จากผลประเมินของ PISA ปี2565 นอกจากจะชี้ชัดให้เห็นถึงปัญหาระบบการศึกษาไทยแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึง “ความเหลื่อมล้ำ” ทางการศึกษา โดยเฉพาะงบประมาณ และอุปกรณ์ที่ส่งเสริมการเรียนในชั้นเรียนของโรงเรียนระดับชั้นนำ และโรงเรียนในระดับท้องถิ่น
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) วิเคราะห์ว่า จากคะแนนสอบของโรงเรียนกลุ่มต่างๆ ในไทย พบว่า กลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์ มีคะแนนสอบมากที่สุด และอยู่ในระดับที่มากกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD ในทุกทักษะ ตามด้วยกลุ่มโรงเรียนสาธิต ที่มีคะแนนอยู่ในระดับค่าเฉลี่ย ส่วนโรงเรียนสังกัด สพฐ. โรงเรียนเอกชน โรงเรียนสังกัด อปท. และ โรงเรียนขยายโอกาส มีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอยู่มาก
...
แม้มี “เด็กเก่ง” ที่มีผลสอบสูงถึงระดับ 5-6 หรือในระดับที่สามารถใช้ทักษะไปแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้ แต่เด็กนักเรียนในกลุ่มนี้มีจำนวนไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ตรงกันข้ามกับเด็กที่มีผลสอบในระดับ 2 ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำมาก หรือระดับที่ไม่สามารถนำความรู้ที่เรียนไปประยุกต์ใช้ได้นั้นมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งของนักเรียนทั้งประเทศ
ความแตกต่างของทักษะนักเรียน คือหนึ่งในปัญหาที่มาจากความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนความเหลื่อมล้ำของครอบครัวเด็กนักเรียนระหว่างเด็กรวย กับ เด็กที่มีฐานะไม่ดี
ขณะเดียวกันพบว่า “เงินอุดหนุน” ที่โรงเรียนได้รับ มีส่วนสำคัญกับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา โดยนักเรียนชั้น ม.4 กลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์ ได้รับงบอุดหนุนนักเรียน จากกระทรวงศึกษาธิการจำนวน 84,000 บาท/คน/ปี ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงกว่าที่ โรงเรียนสังกัด สพฐ.ได้รับจำนวน 8,584 บาท/คน/ปี หรือ ห่างกันเกือบ 10 เท่าตัว สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าทรัพยากรและเงินอุดหนุนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาศักยภาพนักเรียน.