ตุลาสาหัส! "พะยูนไทย" ตายต่อเนื่อง 9 ตัวภายในหนึ่งเดือน 3 ใน 9 ตัวป่วยจากการขาดอาหาร สะท้อนวิกฤติ "หญ้าทะเล" แหล่งพลังงานหลักเสื่อมโทรมขึ้นทุกวัน!สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ลำตัวรูปกระสวยคล้ายโลมา สีเทาอมชมพูหรือน้ำตาลเทา ขนสั้นประปรายตลอดลำตัว แต่มีขนเส้นใหญ่อยู่อย่างหนาแน่นบริเวณปาก ตาและหูขนาดเล็กอย่างละคู่ ส่วนของหูเป็นรูเปิดเล็ก ๆ ไม่มีใบหู มีรูจมูกอยู่ชิดกันหนึ่งคู่ โดยรูจมูกนั้นมีลิ้นปิด-เปิด มีครีบด้านหน้าหนึ่งคู่อยู่สองข้างของลำตัว และมีติ่งนมอยู่ด้านหลังของฐานครีบ ข้อมูลดังกล่าวคือลักษณะเบื้องต้นของ 'พะยูน' หรือ 'หมูน้ำ' (Dugong) 1 ใน 20 สัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562นอกจากนั้น ในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศว่าด้วยชนิดสัตว์ป่า และพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ หรือ CITES (ไซเตส) ได้จัดให้พะยูนอยู่ในบัญชีหมายเลข 1 ลำดับ 86 เป็นชนิดพันธุ์ที่ห้ามค้าโดยเด็ดขาด ยกเว้นเพื่อการศึกษา วิจัย และเพาะพันธุ์เท่านั้น ซึ่งต้องได้รับความยินยอมจากประเทศที่นำเข้าเสียก่อนหากอ่านเพียงข้อมูลข้างต้นคงจะอนุมานได้ว่า เจ้าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดนี้น่าจะใกล้สูญพันธุ์จากระบบนิเวศ จึงต้องมีกฎหมายดังกล่าวออกมา เพื่อปกป้องและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ แต่โลกแห่งความจริงกลับโหดร้ายกว่านั้นยกตัวอย่าง 'พะยูนไทย' ที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤติ เพราะถูกคุกคามอย่างหนักจากกิจกรรมของ 'มนุษย์' เช่น การล่า การติดเครื่องมือประมง การทำลายหญ้าทะเล ซึ่งเป็นอาหารหลักของพะยูน และกิจกรรมอื่น ๆ ส่งผลให้ประชากรพะยูนลดจำนวนลงต่อเนื่องอย่างน่าใจหาย แนวโน้มประชากรพะยูนไทย :'พะยูน' แพร่กระจายอยู่ในบริเวณแหล่งหญ้าทะเล ทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของประเทศ โดยพื้นที่ จ.ตรัง ถือเป็นแหล่งประชากรพะยูนที่ใหญ่ที่สุดในไทย ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ปีงบประมาณ 2565 ระบุว่าสำรวจพบพะยูนประมาณ 273 ตัว ฝั่งอ่าวไทยพบประมาณ 31 ตัว และฝั่งทะเลอันดามันพบประมาณ 242 ตัวแนวโน้มประชากรของพะยูนแบ่งเป็น 2 ช่วงช่วงที่ 1 : ระหว่างปี 2550-2557 จำนวนประชากรมีแนวโน้มลดลง ในปี 2557 พบเฉลี่ยทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน 200 ตัว จากเดิม 240 ตัวช่วงที่ 2 : ระหว่างปี 2559-2560 จำนวนประชากรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยพบพะยูนรวมประมาณ 221 ตัว ในปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 250 ตัว และในปี 2562 เพิ่มขึ้นเป็น 261 ตัว แต่แล้วในปี 2563 ประชากรก็ลดลงเหลือ 255 ตัว ในปี 2564 แม้ทางหน่วยงานจะไม่สามารถบินสำรวจประชากรพะยูนได้ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 แต่จากการใช้วิธีประมาณประชากร จากข้อมูลการสำรวจในพื้นที่สำคัญที่ผ่านมา ร่วมกับพื้นที่การแพร่กระจาย สามารถประมาณประชากรพะยูนได้ 261 ตัวเช่นเดิม แบ่งเป็นฝั่งอ่าวไทยประมาณ 32 ตัว และฝั่งอันดามันประมาณ 229 ตัวปี 2565 ประชากรพะยูนเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 273 ตัว แบ่งเป็นฝั่งอ่าวไทยประมาณ 31 ตัว และฝั่งอันดามันประมาณ 242 ตัว ส่วนในปี 2566 พบประมาณ 282 ตัว แบ่งเป็นฝั่งอ่าวไทยประมาณ 32 ตัว และฝั่งอันดามันประมาณ 250 ตัวอ่านมาถึงตรงนี้ คุณผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า "จำนวนประชากรก็ดูเพิ่มขึ้นนี่ น่ากังวลตรงไหน?"หากดูสถิติจาก ทช. เพิ่มเติมจะพบว่า ตั้งแต่ปี 2548-2567 (ข้อมูลสิ้นสุด ณ 23 ตุลาคม 2567) มีพะยูนเกยตื้นทั้งหมด 331 ตัว โดยจากกราฟสถิติแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ภาวะปกติ (2548-2561) พะยูนตายเฉลี่ย 13 ตัวต่อปี สังเกตเห็นได้ว่าจำนวนการตายนั้นเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงภาวะโลกเดือด (2562-2567) เริ่มเกิดวิกฤติหญ้าทะเลตาย ทำให้พะยูนเริ่มตายเพิ่มขึ้น เฉลี่ย 25 ตัวต่อปี เห็นได้ว่าการเกิดของพะยูนในแต่ละปี ไม่ได้มากกว่าจำนวนที่ตายในแต่ละปีเสียด้วยซ้ำข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับพะยูน ได้สร้างความน่าตกใจและความน่ากังวลต่อวงการทะเลไทยอีกครั้ง หลังพบว่าในเดือนตุลาคม 2567 มีพะยูนตายมากถึง 9 ตัว ด้าน 'สุมนา ขจรวัฒนากุล' ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรชายฝั่ง ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนไว้ว่า"ถ้าจะนับกันจริง ๆ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม จนถึงปัจจุบันก็ตายไปแล้ว 9 ตัว ในช่วงที่ตายถี่ ๆ เป็นที่น่าตกใจก็เริ่มตั้งแต่ประมาณ 18-23 ตุลาคม ที่เขาตายแทบทุกวัน แต่จริง ๆ แล้วการที่พะยูนตาย 9 ตัว เราเคยมีสถิติที่ใกล้เคียงกับปีนี้ก็คือสิงหาคม ปี 2564 ตอนนั้น 8 ตัว แต่คราวนี้ต้องยอมรับว่าทำลายสถิติการตายจริง ๆ" แค่เดือนเดียวตาย 9 ตัว! :ตัวที่ 1 : วันจันทร์ ที่ 7 ตุลาคม 2567เพศ : เพศเมีย ระยะวัยรุ่นขนาด : ความยาวซาก 1.95 เมตรสาเหตุ : ไม่ทราบสาเหตุการตายสถานที่ : หาดทับแขก ต.หนองทะเล อ.เมือง จ.กระบี่ตัวที่ 2 : วันศุกร์ ที่ 18 ตุลาคม 2567เพศ : เพศผู้ ระยะโตเต็มวัยขนาด : ความยาวซาก 2.51 เมตรสาเหตุ : สงสัยติดเครื่องมืองานประมงสถานที่ : บ้านคอเอน ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ตตัวที่ 3 : วันศุกร์ ที่ 18 ตุลาคม 2567เพศ : เพศผู้ ระยะวัยรุ่นขนาด : ความยาวซาก 2.10 เมตรสาเหตุ : ป่วยเนื่องจากการขาดอาหารสถานที่ : เกาะมุกด์ ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง วันอังคาร ที่ 22 ตุลาคม 2567ตัวที่ 4 : วันเสาร์ ที่ 19 ตุลาคม 2567เพศ : เพศเมีย ระยะวัยรุ่นขนาด : ความยาวซาก 2.10 เมตรสาเหตุ : ไม่ทราบสาเหตุการตายสถานที่ : ท่าเทียบเรือหมู่ 3 ต.เกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูลตัวที่ 5 : วันอาทิตย์ ที่ 20 ตุลาคม 2567เพศ : เพศผู้ ระยะวัยรุ่นขนาด : ความยาวซาก 2.19 เมตรสาเหตุ : ป่วยเนื่องจากการขาดอาหารสถานที่ : ชายหาดหมู่ 2 ต.เกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูลตัวที่ 6 : วันอังคาร ที่ 22 ตุลาคม 2567เพศ : เพศเมีย ระยะวัยรุ่นขนาด : ความยาวซาก 1.89 เมตรสาเหตุ : ป่วยเนื่องจากการขาดอาหารสถานที่ : คลองปากลัด ต.เขาไม้แก้ว อ.สิเกา จ.ตรัง วันพุธ ที่ 23 ตุลาคม 2567ตัวที่ 7 : วันพุธ ที่ 23 ตุลาคม 2567เพศ : เพศผู้ ระยะโตเต็มวัยขนาด : ความยาวซาก 2.52 เมตรสาเหตุ : ไม่ทราบสาเหตุการตายสถานที่ : หาดกมลา ต.กมลา อ.กระทู้ จ.ภูเก็ตตัวที่ 8 : วันพุธ ที่ 23 ตุลาคม 2567เพศ : เพศเมีย ระยะโตเต็มวัยขนาด : ความยาวซาก 2.70 เมตรสาเหตุ : ไม่ทราบสาเหตุการตายสถานที่ : ชายหาดบ้านบุโบย ต.แหลมสน อ.ละงู จ.สตูลตัวที่ 9 : วันเสาร์ ที่ 26 ตุลาคม 2567เพศ : เพศผู้ ระยะโตเต็มวัยขนาด : ความยาวซากประมาณ 2.00 เมตรสาเหตุ : ไม่ทราบสาเหตุการตายสถานที่ : หาดกะรน ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต วันเสาร์ ที่ 26 ตุลาคม 2567ป่วยเนื่องจากขาดอาหาร :จากการตายของพะยูนทั้ง 9 ตัว หนึ่งในสาเหตุการตายที่น่าสนใจ คือ "การป่วยเนื่องจากการขาดอาหาร" ซึ่งอาหารในที่นี้หมายถึง "หญ้าทะเล" เป็นสำคัญ! โดยพะยูนกินหญ้าทะเลชนิดต่าง ๆ ตามแนวชายฝั่ง และมักใช้ชีวิตไม่ห่างจากแหล่งที่มีหญ้าทะเลหนาแน่นสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน ได้เคยศึกษาแยกชนิดของหญ้าทะเลในกระเพาะพะยูน จากตัวอย่างพบว่า พะยูนได้รับหญ้าทะเลอยู่ในกระเพาะ 2-5% ของน้ำหนักตัว โดยไม่ได้มีพฤติกรรมเลือกกินชนิดใดชนิดหนึ่งโดยเฉพาะ แต่จะกินชนิดที่พบมากในแหล่งที่อยู่อาศัย ซึ่งจะปะปนกันไป 5-6 ชนิด และมีสาหร่ายทะเลอีกจำนวนเล็กน้อยจากการที่สถาบันฯ ได้สำรวจแหล่งหญ้าทะเล และสังเกตพฤติกรรมของน้องพะยูนที่เกาะตะลิบง จ.ตรัง พบว่า พะยูนจะเริ่มหากินหญ้าทะเลในช่วงที่น้ำทะเลกำลังขึ้น และกินอยู่นานราว 2-3 ชั่วโมง พะยูนจะกินหญ้าทะเลพร้อมขึ้นมาหายใจทุก ๆ 1-2 นาที และดำลงไปกินหญ้าทะเลต่อ ซึ่งบางตัวจะกินหญ้าทะเลต่อในบริเวณใกล้ที่เดิมขณะที่บางตัวจะว่ายน้ำเปลี่ยนที่ประมาณ 1-5 เมตร โดยลักษณะทิศทางการกินหญ้าทะเลของพะยูนไม่แน่นอน มีทั้งการหันด้านหัวสู่ชายฝั่ง หันหัวออกทะเล ลำตัวขนานกับชายฝั่ง หรือลำตัวทำมุมเฉียงกับชายหาด ซึ่งพะยูนส่วนใหญ่ที่พบจะกินหญ้าทะเลอยู่ห่างจากชายฝั่งมากกว่า 1 กิโลเมตร ในขณะที่น้ำลงมากพะยูนจะไปอาศัยอยู่ในร่องน้ำห่างชายฝั่งประมาณ 4-5 กิโลเมตรซึ่งหญ้าทะเลไม่ได้สำคัญแค่การเป็นอาหารของพะยูนเท่านั้น แต่นี่ถือเป็นระบบนิเวศอันแสนสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ รวมไปถึงเป็นพื้นที่อนุบาลตัวอ่อน นอกจากนั้นยังเป็น "แหล่งกักเก็บคาร์บอน" ชั้นยอดของโลก แต่เนื่องจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ นำมาซึ่ง 'ภาวะโลกเดือด' ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อสรรพชีวิต ตั้งแต่ในอากาศจนถึงมหาสมุทร 'หญ้าทะเล' จึงหนีไม่พ้นผลกระทบนี้เช่นกัน!ตัวอย่างเหตุการณ์ถูกบันทึกไว้โดย 'ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์' ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยการโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat เมื่อ 30 เมษายน 2567 ความบางส่วนว่า"หญ้าทะเล 810 ไร่ที่เกาะกระดาด (ตราด) หายไปทั้งหมดเลย ทั้งหมดหมายความว่าหมดจริง ลองดูภาพเปรียบเทียบ ปี 2563 เห็นดงหญ้าสีดำกว้างใหญ่ กรมทะเลรายงานว่ามีหญ้า 6 ชนิด ความหนาแน่น 90% ของพื้นที่ วันนี้ คณะประมงมาสำรวจอีกครั้งหญ้าไม่เหลือเลย""สีดำ ๆ ที่เห็นในภาพปี 67 คือเศษปะการังตายและสาหร่าย หญ้าทะเลเหลือเพียงไม่กี่ต้น กุดสั้น มองไม่เห็นจากโดรน ที่นี่ไม่มีพะยูน ไม่มีเต่ามากินหญ้า ไม่มีการขุดลอกร่องน้ำ ไม่มีการพัฒนาใดในระหว่างปี 63-67 จึงสรุปได้ว่าโลกร้อนทำให้ทะเลแปรปรวนถึงขีดสุด ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีหลายอย่างฆ่าหญ้าทะเล"สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยข้อมูลสถานภาพแหล่งหญ้าทะเลในไทย ประจำปีงบประมาณ 2567 พบว่า มีพื้นที่หญ้าทะเลทั้งหมด 97,784 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ฝั่งอ่าวไทย 35% และพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน 65% โดย จ.ประจวบคีรีขันธ์ สถานภาพหญ้าทะเลมีความสมบูรณ์ไม่ถึง 10% ส่วน จ.จันทบุรี สถานภาพสมบูรณ์ดีมากกว่า 90% จำนวน 9 หมื่นกว่าไร่ ดูเหมือนจะเยอะใช่ไหมล่ะครับ?แต่ลองย้อนไปดูข้อมูลก่อนหน้านี้กันสักนิดดีกว่า สถานภาพแหล่งหญ้าทะเลปี พ.ศ. 2565 ประเทศไทยมีพื้นที่หญ้าทะเลทั้งหมด 103,580 ไร่ แบ่งเป็นฝั่งอ่าวไทย 31,954 ไร่ (31%) ฝั่งทะเลอันดามัน 71,626 ไร่ (69%) และตอนนั้นเองการปกคลุมของหญ้าทะเลใน จ.จันทบุรี ก็อยู่ในเกณฑ์สมบูรณ์ดีมากแทบจะ 100%เกี่ยวกับวิกฤติหญ้าทะเล ทีมข่าวฯ ได้มีโอกาสพูดคุยกับ 'ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์' ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งบทสัมภาษณ์บางส่วน ระบุว่า "ต้นเหตุการตายของพะยูนในทะเลอันดามัน มาจากแหล่งหญ้าทะเลที่เป็นอาหารเสื่อมโทรม โดยเฉพาะพื้นที่ จ.ตรัง เปรียบเสมือนเมืองหลวงของพะยูน เจอปัญหาหญ้าทะเลไม่เพียงพอ ซึ่งพบว่าพะยูนที่ตายมีลักษณะของการขาดอาหาร ผอมตายอยู่จำนวนมาก"ต้นเหตุผลกระทบแหล่งอาหารพะยูน ดร.ก้องเกียรติ ระบุถึงสาเหตุที่หญ้าทะเลตายเป็นวงกว้าง มีความเกี่ยวข้องกับสภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะปลายปี 2566 – 2567 พบว่าระดับน้ำทะเลอันดามันลดต่ำกว่าปกติ ทำให้หญ้าทะเลต้องตากแดดนานกว่าปกติ ประกอบกับอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้น ทำให้หญ้าทะเลมีความอ่อนแอ ไม่สามารถเติบโตได้เต็มที่อ่านเพิ่มเติม : วิกฤติ "พะยูน" เปิดพฤติกรรมเอาตัวรอด กินสาหร่ายแทนหญ้าทะเล ************ขอบคุณภาพจาก : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, ศูนย์ข้อมูลภูเก็ต, ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์