื้นความสัมพันธ์”

ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลาง กล่าว

“เบื้องต้น ต้องแสดงความยินดีกับรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่สามารถรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตกับซาอุดีอาระเบียได้เป็นผลสำเร็จ แต่แม้จะถือว่าประสบความสำเร็จในหลักการด้านการทูตแล้ว

...

แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นภายในระยะเวลา 3 เดือนหลังจากนี้ คือ รัฐบาล ระบบราชการ และภาคเอกชนของเรา จะมีการวางแผนและเตรียมพร้อมแค่ไหนสำหรับเงินทุนจากซาอุดีอาระเบียที่จะหลั่งไหลเข้ามา เพื่อไม่ให้สูญเสียโอกาสไปโดยเปล่าประโยชน์”

นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

แรงงานไทย :

มุมมอง ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม :

แรงงานฝีมือและภาคบริการของไทยในอดีตที่ผ่านมา ก่อนเกิดวิกฤติความสัมพันธ์ ได้รับการยอมรับอย่างสูงในประเทศซาอุดีอาระเบีย และยังถือเป็นการตอบโจทย์สำคัญให้กับอภิมหาเมกะโปรเจกต์ต่างๆ จาก Vision 2030 ในซาอุดีอาระเบียด้วย

แต่อย่างไรก็ดี รัฐบาลจะต้องหาทางแก้ไขปัญหาแรงงานไทยถูกเอารัดเอาเปรียบจากบรรดานายหน้าไว้ให้ดี เพราะในสมัยก่อนที่จะเกิดความขัดแย้งเมื่อกว่า 30 ปีก่อนนั้น แรงงานไทยเคยได้รายได้สูงถึงเดือนละ 50,000 กว่าบาท

แต่พอเริ่มมีจำนวนแรงงานไทย รวมถึงแรงงานจากชาติอื่นๆ แห่เข้ามาในซาอุดีอาระเบียเพิ่มมากขึ้น แรงงานไทยถูกบรรดานายหน้าแอบหักค่าหัวคิว หรือเอาไปเร่ขายในราคาถูกๆ จนเหลือเงินเดือนเพียงไม่ถึง 20,000 บาท เช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต

การวิเคราะห์ของ นายกษิต ภิรมย์ :

“คำถามของผม คือ ในเมื่อซาอุดีอาระเบียต้องการแรงงานไทยจำนวนมาก แล้วเพราะเหตุใดในอดีตแรงงานไทยของเรา จึงต้องเสียเงินเป็นแสนๆ บาท เพื่อจะเข้าไปทำงานที่ซาอุดีอาระเบียกันด้วย จริงๆ มันอาจจะต้องฟรีเสียด้วยซ้ำใช่หรือไม่

มันจึงนำไปสู่คำถามที่ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพราะมีข้าราชการ หรือนักการเมืองไทย เข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ใช่หรือไม่”

ด้วยเหตุนี้ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จึงได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า รัฐบาลไทยควรมีการศึกษาหาข้อมูลที่ชัดเจนว่า ณ ปัจจุบัน ซาอุดีอาระเบีย ยังต้องการแรงงานในจำนวนเท่าไร งานประเภทไหนที่ยังขาด อัตราค่าแรงที่ควรจะได้รับอยู่ที่เท่าไร หรือมีบริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงแรงงานแล้วหรือยัง เพราะมิเช่นนั้นอาจเป็นการเปิดช่องให้นักการเมือง หรือข้าราชการ เข้าไปพัวพันเพื่อหาผลประโยชน์กับการหักค่าหัวคิวแรงงานไทย เช่นที่เคยเกิดขึ้นในอดีต จนนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ลุกลามตามมามากมาย

ขณะเดียวกัน รัฐบาล กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงแรงงานเอง จะต้องมีการเร่งประสานการทำงาน เพื่อเตรียมความพร้อมในการดูแลและปฏิบัติกับแรงงานไทยให้ตรงตามเงื่อนไขและกฎเกณฑ์ในการดูแลแรงงานตามมาตรฐานสากลของ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO (International Labour Organization) เพื่อป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบด้วย

อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญสำหรับแรงงานไทยที่จะไปทำงานในซาอุดีอาระเบียต้องจดจำไว้ให้ดี คือ แรงงานมีฝีมือเท่านั้นจึงจะได้รับค่าแรงในระดับสูง เพราะแรงงานไร้ฝีมือนั้น ปัจจุบันมีแรงงานจากประเทศในเอเชียใต้ รวมถึง พม่า เข้าไปทำงานแล้วจำนวนมาก

...

การค้าขายและการลงทุน :

มุมมอง ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม :

การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับซาอุดีอาระเบีย มันไม่ใช่เพียงแค่เราจะสามารถค้าขายกับซาอุดีอาระเบียได้ประเทศเดียว แต่การเข้าถึงซาอุดีอาระเบียได้ ก็ย่อมเข้าถึงโลกมุสลิมได้ เพราะซาอุดีอาระเบียถือเป็นผู้นำของโลกมุสลิมฝ่ายสุหนี่ และมีบทบาทสำคัญยิ่งใน OIC ซึ่งมีสมาชิกมากถึง 57 ประเทศ รวมทั้งจะเป็นก้าวย่างสำคัญสู่ Islamic chamber of commerce ได้ง่ายยิ่งขึ้นด้วย ไทยจึงควรหาทางขยายช่องทางทางการค้าต่างๆให้มากขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สินค้าฮาลาล ที่ควรมีการผลักดันอย่างจริงจังให้มากยิ่งขึ้น

การวิเคราะห์ของ นายกษิต ภิรมย์ :

การลงทุน :

“ในความเห็นส่วนตัวผมคิดว่า ตลาดหุ้นไทย อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจพลังงาน น่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจของไทย ที่ทุนจากซาอุดีอาระเบีย น่าจะให้ความสนใจเป็นลำดับแรกๆ”

แต่คำถามของเรื่องนี้ คือ กระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI มีการวางแผนเพื่อเตรียมความพร้อมทั้งในเรื่องหลักเกณฑ์และกฎหมายต่างๆ เพื่อตั้งรับเงินลงทุนจากซาอุดีอาระเบียมากน้อยแล้วเพียงใด

...

และทั้งหมดนี้ คือ ความเห็นที่น่ารับฟังสำหรับการต่อยอดความสำเร็จเพื่อให้การฟื้นความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบียครั้งนี้เดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคงมากยิ่งขึ้น

ข้อมูลเพิ่มเติม :

“นักท่องเที่ยวจากซาอุดีอาระเบียมากกว่า 100,000 คน จะเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศไทยภายในปี 2024 และมูลค่าการค้าขายระหว่างสองประเทศจะเพิ่มขึ้นจาก 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (329,590 ล้านบาท) เป็น 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.3 ล้านล้านบาท) ภายในอีก 3 ปีข้างหน้า (ปี 2025)

ส่วนการจ้างแรงงานไทยนั้น เบื้องต้นมีตำแหน่งงานว่างมากกว่า 220,000 ตำแหน่ง ที่รองรับแรงงานไทยอยู่ในอีก 5 ปีข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็น งานก่อสร้าง, อู่ซ่อมรถ, งานโครงสร้างพื้นฐาน, พยาบาล, เกษตรกรรม, การประมง และธุรกิจโรงแรม”

Abdullah Al-Maghlouth จากสมาคมเศรษฐกิจซาอุดีอาระเบีย (Saudi Economic Association) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว Arab News ของซาอุดีอาระเบีย ในระหว่างการเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียของนายกรัฐมนตรี

...

Public Investment Fund หรือ PIF

PIF กลจักรสำคัญในการขับเคลื่อน Vision 2030 อยู่ภายใต้การดูแลของ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย คือ กองทุนที่มั่งคั่งและมีอิทธิพลมากที่สุดกองทุนหนึ่งของโลก โดยนับตั้งแต่มีการก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2514 จนถึงปัจจุบัน PIF มีความมั่งคั่งรวมแล้วมากกว่า 3.2 แสนล้านปอนด์!

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ