เช็กจุดต่าง "ธุรกิจขายตรง" กับ "แชร์ลูกโซ่" ข้อสังเกตที่ควรรู้ ก่อนตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่ประสงค์ดี!

ขายตรง หรือ Direct Selling คือ การขายและการทำตลาดให้กับผู้บริโภคโดยตรง เรียกได้ว่าเป็นการขาย "แบบตัวต่อตัว" ณ ที่อยู่อาศัย หรือสถานที่ทำงานของผู้บริโภค โดยผ่านตัวแทนขายตรงหรือผู้จำหน่ายอิสระชั้นเดียวหรือหลายชั้น อย่างไรก็ตามไม่รวมถึงนิติกรรมที่กำหนดในกฎกระทรวง

สำหรับวิธีการขายตรงในประเทศไทยมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ

1. ขายตรงแบบชั้นเดียว (Single level marketing) หมายถึง ผู้จำหน่ายจะเน้นการนำสินค้าไปขายให้กับผู้บริโภค เพื่อสร้างผลงานตามยอดขายที่บริษัทกำหนด โดยได้ผลตอบแทนตามเกณฑ์ของผลงาน จากยอดขายสินค้าตามที่บริษัทกำหนด

2. ขายตรงแบบหลายชั้น (Multi level marketing) หมายถึง การสร้างเครือข่ายผู้ทำธุรกิจหรือสมาชิก โดยจะมีรายได้จากยอดจำหน่ายสินค้ารวมจากผลงานของตัวเองและทีมงาน

อย่างไรก็ตาม การขายตรงในบางครั้งยังมีการชักชวนให้ผู้ซื้อร่วมทำธุรกิจเป็นตัวแทนจำหน่าย จึงเกิดภาพจำต่อธุรกิจนี้ว่าเป็น "ธุรกิจแชร์ลูกโซ่" ในจุดนี้เองที่ทำให้หลายคนเข้าใจผิด เพราะหากทำธุรกิจขายตรงอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จะไม่ใช่แชร์ลูกโซ่ อีกทั้งจะมีการจัดส่วนแบ่งและกำไรอย่างชัดเจน

โดยบริษัทที่จะประกอบธุรกิจขายตรงจะต้องยื่นขอจดทะเบียนกับ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. (กองขายตรงและตลาดแบบตรง) ก่อนทำธุรกิจ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย ทั้งนี้ ผู้อ่านสามารถตรวจสอบรายชื่อบริษัทที่จดทะเบียนได้ทางเว็บไซต์ของ สคบ.

ขายตรง VS แชร์ลูกโซ่ :

...

คราวนี้หากจะถามว่า แล้ว "ธุรกิจขายตรง" ต่างกับ "ธุรกิจแอบแฝง" (ธุรโกง) หรือที่ทุกคนรู้จักกันในชื่อ "แชร์ลูกโซ่" อย่างไร ทีมข่าวฯ ได้ติดต่อไปยัง สมาคมการขายตรงไทย ได้รับข้อมูล ดังนี้

*ธุรกิจขายตรงที่ถูกต้อง*

1. ค่าธรรมเนียมในการสมัครต่ำ เงินค่าสมัครจ่ายเพื่อคู่มือความรู้ เอกสารฝึกอบรม และสินค้าตัวอย่างเท่านั้น

2. จำหน่ายสินค้าหลากหลายชนิดที่มีคุณภาพสูง มียอดขายมาจากการจำหน่ายสินค้าได้ซ้ำอีกเรื่อยๆ และความพึงพอใจของลูกค้าเป็นสำคัญ บริษัทจะทุ่มเทเงินจำนวนมากเพื่อการวิจัยค้นคว้าและพัฒนาคุณภาพสินค้า

3. รับประกันคุณภาพความพอใจของสินค้าโดยการคืนเงิน ลูกค้าสามารถเปลี่ยนหรือคืนสินค้ากับบริษัทได้เมื่อต้องการภายในระยะเวลาที่เหมาะสม

4. ตระหนักถึงการดำเนินธุรกิจระยะยาว สิ่งนี้สำคัญมากเพราะบริษัทมีความรับผิดชอบต่อผู้ขายซึ่งเป็นผู้ที่ดำเนินธุรกิจอย่างแท้จริง

5. การจ่ายผลตอบแทนรายได้และตำแหน่ง จะขึ้นอยู่กับการทำงานของผู้ขาย นั่นหมายถึงรายได้จะมาจากยอดขายที่ขายสินค้าได้

6. การก่อตั้งธุรกิจขึ้นอยู่กับการขายสินค้าคุณภาพ ซึ่งคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป

7. มีผู้ขายอิสระที่อาศัยการขายสินค้าเพื่อสร้างรายได้

8. มีกฎระเบียบที่เข้มงวดในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะมีข้อห้ามมิให้ผู้ขายเก็บตุนสินค้า

9. ผู้ขายจะเน้นการขายสินค้าและบริการ

10. ธุรกิจถูกต้องตามกฎหมายและเป็นการขายสินค้าอีกรูปแบบหนึ่ง ที่นอกเหนือจากการขายตามห้าง ซึ่งผู้บริโภค นักขายตรง และบริษัทขายตรงก็ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย

*ธุรกิจแอบแฝง (ธุรโกง) / แชร์ลูกโซ่ / ระบบพีระมิด*

1. ค่าธรรมเนียมจากการสมัครสูง ผู้สมัครจะถูกหลอกให้จ่ายค่าฝึกอบรม และซื้อสินค้าเกินความต้องการ ผลกำไรของระบบพีระมิดส่วนใหญ่จะมาจากการรับสมัครสมาชิก

2. ไม่สนใจที่จะจำหน่ายสินค้าคุณภาพ สินค้าส่วนใหญ่จะมีคุณภาพต่ำและได้ผลกำไรสูง รายได้จะมาจากการรับสมัครสมาชิกใหม่ ซึ่งจะถูกบังคับให้ซื้อสินค้าที่มีราคาสูงเป็นจำนวนมาก

3. ไม่มีนโยบายรับซื้อสินค้ากลับคืน เพราะนโยบายนี้จะทำให้ระบบพีระมิดล้มได้

4. ร่ำรวยในเวลาอันรวดเร็ว (Get-rich-quick scheme) ผู้เข้าร่วมจำนวนมากที่ฐานของพีระมิดจะเป็นผู้จ่ายเงินให้แก่คนไม่กี่คนที่อยู่ในระดับจุดยอดของพีระมิด ซึ่งธุรกิจรูปแบบนี้ไม่สามารถอยู่ได้ยาวนาน

5. ตำแหน่งในระบบสามารถซื้อได้

6. ระบบนี้ไม่เน้นการขายสินค้าให้กับผู้บริโภค แต่ผลกำไรจะมาจากสมาชิกที่สมัครใหม่ ซึ่งพวกเขาจะต้องซื้อสินค้าเก็บตุน ไม่ใช่เพราะสินค้ามีประโยชน์หรือมีราคาดี แต่ถูกบังคับให้ซื้อตามระบบ สมาชิกใหม่จะรับภาระกับสินค้าที่ตนขายไม่ได้ และเมื่อระบบพีระมิดนี้ล้มพวกเขาจะไม่ได้รับเงินลงทุนกลับคืนเลย

7. ฉ้อฉลหลอกลวงคนให้เข้ามาในระบบ

8. ผู้เข้าร่วมจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการสมัครที่สูง หรือจ่ายค่าสินค้าที่ถูกบังคับให้ซื้อในตอนที่สมัคร

9. ในระบบนี้จะเน้นการรับสมัครสมาชิกใหม่เป็นหลัก และบังคับให้ซื้อสินค้าเมื่อเริ่มสมัคร แต่ไม่สนใจการขายสินค้าจริง ๆ หรือบริการหลังการขาย

10. เป็นระบบที่ผิดกฎหมายในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และหลายประเทศที่พัฒนาแล้วในเอเชีย

...

ธุรกิจการขายตรงแอบแฝงแบบ 'แชร์ลูกโซ่' ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5-10 ปี และปรับตั้งแต่ 500,000 - 1,000,000 บาท

หากพบเห็นหรือถูกชักชวนลงทุนที่สงสัยว่าจะเป็นแชร์ลูกโซ่ สามารถแจ้งเบาะแสไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

- ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร.1359

- กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โทร.1202

- กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โทร.1441

- แจ้งความออนไลน์ได้ที่ เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com

ท้ายนี้การลงทุนทุกรูปแบบมีความเสี่ยง ด้วยความห่วงใยจากทีมข่าวฯ ขอแนะนำให้ทุกท่านตรวจสอบข้อมูลให้แน่ใจก่อนการลงทุน จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่ประสงค์ดี ที่จ้องจะหาผลประโยชน์บนความทุกข์ร้อนของผู้อื่น