“ลงทุนน้อย ได้กำไรงาม”

“การันตีเงินต้น ไม่ขาดทุนแน่นอน”

“ถ้าอยากรวยเหมือนเรา ก็ทำตามเราสิ”

ต้องยอมรับว่าประเทศไทยอยู่ในบริบทของ ‘ประเทศกำลังพัฒนา’ เราต่างก็ต้องการไต่ขึ้นทางเศรษฐานะ อยากมีคุณภาพชีวิตที่ดี และอยากมีทรัพย์สินมากเพียงพอเพื่อดูแลชีวิตตนเองและคนรอบข้าง จึงไม่แปลกเลยที่ประโยคข้างต้นจะสามารถดึงความสนใจกของผู้คนได้ โดยเฉพาะในยามที่คนๆ นั้นเผชิญกับวิกฤติทางการเงินและหันไปทางไหนก็มืดแปดด้าน

ไทยรัฐออนไลน์ พาไปย้อนดูคดีฉ้อโกงในตำนาน ทั้งในรูปแบบแชร์ลูกโซ่, หลอกลงทุน , ออมเงินออมทองทิพย์, ไปจนกระทั่งขายทัวร์ปลอม เพื่อทำความเข้าใจรูปแบบและพัฒนาการของกลเม็ดหลอกลวงทั้งหลายในอดีต ซึ่งนับวันก็ดูจะแยบยลขึ้นเรื่อยๆ ชนิดที่ว่าหน่วยงานรัฐก็อาจตามไม่ทัน

แชร์แม่ชม้อย

หากนึกถึงคดีแชร์ลูกโซ่ระดับตำนาน จะเป็นคดีไหนไปไม่ได้เลยนอกจาก ‘คดีแชร์แม่ชม้อย’ ซึ่งถือเป็นคดี ‘ฉ้อโกงประชาชน’ ในรูปแบบแชร์ลูกโซ่ยุคบุกเบิกของเมืองไทย ที่สร้างความเสียหายในระดับ 4 พันล้านบาท ในช่วงปี 2517-2528

...

ในปี 2517 ‘ชม้อย ทิพยโส’ อดีตเสมียนธุรการที่องค์การเชื้อเพลิง ได้ใช้อุบายหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อว่า หากนำเงินมาลงทุนในธุรกิจค้าน้ำมันกับเธอ จะได้ผลตอบแทนในรูปแบบเงินปันผล อัตรา 6.5% ต่อเดือน ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่สูงกว่าสถาบันการเงินทั่วไป ประชาชนที่หลงเชื่อจึงนำเงินมาลงทุนกับเธอ โดยในระยะแรกต่างก็ได้ผลประโยชน์ตอบแทนสม่ำเสมอ ตรงเวลา  และดูปลอดภัย เพราะหากอยากจะถอนเงินต้นคืนก็สามารถทำได้ตลอดเวลา ด้วยเหตุผลนี้เอง ทำให้ธุรกิจของแม่ชม้อยถูกบอกเล่าปากต่อปากและโด่งดังในวงที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับโปรไฟล์ของแม่ชม้อย ที่ขณะนั้นทำงานอยู่ที่การปิโตเลียมแห่งประเทศไทย ทั้งหมดนี้ทำให้ประชาชนหลงเชื่อได้ไม่ยาก จนมีเหยื่อในคดีนี้ถึง 16,000 ราย รวมมูลค่าเสียหายกว่า 4 พันล้านบาท 

กลยุทธ์ของแม่ชม้อย โดยสรุปคือ

  1. ใช้ ‘หัวหน้าสาย’ หรือก็คือประชาชนที่หลงเชื่อว่าแม่ชม้อยประกอบกิจการค้าน้ำมันจริง มาเป็นกระบวนเสียงชักชวนแพร่ข่าวแก่ประชาชนทั่วไปให้หลงเชื่อ แล้วนำเงินฝากมาให้แม่ชม้อยกู้ยืม
  2. ออกสัญญากู้ยืมเงินหรือเช็กธนาคารสั่งจ่ายเงินพร้อมลงวันที่ล่วงหน้า (อย่างใดอย่างหนึ่ง) แล้วนำไปมอบให้เหยื่อถือไว้เป็นหลักฐาน ตอกย้ำความเชื่อมั่นแก่ผู้ที่นำเงินมาให้แม่ชม้อยกู้
  3. แม่ชม้อยเรียกการรับกู้ยืมเงินนี้ว่า เป็นการเล่นแชร์ชนิดหนึ่ง  ซึ่งประชาชนเรียกว่า ‘แชร์น้ำมัน' ที่ลงทุนครั้งเดียวได้ผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราสูงและแน่นอน แถมยังขอรับเงินต้นคืนได้ตามข้อตกลงอีกด้วย 

ทว่าแท้จริงแล้ว แม่ชม้อยไม่ได้นำเงินไปลงทุนธุรกิจน้ำมันแต่อย่างใด เธอเพียงแค่นำเงินจากเหยื่อรายใหม่ หมุนเวียนมาจ่ายให้เหยื่อรายเก่า ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งความแตก

เรื่องมันมาแดงตรงที่ นักลงทุนหน้าใหม่มีจำนวนน้อยลง เงินที่หามาได้ก็ค่อยๆ ร่อยหรอจนไม่สามารถจ่ายผลตอบแทนคืนได้เหมือนที่การันตีไว้ จนกระทั่งปี 2528 แม่ชม้อยไม่สามารถหาเงินมาจ่ายผลตอบแทนได้อีกต่อไป จึงยุติการจ่ายทั้งหมด ไม่ว่าจะเงินปันผลหรือเงินต้น ทำให้ผู้เสียรวมกันเข้าแจ้งความดำเนินคดีในเวลาต่อมา

คดีนี้ พนักงานอัยการสั่งฟ้องแม่ชม้อยและพวก รวม 8 คน ฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนละให้แม่ชม้อยกับพวกร่วมกันคืนต้นเงินที่ร่วมกันฉ้อโกงไป ส่วนพวกอีก 2 คน คนหนึ่งสั่งไม่ฟ้องเพราะพยานหลักฐานไม่พอ  ส่วนอีกคนหนึ่งกันไว้เป็นพยานคดีใช้เวลาในการสืบพยานทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยรวม 4 ปี พนักงานอัยการสืบพยานโจทก์กว่า 600  คน

บทสรุปคือ แม่ชม้อยและพวก มีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน 36,410 กระทง จำคุกคนละ 155,005 ปี แต่ตามกฎหมายแล้วติดคุกได้ไม่เกิน 20 ปี  จำเลยทั้งหมดจึงต้องรับโทษเพียงคนละ 20 ปีเท่านั้น 

...

ที่สุดแล้ว แม่ชม้อยติดคุกจริงเพียงแค่ 7 ปี 11 เดือน 5 วัน เพราะได้รับการลดโทษ 2 ครั้ง และพ้นโทษออกมาในวันที่ 27 พ.ค. 2536

แชร์ชาร์เตอร์

เอกยุทธ อัญชันบุตร คือเจ้าของบริษัท ชาร์เตอร์ อินเวสต์เมนท์ จำกัด และเป็นคนที่มีชื่อเสียงในวงการการเงิน อสังหาริมทรัพย์  และการเมือง

เรื่องของเรื่องคือ เอกยุทธ ได้เริ่มชักชวนให้คนมาลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์และเงินตราต่างประเทศมาเก็งกำไร โดยจูงใจด้วยค่าตอบแทนที่สูงถึง 9% (สูงกว่าของแม่ชม้อยเสียอีก) โดยวงแชร์นี้ ไทม์ไลน์จะใกล้เคียงกับคดีของแม่ชม้อย โดยในช่วง 2527 วงเเชร์ชาร์เตอร์อยู่ในขาขึ้นและเติบโตสูงสุด นั่นเพราะแชร์แม่ชม้อยเริ่มถูกรัฐบาลเพ่งเล็งจึงต้องหยุดรับเงินชั่วคราว ทำให้เงินก็ไหลมาที่แชร์ชาร์เตอร์นั่นเอง 

แต่ก็อีหรอบเดิม แรกๆ ก็ให้ผลตอบแทนงาม แต่นานเข้าก็เริ่มถึงทางตันเพราะหาเงินมาจ่ายผู้ลงทุนไม่ไหว แชร์ชาร์เตอร์จึงถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนเอกยุทธ ก็หลบหนีออกนอกประเทศ ก่อนจะกลับมาประเทศไทยอีกครั้งเมื่อคดีหมดอายุความแล้ว 

...

ชะตากรรมของ เอกยุทธ จบลงด้วยการถูกฆาตกรรม เขาถูกคนขับรถสังหารเมื่อเดือนมิถุนายน 2556 เนื่องจากปมขัดแย้งเรื่องทรัพย์สิน

แชร์เสมาฟ้าคราม

คดีนี้เกิดขึ้นปลายปี 2529 โดย พรชัย สิงหเสมานนท์ เจ้าของหมู่บ้านเสมาฟ้าคราม โครงการบ้านจัดสรรราคาถูก 700 ยูนิต บนเนื้อที่ 320 ไร่ ตั้งอยู่ที่อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี โดยโครงการนี้ของเขาได้ประสบปัญหาเรื่องการเงิน ทำให้ธนาคารระงับการให้สินเชื่อ และเพื่อหาเงินมาดำเนินโครงการต่อ พรชัยจึงจัดระดมเงินทุนนอกระบบขึ้น โดยมีรูปแบบคือ 

  • ผลตอบแทนสูง: ผู้ที่เข้าร่วมแชร์จะได้รับผลตอบแทนสูงถึงเดือนละ 12.5% หรือ 150% ต่อปี
  • ระยะเวลาสั้น: ผู้ลงทุนจะได้รับเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยภายใน 2 ปี
  • การตลาด: มีการโฆษณาชวนเชื่ออย่างมาก ทำให้มีผู้คนหลงเชื่อและเข้ามาร่วมลงทุนเป็นจำนวนมาก

ตัวอย่างเช่น ลงทุน 12,000 บาท รอ 2 ปี จะได้กำไรถึง 2 เท่าตัวคือ 24,000 บาท

แต่ต่อมาเพียง 2 ปี แชร์เสมาฟ้าครามก็เป็นอันต้องจบลงเพราะพรชัยไม่มีเงินจ่ายดอกเบี้ย ซึ่งมูลค่าความเสียหายของคดีนี้สูงถึง 601 ล้านบาท ที่สุดแล้วธนาคารก็ได้เข้ามายึดทรัพย์สินที่จำนองไว้ ส่วนพรชัยถูกจับดำเนินคดีตามกฎหมายในข้อหาฉ้อโกงประชาชน 

แคลิฟอร์เนียว้าว

ช่วงปี 2544 แคลิฟอร์เนียว้าว แบรนด์ธุรกิจออกกำลังกายสัญชาติอเมริกัน ได้เข้ามาเปิดกิจการฟิตเนสในไทย ภายใต้การบริหารของ แอริค มาร์ค เลอวีน (ชาวอเมริกัน) ซึ่งในตอนนั้นถือ ฟิตเนส ถือเป็นความแปลกใหม่และเป็นเทรนด์สุขภาพที่กำลังมาแรง ทำให้แบรนด์แคลิฟอร์เนียว้าวเติบโตอย่างรวดเร็วเพราะมีคู่แข่งไม่กี่เจ้าในไทย 

...

แคลิฟอร์เนียว้าว ขยายสาขาจำนวนมากทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ในเวลาอันรวดเร็ว จากปีแรกๆ มีสมาชิกเพียง 8,500 คน ทว่าภายในระยะเวลา 9 ปี ก็สามารถเพิ่มจำนวนสมาชิกได้มากถึง 160,000 คน 

ด้วยภาพลักษณ์ที่ดีตลอดจนสาขามากมาย ทำให้แคลิฟอร์เนียว้าว สามารถคิดค่าบริการได้ในอัตราที่สูง กล่าวคือ แพงแค่ไหนคนก็ยอมจ่าย เพราะเชื่อถือเชื่อมั่นในแบรนด์ โดยค่าสมัครฟิตเนสรายปีบางรายสูงถึงหลักแสนบาท

เมื่อธุรกิจรุ่งเรือง แคลิฟอร์เนียว้าวจึงเข้าไปบุกในตลาดหลักทรัพย์ช่วงปี 2548 และเสนอขายหุ้นให้ประชาชนในราคาหุ้นละ 6 บาท แถมต่อมาวิชา พูลวรลักษณ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) ตัดสินใจร่วมทุน ในตอนที่หุ้น CAWOW เข้าตลาดใหม่ๆ อีกด้วย 

แต่แล้วสัญญาณแปลกๆ ก็มาถึง เมื่อฟิสเนตในเครือเริ่มประสบปัญหา อาทิ สมาชิกไม่ได้รับความสะดวกในการบริการ ค้างชำระค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าบริหารจัดการ และบางสาขาก็ต้องปิดกิจการลง อีกทั้งต่อมา บริษัทก็แสดงผลประกอบการที่มีกำไรเพียงแค่ปีเดียว คือปี 2549 ก่อนที่จะขาดทุนต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี จนกระทั่งถูกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สั่งพักการซื้อขายหุ้น ในปี 2554  ไม่นานหุ้นของแคลิฟอร์เนียว้าวก็ทรุดลงเรื่อยๆ จนในที่สุด แคลิฟอร์เนียว้าวก็ทยอยปิดฟิสเนตทุกสาขา

เมื่อเรื่องนี้ถึงมือ ปปง. เข้าไปตรวจสอบ จึงพบความจริงว่า ในปี 2544-2555 ธุรกรรมของบริษัทมีการโอนเงินไปต่างประเทศและในประเทศจำนวน 1,669 ล้านบาท หรือ 99% ของธุรกรรมการเงินทั้งหมด  กล่าวคือแอริคหอบเงินทั้งหมดล่องหนหายไปแล้วนั่นเอง 

เรื่องนี้กระทบกับผู้บริโภคจำนวนมาก เนื่องจากจ่ายเงินค่าสมาชิกรายปีหรือตลอดชีพไปแล้ว แต่ก็ต้องมาสูญเงินทั้งหมด  ส่วนตัวแอริค เลอวีน ก็หายตัวไปจนปัจจุบัน คดีนี้ได้หมดอายุความไปแล้วในปี 2022  ทำให้ผู้เสียหายหมดหวังที่จะนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ... 

แชร์ยูฟัน

ในปี 2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ได้บุกทลายเครือข่ายแชร์ลูกโซ่รายใหญ่ นั่นคือ บริษัท ยูฟันสโตร์ ซึ่งประกอบธุรกิจไม่ตรงตามที่ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทขายตรงและออกเงินสกุลดิจิทัล ชื่อ ‘ยูโทเคน’ หลอกลวงประชาชนสร้างความเสียหายมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท

แชร์ยูฟันใช้วิธีชักชวนให้คนมาลงทุนเป็นเครือข่าย มีทั้งการขายหน่วยการลงทุน ‘ยูโทเคน’  เป็นหน่วยลงทุนอิเล็กทรอนิกส์ ที่ไม่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย แต่บริษัทอ้างว่าเป็นสกุลเงินมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คล้ายกับการลงทุนหุ้น แต่ได้ผลตอบแทนเร็วและมีมูลค่าสูงกว่าหุ้น

เหตุที่มีผู้เสียหายมาก เพราะโมเดลที่ออกแบบให้หาสมาชิกใหม่ โดยจูงใจว่า หากสามารถหาสมาชิกมาเพิ่มได้ จะให้ส่วนแบ่ง 7-12% จากเงินที่สมาชิกใหม่นำมาลงทุนใหม่ ซึ่งก็มีการนำเงินหมุนเวียนจากสมาชิกเก่ามาจ่ายให้สมาชิกใหม่ให้ตายใจเหมือนแชร์ลูกโซ่ที่ผ่านๆ มา โดยมีผู้เสียหาย 2,451 คน รวมเป็นเงิน 352 ล้านบาท

รูปแบบการลงทุนแบ่งออกเป็น 5 ระดับ หรือ 5 ตำแหน่ง คือ 

ระดับ 1 ดาว 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทย 17,500 บาท 
ระดับ 2 ดาว 1,000 ดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทย 35,000 บาท 
ระดับ 3 ดาว 5,000 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทย 175,000 บาท 
ระดับ 4 ดาว 10,000 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทย 350,000 บาท 
ระดับ 5 ดาว 50,000 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทย 1,750,000 บาท

FOREX 3D

คดี FOREX 3D เป็นการฉ้อโกงประชาชนในรูปแบบที่พัฒนาจากการแชร์ลูกโซ่ดั้งเดิม มาสู่การหลอกลวงที่ซับซ้อนแยบยลขึ้น โดยจูงใจด้วยการลงทุนในรูปแบบที่สังคมกำลังสนใจ อาทิ การลงทุนในตลาดหุ้น การแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศและสกุลเงินดิจิทัล ฯลฯ

วิธีการของ FOREX 3D คือการเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมลงทุนซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ (FOREX) ผ่านเว็บไซต์ www.forex-3D.com โดยที่ FOREX 3D เปรียบเสมือนนายหน้าโบรกเกอร์ที่ช่วยเทรด FOREX เมื่อได้เงินกำไรมาก็จะแบ่งกันตามสัดส่วนที่ตกลงกันไว้ (เจ้าของเงิน 60 โบรกเกอร์ 40) โดย FOREX 3D ได้การันตีผลตอบแทน 10-15% ทุกเดือนๆ ให้กับผู้ลงทุน โดยมีผู้หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อถึง 8,436 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 2 พันล้านบาท 

ปัจจุบัน คดี FOREX 3D ยังไม่สิ้นสุดโดยสมบูรณ์ เพราะยังต้องดำเนินคดีและสืบสวนสอบสวนอยู่อีกหลายส่วน เนื่องจากเป็นคดีที่ซับซ้อน มีผู้เสียหายจำนวนมาก และมีการกระทำความผิดหลายรูปแบบ 

ซินแสโชกุน

พสิษฐ์ อริญชย์ลาภิศ หรือ ซินแสโชกุน  อายุ 31 ปี ได้ทำการชักชวนผู้คนเข้ามาเป็นสมาชิกของบริษัทผลิตภัณฑ์อาหารเสริม โดยให้สมาชิกชำระเงิน 9,700 บาทต่อคนแล้วจะได้อาหารเสริม 2 กระปุก เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือว่าบริษัทมีผลิตภัณฑ์อยู่จริงๆ และอ้างว่าสมาชิกจะมีสิทธิได้เดินทางไปท่องเที่ยวประเทศแถบเอเชียด้วย อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง เรื่องมันมาแตกตรงที่ สมาชิกกลุ่มหนึ่งถูกลอยแพทิ้งไว้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยคดีนี้ คดีพบมูลค่าความเสียหายนับ 64 ล้านบาท 

วิธีการหลอกลวงของซินแสโชกุนคือ อัดคลิปตัวเองลงสื่อ ว่าได้ไปเที่ยวในประเทศต่างๆ หรือเช่าเครื่องบินเจ็ตไปเชียงราย เพื่อล่อลวงให้คนมาสมัครซื้อบริการ โดยแบ่งออกเป็น 

  • สมัครสมาชิกบริษัทเวลท์ เอเวอร์ ราคา 500 บาท 
  • สมัครสมาชิกอีก 1 บริษัทที่สินค้า 850 บาท 
  • ค่าสินค้ามาสเตอร์มายด์ 2 กระปุก ราคา 8,380 บาท

รวมเป็นเงิน 9,730 บาท เสียเงินเพียงเท่านี้ก็ไปเที่ยวญี่ปุ่นได้แล้ว 

โดยครั้งแรกๆ บริษัทก็พาสมาชิกไปเที่ยวจริง นั่นคือที่ฮ่องกงและญี่ปุ่น ทริปละประมาณ 20 คน และอาศัยให้คนกลุ่มแรกบอกต่อเรื่อยๆ จนได้สมาชิกเพิ่มจำนวนมาก โดยหลังจากมีสมาชิกถูกลอยแพที่สนามบิน เรื่องจึงถึงหูสาธารณชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่สุดแล้วซินแสโชกุนและพรรคพวกจึงถูกจับกุมดำเนินคดีในที่สุด

แชร์แม่มณี

‘แม่มณี’ พื้นที่อยู่ที่จังหวัดอุดรธานี เธอเติบโตจากการเป็นเน็ตไอดอลขายตุ๊กตาออนไลน์ และใช้เวลาไม่ถึง 3 ปี ก้าวเข้าสู่วงการบันเทิงและเริ่มมีตัวตนด้วยการเป็น ‘แม่มณี’ จากเหตุการณ์ทำศัลยกรรมผิดพลาด ก่อนออกมาร้องเรียนต่อสื่อมวลชนในจังหวัดอุดรธานี ว่าไปทำศัลยกรรมทรวงอกกับคลินิกแห่งหนึ่งในเขตเทศบาลนครอุดรธานี แล้วเกิดแผลจากการผ่าตัด เรียกร้องให้ทางคลินิกรับผิดชอบเยียวยาชดใช้ให้จนเป็นข่าวครึกโครม ทำให้มีคนสนใจมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มพริตตี้เอ็มซีที่สนใจเรื่องการทำศัลยกรรม 

แม่มณีทำธุรกิจหลายประเภท ทั้งแบรนด์เครื่องสำอาง สถานบันเทิง บ้านพักพูลวิลล่า กิจการห้างทอง ฯลฯ ทำให้เธอกลายเป็นสาวไฮโซที่สวยและรวยมาก จนได้รับรางวัลบุคคลต้นแบบและนักธุรกิจดีเด่นมากมาย 

ทว่าในปี 2562 แม่มณีก็ถูกจับกุม จากข้อหาหลายกระทง อาทิ หลอกลวงประชาชนผ่านเฟซบุ๊กให้มาออมเงิน หรือร่วมลงทุนโดยมีแผนการตลาด หรือรูปแบบการลงทุนจัดแบ่งออกเป็นวง จำนวนวงละ 1,000 บาท และจะได้รับผลตอบแทน 930 บาทต่อหนึ่งวง เมื่อครบกำหนด 9 เดือน นับตั้งแต่วันที่ลงทุน หรือวันที่ฝากเงินมายังบัญชีที่แจ้ง ผู้ลงทุนจะได้รับเงินที่ลงทุนพร้อมผลตอบแทนวงละ 1,930 บาทซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เป็นเพียงอุบายที่ต้องการลวงเงินจากประชาชน จนเกิดความเสียหายจำนวน 2,533 ราย รวมมูลค่าทั้งสิ้น 1,376,215,359 บาท

กรณีของแม่มณีนั้น ด้วยความที่เธออยู่ในวงการเซเล็บและแวดวงดาราไฮโซเน็ตไอดอล ทำให้เธอสามารถไปปรากฏตัวในสื่อได้ทุกช่องทาง และยังโชว์ความร่ำรวยเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ทำให้มีเหยื่อตกหลุมพรางเป็นจำนวนมาก 

บ้าน MILK MILK

ผู้ต้องหาในคดีนี้คือ นักศึกษาวัย 22 ปี เธอได้เปิดเฟซบุ๊กเพื่อชักชวนให้ผู้คนนำเงินมาฝากออมกับเธอ โดยการันตีผลตอบแทนเป็นราย 10 วัน 20 วัน หรือ 30 วัน มากน้อยลดหลั่นกันไปตามจำนวนเงินที่นำมาฝาก เช่น ฝาก 1,000 บาทเป็นเวลา 30 วัน จะได้รับเงินกลับไปเป็นเงิน 13,000 บาท

คดีนี้ มีรูปแบบคือ ออมเงินกินดอกเบี้ย ได้ผลตอบแทนสูง ซึ่งหมายถึงการนำเงินไปฝากเฉยๆ แบบไม่มีความเสี่ยง แต่ได้รับเงินปันผลในอัตราที่สูงและรวดเร็วในครั้งแรกๆ

คดีนี้มีผู้เสียหายไม่ต่ำกว่า 1,000 คน มูลค่าถึง 300-400 ล้านบาท 

อ้างอิง