ความหวังครั้งใหม่ผู้ใช้แรงงาน ขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ เป็นของขวัญปีใหม่ 2568 หลังก่อนหน้านี้เคยให้สัญญาปรับทันภายในปี 2567 แต่บอร์ดค่าจ้างล่มทำสะดุด รมว.แรงงาน ชงเข้า ครม. หวังทัน 12 พฤศจิกายนนี้!

วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2567 มีข่าวส่อแวว 'ว่าจะดี' แว่วมาให้คนไทยได้ลุ้นกันอีกครั้ง หลังจาก 'นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การดำเนินปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน จะแล้วเสร็จทันวันที่ 1 มกราคม 2568 อย่างแน่นอน

"ขออภัยที่มีความผิดพลาดมาตั้งแต่ 1 ตุลาคมที่จะประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน ถ้าบอร์ดไตรภาคีครบ 15 ท่านเมื่อไร จะเชิญประชุมให้เร็วที่สุด มั่นใจว่าจะสามารถให้เป็นของขวัญปีใหม่ได้"

การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นหนึ่งในนโยบายที่ 'พรรคเพื่อไทย' ใช้เป็นตัวชูโรง ตั้งแต่ 6 ธันวาคม 2565 จากการแสดงวิสัยทัศน์ปี 2570 ในงาน 'คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน' ภายในงานกล่าวถึงการปรับภาพรวมเศรษฐกิจทั้งประเทศให้เติบโตไปพร้อมกัน โดยมีประเด็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวัน และเงินเดือนผู้จบการศึกษาปริญญาตรี 25,000 บาท

พิพัฒน์ รัชกิจประการ
พิพัฒน์ รัชกิจประการ

...

ภายหลังจากที่พรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล ก็มีความพยายามปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมาโดยตลอด ย้อนกลับไปตั้งแต่ 12 กันยายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง (ในขณะนั้น) ชี้แจงต่อที่ประชุมรัฐสภาในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา

สาระสำคัญของเรื่องดังกล่าว นายเศรษฐา แจงว่า เรื่องนี้เราจะมีการเจรจาทั้ง 3 ฝ่าย ทั้งแรงงาน ผู้ว่าจ้าง และรัฐบาลเพื่อปรับค่าแรงขั้นต่ำให้อยู่ในระดับเหมาะสมโดยมีเป้าหมายที่ 400 บาท โดยเร็วที่สุด

เวลาผ่านพ้นไปรวม 111 วัน ล่วงเข้าสู่ 1 มกราคม 2567 มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามมติ ครม. เป็นผลสืบเนื่องตามที่กระทรวงแรงงานยื่นเสนอ การปรับครั้งนี้เริ่มจาก 17 กลุ่มจังหวัด ตั้งแต่ 330-370 บาท โดยปรับขึ้น 2-16 บาท ในแต่ละจังหวัด

ตัวอย่าง เช่น จ.ภูเก็ต เดิม 354 บาท ปรับเป็น 370 บาท, กรุงเทพมหานคร เดิม 353 บาท ปรับเป็น 363 บาท, จ.นราธิวาส จ.ปัตตานี และ จ.ยะลา จากเดิม 328 บาท ปรับเป็น 330 บาท เป็นต้น การพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ใช้หลักวิชาการบนพื้นฐานข้อมูลทางเศรษฐกิจที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ มีการศึกษาผลกระทบจากหลายภาคส่วนทั้งผู้ประกอบการและแรงงาน

หลังจากนั้นในวันที่ 26 มีนาคม 2567 คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ได้มีมติเป็นเอกฉันท์จากการประชุมครั้งที่ 3/2567 ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน ใช้สำหรับนายจ้างและลูกจ้าง ที่ทำงานในสถานประกอบการประเภทกิจการโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป และมีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป นำร่องทั้งหมด 10 จังหวัด มีผลตั้งแต่ 13 เมษายน 2567 เรียกได้ว่าเฮรับมหาสงกรานต์กันเลยทีเดียว

เศรษฐา ทวีสิน
เศรษฐา ทวีสิน

แต่การขึ้นค่าแรงเพียงบางจังหวัด ก็ทำให้ผู้ใช้แรงงานบางจังหวัดเริ่มตั้งข้อสงสัยว่า พวกเขาจะได้ปรับค่าแรงบ้างหรือไม่ แล้ววันนั้นจะมาถึงเมื่อไรกัน?

จนกระทั่ง 2 พฤษภาคม 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) ออกมาประกาศว่า เตรียมปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วไทย โดยจะทยอยปรับตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2567 พร้อมกล่าวว่า

"นายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา) ให้ความสำคัญสูงสุดกับคุณภาพชีวิตของพี่น้องคนทำงาน ซึ่งทุกคนควรมีเงินเดือน ค่าแรงที่เป็นธรรม ลูกจ้างอยู่ได้ นายจ้างอยู่ได้ เศรษฐกิจดี รวมทั้ง สิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาตลอด คือความปลอดภัยในการทำงาน การเข้าถึงระบบสวัสดิการ การคุ้มครอง หลักประกันทางสังคมที่เหมาะสม"

ชัย วัชรงค์
ชัย วัชรงค์

ต่อมาในวันที่ 16 กันยายน 2567 คือวันนัดหมายประชุมบอร์ดค่าจ้าง ครั้งที่ 8 ของคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 แต่เมื่อถึงเวลานัดหมาย 13.30 น. กรรมการฝ่ายนายจ้าง 5 คน ได้แก่ 1. น.ส.ศุภานัน ปลอดเหตุ 2. นายณัฏฐกิตติ์ เขตตระการ 3. นายอรรถยุทธ ลียะวณิช 4. นายเนาวรัตน์ ทรงสวัสดิ์ชัย และ 5. นายชัยยันต์ เจริญโชคทวี ขาดประชุม ส่งผลให้ที่ประชุมไม่สามารถพิจารณาการปรับค่าแรงได้ ประธานที่ประชุมจึงนัดหมายครั้งต่อไปในวันที่ 20 กันยายน 2567

...

แต่แล้วเมื่อวันนัดหมายประชุมบอร์ดค่าจ้าง ครั้งที่ 9 มาถึง องค์ประชุมก็ไม่ครบอีกแล้ว! นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เผยว่า ครั้งนี้ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลไม่เข้าประชุม 4 คน และฝ่ายลูกจ้างไม่เข้าประชุม 2 คน ทำให้ไม่ครบองค์ประชุม 2 ใน 3 ที่ต้องมีผู้เข้าประชุม 10 คนขึ้นไป "ไม่เรียกว่าล่ม แต่ไม่ครบองค์ประชุม" ด้านปลัดกระทรวงแรงงานยืนยันว่า การที่องค์ประชุมไม่ครบ "ไม่มีนัยทางการเมือง"

และแล้ว! 23 กันยายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน เผยว่า ปลัดกระทรวงแรงงาน ทำหนังสือถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ให้รับทราบแล้วว่า นายเมธี สุภาพงษ์ ตัวแทนธนาคารแห่งประเทศไทย เกษียณอายุราชการ ทำให้ไม่ได้เป็นตัวแทนแล้ว ต้องรอแบงก์ชาติส่งผู้แทนคนใหม่เข้ามา ทำให้ไม่สามารถเปิดประชุมบอร์ดค่าจ้างได้ เพราะสัดส่วนคณะกรรมการฯ มีไม่ครบ 15 คน ตามกฎหมาย

"จึงมีความจำเป็นต้องเลื่อนการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างในวันพรุ่งนี้ (24 กันยายน 2567) ออกไปไม่มีกำหนด และต้องขอโทษที่ไม่สามารถทำตามที่สัญญาได้ว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ วันที่ 1 ตุลาคม 2567 นี้"

ไพโรจน์ โชติกเสถียร
ไพโรจน์ โชติกเสถียร

...

สืบเนื่องจากข้อมูลที่ได้กล่าวตั้งแต่ 2 ย่อหน้าแรก นายพิพัฒน์ ระบุเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กระทรวงแรงงาน ได้ประสานไปยังกระทรวงการคลัง และนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง ถึงการเสนอชื่อคนที่จะมาเป็นคณะกรรมการค่าจ้างฝ่ายรัฐ ส่วนกระทรวงแรงงานจะเสนอชื่อผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่รักษาการอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.

รมว.แรงงาน ยังมีความกังวลว่าจะเสนอชื่อคณะกรรมการไตรภาคีเข้า ครม. ทันวาระประจำหรือไม่ หากไม่ทันจะเสนอขอเป็นวาระจรได้หรือไม่ แต่หากว่าเสนอทัน 12 พ.ย. นี้ คาดว่า จะนัดประชุมคณะกรรมการฯ ทั้ง 15 คน เร็วที่สุดช่วงปลายเดือน พ.ย. หรือช้าสุดช่วงต้นเดือน ธ.ค. ทั้งนี้ ต้องมีผู้เข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของคณะกรรมการทั้งหมดจึงจะเดินหน้าต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การนับถอยหลังรอขึ้นค่าแรง ก็คงเหมือนกับการเคาท์ดาวน์ปีใหม่ นโยบายนี้จะสำเร็จหรือไม่ หรือผลจะออกมาในรูปแบบไหน ก็คงต้องเฝ้ารอและติดตามกันต่อไป