เปิดสถิติ 3 โรคน่ากลัว ที่กำลังระบาดหนัก และมากับหน้าหนาว เผย โรคไข้หวัดใหญ่ มีคนป่วยเกือบ 3.5 แสนราย โรคปอดอักเสบ และโควิดขาขึ้น หมอมนูญอธิบาย...

แม้จะมีการพยากรณ์ว่า ปีนี้ เราจะไม่เจออากาศเย็น แต่ความเป็นจริงนั้น หาใช่เช่นนั้น...เพราะลมหนาวที่พัดปะทะร่างเวลานี้เป็นเครื่องยืนยันได้ แต่...สิ่งที่น่ากลัว และมาพร้อม “ลมหนาว” คือ โรคระบาด ที่ต้องระมัดระวัง

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ข้อมูลสถิติ ที่น่าสนใจจาก กรมควบคุมโรค โดยเฉพาะ 3 โรคร้ายที่มากับหน้าหนาว และที่สำคัญ คือ กำลังเริ่มที่จะระบาดหนักในเวลานี้ นอกจากนี้ ยังได้พูดคุยกับ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียู แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยหนัก รพ.วิชัยยุทธ มาให้ข้อมูล ความรู้... 

ไข้หวัดใหญ่ระบาด ปีนี้ติดแล้วเกือบ 3.5 แสนคน 

จากข้อมูลประกาศของกรมควบคุมโรค เรื่องการป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย ปี 2566 ระบุ สถิติ โรคทางเดินหายใจ คือ...

...

1.โรคไข้หวัดใหญ่ (Inflienza) จากเชื้ออินฟลูเอนซาไวรัส ซึ่งมี 3 ชนิด  คือ A B และ C สามารถแพร่กระจายผ่านทางเดินหายใจ สัมผัสละอองฝอย น้ำมูล น้ำลาย 

อาการ : ไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ น้ำมูกไหล ตาแดง 

โดยทั่วไปผู้ป่วยจะหายได้เอง แต่บางกลุ่มจะเกิดภาวะแทรกซ้อนอาการรุนแรงได้ เช่น การมีโรคประจำตัว เด็กเล็กและผู้สูงอายุ 

สถิติ การเฝ้าระวังโรค จากกองระบาดวิทยา ในรอบ 5 ปี (ปี 2561-2565) ในช่วงปี 2563-2564 พบผู้ป่วยลดน้อยลง เนื่องจากมีการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคลักษณะเดียวกัน ทำให้มีการป้องกันอย่างเข้มข้น แต่...ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 66 จนถึง 31 ต.ค. 66 พบว่า มีการระบาดเพิ่มขึ้นมาก พบผู้ป่วย 341,917 ราย อัตรา 516.71 ต่อประชากรแสนคน เสียชีวิต 20 ราย สาเหตุหลักมาจาก “ไวรัสไข้หวัดใหญ่” ชนิด A 

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ อายุ 5-15 ปี รองลงมา อายุ 0-4 ปี และ 15-24 ปี 

โรคปอดอักเสบ ปีนี้ฆ่าแล้ว 224 ราย 

นอกจากไข้หวัดใหญ่ ยังมี โรคปอดอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อที่ถุงลมฝอย (Alveoli) ภายในเนื้อเยื่อปอด ซึ่งเชื้อ ก่อโรคส่วนใหญ่เป็นได้ทั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส เช่น มาจากอาการเชื้อไข้หวัดใหญ่, RSV, โควิด รวมถึงเชื้อไวรัสอีกหลายๆ ชนิด ทำให้ผู้ติดเชื้อดังกล่าว มีอาการหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ ยังเกิดจากการติดเชื้อราบางชนิด โดยเฉพาะกลุ่มที่มีโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง สำหรับผู้ป่วย จะมีอาการ ไอ หอบเหนื่อย โดยมากจะมีอาการเฉียบพลัน

สถิติ 5 ปี (ปี 2561-2565) มีผู้ป่วยเฉลี่ยเดือนละ 20,000 ราย จะมีแนวโน้มสูงในฤดูหนาว และจากข้อมูลระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 66 จนถึง 31 ต.ค. 66 ได้รับรายงานผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ 239,197 ราย อัตราเฉลี่ย 361.48 ต่อประชากรแสนคน มีรายงานผู้เสียชีวิต 224 ราย โรคนี้พบได้กับผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ป่วยมีประวัติเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ ที่มีอาการรุนแรง 

โควิด-19 ขาขึ้น อย่านิ่งนอนใจ 

สำหรับการระบาดของ โควิด-19 ปีนี้ กรมควบคุมโรค ระบุว่า ยังเป็นโรคที่อันตรายมาก สำหรับผู้ป่วยที่มีอายุ 70 ปีขึ่้นไป โดยสถิติ ปี 2565 มีผู้ป่วย 2.5 ล้านราย อัตราการป่วย 3,781.59 ต่อประชากรแสนราย โดยมีผู้ป่วยเสียชีวิต 11,971 ราย อัตราการเสียชีวิต ร้อยละ 0.48 กลุ่มที่เสียชีวิต มากที่สุด คือ กลุ่มอายุ 70 ปีขึ้นไป รองลงมา คือ 60-69 และ 50-59 ตามลำดับ 

ส่วนสถิติในปีนี้ 2566 (1 ม.ค.-21 ต.ค.) มีผู้ป่วย 34,001 ราย อัตราการป่วย 51.41 ต่อประชากรแสนคน ที่น่าสังเกตคือ ผู้ป่วยที่เสียชีวิต สูงถึง 816 ราย อัตราการตาย 1.23 ต่อประชากรแสนคน แม้ภาพรวมมีแนวโน้มลดลง แต่เมื่อเข้าสู่หน้าหนาว จะทำให้ไวรัสเจริญเติบโตได้ดี และอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานขึ้น 

...

ไข้หวัดใหญ่ระบาดหนัก กับ 2 ปัจจัย  

นพ.มนูญ กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า ปีนี้ไข้หวัดใหญ่ระบาดกว่าปีที่แล้วมาก เพราะการระบาดของโควิดในหลายปีก่อน โดยเฉพาะ ปี 2020 แทบไม่มีคนติดไข้หวัดใหญ่เลย หมอรักษาที่ รพ.วิชัยยุทธ ทั้งปี มีคนติดไข้หวัดใหญ่แค่ คนเดียว ซึ่งเป็นเรื่องแปลกมาก เพราะโรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคตามฤดูกาล แต่ปีนั้นมีคนเดียวที่ติด ขณะเดียวกัน ปีนี้ ที่ รพ.วิชัยยุทธ พบคนป่วยมากกว่า 7 พันราย เรียกว่า ตอนที่น่าจะมีการติดกับไม่ติด แต่พอมาปีนี้กลับติดเชื้อพร้อมกันอย่างมากมาย 

“การติดเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ เมื่อรักษาหาย มันก็จะมีภูมิคุ้มกันและอยู่ได้นาน แต่การที่ไม่ติดเลย ในช่วงโควิด-19 ระบาด ส่งผลให้ไม่มีภูมิ พอรับเชื้อเข้ามาจึงติดกันมากมาย ที่สำคัญ คือ คนที่เลือกจะฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่นั้นมีน้อยมาก เพราะช่วงเวลานั้น คนไม่อยากออกนอกบ้าน และทั้ง 2 ปัจจัยดังกล่าว ทำให้เชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ ที่ไม่ได้แพร่เชื้อตามธรรมชาติ มาระบาดหนักในเวลานี้”

หมอมนูญ กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมา ประชาชนเดินทางสัญจรได้อย่างปกติแล้ว การเดินทางไปต่างประเทศ ก็เป็นส่วนหนึ่งให้ไปรับเชื้อเข้ามา นี่คือเหตุผลทั้งหมดว่าเหตุใดเวลานี้คนถึงป่วยไข้หวัดใหญ่กันมาก 

เมื่อถามว่า เชื้อที่ระบาดเวลานี้ เป็นสายพันธุ์อะไร หมอมนูญ บอกว่า สายพันธุ์ A ที่เป็นสายพันธุ์ที่น่ากลัวกว่า B และพบว่าระบาดเยอะในเวลานี้ หากคนทั่วไปป่วย ก็จะไม่หนักเท่าไร ที่น่าเป็นห่วง ก็คือ เด็กเล็กๆ หรือ คนที่มีโรคประจำตัว ซึ่งหากคนกลุ่มนี้ได้รับเชื้อ มีโอกาสป่วยหนัก และถึงขั้น เสียชีวิตได้...

“คนที่มารักษากับหมอรายหนึ่ง ป่วยด้วยโรคนี้ และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจมานาน 1 เดือนแล้ว ยังออกไม่ได้ นี่คือ ความอันตรายของไข้หวัดใหญ่” 

...

โรคที่มากับหน้าหนาว 

ทีมข่าวฯ ถามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทางเดินหายใจว่า โรคที่ต้องระมัดระวัง คือ โรคใดบ้าง นพ.มนูญ ตอบว่า โรคติดเชื้อไวรัสฮิวแมนเมตะนิวโมไวรัส (Human metapneumovirus) โรคที่เกิดจากไวรัสติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ แบบเฉียบพลัน พบบ่อยเป็นอันดับ 3 รองจากไข้หวัดใหญ่และ RSV ซึ่งโรคดังกล่าว ถือว่าจะระบาดในช่วงเวลานี้ 

“การระบาดของเชื้อไวรัสเวลานี้ ไม่ได้มาแค่ตัวเดียว แต่พบว่ามีถึง 4-5 ชนิด ที่กำลังระบาดอยู่”

“วัคซีน” ยังจำเป็น ทั้งโควิด-ไข้หวัดใหญ่ 

สิ่งที่ นพ.มนูญ เน้นย้ำ คือ การมารับวัคซีน ทั้งวัคซีนโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ ส่วนโรคอื่นๆ ที่เหลือ ยังไม่มีวัคซีน จำเป็นต้องใช้วิธีการป้องกันตัวเอง ด้วยการใส่หน้ากากอนามัย อย่าเอามือที่ไม่ได้ล้างมาขยี้ตา หรือ จับจมูกตัวเอง หากไปในที่ แออัดมากก็อย่าลืมใส่หน้ากากอนามัย 

“โรคอื่น จะระบาดตามฤดูกาล แต่โควิด-19 ไม่ใช่ เรียกว่าระบาดตลอด แต่ช่วงนี้พิเศษ คือ ขาขึ้นเลย ปัจจัยที่ขึ้นก็รู้ๆ กัน คือ ไม่ใส่หน้ากาก ไม่ล้างมือ ซึ่งถึงวันนี้เชื้อมันก็กลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ เปลี่ยนชื่อไปเรื่อย เรียกว่าเป็น “ลูกหลาน” ของ โอมิครอน เช่น HV.1 EV.5 ทั้งนี้ ความรุนแรงของโรคก็ยังไม่เท่ากับการระบาดในช่วงแรก เพราะร่างกายมีภูมิ คือ ภูมิจากวัคซีน และภูมิจากการติดเชื้อไปแล้ว 

...

“สาเหตุที่ไม่รุนแรงเหมือนแรกๆ เพราะเชื้อโรคมันก็ต้องการอยู่รอด หากรุนแรงมาก เราตาย เชื้อโรคก็ตายด้วย และแพร่กระจายอยู่...โควิด-19 เป็นโรคที่น่ากลัว เพราะมันติดทั้งปี แม้ยอดในสถิติของกรมควบคุมโรค จะติดไม่เยอะ แต่ความจริงมันเยอะ เพราะบางครั้งเขาก็ไม่รายงาน บางครั้งก็ไปรักษากินยากันเอง เดี๋ยวนี้ยาซื้อที่ไหนก็ได้”

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ