โครงการแมนฮัตตัน มือที่เปื้อนเลือดของ ออปเพนไฮเมอร์ สู่หายนะและโศกนาฏกรรมที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ บทเรียนและข้อกังขาที่ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง...

“ท่านประธานาธิบดี ผมรู้สึกว่า...มือของผมเปื้อนเลือด” คำกล่าวยอมรับสารภาพของ “เจ.โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ (J. Robert Oppenheimer)” นักฟิสิกส์และผู้ได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งระเบิดปรมาณู (Father of the Atomic Bomb)” ต่อ ประธานาธิบดีแฮร์รี เอส ทรูแมน แห่งสหรัฐฯ หลัง “ผลลัพธ์” การทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ 2 ลูก ที่ "เมืองฮิโรชิมา" และ "เมืองนางาซากิ" ได้ล้างผลาญชีวิตชาวญี่ปุ่นไปรวมกันมากกว่า 200,000 ศพ จากทั้งแรงระเบิดอภิมหาศาล และชีวิตที่เหลือรอดแต่ต้องทุกข์ทรมานแสนสาหัสจากกัมมันตรังสี 

อะไรคือจุดเริ่มต้นของ “อาวุธลับ” สู่ “จอกศักดิ์สิทธิ์แห่งเกมอำนาจโลก” และ “ผลลัพธ์” จากการใช้อาวุธที่สามารถทำลายล้างโลกใบนี้ลงได้ในพริบตาจาก “ปริมาณ” ที่เหล่าประเทศมหาอำนาจมีไว้ในครอบครอง รวมถึง “ผลกระทบ” จากการทดลองอาวุธทำลายล้างโลกอีกหลายๆ ครั้ง นับจากนั้นเป็นต้นมา วันนี้ “เรา” ลองไปย้อนอดีตถึงความเป็นมาเหล่านั้นร่วมกัน! 

...

เจ.โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ : 

"เจ.โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์" ชาวอเมริกันเชื้อสายยิว มนุษย์อัจฉริยะผู้ได้รับเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หลังใช้เวลาในการศึกษาฟิสิกส์ทฤษฎีเพียง 3 ปี! ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะกลายเป็นนักฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ และด้วยเพราะความมีชื่อเสียงนี้เอง...ที่ชักนำให้ “ชายผู้นี้” จำต้องหล่นวาทะดังที่ปรากฏในบรรทัดแรกสุดในอีกไม่กี่ปีต่อมา!

ปี 1942 “บิดาแห่งระเบิดปรมาณู” เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการลับสุดยอดของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีชื่อว่า “โครงการแมนฮัตตัน (Manhattan Project)” เพื่อสร้าง “อาวุธมหาประลัย” ให้ได้ก่อนกองทัพนาซี ภายใต้ความคาดหวังที่ว่า...อาวุธชิ้นนี้จะนำไปสู่การปิดฉากสงครามโลกครั้งที่ 2 และผลักดันให้สหรัฐอเมริกาก้าวขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจเบอร์ 1 ของโลก 

“เจ.โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ (J. Robert Oppenheimer)”
“เจ.โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ (J. Robert Oppenheimer)”

โครงการแมนฮัตตันที่มี "เจ.โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์" เป็นหัวเรือใหญ่นั้น เลือกโรงเรียนแห่งหนึ่งในเมืองลอสอาลามอส รัฐนิวเม็กซิโก เป็น 1 ใน 3 สถานที่รวบรวมเหล่าอัจฉริยะจากทั่วทั้งประเทศสหรัฐฯ มาร่วมมือกันทดลองโครงการลับสุดยอดที่ว่านี้ (อีกสองแห่งอยู่ที่รัฐเทนเนสซี และวอชิงตัน) โดยเบื้องต้นมีรายงานว่าในช่วงระหว่างปี 1942-1945 นั้น โครงการแมนฮัตตันทำให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 500,000 คน เพื่อหวังเร่งรัดให้สหรัฐฯ เป็นผู้พิชิตการสร้าง “จอกศักดิ์สิทธิ์” ให้ได้เป็นประเทศแรกในโลก!

กระทั่งผ่านไปร่วม 3 ปี ในที่สุด...สมาชิกของเหล่าโครงการแมนฮัตตันจึงสามารถทำการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ครั้งแรกในโลก ภายใต้ชื่อรหัสที่ว่า “Trinity” ได้สำเร็จในที่สุดเมื่อเวลา 17.29 น. ของวันที่ 16 ก.ค. 1945 รวมถึงสามารถออกแบบระเบิดปรมาณูที่มีชื่อว่า “Fat Man” และ “Little Boy” สำหรับ “พร้อมใช้งาน” ได้เป็นผลสำเร็จอีกด้วย 

ลูกระเบิด “Fat Man”
ลูกระเบิด “Fat Man”

...

ถึงแม้ว่า...ณ โมงยามนั้น สงครามโลกครั้งที่ 2 จวนเจียนที่จะใกล้ถึงจุดสิ้นสุด ด้วยเหตุที่ “ฝ่ายอักษะ” ซึ่งนำโดยเยอรมนี ได้ประกาศยอมจำนนไปแล้ว ส่วนญี่ปุ่นกำลังนับถอยหลังเพื่อเตรียมพ่ายแพ้อยู่รอมร่อ ด้วยเหตุเพราะแทบไม่เหลือกำลังทหารสำหรับการต่อต้าน “ฝ่ายสัมพันธมิตร” ที่มีสหรัฐฯ เป็นแกนนำ ซึ่งกำลังจ่อเตรียมยกพลขึ้นบก เพื่อบุกยึดกรุงโตเกียว และปิดฉากสงครามลงอย่างเบ็ดเสร็จ!

การโต้แย้งเรื่องการใช้ระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ :

ระเบิดปรมาณูนาม “Fat Man” ซึ่งมีแรงระเบิดขนาด 15 กิโลตัน ถูกทิ้งลงสู่เมืองฮิโรชิมา เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 1945 ส่วน “Little Boy” ที่มีแรงระเบิดขนาด 20 กิโลตัน ถูกทิ้งลงสู่เมืองนางาซากิ ในวันที่ 9 ส.ค. 1945 โดยแรงระเบิดทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างในรัศมี 1 กิโลเมตรถูกทำลายอย่างชนิดราบคาบ ส่วนที่ห่างออกไปในรัศมี 2.8 กิโลเมตร ความร้อนดั่งไฟนรกที่มากกว่า 1 ล้านองศาเซลเซียสได้เผาผลาญเนื้อหนังของมนุษย์ที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ส่วนที่อยู่ห่างออกไปในรัศมี 5 กิโลเมตรนั้น ผู้คนสามารถสัมผัสได้ถึงแรงสั่นสะเทือนราวกับเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขึ้น! 

ลูกระเบิด “Little Boy”
ลูกระเบิด “Little Boy”

...

โดยตามรายงานของ Radiation Effects Research Foundation (RERF) ซึ่งเป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ระบุว่า “Fat Man” ล้างผลาญชีวิตผู้คนในเมืองฮิโรชิมาไปแล้วรวมกัน 90,000-166,000 ศพ! ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตที่เมืองนางาซากิอยู่ที่ 60,000-80,000 ศพ! หลังการทิ้งระเบิดผ่านไปประมาณ 2-3 เดือน

เมื่อแลเห็นซึ่ง “หายนะและโศกนาฏกรรม” อันเกิดจากสิ่งประดิษฐ์ที่ตัวเองเป็นผู้สร้างขึ้น “ชาย” ที่ถูกผู้กำกับนามกระเดื่องอย่าง “คริสโตเฟอร์ โนแลน” นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ “Oppenheimer” จึงเริ่มต้นการ “ต่อต้านการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์” ของรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างจริงจัง ภายใต้เหตุผลอันแข็งแกร่งที่ว่า “อาวุธมหาประลัยชิ้นนี้อาจนำมาซึ่งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษยชาติในท้ายที่สุด” จนเป็นผลให้ถูกใส่ไคล้ว่า...เป็นผู้นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็น และถูกปลดจากหัวหน้าคณะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการพลังงานปรมาณู (Atomic Energy Commission) หรือ AEC ในที่สุด 

บิดาแห่งระเบิดปรมาณู
บิดาแห่งระเบิดปรมาณู

...

อย่างไรก็ดี เสียงคัดค้านอันแข็งแกร่งของ “บิดาแห่งระเบิดปรมาณู” รวมถึงหายนะขั้นเลวร้ายอันเกิดจากการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ ได้นำมาซึ่งความกังขาสำหรับชาวอเมริกันในเวลาต่อมาอยู่ไม่มากก็น้อยที่ว่า...จริงๆ แล้วสหรัฐฯ มีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด? สำหรับการใช้ระเบิดนิวเคลียร์กับฮิโรชิมาและนางาซากิ ในเมื่อกองทัพญี่ปุ่นแทบจะย่อยยับลงจากการถูกทิ้งระเบิดทางอากาศและยิงกระหน่ำจากกองเรือรบสหรัฐฯ จนแทบหมดศักยภาพสำหรับการ “ต่อต้าน” กองทัพสหรัฐฯ แล้ว

รวมถึงการให้เหตุผลที่ว่า...หากไม่ตัดสินใจเลือกใช้ระเบิดนิวเคลียร์ และหันไปใช้วิธีนำกำลังทหารยกพลขึ้นบกแทน อาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตทหารอเมริกันนับแสนนับล้าน จากความพร้อมสู้จนตัวตายของทหารญี่ปุ่นนั้น แท้ที่จริงมันมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด?....ตามคำกล่าวอ้างของ “เฮนรี สติมสัน (Henry Stimson)” รัฐมนตรีกระทรวงสงครามของสหรัฐฯ ณ ขณะนั้น

หายนะและโศกนาฏกรรมที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ :

จากรายงานของ RERF ระบุว่า ผู้เสียชีวิตมากกว่า 200,000 ศพ จากเหตุการณ์ทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาและเมืองนางาซากิ ซึ่งโดยมากเป็นพลเรือนนั้นมาจากสาเหตุ 1.อำนาจจากแรงระเบิด 2.รังสีความร้อนจากการระเบิด (Thermal Radiation) 3.การแพร่กระจายของกัมมันตรังสี (Nuclear Radiation) ซึ่งประเด็นหลังสุดนี้ทำให้มีผู้ต้องทนทุกข์ทรมานและต้องจากโลกนี้ไปจากพิษภัยของโรคร้ายในเวลาต่อมาด้วย 

โดย RERF ระบุเพิ่มเติมว่า จากการศึกษาและติดตามกลุ่มตัวอย่าง 120,321 คน ซึ่งแยกเป็นผู้ที่ได้สัมผัสการแพร่กระจายของกัมมันตรังสีในระยะ 10 กิโลเมตรจากจุดศูนย์กลางการระเบิดที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ จำนวน 93,741 คน และอีก 26,580 คน ที่อยู่ห่างออกไปมากกว่านั้น ระหว่างปี 1958 จนถึงปี 2009 เพื่อนำมาเปรียบเทียบอัตราการเสียชีวิตและอุบัติการณ์ของโรคมะเร็ง พบว่ามีจำนวนอุบัติการณ์โรคมะเร็งรวม 20,463 คน  

โดยที่ "เมืองฮิโรชิมา" พบอุบัติการณ์ผู้ป่วยมะเร็งชนิดก้อน (Incident Solid Cancer) เช่น มะเร็งสมอง และมะเร็งต่อมไทรอยด์ รวม 14,747 ราย โดยมีค่าดัชนีการเสียชีวิตที่ 45% ขณะที่ผู้ป่วยมะเร็งชนิดอื่นๆ ที่ไม่ใช่มะเร็งชนิดก้อน เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว (ลูคีเมีย) หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลือง รวม 1,610 ราย โดยมีค่าดัชนีการเสียชีวิตที่ 10.92%

ด้าน "เมืองนางาซากิ" พบอุบัติการณ์ผู้ป่วยมะเร็งชนิดก้อน (Incident Solid Cancer) รวม 5,716 ราย โดยมีค่าดัชนีการเสียชีวิตที่ 46.62% ขณะที่ผู้ป่วยมะเร็งชนิดอื่นๆ ที่ไม่ใช่มะเร็งชนิดก้อน รวม 622 ราย โดยมีค่าดัชนีการเสียชีวิตที่ 10.88%

ภาพเปรียบเทียบเมืองฮิโรชิมา หลังการถูกทิ้งระเบิดนิวเคลียร์
ภาพเปรียบเทียบเมืองฮิโรชิมา หลังการถูกทิ้งระเบิดนิวเคลียร์

การทดสอบอาวุธนิวเคลียร์กับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม : 

ข้อมูลของ “สมาคมควบคุมอาวุธ” (Arms  Control Association) ระบุว่า นับตั้งแต่การทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ “Trinity” เมื่อปี 1945 จนถึงปี 2017 มีการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ทั้งใต้ดิน (1,528 ครั้ง) และในชั้นบรรยากาศโลก (528 ครั้ง) รวมกันแล้วถึง 2,056 ครั้ง จาก 8 ประเทศ 

โดยประเทศที่มีการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์มากที่สุด คือ "สหรัฐอเมริกา" โดยทดสอบไปรวมกันทั้งสิ้น 1,030 ครั้ง (รวมการทิ้งระเบิดที่ฮิโรชิมาและนางาซากิทั้ง 2 ครั้ง) อันดับที่ 2.สหภาพโซเวียต หรือรัสเซียในปัจจุบัน ทดสอบไปรวมกัน 715 ครั้ง อันดับที่ 3.ประเทศฝรั่งเศส 210 ครั้ง อันดับที่ 4.สหราชอาณาจักร 45 ครั้ง และอันดับที่ 5.ประเทศจีน 45 ครั้ง อันดับที่ 6.อินเดีย 3 ครั้ง อันดับที่ 7.ปากีสถาน 2 ครั้ง อันดับที่ 8.เกาหลีเหนือ 6 ครั้ง 

สำหรับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหลังการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์นั้น จากรายงานของ “กลุ่มรณรงค์ระหว่างประเทศเพื่อยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์” (International Campaign to Abolish Nuclear Weapons) หรือ ICAN เมื่อปี 2019 ระบุว่า การทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ในชั้นบรรยากาศเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกของสหรัฐฯ ช่วงสงครามเย็น ทำให้เกาะบางเกาะถูกแผดเผาจนกระทั่งไม่สามารถอยู่อาศัยได้ และบางพื้นที่มีระดับกัมมันตรังสีสูงกว่าที่พบในเชอร์โนบิลและฟุกุชิมะด้วย

ขณะเดียวกันในปี 2000 สภาคองเกรสสหรัฐฯ ได้ยอมรับว่ากัมมันตรังสีและสารพิษอื่นๆ มีส่วนทำให้คนงานในโครงการแมนฮัตตันหลายพันคนเสียชีวิตและเจ็บป่วย จนต้องมีการจ่ายเงินชดเชยให้กับคนในครอบครัว

ส่วนการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ของฝรั่งเศสบนดินแดนยึดครองที่บริเวณ "หมู่เกาะมูรูรัว (Mururau)" ในมหาสมุทรแปซิฟิก 8 ครั้ง เมื่อปี 1995 มีรายงานว่าได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวในช่วงเวลาดังกล่าวรวมกันถึง 13 ครั้ง ภูเขาไฟระเบิดปะทุระเบิดอีก 4 ครั้ง ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดทำให้เกิดขี้เถ้าและกลุ่มควัน รวมถึงก๊าซชนิดต่างๆ ลอยฟุ้งในบรรยากาศ ระบบนิเวศใต้ทะเลเสียหาย และยังพบอีกด้วยว่ามีสัตว์น้ำในพื้นที่ตายและบาดเจ็บอีกจำนวนมากด้วย

ด้านรายงานของ British Nuclear Veterans Association ที่มีการเผยแพร่เมื่อปี 1999 ระบุว่า การทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ครั้งใหญ่ของสหราชอาณาจักรหลายครั้งในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ ช่วงระหว่างปี 1957-1958 ทำให้ทหารที่เข้าร่วมการทดสอบทั้งหมด 2,500 นายนั้น มากกว่า 200 นาย เกิดความผิดปกติของโครงกระดูก (Skeletal Disorders) และในจำนวนนี้มากกว่า 30% เสียชีวิตในวัยประมาณ 50 ปีเท่านั้น!

แม้ว่า...โลกจะมีข้อมูลและได้แลเห็นผลกระทบอันเกิดจาก “อาวุธนิวเคลียร์” มาแล้วเป็นเวลาเนิ่นนานถึง 78 ปี นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นจากโครงการแมนฮัตตัน หากแต่จนถึงปัจจุบันเหล่าประเทศมหาอำนาจที่มีอาวุธมหาประลัยนี้ไว้ในครอบครองก็ยังคงทำเป็น “เพิกเฉย” ต่อเสียงเรียกร้องใดๆ ที่จะนำไปสู่ “การปลดอาวุธนิวเคลียร์” ลงอย่างสมบูรณ์ นั่นเป็นเพราะ “จอกศักดิ์สิทธิ์” ที่ว่านี้ยังคงถูกใช้เป็น “คำข่มขู่” ฝ่ายตรงข้ามได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดนั่นเอง

และมันอาจจะเป็นเพราะเหตุนี้ “คำตักเตือน” ก่อนสิ้นชีพอันน่าจดจำของ "เจ.โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์" ที่ว่า “แมงป่องสองตัวในขวด แม้สามารถเข่นฆ่ากันเองได้ แต่ก็มีความเสี่ยงที่ตัวเองจะตายได้เช่นกัน” จึงยังคงถูก “มองข้าม” อยู่ต่อไป.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน  

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :