ทวงหนี้อย่างไรไม่ให้ผิดกฎหมาย… ทวงได้ไม่เกินวันละ 1 ครั้ง ห้ามข่มขู่ ห้ามคุกคาม ห้ามดูหมิ่น และอีกหลายข้อห้าม จาก พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ที่ 'เจ้าหนี้' ต้องรู้!

กลายเป็นกระแสสนั่นโซเชียล จนลามสะเทือนเป็นข่าวทั่วประเทศ หลังจากเพจ 'อยากดังเดี๋ยวจัดให้' โพสต์รูปป้ายของคุณป้าคนหนึ่ง (ภายหลังชาวเน็ตเรียกว่า 'แม่ปูนา') ที่ติดกลางห้าง ซึ่งมีข้อความบนป้ายว่า "ได้โปรดเมตตา คืนเงินค่าสินค้าให้เราด้วยเถอะ เงิน 284,400 บาท สำหรับบางคนอาจจะไม่เยอะ แต่สำหรับครอบครัวเรา มันคือลมหายใจ 4 ชีวิต" พร้อมกันนั้นยังได้แปะรูป 'จั๊กกะบุ๋ม' ดาราตลกที่ป้ายอีกด้วย

หลังจากกระแสโหมกระหน่ำมากขึ้น ฝ่ายจั๊กกะบุ๋มได้ออกมาเคลื่อนไหว พร้อมดำเนินการแจ้งความต่อเรื่องที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นหลักฐานว่าตนนั้นไม่ได้หลบหนี หรือมีเจตนาเบี้ยวหนี้แต่อย่างใด

ทำให้ชาวโซเชียลสงสัยว่า หากเป็นหนี้จริงจะไปแจ้งความเพราะเหตุใด ทำไมไม่ใช้หนี้ แบบนี้เจ้าหนี้ก็มีแต่เสียหาย ส่วนชาวโซเชียลบางส่วนมองว่า การกระทำของคุณป้าผิดกฎหมาย เหมือนเป็นการประจานคนอื่น

แล้วสุดท้าย… เจ้าหนี้ต้องทวงหนี้ หรือปฏิบัติตัวอย่างไรจึงจะไม่ผิดกฎหมาย? 

ข้อสงสัยนี้นำพาให้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ต่อสายตรงพูดคุยข้อกฎหมายกับ 'นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง' อธิบดีอัยการสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช). พร้อมเปิดข้อกฎหมาย พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 และถือยกเคสนี้เป็น 'กรณีศึกษา' เรื่องการทวงหนี้ 

...

กรณีศึกษา แม่ปูนา จั๊กกะบุ๋ม ทวงหนี้อย่างไรไม่ผิดกฎหมาย?

เปิด พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 : 

นายโกศลวัฒน์ ระบุว่า โดยหลักการแล้ว เป็นหนี้ก็ต้องใช้ เจ้าหนี้มีสิทธิ์ทวงหนี้ได้ แต่ก็ต้องระวัง เพราะการทวงหนี้มีกฎหมายกำกับอยู่  ยกตัวอย่างเช่น ห้ามทวงเกินวันละกี่ครั้ง อย่างการโทรไปทวงหนี้ก็ถือเป็นการทวงแล้ว 1 ครั้ง เขาจะมีกำหนดในรายละเอียดไว้เลย อย่างเช่นโทรศัพท์หาลูกหนี้แล้วเขารับ เจ้าหนี้พูดทวงอย่างชัดเจน แบบนี้ก็นับเป็น 1 ครั้ง 

เอาล่ะครับคุณผู้อ่าน เรามาลองดูตามข้อกฎหมาย ขยายความกันสักหน่อยดีกว่าว่า 'ทวงหนี้อย่างไรถึงจะถูกกฎหมาย' เรื่องนี้เราคิดว่ารู้ไว้ก็ดีนะครับ จะได้เป็นเกราะป้องกันตัวเองไว้ เผื่อวันหนึ่งคุณกลายเป็น 'เจ้าหนี้' จะได้ไม่ทำผิดกฎหมาย

*หมายเหตุ* ข้อความด้านล่างไม่ได้พิมพ์ตัวอักษรตามกฎหมายเป๊ะๆ แต่เป็นการย่อยความให้เข้าใจง่ายขึ้น

เรื่องนี้เราต้องไปดูเนื้อหาในกฎหมายที่มีชื่อว่า พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ลองไล่อ่านมาเรื่อยๆ แล้วจะพบ แนวปฏิบัติและวิธีการทวงถามหนี้ที่ชอบด้วยกฎหมาย มาตรา 8 และ มาตรา 9 โดยแต่ละมาตรามีข้อบัญญัติ ดังนี้

เริ่มกันที่ มาตรา 8 บัญญัติไว้ว่า ห้ามผู้ทวงถามหนี้ติดต่อกับบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ลูกหนี้เพื่อการทวงถามหนี้ เว้นแต่บุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการดังกล่าว

การติดต่อกับบุคคลอื่นนอกจากบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้เพื่อวัตถุประสงค์ในการสอบถาม หรือยืนยันข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้ หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้เท่านั้นโดยผู้ทวงถามหนี้ต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

สรุปจุดนี้ให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ห้ามเจ้าหนี้ติดต่อทวงหนี้กับคนที่ไม่ใช่ลูกหนี้ นอกจากจะมีคนที่ลูกหนี้ระบุไว้ให้ติดต่อ หรือเจ้าหนี้จะติดต่อคนอื่นก็ได้ แต่ต้องแค่สอบถามหรือยืนยันข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้ 

กรณีศึกษา แม่ปูนา จั๊กกะบุ๋ม ทวงหนี้อย่างไรไม่ผิดกฎหมาย?

ถ้าพอจะเข้าใจแล้ว เราไปดูกันต่อว่า 'ผู้ทวงถามหนี้' ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร!!!

เริ่มกันที่ข้อแรก ผู้ทวงถามหนี้ ต้องแจ้งให้ทราบชื่อตัว ชื่อสกุล และแสดงเจตนาว่าต้องการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้ หรือบุคคลที่ลูกหนี้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้ 

...

ข้อที่สอง ห้ามแจ้งความเป็นหนี้ของลูกหนี้ เว้นแต่บุคคลอื่นเป็นสามี ภริยา บุพการี หรือผู้สืบสันดานของลูกหนี้ และถ้าบุคคลอื่นดังกล่าวถามสาเหตุของการติดต่อ ให้ผู้ทวงถามหนี้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับหนี้เท่าที่จำเป็น 

ข้อต่อมา ห้ามใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจ บนซองจดหมาย หนังสือ หรือสื่ออื่นใดที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นการติดต่อเพื่อทวงถามหนี้ และข้อสุดท้ายในมาตรา 8 ที่ควรรู้ คือ ห้ามติดต่อหรือแสดงตนที่ทำให้เข้าใจผิด เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้ หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้

กรณีศึกษา แม่ปูนา จั๊กกะบุ๋ม ทวงหนี้อย่างไรไม่ผิดกฎหมาย?

วิธีการทวงหนี้ที่ถูกกฎหมาย! : 

เข้าสู่ มาตรา 9 ของ พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 บทบัญญัติในข้อนี้กำหนดขึ้นเพื่อจะบอกว่า ถ้าเจ้าหนี้จะทวงหนี้ต้องมีวิธีการอย่างไรบ้าง ทั้งเรื่อง สถานที่ติดต่อ เวลาติดต่อ และจำนวนครั้งที่สามารถติดต่อได้

เริ่มกันที่ข้อ 1 สถานที่ติดต่อ กรณีที่ติดต่อโดยบุคคลหรือทางไปรษณีย์ ให้ติดต่อสถานที่ที่ลูกหนี้ หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้ได้แจ้งให้เป็นสถานที่ติดต่อ 

...

แต่… ถ้าลูกหนี้ไม่ได้แจ้งล่วงหน้า หรือสถานที่ที่แจ้งไว้ติดต่อไม่ได้ และเจ้าหนี้พยายามติดต่อแล้ว ให้ติดต่อตามภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ หรือสถานที่ทำงาน หรือสถานที่อื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด 

ข้อที่ 2 เป็นเรื่องของ เวลา ไม่ว่าคุณจะติดต่อผ่านบุคคล โทรศัพท์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่น ต้องติดต่อใน วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.00 น. ถึง 20.00 น. ส่วนถ้าเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดราชการ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ ให้ติดต่อช่วง 08.00-18.00 น. แต่ถ้าไม่สามารถติดต่อตามเวลาดังกล่าวได้ หรือช่วงเวลาดังกล่าวไม่เหมาะสม ให้ติดต่อในช่วงเวลาอื่นตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด 

ส่วนข้อที่ 3 จำนวนครั้งที่ติดต่อ ให้เป็นไปตามความเหมาะสม และข้อสุดท้ายที่ถูกบัญญัติไว้ใน มาตรา 9 ก็คือ ถ้าเจ้าหนี้ให้คนอื่นไปทวงหนี้แทน ให้คนคนนั้น แจ้งชื่อ นามสกุล หรือหน่วยงานของตนเองและเจ้าหนี้ และถ้าเป็นการทวงถามหนี้ต่อหน้า ให้แสดงหลักฐานมอบอำนาจการทวงจากเจ้าหนี้ด้วย

กรณีศึกษา แม่ปูนา จั๊กกะบุ๋ม ทวงหนี้อย่างไรไม่ผิดกฎหมาย?

...

เจ้าหนี้ทวงหนี้ได้แค่วันละ 1 ครั้ง :

มาแวะดูตรงนี้กันสักนิด! สืบเนื่องจากข้อ 3 ของมาตรา 9 คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ ประกาศไว้ว่า กำหนดให้เจ้าหนี้สามารถทวงหนี้ได้ไม่เกินวันละ 1 ครั้ง หากฝ่าฝืนมีโทษทางปกครองตามมาตรา 34 นั่นก็คือ… ปรับสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

แต่ แต่ แต่!!! โทษยังไม่หมดเท่านั้น มีประกาศต่ออีกว่า ถ้าฝ่าฝืนเวลาทวงหนี้ (ข้อ 2 มาตรา 9) มีโทษปรับ 100,000 บาท และต้องทวงหนี้กับลูกหนี้เท่านั้น ถ้าคุณดันไปทวงกับคนอื่นที่ลูกหนี้ไม่ได้บอกไว้ เสี่ยงโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท

แล้วการทำแบบไหนถึงจะเรียกว่า โทรทวงหนี้ 1 ครั้งแล้ว? 

ข้อมูลจาก กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ระบุไว้ว่า หากมีการส่งข้อความทางแชต เช่น ไลน์ เฟสบุ๊ก และมีการเปิดอ่าน หรือโทรศัพท์หาลูกหนี้ และทวงหนี้อย่างชัดเจน การกระทำลักษณะดังกล่าว จะนับว่าเป็นการทวงหนี้ 1 ครั้ง

แต่ถ้า… ส่งข้อความแล้วลูกหนี้ไม่เปิดอ่าน โทรศัพท์ไปหาแต่ลูกหนี้ไม่รับ หรือลูกหนี้รับโทรศัพท์แล้ว แต่กดวางสายก่อนพูดเรื่องทวงหนี้ เหล่านี้จะไม่นับว่าเป็นการทวงหนี้

กรณีศึกษา แม่ปูนา จั๊กกะบุ๋ม ทวงหนี้อย่างไรไม่ผิดกฎหมาย?

เจ้าหนี้ห้ามกระทำการต่อไปนี้เด็ดขาด!!! : 

ทีมข่าวฯ สอบถาม อธิบดีอัยการ สคช. ต่อไปว่า แล้วการทวงหนี้แบบไหนที่เจ้าหนี้ห้ามทำโดยเด็ดขาด!?

นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง ตอบว่า ห้ามทวงหนี้โดยวิธีการข่มขู่ ห้ามทวงหนี้โดยวิธีการคุกคาม ซึ่งตรงนี้มีบทบัญญัติว่าเป็นความผิดทางกฎหมายอาญาด้วย การทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายเนี่ย เช่น ทวงหนี้เกินจำนวนครั้งต่อวันที่กฎหมายกำหนดก็ผิดแล้วครับ และถ้าทวงหนี้ผิดกฎหมาย ลูกหนี้ก็สามารถไปแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหนี้ได้ด้วย 

มาถึงตรงนี้ ทีมข่าวฯ ขอยกตัวอย่างจาก มาตรา 11 ของ พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 กันดูอีกสักหน่อย ซึ่งกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า ห้ามผู้ทวงถามหนี้ กระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะดังต่อไปนี้

ห้ามทำการข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือการกระทําอื่นใดที่ทําให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น และห้ามใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้หรือผู้อื่น 

นอกจากนั้น 'เจ้าหนี้' ห้ามแจ้งหรือเปิดเผยความเป็นหนี้ของลูกหนี้ ให้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้ อีกทั้ง เจ้าหนี้ห้ามใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของตนบนซองจดหมาย ที่สื่อว่าติดต่อเพื่อทวงหนี้ นอกซะจากว่าชื่อทางธุรกิจของเจ้าหนี้ ไม่ได้สื่อให้รู้ว่าเป็นการทวงหนี้

กรณีศึกษา แม่ปูนา จั๊กกะบุ๋ม ทวงหนี้อย่างไรไม่ผิดกฎหมาย?

"การทวงหนี้ต้องทำอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เจ้าหนี้มีสิทธิจะฟ้องบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ แต่ไม่มีสิทธิไปคุกคาม ถ้าคุณไปข่มขู่ คุกคาม ยื่นด่าทอ แบบนี้กฎหมายก็จะผิด มีโทษทางอาญา" อธิบดีอัยการ สคช. เน้นย้ำเรื่องนี้อีกครั้ง

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ สอบถามนายโกศลวัฒน์เพิ่มเติมว่า ในกรณีที่มีการแปะป้ายทวงหนี้ตามข่าวที่กำลังเป็นกระแสในสังคม เช่นนั้นถือว่ามีความผิดหรือไม่?

อธิบดีอัยการ สคช. ตอบว่า ส่วนตัวยังไม่เห็นข้อความในป้ายทั้งหมด จึงอาจจะพิจารณาไม่ได้ละเอียดนัก แต่ถ้าพูดตามหลักการแล้ว ต้องดูว่าแปะที่ไหน หรือแปะอย่างไร เช่น ถ้าใส่ชื่อลูกหนี้ในป้ายด้วย แบบนี้ก็อาจจะผิด หรือไม่ได้ใส่ชื่อ แต่เอาป้ายไปแปะไว้หน้าบ้านลูกหนี้ แบบนี้ก็ทำไม่ได้ เพราะถือเป็นการประจาน 

โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง
โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง

หากมีปัญหา ให้ สคช. ช่วยไกล่เกลี่ย : 

นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง กล่าวทิ้งท้ายถึงเจ้าหนี้ว่า สิ่งที่ห่วงใยสำหรับการทวงหนี้ คือ ถ้าคุณเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ก็ถือผิดกฎหมาย จะมีโทษทางอาญา ซึ่งดอกเบี้ยที่เกินกฎหมายกำหนด ก็มักจะนำไปสู่การทวงหนี้ที่ผิดกฎหมาย เจ้าหนี้เองก็ต้องระวังตรงนี้ด้วย 

"ถ้ามีปัญหาทวงหนี้ หรือไม่เข้าใจการทวงหนี้ ให้โทรสายด่วนอัยการ 1157 สอบถามได้เลยครับ เราจะมีเจ้าหน้าที่คอยรับสาย และคอยให้คำแนะนำ ให้ความยุติธรรมกับลูกหนี้ เจ้าหนี้ ทุกฝ่าย หรือมาไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ที่เราเลย เราจะช่วยเป็นตัวกลางให้"

กรณีศึกษา แม่ปูนา จั๊กกะบุ๋ม ทวงหนี้อย่างไรไม่ผิดกฎหมาย?


อ่านข้อกฎหมายเพิ่มเติม

กราฟิก : ชลธิชา พินิจรอบ

ภาพ : iStock

อ่านบทความที่น่าสนใจ :