ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด 50 ล้านบาท กับ ต้นทุนไทยลีก เหตุใดจึงไม่เพียงพอ...

“เกิดความมึนงงปนเปไปด้วยความสงสัยทันใด” หลังทั้ง “บริษัท ไทยลีก จำกัด”  และ “สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ” ออกมายอมรับเสียงอ่อยๆ ว่า หลังการเปิดประมูลลิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลไทยลีก ฤดูกาล 2023/24 - ฤดูกาล 2026/27 รวม 4 ฤดูกาล มีผู้เสนอตัวเพียง 2 ราย และค่าลิขสิทธิ์ที่เคยพุ่งขึ้นไปแตะถึงระดับ 1,000 ล้านบาท ลดฮวบฮาบลงมาเหลือเพียงประมาณ 50 ล้านบาทเท่านั้น! 

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นไม่นาน สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เพิ่งเปิดเผยตัวเลขผู้รับชมฟุตบอลสดและย้อนหลังของการแข่งขันทีมชาติไทยและไทยลีก ผ่านการรับชมบนแพลตฟอร์ม AIS PLAY 2 ฤดูกาลที่ผ่านมา มียอดคนดูมากกว่า 11.66 ล้านคน และมียอดวิวรวมมากกว่า 1,000 ล้านวิว! 

“คำถาม” ที่ผุดตามมาทันที คือ “หากไร้ซึ่งเส้นเลือดใหญ่” จาก “ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด” มากระจายหล่อเลี้ยงบรรดาสโมสรในลีกรอง และ บรรดาทีมใหญ่ใน ลีก 1 แล้ว “ฟุตบอลลีกอาชีพของไทย” จะก้าวถอยหลังไปสู่จุดตกต่ำเช่นที่เคยเป็นมาหรือไม่? 

...

เพราะสิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืม คือ ในเมื่อรายได้ลด การลงทุนของแต่ละทีม ย่อมต้องลดตามไปด้วย ซึ่งนั่นอาจหมายถึง...การลดจำนวนนักเตะชุดใหญ่และอาจเลยเถิดไปถึงการลดจำนวนการพัฒนานักเตะเยาวชนของแต่ละสโมสร ซึ่งแน่นอนว่าประเด็นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อการพัฒนาวงการฟุตบอลไทยที่มุ่งเป้าจะไปบอลโลกให้ได้ (ในชาตินี้) อย่างแน่นอนที่สุด

และคำถามต่อไป...ที่สำคัญไปกว่านั้น คือ “จะมีใครหน้าไหน” ยอม “ควักเนื้อขาดทุน” ด้วยการเอาเงินจำนวนมากมาลงทุน กับ สิ่งที่ไม่สามารถต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มได้ในอนาคต ซึ่งแน่นอนว่าในจำนวนนี้รวมถึง “บรรดานักการเมืองไทย” ที่มองว่า สโมสรฟุตบอลเป็นหนึ่งในการลงทุนเพื่อสร้างฐานมวลชนด้วยเช่นกัน 

แล้วเพราะเหตุใด? เงิน 50 ล้านบาทจากลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดไทยลีก จึงถูกมองว่า “น้อยเกินไป?” และจากบรรทัดนี้ไป...คือ “หนึ่งในต้นทุนสำคัญ” ที่บรรดาสโมสรในลีก 1 ต้องแบกรับเมื่อฤดูกาลที่ผ่านมา นั่นก็คือ...“ค่าเหนื่อยนักเตะ” ของแต่ละสโมสรในลีก 1  

ข้อควรรู้ : ต้นทุนค่าเหนื่อยนักเตะในแต่ละสโมสร ของ ลีก 1 ประจำฤดูกาล 2022/2023 จากการประเมินของ Transfermarkt :

1. สโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด : 

ค่าเหนื่อยนักเตะรวมต่อปี : 160,824,282 บาทต่อปี จำนวนนักเตะรวม 47 คน

2. สโมสรทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด : 

ค่าเหนื่อยนักเตะรวมต่อปี : 114,709,627 บาทต่อปี จำนวนนักเตะรวม 51 คน

3. สโมสรการท่าเรือ เอฟซี : 

ค่าเหนื่อยนักเตะรวมต่อปี : 143,283,172 บาทต่อปี จำนวนนักเตะรวม 50 คน

4. สโมสรเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด : 

ค่าเหนื่อยนักเตะรวมต่อปี : 94,560,431 บาทต่อปี จำนวนนักเตะรวม 39 คน 

5. สโมสรสิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด : 

ค่าเหนื่อยนักเตะรวมต่อปี : 65,871,484 บาทต่อปี จำนวนนักเตะรวม 34 คน

6. สโมสรชลบุรี เอฟซี : 

ค่าเหนื่อยนักเตะรวมต่อปี : 95,668,291 บาทต่อปี จำนวนนักเตะรวม 53 คน

7. สโมสรโปลิศ เทโร เอฟซี : 

ค่าเหนื่อยนักเตะรวมต่อปี : 46,299,298 บาทต่อปี จำนวนนักเตะรวม 41 คน 

8. สโมสรราชบุรี มิตรผล เอฟซี : 

ค่าเหนื่อยนักเตะรวมต่อปี : 74,203,511 บาทต่อปี จำนวนนักเตะรวม 45 คน

...

9. สโมสรบีจี ปทุม ยูไนเต็ด : 

ค่าเหนื่อยนักเตะรวมต่อปี : 166,755,947 บาทต่อปี จำนวนนักเตะรวม 42 คน

10. สโมสรพีที ประจวบ เอฟซี :  

ค่าเหนื่อยนักเตะรวมต่อปี : 71,964,712 บาทต่อปี จำนวนนักเตะรวม 45 คน

11. สโมสรสุโขทัย เอฟซี : 

ค่าเหนื่อยนักเตะรวมต่อปี : 56,477,758 บาทต่อปี จำนวนนักเตะรวม 33 คน

12. สโมสรนครราชสีมา มาสด้า เอฟซี : 

ค่าเหนื่อยนักเตะรวมต่อปี : 52,461,767 บาทต่อปี จำนวนนักเตะรวม 48 คน

*** หมายเหตุ มีการเปิดเผยข้อมูล 12 ทีม จากทั้งหมด 16 ทีม ส่วนอีก 4 ทีม คือ สโมสรขอนแก่น ยูไนเต็ด, สโมสรหนองบัว พิชญ เอฟซี, สโมสรลำปาง เอฟซี และ สโมสรลำพูน วอริเออร์ ไม่มีระบุ *** 

โดย “สโมสรบีจี ปทุม ยูไนเต็ด” เป็นทีมที่จ่ายค่าเหนื่อยนักเตะรวมต่อปีมากที่สุด คือ 166,755,947 บาท ส่วนนักเตะที่ได้รับค่าเหนื่อยสูงสุดของลีก คือ “ดิโอโก หลุยส์ ซานโต” กองหน้าบราซิล ของสโมสรบีจี ปทุม ยูไนเต็ด (ปัจจุบันย้ายไปสังกัดสโมสรยะโฮร์ ดารุล ทักซิม ประเทศมาเลเซียแล้ว) ได้รับค่าเหนื่อยประมาณ 889,483 บาทต่อสัปดาห์ ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าว เมื่อนำไปคำนวณเพื่อหา “ค่าเฉลี่ยสำหรับค่าจ้างนักเตะต่อทีมต่อปี” จะอยู่ที่ประมาณ ทีมละ 95,042,307 บาทต่อปี! 

...

ด้าน Economic Research Institute หรือ ERI ซึ่งเป็น สถาบันวิจัยที่สำรวจและรวบรวมข้อมูลเงินเดือน ค่าครองชีพสำหรับภาคอุตสาหกรรมชื่อดัง ได้ประเมินฐานรายได้นักฟุตบอลในประเทศไทยปี 2023 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 450,029 บาทต่อเดือน หรือ มีค่าแรงเฉลี่ย 216 บาทต่อชั่วโมง และคาดว่าภายในอีก 5 ปีข้างหน้า (ปี 2028) จะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 558,207 บาทต่อเดือน หรือ เพิ่มขึ้นประมาณ 24%

สำหรับ “มูลค่าประเมิน” ของแต่ละสโมสรในลีก 1 ประจำฤดูกาล 2023/2024 ที่จะเริ่มต้นการฟาดแข้งในเดือนสิงหาคมนี้ จากการประเมินของ Transfermarkt (สิ้นสุดวันที่ 4 ก.ค.23) 

1. สโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด : 

มูลค่าประเมิน : 365,040,175 บาท 

2. สโมสรบีจี ปทุม ยูไนเต็ด : 

มูลค่าประเมิน : 339,512,428 บาท

3. สโมสรการท่าเรือ เอฟซี : 

มูลค่าประเมิน : 264,234,196 บาท  

...

4. สโมสรทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด : 

มูลค่าประเมิน : 233,058,363 บาท

5. สโมสรเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด : 

มูลค่าประเมิน : 212,147,743 บาท 

6. สโมสรราชบุรี มิตรผล เอฟซี :

มูลค่าประเมิน : 167,284,959 บาท

7. สโมสรชลบุรี เอฟซี : 

มูลค่าประเมิน : 161,582,062 บาท 

8. สโมสรลำพูน วอริเออร์ : 

มูลค่าประเมิน : 160,821,676 บาท 

9. สโมสรพีที ประจวบ เอฟซี 

มูลค่าประเมิน : 136,109,125 บาท

10. สโมสรสุโขทัย เอฟซี 

มูลค่าประเมิน : 126,604,298 บาท

11. สโมสรสิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด : 

มูลค่าประเมิน : 125,463,719 บาท

12. สโมสรขอนแก่น ยูไนเต็ด : 

มูลค่าประเมิน : 122,802,367 บาท 

13. สโมสรโปลิศ เทโร เอฟซี : 

มูลค่าประเมิน : 108,355,030 บาท

14. สโมสรนครปฐม ยูไนเต็ด : 

มูลค่าประเมิน : 87,444,410 บาท

15. สโมสรอุทัยธานี เอฟซี : 

มูลค่าประเมิน : 77,179,197 บาท 

16. สโมสรตราด เอฟซี : 

มูลค่าประเมิน : 50,678,855 บาท

จากข้อมูลนี้จะได้เห็นได้ว่า ทั้ง 16 สโมสรในลีก 1 มีมูลค่าประเมินรวมกันถึง 2,738 ล้านบาท! ซึ่งหากนำตัวเลขดังกล่าวมาคิดเป็น “ค่าเฉลี่ยมูลค่าต่อทีม” จะอยู่ที่ประมาณ 171 ล้านบาท!  

ทำให้ไม่ว่าจะเป็น...ทั้งค่าเหนื่อยนักเตะที่แต่ละสโมสรต้องแบกรับ หรือ มูลค่าทีมเฉพาะในลีก 1 ขณะนี้ ก็ล้วนแล้วแต่มี “ตัวเลข” ที่มากกว่า ค่าลิขสิทธิ์แค่ 50 ล้านบาทมากมายนัก!

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง