• ‘สี่วันในเดือนกันยา’ หรือ Four Days in September (The Missing Comrade) คือผลงานละครเวทีเรื่องล่าสุดของ เบสท์-วิชย อาทมาท ที่มีโอกาสได้ ‘โกอินเตอร์’ ไปแสดงในเวทียุโรป ทั้งเบลเยียม ออสเตรีย และนอร์เวย์ ซึ่งครั้งนี้เขายังได้ พิชชี่-วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล นักแสดงคนเก่งมาเป็นส่วนหนึ่งของทีมด้วย

  • โดยละครเรื่องนี้จะเล่าถึงความเป็นไปของสังคมไทยในรอบหลายๆ ปีที่ผ่านมา ผ่านวัน 4 วันในเดือนกันยายนจากต่างยุคต่างสมัยที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยไอเดียมันเริ่มมาจาก ‘การหายไป’ เช่น การหายไปของหมุดคณะราษฎร ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

เบสท์-วิชย อาทมาท
เบสท์-วิชย อาทมาท


เมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เราเพิ่งมีโอกาสได้ไปนั่งชม ‘เพลงนี้พ่อเคยร้อง’ ละครเวทีเจ้าของรางวัลละครพูดยอดเยี่ยม ปี 2015 จากชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง (IATC) ผลงานการกำกับของ เบสท์-วิชย อาทมาท ผู้กำกับละครเวทีโรงเล็กมากฝีมือจากกลุ่มละคร For WhaT Theatre ซึ่งละครเรื่องดังกล่าวยังถือเป็นผลงานเรื่องแรกของเจ้าตัวที่ได้ไปโลดแล่นทัวร์แสดงในเวทียุโรป ทั้งเบลเยียม ออสเตรีย นอร์เวย์ และถูกนำไปฉายผ่านช่องทางออนไลน์ในญี่ปุ่น โดยกว่าจะมีคิวกลับมาเปิดม่านการแสดงในไทย ก็ใช้เวลานานเอาการ

...

ดังนั้น เมื่อได้ข่าวว่าเบสท์กำลังจะ ‘โกอินเตอร์’ อีกครั้ง กับผลงานล่าสุดของเขาอย่าง ‘สี่วันในเดือนกันยา’ หรือ Four Days in September (The Missing Comrade) เราจึงรีบบุกไปหาผู้กำกับคนนี้ถึงสตูดิโอซ้อมละคร พร้อมด้วย ปูเป้-ศศพินทุ์ ศิริวาณิชย์ โปรดิวเซอร์คนเก่ง และทีมนักแสดงนำที่เป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตาของแฟนๆ ละครโรงเล็กอีก 5 ชีวิต ได้แก่ ชวน-จตุรชัย ศรีจันทร์วันเพ็ญ, พิชชี่-วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล, ออร์แกน-ศุรัณยา ปุญญพิทักษ์, ตอย-นวลปณต ณัฐ เขียนภักดี และ สายฟ้า ตันธนา เพื่อมานั่งพูดคุยถึงละครเวทีเรื่องใหม่นี้ ที่จะเปิดตัวครั้งแรกในเทศกาลละครนานาชาติ Wiener Festwochen ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย และมีกำหนดทัวร์การแสดงในอีกหลายประเทศถัดจากนั้น

(จากซ้าย) ออร์แกน ศุรัณยา, พิชชี่ วิชญ์วิสิฐ, ตอย นวลปณต, สายฟ้า ตันธนา และ ชวน จตุรชัย
(จากซ้าย) ออร์แกน ศุรัณยา, พิชชี่ วิชญ์วิสิฐ, ตอย นวลปณต, สายฟ้า ตันธนา และ ชวน จตุรชัย


ได้ยินมาว่า ‘สี่วันในเดือนกันยา’ เป็นโปรเจกต์ที่วางแผนไว้นานแล้วใช่ไหม

เบสท์: เอาจริงๆ เราเคยจะทำเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 58 เคยแคสต์นักแสดงแล้วด้วย แต่เพราะอะไรไม่รู้ จู่ๆ เราก็หันไปทำ ‘เพลงนี้พ่อเคยร้อง’ (หัวเราะ) คงเพราะด้วยเหตุการณ์บ้านเมืองที่ผ่านมาด้วยมั้ง งานมันก็เลยเป็นไปตามนั้น แต่ถ้าทำไปตั้งแต่ตอนนั้นจริงๆ ก็คงไม่มีอะไรแบบนี้หรอก ก็ดีที่มาถึงจุดนี้แล้วเราค่อยทำ

พิชชี่: จริงๆ อย่างบทเนี่ย มันก็เริ่มจากการที่เรามานั่งเจอกัน คุยกัน ลองอิมโพรไวส์ (ด้นสด) กันก่อน แล้วก็ค่อยเก็บข้อมูลเหล่านั้นไปร้อยเรียงเป็นเรื่องราว

ปูเป้: มันมีกระบวนการตั้งกี่เดือนนะตอนนั้น กว่าจะกลายเป็นบท (นิ่งคิด) คือเราเจอกันตั้งแต่สิงหาปีที่แล้วเนาะ ที่เอานักแสดงมาซ้อมด้วยกัน นั่งคุยหาประเด็น ลองนั่นนู่นนี่ โดยที่ยังไม่มีสคริปต์ แล้วก็ได้ทำงานกับคนเขียนบทอีกคนก็คือ อุ้ย-รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค ที่เป็นคนเก็บเอาสิ่งที่นักแสดงสร้างสรรค์กันในกระบวนการ ไปสร้างเป็นบทที่เป็นบทสนทนา แล้วถึงได้เอามาเรียบเรียงเป็นบทที่เราเล่นกันอยู่ตอนนี้

เนื้อหาของละครเกี่ยวกับอะไร

เบสท์: ก็เล่าเรื่องการเมือง ความเป็นไปของสังคมไทยในรอบหลายๆ ปีที่ผ่านมานี่แหละครับ แล้วก็ตั้งคำถามไปถึงอนาคตนิดหน่อยด้วย ...คือไอเดียมันเริ่มมาจากการ ‘หาย’ ครับ เช่น การหายไปของหมุดคณะราษฎร ซึ่งก็คือสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อะไรแบบนี้

ปูเป้: จริงๆ เบสท์จะทำเรื่องเกี่ยวกับ ‘การหายไป’ อยู่แล้ว แล้วพอมาเริ่มพัฒนาโปรเจกต์นี้ มันดันมีการหายอื่นๆ เพิ่มเติมขึ้นมา โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจว่ามันจะเกิดขึ้น แต่ว่ามันก็เหมือนกับตอกย้ำธีมละครไปด้วยอีกที เพราะการหายไปในประเทศนี้มันยังคงเกิดขึ้นอยู่ โดยในระหว่างที่เราทำงานมันก็เกิดขึ้นอีก มีไอ้นั่นหาย มีไอ้นี่หาย เราก็เลยจะหยิบมารวบรวมอยู่ในเรื่องด้วย

...

ทำไมต้อง ‘สี่วันในเดือนกันยา’

เบสท์: เอ่อ ทำไมต้องเป็น ‘สี่วันในเดือนกันยา’ ไม่เคยถามตัวเองเลยครับ (หัวเราะ) คือมันก็มาจากหลายๆ เหตุการณ์น่ะครับ อันนี้คิดมาหลายปีแล้ว ก็ไล่มาเรื่อยๆ อย่างวันแรกของเดือนกันยา คือ 1 กันยา 2533 วันตายของ สืบ นาคะเสถียร ซึ่งช่วงนั้นมันก็จะเป็นยุคสมัยที่เราใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมกัน มีเพลงเพื่อชีวิตออกมา ร้องเพลงเพื่อสิ่งแวดล้อม อะไรแบบนั้น

แล้วพอไล่มาเรื่อยๆ ผ่านวิกฤติต้มยำกุ้ง ผ่าน IMF หมุดถัดมาก็จะเป็น 11 กันยา 2544 หรือปี 2001 ซึ่งเป็นวันที่เกิด 9/11 ซึ่งก็เป็นเหตุการณ์ใหญ่ ที่เบสท์รู้สึกว่ามันสร้างความรู้สึกร่วมกับคนทั้งโลก แล้วก็นำพามาซึ่งหลายๆ เหตุการณ์ต่อจากนั้น

อันถัดมาคือ 19 กันยา 2549 หรือรัฐประหารปี 49 ซึ่ง 19 กันยาในประวัติศาสตร์ไทย ก็มีตั้งแต่ 19 กันยา 2549 ลากมาจนถึง 19 กันยา 2563 ซึ่งตรงกับที่ คณะราษฎร 2563 รวมตัวชุมนุมใหญ่ที่สนามหลวง จนมีการปักหมุดอันใหม่ในเช้าวันถัดมา แล้วถ้าย้อนไปไกลกว่านั้นก็ยังมี 19 กันยา 2516 ซึ่งเป็นวันที่ พระถนอม (จอมพลถนอม กิตติขจร) กลับมา จนนำพาไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลา คือมันก็มี 19 กันยาหลายอันในบ้านเมืองไทย ที่รู้สึกว่า เออ มันพูดถึงได้

ส่วนอันสุดท้ายเป็น 21 กันยาครับผม เป็น ‘วันสันติภาพโลก’ เราก็ลองตั้งคำถามกับอนาคตดู ตั้งคำถามถึงความเป็นไปครับ ประมาณนั้น ก็เลยเป็น ‘สี่วันในเดือนกันยา’

...


คิดว่าผู้ชมจะได้เห็นอะไรจากละครเรื่องนี้

เบสท์: เห็นความเรื่อยเปื่อย เป็นไป เปลี่ยนแปลง ปุบปับ ของสังคมนี้แบบคร่าวๆ ครับ คงไม่สามารถเล่ารายละเอียดได้หมดหรอก แต่ก็หวังว่าคนดูจะสัมผัสบางอย่างได้นะ รวมถึงความหวังด้วย

การทำงานของเรื่องนี้ แตกต่างจากเรื่องอื่นอย่างไร

เบสท์: ด้วยความที่มันจะไปเล่นครั้งแรกที่เมืองนอก เจอคนดูที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก ไม่เข้าใจภาษาไทย ก็เป็นความต่างใหญ่ๆ เหมือนกัน เพราะแต่เดิมเวลาเบสท์ทำละคร ก็จะให้นักแสดงอิมโพรไวส์จากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งบนเวทีไปเรื่อยๆ แต่พอไปเจอคนดูที่ต้องอ่านซับไตเติ้ล (คำบรรยาย) มันก็จะเล่นแบบนั้นไม่ได้

อย่างตอน ‘เพลงนี้พ่อเคยร้อง’ ก็เจอปัญหาเดียวกัน ก็เลยถือเป็นแบบฝึกหัดของเบสท์เหมือนกัน ซึ่งพอมาเรื่องนี้ก็เลยเป็นการฝึกต่อจากจุดนั้นอีกทีว่า โอเค เราจะต้องทำละครที่บทคือบท เล่นกันตามบท แต่ยังคงความเหมือนเดิม คือต้องคิดว่ามีพื้นที่ให้นักแสดงค้นหากับปัจจุบันขณะบนเวทีด้วยได้

ชวน: ตอนที่ปรับกันรอบแรก จากการอิมโพรไวส์มาเล่นตามบทเนี่ย ต้องตัดมุกตลกออกเยอะมาก เพราะมุกของเราเป็นมุกเล่นคำทั้งนั้นเลย

ตอย: ตอนนั้นการแสดงก็เลยค่อนข้างออกมาแบบ เอ่อ... (หัวเราะ) ก็ค่อนข้างมีกรอบนั่นแหละ แต่อย่างช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่เรากำลังปรับสมดุลกันอยู่ ว่าจะทำยังไงให้มันสบายๆ เหมือนไม่มีซับฯ แม้จะยังมีซับฯ ประกอบอยู่

‘ซับไตเติ้ล’ สำคัญมากกับการแสดงที่ต่างประเทศใช่ไหม

ปูเป้: คือเราไม่เคยรู้เลย ว่าซับไตเติ้ลจะเป็นเรื่องซีเรียสเบอร์นั้น แบบว่าชนะทุกอย่างได้เลยอะ เพราะในเทศกาลแบบนี้ เขารู้ว่าคนดูต้องการสิ่งนี้ ดังนั้นเราก็จะโดนเคี่ยวเข็ญอย่างหนักเรื่องงานซับไตเติ้ล แล้วมันก็จะลามมาถึงนักแสดงตรงที่ว่า บทกับซับไตเติ้ลจะต้องไปด้วยกันให้ได้

...

ชวน: ซึ่งสวนทางกับงานปกติของวิชยมากๆ (หัวเราะ)

เบสท์: แต่ใช่อย่างที่ปูเป้ว่า เขาเครียดเรื่องซับฯ กันจริงๆ นะ ขนาดว่ามี Dramaturg (ผู้ร่วมพัฒนาบทในแง่การนำเสนอและการตีความบนเวที) สำหรับซับไตเติ้ลโดยเฉพาะของเทศกาลเลย เช่น คนนี้จะมีหน้าที่ในการทำงานเรื่องซับฯ กับทุกโปรดักชั่นที่มีซับฯ แล้วเขาก็จะมานั่งดูตอนโชว์ด้วย จะมีวันที่เขาต้องมานั่งเช็กซับฯ กัน ว่าอันนี้ต้องมีหน้าดำ (คือมีกรอบดำหลังตัวอักษร) อันนี้ไม่ต้องมีหน้าดำ อันนี้เราต้องเคาะภาษาอังกฤษกับภาษาเยอรมันในบรรทัดนี้ให้ตรงกัน ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนมันกลายเป็นความรู้สึกแบบว่า พอนักแสดงพูดผิด เราเองก็จะรู้สึกผิดไปด้วย

พิชชี่: คนกดซับฯ นี่ก็เหมือนเป็นนักแสดงอีกคนเลยนะ

ทุกคน: ใช่ๆๆ

ตอย: คือต้องรู้จังหวะ ต้องรู้ว่าคนนี้จะเล่นประมาณนี้ เท่านี้พอ บางอันต้องปล่อยผ่าน บางอันต้องได้ความหมาย อะไรแบบนี้

เบสท์: แล้วการทำซับฯ แต่ละที่ ก็ไม่เหมือนกันด้วยนะ อย่างที่เวียนนาจะใช้ 2 ภาษา ที่บรัสเซลส์ 3 ภาษา ก็ต้องปรับกันตามพื้นที่ที่ไปแสดง

บรรยากาศการฝึกซ้อม
บรรยากาศการฝึกซ้อม


ความยากของเรื่องนี้อยู่ตรงไหน

ปูเป้: ก็คือเราต้องไปเล่นในโรงละครสำหรับมืออาชีพที่ยุโรปใช่ไหม แต่เราหาที่ซ้อมแบบนั้นไม่ได้เลย ไม่ได้จริงๆ ค่ะ เราต้องเซตอัพให้ใกล้เคียงของจริง 100% เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนไปเล่นรอบแรกที่นู่น คือมันมีสเปซแหละ แต่ต้องเสียเงินเท่าไรก็ไม่รู้ แล้วเราก็ไม่พร้อมที่จะเสียเงินมากขนาดนั้นด้วย เราพร้อมเสียได้แค่ประมาณนึง แถมตอนนี้ยังปิดเพราะล็อกดาวน์อีก

เบสท์: คือทางทีมงานเขาจะให้แบบแปลนโรงละครทั้งหมดมาล่วงหน้าอยู่แล้ว พอไปถึงส่วนใหญ่ก็จะเซตอัพตามที่เราวางแผนกันไว้เลย ซึ่งจะได้เข้าโรงละครจริงๆ แค่ประมาณ 3 วัน แล้วจากนั้นก็ต้องเล่นจริงเลย (หัวเราะ)

ชวน: เหมือนเราต้องทำการบ้านไปจากที่นี่ให้ได้มากที่สุด แล้วพอไปถึงที่นั่น ช่วงเวลา 2-3 วันที่เหลือคือการประกอบร่าง

ตอย: แล้วก็ต้องยืดหยุ่นให้เข้ากับสเปซของที่นู่นด้วยนะ

ในฐานะนักแสดง มีความท้าทายอย่างไรบ้างสำหรับเรื่องนี้

พิชชี่: มันอาจจะไม่ได้เป็นการแสดงในลักษณะที่ว่า พอพูดถึงละครเวทีแล้วต้องแอ็กติ้งเยอะๆ เราคิดว่ามันไม่ใช่การแสดงในความหมายนั้น แต่มันคือการแสดงในความหมายที่ว่า เราต้องเป็นอยู่บนพื้นที่นั้น

ชวน: คืองานชิ้นนี้มันไม่ได้มีตัวละครให้ต้องศึกษาปรับเข้าหาใดๆ เหมือนกับเรื่องอื่นๆ เท่าที่ซ้อมมา ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับการอยู่กับเพื่อนและเหตุการณ์บนเวทีมากกว่า ถ้าเปรียบเทียบกับพวกละครแบบ traditional ต่างๆ มันจะต้องมีการทบทวนภูมิหลังว่า ฉันเป็นใคร ฉันทำอะไรมา แต่เรื่องนี้ไม่มีโจทย์นี้เลย

ออร์แกน: มันก็คือการหาจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งบนเวที คือพอบทออกมาแล้ว สิ่งที่เราต้องทำคือเล่นกับโมเมนต์ที่เกิดขึ้นบนเวที อันนี้แหละที่เป็นงานเรา

ชวน: จริงๆ เราว่าเป็นเพราะทิศทางการกำกับของวิชยด้วย เพราะทิศทางในการกำกับแต่ละรอบอาจจะเล่นไม่ต้องเหมือนกันก็ได้ ถ้าภาวะนักแสดงเปลี่ยน งานมันก็จะเปลี่ยนได้ ถ้าช่วงนั้นมวลรวมบนฉากเปลี่ยน มันก็เปลี่ยนไปได้อีกเหมือนกัน

ดังนั้น คนคุมซับไตเติ้ลต้องเห็นภาวะของนักแสดงทั้งห้าคนบนเวที ว่าวันนี้เขาจะมาทางไหน วันนี้มวลรวมไปทางไหน ต้องกดช้าหรือกดเร็ว หรือว่านักแสดงกำลังจะเล่นแบบนี้หรือเปล่า คือแบบต้องเล่นไปด้วยกัน เหมือนซับฯ เป็นอีกตัวละครนึง


พอต้องไปเล่นที่เมืองนอก มีวิธีนำเสนอเหตุการณ์ต่างๆ ของสังคมไทยให้ชาวต่างชาติเข้าใจได้อย่างไร

พิชชี่: เรารู้สึกว่าความเป็นการเมืองมันค่อยๆ ซึมออกมาหลังจากที่ซ้อม หรือจากที่เราเล่นกันไปสักพัก คือมันไม่ได้เริ่มตั้งต้นจากการมานั่งคุยกันว่าจะใส่ความเป็นการเมืองลงไปยังไง

ชวน: คิดเหมือนกัน รู้สึกว่าการเมืองมันถูกเล่าผ่านบท การกำกับ และองค์ประกอบอื่นๆ ไปหมดแล้ว ในพาร์ตนักแสดงจึงเป็นเรื่องของการนำเสนอบนเวทีมากกว่า โดยที่ระหว่างเล่นไปก็ไม่ได้คิดหรอกว่ามันจะเกี่ยวกับการเมือง

ตอย: คือตอนสร้างบท มันเป็นช่วงที่ทุกกลุ่มชุมนุมไปสุดในทางการเมือง มีการรวมตัวกันเยอะมาก ช่วงประมาณสิงหาหรือกันยาปีที่แล้วนั่นแหละ ดังนั้น มันก็เลยออกมาโดยธรรมชาติจากชีวิตประจำวันของเราอยู่แล้ว ไม่ได้ไปผลักมันออกมา หรือไปบังคับว่าต้องพูดเรื่องการเมืองนะ เพราะมันออกมาเป็นปกติอยู่แล้ว

พิชชี่: ตอนที่ได้บทมาอ่านแล้วยังมีแบบ ‘อะไรอะ นี่คืออะไร’ (หัวเราะ) แต่ว่าพอได้เล่นไปสักพัก พอมาเจอวิธีการจัดวาง วิธีการเคลื่อนไหวอะไรต่างๆ ไอ้สิ่งที่เราคิดว่ามันไม่ได้เป็นสาระ ก็มีความหมายขึ้นมาซะงั้น

เบสท์: อาจเป็นเพราะด้วยบรรยากาศบ้านเมืองเมื่อปลายปีที่แล้วมันเอื้อให้เกิดบทสไตล์นี้ (หัวเราะ) ถ้ามานั่งเขียนบทกันตอนนี้ก็อาจจะเป็นอีกแบบ

ปูเป้: สำหรับเรา สิ่งที่สนุกคือการได้รู้ว่าคนดูเก็ตอะไร เมืองนี้คนเก็ตอะไร เพราะว่าเขาไม่เก็ตเหมือนคนไทยอยู่แล้ว เราก็จะรู้สึกว่า อ๋อ เมืองนี้เก็ตสิ่งนี้ อ๋อ อันนี้ขำสำหรับเขาเหรอ ขำเพราะอะไรวะ อะไรแบบนี้

ชวน: คือบางที ‘สติ’ ในฐานะนักแสดงไม่ได้รู้หรอกว่านี่คือเรื่องการเมือง รู้แค่ว่าอยู่ยังไงบนนั้นให้สนุก แล้วก็จะมารู้เอาทีหลัง อย่าง ‘เพลงนี้พ่อเคยร้อง’ อะเล่นผ่านไป 5 ปีแล้วนะ ก็เพิ่งจะมีแบบ เอ้า ตรงนี้การเมืองนี่หว่า

พิชชี่: ใช่ๆ บางทีซ้อมมาเป็นสิบๆ รอบแล้ว ก็เพิ่งจะมา อ๋อ ทำไมพี่เบสท์ถึงบอกให้ทำอันนี้

ชวน: นี่ก็ไม่รู้จริงๆ นะ ว่ารีแอ็กของคนดูนานาชาติจะรู้สึกยังไง แต่ว่าสำหรับคนไทยอะ คือสนุกกรุบเลยนะ

ปูเป้: แล้วก็กรี๊ดเลยแหละ (หัวเราะ)

แล้วคนไทยจะมีโอกาสได้ดูกันเมื่อไหร่

เบสท์: อันนี้ก็คิดอยู่เหมือนกันครับ ต้องดูด้วยว่าตอนนั้นบ้านเมืองเป็นยังไง ก็คงต้องว่ากันอีกทีในเวลานั้น

ปูเป้: ในฐานะโปรดิวเซอร์ เราก็อยากให้ได้เล่นนะ แต่ก็อย่างที่ว่า จะได้เล่นด้วยเงื่อนไขไหน เมื่อไหร่ ยังไง เดี๋ยวคงต้องว่ากันอีกที แต่ว่าเรื่องนี้มันถูกสร้างมาเพื่อประเทศนี้จริงๆ นั่นแหละ (หัวเราะ)


‘สี่วันในเดือนกันยา’ เพิ่งเปิดทำการแสดงครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา ณ งานเทศกาลละครนานาชาติ Wiener Festwochen กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย จากนั้นจะบินไปแสดงต่อที่เทศกาล Kunstenfestivaldesarts กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ตามด้วยที่ Festival d’Automne à Paris ประเทศฝรั่งเศส ก่อนจะปิดท้ายที่ Black Box Theater ณ กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์

โดยนอกเหนือจากบุคคลที่เราได้มีโอกาสพูดคุยด้วย ละครเรื่องนี้ยังมีทีมงานอีกหลายชีวิตที่คอยขับเคลื่อนทุกอย่างจากเบื้องหลัง ทั้งทีมเทคนิค Duck Unit ผู้สร้างสรรค์ทุกอย่างให้กับโปรดักชั่นได้อย่างมหัศจรรย์, ตามใจ-สุรัตน์ แก้วสีคร้าม Stage Manager ผู้ประสานงานให้ทุกอย่างเกิดขึ้น และต้องอยู่ซ้อมกับเหล่านักแสดง จนแทบจะเป็นนักแสดงอีกคนอยู่กลายๆ รวมถึง มิสโอ๊ต-ปฏิพล อัศวมหาพงษ์ อีกหนึ่ง Stage Manager ผู้เชี่ยวชาญด้านซับไตเติ้ล

“ละครเรื่องหนึ่งไม่ได้จบที่ผู้กำกับและนักแสดง แต่มันยังมีพลังอีกมากมายจากคนมหาศาลที่อยู่เบื้องหลังด้วยค่ะ” ปูเป้กล่าวถึงทุกคนที่เป็นส่วนสำคัญและทำให้ละครเรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างที่มันควรจะเป็น.