ตอนนี้หลายธุรกิจเริ่มคลายล็อกดาวน์ โดยเฉพาะร้านอาหาร (ทั้งในห้างและริมทาง) ร้านสปา (นวดได้แต่เท้า) รวมไปถึงห้างสรรพสินค้า และก็แน่นอน พอคลายล็อก คนก็ล้นทะลักแห่ใช้บริการกันแน่นขนัด โดยเฉพาะอาหารประเภท “หมูกระทะ” ทั้งแบบไฮโซหรือโลโซ

แต่...ก็ยังมีอีก 1 ธุรกิจ ที่โดนก่อน ปลดล็อกทีหลัง ซึ่งเป็นธุรกิจคล้ายกับสปา นั่นก็คือ “ฟิตเนส”

เมื่อกลางเดือนมิถุนายน ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้มีโอกาสพูดคุยกับ หนึ่ง ธันย์ปวัฒน์ เตชภูวดลวิทิต ผู้จัดการกีฬาเพาะกายทีมชาติไทย ในฐานะที่ปรึกษาสมาคมเพาะกายฟิตเนสแห่งประเทศไทย และเจ้าของ ActLife Fitness Club ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจด้านสุขภาพนี้

คราวที่แล้ว คุณหนึ่ง คาดว่าน่าจะมีฟิตเนส สิ้นลมหายไปใจแล้วกว่า 50% หรือราว 2,500 จาก 5,000 แห่ง

เมื่อถามอีกครั้ง เวลาคล้อยหลังไปราว 2 เดือนเศษ คำแรกที่เอ่ยขึ้นคือ “โอ้โห...มันหนักจนไม่รู้จะแบบไหนกันแล้ว คาดว่าช่วงเวลาที่ผ่านมา น่าจะมีผู้ประกอบการ “เลิกกิจการ” ไปแล้วอีกมากกว่า 100 แห่ง”

...

“ผมเข้าใจภาครัฐนะ ว่าทำไมไม่ยอมให้เปิดฟิตเนส และเราไม่อยากจะใช้คำว่า “2 มาตรฐาน" แต่ก็รู้สึกแคลงใจ ที่บอกว่าเราใช้ระบบแอร์ แล้วคำถามคือ ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่รถไฟฟ้า ไม่ใช่แอร์หรือ...ร้านอาหารที่กลับมาเปิดได้ เราก็เข้าใจ เพราะโดนไม่แตกต่างกัน ถามว่าการเปิดแมสก์กินอาหารในห้าง ร้านอาหารห้องแอร์ ถามเสี่ยงไหม แล้วฟิตเนสล่ะ มันควรจะผ่อนปรนไหม”

ที่ปรึกษาสมาคมเพาะกายฟิตเนสแห่งประเทศไทย เผยว่า ภาพรวมของธุรกิจฟิตเนส ถือเป็นจุดตกต่ำที่สุด ตั้งแต่มีวงการนี้มา มันไม่มีใคร หรืออะไรยื่นมาช่วย ถามว่าฟิตเนสไม่ได้ติดแอร์ทั่วประเทศ มีไหม คำถามคือ ทำไมต้องสั่งปิดหมด ก็เหมือนสวนสาธารณะ ก็แค่ให้เขาเปิด แค่เปิด เทรนเนอร์ก็มีงานทำ พาลูกค้าเข้ามาสอนได้

“ทุกวันนี้เทรนเนอร์ ไปขับวิน จยย. ขับแกร็บ บางคนไปเป็นแอดมินขายกางเกงใน ซึ่งเราไม่ได้ดูถูกอาชีพนะครับ แต่บางครั้งต้องเข้าใจว่า คนเราไม่มีทางเลือก จากรายได้ที่เคยได้ชั่วโมงละ 800-1,000 บาท เหลือวันละ 300 บาท แต่ก็ต้องทำ ที่ผ่านมาภาครัฐบอก “สู้นะๆๆ” คำถามคือ จะสู้ยังไง...เงินไม่มีจะกินจริงๆ”

4 ข้อเรียกร้องต่อลมหายใจธุรกิจ “ฟิตเนส”

ตอนนี้เรากำลังเดินหน้าจัดตั้งสมาคมออกกำลังกายแห่งประเทศแล้ว ไม่ใช่เป็นกลุ่มแบบเดิมแล้ว เพื่อรวบรวมผู้ประกอบการออกกำลังกาย และผู้ฝึกสอนทุกชนิดกีฬา เพื่อให้ได้ฐานเสียงและข้อมูล เพื่อเวลาเราจะไปพูดอะไร จะได้มีข้อมูลรองรับ โดยมีคนเข้าร่วมมากกว่า 5 พันคนแล้ว ซึ่งทุกคนล้วนได้รับผลกระทบ รวมถึงผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเดินหน้าไปด้วยกัน

“เราพร้อมมากถึงขนาด จัดหลักสูตรออกกำลังกาย เพื่อใช้หลังวิกฤติโควิดไปแล้ว โดยมีเหล่าผู้ประกอบการทั้งหลายช่วยกันดูแลหลักสูตร”

สำหรับข้อเรียกร้องที่คุยกัน กับผู้ประกอบการทั่วประเทศ และเหล่าผู้เดือดร้อนทั้งหมดกว่า 5 พันคน ตกผลึกออกมา 4 ข้อ

1. ขอให้พวกเราเปิดกิจการได้
2. เข้าถึงแหล่งเงินกู้ ดอกเบี้ยต่ำ Soft Loan
3. ช่วยเหลือเรื่องค่าน้ำ-ไฟ เช่นการผ่อนชำระ ในช่วงแรก 6 เดือน เพื่อประคองตัวเองก่อน
4. หากลูกค้าจ่ายค่าสมาชิกสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ เพื่อกระตุ้นในการออกกำลังกาย เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐสนับสนุนให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี และไม่เสียเงินเปล่า...

ข้อที่สำคัญที่สุดข้อหนึ่งคือ เงินกู้ Soft Loan โดย นายธันย์ปวัฒน์ ระบุว่า รายได้ของฟิตเนส หลักๆ มาจากค่าสมาชิก ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงวันนี้ (8 ก.ย.) ราว 8 เดือน ยังไม่มีเงินเข้าแม้แต่บาทเดียว ถ้าเดือนนี้เปิด กว่าผมจะได้ค่าสมาชิกก็ต้องบวกไปอีก 8 เดือน ที่เรายกยอดค่าสมาชิกมาให้เขา

คำถามคือในช่วง 8 เดือนข้างหน้านี้เราจะทำยังไงให้พวกเรารอดชีวิต...?

...

ที่ปรึกษาสมาคมเพาะกายฟิตเนสแห่งประเทศไทยเชื่อว่า แม้รัฐจะให้เปิดฟิตเนสได้ คำถามคือ จะมีคนมาเล่นไหม ในเมื่อหลายๆ คนยังกลัว และผมประเมินว่า ใน 2 เดือน คาดว่าน่าจะมีสมาชิกมาเล่นเพียง 5-10% เท่านั้น ฉะนั้น เราจำเป็นต้องมีเงินสดมาใช้ แบรนด์ใหญ่ อาจมีสายป่านยาวกกว่า เขาอาจพร้อมเปิดบริการได้ทันที แต่พวกแบรนด์เล็กๆ แบรนด์ท้องถิ่น ไม่ได้มีสายป่านขนาดนั้น ซึ่งพอสั่งให้เปิดใช่ว่าพวกเขาพร้อมจะเปิด เพราะเราจำเป็นต้องใช้เงินในการปรับปรุง เตรียมพร้อมส่วนต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมา เคยร้องขอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ Soft Loan โดยจะใช้เครื่องออกกำลังกายต่างๆ ที่มีมา “ค้ำประกัน” พวกเขาก็ยินดี เพราะเครื่องออกกำลังกายในฟิตเนส แต่ละที่อย่างต่ำๆ ใช้เงินเป็นล้านในการจัดซื้อเขามา ฉะนั้น เอาตรงนี้ค้ำประกันและปล่อยเงินกู้สักครึ่งหนึ่งก็ยังดี

“ฟิตเนสผมใช้เงินลงไปเครื่องออกกำลังกาย 10 ล้านบาท ให้กู้สัก 30% เป็นเงิน 3 ล้าน ผมก็ยังมีเงินสดต่อ แต่ถ้าไม่ปล่อยกู้ จะให้ทำไง นี่ยังไม่รวมภาระเงินเดือนพนักงาน ค่าน้ำไฟ ค่าเช่าสถานที่ ที่ไม่ลดราคา จนเขาไม่ให้เราต่อสัญญาแล้ว”

...

“ฟิตเนส” ปรับตัวยาก สำหรับโลกออนไลน์?

เมื่อถามว่า “ฟิตเนส” เป็นธุรกิจที่ปรับตัวเข้าหาโลกออนไลน์ได้ยากหรือไม่ นายธันย์ปวัฒน์ เห็นแย้ง โดยยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยว ที่ผ่านมา มีการทำแพลตฟอร์ม รวมสถานที่ออกกำลังกาย รวมถึงผู้ฝึกสอน เป็นฐานข้อมูล Database แต่เรื่องนี้ทำไม่ง่าย เพราะมันอาจจะไม่สามารถเกิดได้เลยภายในวันนี้

เวลานี้มีเทรนเนอร์ออนไลน์เป็นพันคน แต่ไม่ได้ทำในนามองค์กร เราจึงรวมตัวกันเพื่อทำตรงนี้ในนามสมาคม แล้วผลักดันให้ภาครัฐ เข้ามาเป็นตัวช่วย เช่น ทางกรุงเทพมหานคร การกีฬาแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างเป็นพลังเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อสอนออกกำลังกาย แบบนี้ จะมีคลิปการสอนทุกอย่าง ทุกแบบ ไม่ใช่มีแค่ “เวทเทรนนิ่ง” เราจะมีทุกอย่าง ทั้งสอนมวย โยคะ โยคะร้อน ทุกอย่างสามารถลงแพลตฟอร์ม โดยใช้เทรนเนอร์รอบตัวเราไปสอน โดยภาครัฐอาจจะจ่ายค่าจ้างการสอน ซึ่งก็อาจจะมีการสลับสถานที่ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันได้

ทำแบบนี้ออกมาทำเป็นโมเดล อาจจะเริ่มต้นที่กรุงเทพฯ ก็ได้ แค่นี้เราก็รู้แล้วว่า คนกรุงเทพฯ ออกกำลังกายแบบไหน เพราะฐานข้อมูลทุกอย่างสามารถเก็บได้หมด แต่วันนี้ ยังไม่มีใครริเริ่มจะทำ

...

ยื่นหนังสือ กมธ. ช่วย คนในธุรกิจฟิตเนส

นายธันย์ปวัฒน์ เผยว่า ในต่างประเทศ เขาให้เปิดบริการตามปกติ แต่โดยทั่วไปจะมี 2 แบบ คือ ถ้ารัฐสั่งปิด รัฐจะจ่ายให้ตามจริง 50-70% บางประเทศ 100% หรือใช้วิธีการป้องกันเชิงปฏิบัติ เช่น ปิดซาวน่า ห้องอาบน้ำ โดยอาจจะเปิดโซนเวท คาร์ดิโอ หรือแม้แต่เครื่องเล่นต่างๆ โดยวางระยะห่าง เรามีโมเดลเหล่านี้หมด เพราะเราศึกษามาแล้ว เขาทำแบบนี้ธุรกิจเขาถึงเดินหน้าต่อได้ เขาไม่ได้เลือกปิดแบบที่เราเป็น แล้วการสั่งปิดที่ว่า “ถามว่ามันตอบโจทย์ได้จริงไหม...” ซึ่งเราเองก็ทำแผนไว้หมด โดยวันนี้ (9 ก.ย.) กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจสถานออกกำลังกายฟิตเนส เเละผู้ฝึกสอนกีฬา จะไปยื่นหนังสือกับ นายบุญลือ ประเสริฐโสภา กรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร ที่ รัฐสภา

นายธันย์ปวัฒน์ ยืนยันว่า เราเตรียมข้อมูลและมาตรการต่างๆ รวมถึงมาตรการที่จะใช้หากมีโอกาสกลับมาเปิดบริการอีกครั้ง ยกตัวอย่าง มาตรการหลักๆ ทั่วไป วัดไข้ ไม่เกิน 37.5 องศาฯ ทั้งคนมาใช้บริการและพนักงาน ใส่แมสก์ตลอดเวลา ลงทะเบียนเว็บ “ไทยชนะ” จัดจุดบริการ

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการอื่นๆ เช่น
- สมาชิกจะใช้เวลาในการออกกําลังกายไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อครั้ง และจํากัดจํานวนคนเข้าใช้บริการ 1:5 ของพื้นที่ทั้งหมด
- จํากัดจํานวนสมาชิกในคลาส กําหนดตามพื้นที่ โดยคลาสมายด์แอนด์บอดีในอัตราส่วน 1 คนต่อ 4 ตารางเมตร โดยคลาส High Intensity ในอัตราส่วน 1 คนต่อ 6.25 ตารางเมตร
- สมาชิกต้องใช้น้ํายาฆ่าเชื้อที่จัดเตรียมไว้ให้ทําความสะอาดอุปกรณ์ออกกําลังกายก่อนและหลังออกกําลังกาย
- มีตารางการทําความสะอาดอุปกรณ์และสิ่งเครื่องใช้ทั้งหมดในตัวคลับ

“สิ่งที่เราทำ ไม่ใช่แค่มีเอกสาร แต่เราจำลองเหตุการณ์ทำคลิปเป็นวิดีโอเลย เพื่อให้เห็นว่า นี่เป็นกฎระเบียบในการใช้ ซึ่งมากกว่าคำว่า ขอความร่วมมือ”

นายธันย์ปวัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้ธุรกิจฟิตเนสไม่ใช่ธุรกิจหลักในการขับเคลื่อนประเทศ แต่อยากจะบอกว่า demand และ supply นั้นพอๆ กัน หากมองการเติบโตของธุรกิจนี้เมื่อก่อน เติบโตปีละหลายพันล้านบาท เราเชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เช่นเดียวกัน...

คำถามคือ กลุ่มคนที่นั่งประชุม ท่านได้ออกกำลังกายกันมากน้อยแค่ไหน..?

อย่างดีก็รู้ว่ากินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที ซึ่งในความเป็นจริง เครื่องยนต์ กลไก ภายในร่างกายคนเรา ก็เปรียบเสมือนรถยนต์ ท่านเคยบำรุงรักษามันมากน้อยขนาดไหน เต็มที่ก็เช็กลมยางกับหม้อน้ำ แต่ท่านเคยเช็กระบบสายพานข้างใน ระบบภายในร่างกายจริงจังบ้างไหม

ทำไมท่านถึงเลือกทำประกันชีวิต ประกันสุขภาพ เพราะกลัวไปหาหมอแล้วไม่มีตังค์จ่าย แต่ทำไมไม่เอาเงินที่ใช้หาหมอมาดูแลร่างกาย หันมามองบริบท ส่งเสริมให้ประชาชนออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายคงทนแข็งแรง เป็นกำลังสำคัญของชาติ

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ