เช็กจุดยืนเลือกตั้ง 66 ยืนผ่านวาทกรรมการเมือง มีเราต้องไม่มี...? ของบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ

เช็กจุดยืนการจับขั้วการเมืองผ่านวาทกรรมตั้งเงื่อนไข “มีเราต้องไม่มี” หรือ “มีเราต้องมี” ของพรรคการเมืองต่างๆ ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา เพื่อจำลองภาพอนาคตรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566  

1. มีเรา ไม่มีลุง : 

พรรคที่ประกาศจุดยืนไม่ยินดีที่จะจับมือกับ 2 ลุง คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลมาโดยตลอด คือ พรรคก้าวไกล โดยหัวหน้าพรรค อย่าง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หรือบรรดาแกนนำผู้ให้การสนับสนุนพรรค อย่าง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ต่างแสดงจุดยืนผ่านวาทกรรม “มีเราไม่มีลุง” ในการให้สัมภาษณ์สื่อ หรือเวทีดีเบตในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งอย่างชนิดไม่มีอ้อมค้อมมาโดยตลอด แถมในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียง ทางพรรคก้าวไกลเองดูเหมือนจะพยายามใช้ “วาทกรรมมีเราไม่มีลุง” มาเป็นจุดขายสำคัญ จนกระทั่งได้รับกระแสจากฝ่ายขั้วการเมืองที่ต้องการเห็น “ความเปลี่ยนแปลง” อย่างล้นหลาม 

...

ส่วน "พรรคเพื่อไทย" ที่พยายาม “เก็บงำ” ประเด็นการจับขั้วการเมืองจัดตั้งรัฐบาลเพื่อหวังรอความชัดเจนจากผลการเลือกตั้ง ที่ถึงแม้ฝ่ายตัวเองจะมั่นใจว่าจะได้รับชัยชนะอย่างแน่นอน แต่ก็ยังไม่มั่นใจจนถึงขนาดการันตีได้ว่า “จะได้เป็นรัฐบาลพรรคเดียว” ตามแรงปรารถนาของ “คนไกลบ้าน” หรือไม่? 

แต่แล้วในท้ายที่สุด เมื่อความพยายาม “เก็บงำ” ถูกฝ่ายคนกันเองหยิบฉวยนำไปใช้เพื่อขยายจุดอ่อน และทำให้กลายเป็นจุดแข็งของฝ่ายตัวเองมากขึ้นทุกทีๆ บรรดาแกนนำพรรคเพื่อไทย จึงเรียงหน้าออกมาประกาศอย่างชัดเจนว่า “ไม่เอาสองลุง” เช่นกัน และเพื่อให้ดูจริงจังและจับต้องได้ จึงไม่แปลกที่คนที่ประกาศจุดยืนนี้ คือ “นายเศรษฐา ทวีสิน” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีลำดับที่ 2 ผ่านเวทีปราศรัยที่ว่า... 

“ไม่มีใครเคยไปคุยกับพรรคอื่น ไม่มีใครเคยไปจับมือล่วงหน้า ไม่มีใครเคยไปสัญญากับพรรคอื่น ว่าเราจะร่วมรัฐบาลกัน พรรคเพื่อไทยต้องการเป็นรัฐบาลพรรคเดียว” 

ส่วนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีลำดับที่ 1 อย่าง “แพทองธาร ชินวัตร” ก็ได้ออกมาแสดงจุดยืนเช่นเดียวกันว่า...

“ดูหน้าดิฉันไว้นะคะ ดิฉันไม่ได้ชื่นชอบการทำรัฐประหาร และการรัฐประหารที่เกิดขึ้น 2 ครั้ง และล่าสุดที่ทุกคนจำความกันได้ ดิฉันก็คงไม่ได้ชอบ เพราะฉะนั้นการที่ดิฉันไม่ได้ตอบออกมาตรงๆ ในหลายๆ ครั้ง เพราะดิฉันให้เกียรติประชาชน ให้เกียรติประเทศ เพราะการเลือกตั้งยังไม่เกิดขึ้น” 

ส่วนอีกหนึ่งพรรคที่ประกาศไม่เอาสองลุง คือ “พรรคไทยสร้างไทย” ของ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ที่ประกาศผ่านสื่ออย่างชัดเจนว่า...

“พรรคไทยสร้างไทยจะไม่ขอเป็นที่เหยียบยืนให้กับเผด็จการ รวมถึงไม่สนับสนุนให้มีการผสมข้ามสายพันธุ์ เพราะจะเท่ากับเป็นการหลอกประชาชนก่อนเลือกตั้ง”

2. มีลุงตู่ ไม่มีเรา : 

สำหรับจุดยืนนี้ ยังคงเป็น 3 พรรคเดิม คือ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคไทยสร้างไทย เพียงแต่สมการการเมืองนี้ หากมีการตัด “หนึ่งลุง” ออกไป คือ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ก็จะมีอีกหนึ่งพรรคการเมือง คือ “พรรคเสรีรวมไทย” ของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ยินดีเข้ามาร่วมด้วย

...

โดย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้เคยประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนว่า จะไม่ขอจับมือกับพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่ไม่ขัดข้องกับการที่จะร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ โดยให้เหตุผลว่า “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ใช่ผู้ทำรัฐประหาร”

3. มีเรา ไม่มี เพื่อไทยและก้าวไกล : 

ในเมื่อมีทั้งการตั้งข้อรังเกียจ และจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างอย่างชนิดสุดขั้วของทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย มันจึงแทบเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ที่พรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งมี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นตัวชูโรง จะหันไปจับมือกับทั้งสองพรรคดังกล่าว เพราะมันจะไม่ต่างอะไรกับการ “ทรยศกลุ่มผู้สนับสนุน” ของฝ่ายตัวเองทันที 

4. มีเราต้องมี พ.ร.บ.กัญชา : 

ในเมื่อมีจุดยืนอันมั่นคงและเหนียวแน่นในเรื่อง พ.ร.บ.กัญชา มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จะประกาศจุดยืนอย่างเด่นชัดว่า เงื่อนไขในการดึงพรรคภูมิใจไทยไปร่วมรัฐบาล จะต้องพ่วงการสนับสนุน พ.ร.บ.กัญชา เท่านั้น... 

...

“ถ้าใครจะมาร่วมกับพรรคภูมิใจไทย หลังการเลือกตั้งครั้งหน้า ต้องสนับสนุนกฎหมายกัญชา”

5. มีเราต้องมี 251 เสียง : 

ในการให้สัมภาษณ์พิเศษ กับ “สุทธิชัย หยุ่น” ในรายการ Suthichai Live พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้กล่าวถึงจุดยืนในการจัดตั้งรัฐบาล สำหรับพรรคพลังประชารัฐ เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า...

“ผมมาคิดเอานะครับว่า การที่เราจะเป็นนายกรัฐมนตรีเนี่ย เราจะต้องรวบรวมเสียงให้ได้ 251 เสียง ถ้าต่ำกว่านี้ ผมจะไม่เอาเลย!”

...

6. มีเราต้องปรองดอง : 

พรรคพลังประชารัฐ ชูธงการหาเสียงเอาไว้อย่างชัดเจนว่า “ต้องก้าวข้ามความขัดแย้ง” ในขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยิ่งพูดให้ชัดเจนในจุดยืนนี้เพิ่มเติมเข้าไปอีกว่า “หากมีนโยบายตรงกันก็สามารถทำงานร่วมกันได้” ส่วนเรื่องการ “แหกโผ” ออกมาประกาศจุดยืนไม่ร่วมกับพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ปล่อยให้เป็นความเห็นส่วนตัวของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน รับผิดชอบไปแต่เพียงผู้เดียว! 

ด้านพรรคชาติพัฒนากล้านั้น ทั้ง นายกรณ์ จาติกวณิช และ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ 2 แกนนำพรรคยืนยันว่า พร้อมร่วมทำงานกับทุกขั้วการเมืองที่มีนโยบายที่เข้ากันได้ ซึ่งไม่แตกต่างอะไรกับ พรรคชาติไทยพัฒนา ที่ยืนยันว่า พร้อมทำงานกับทุกพรรคและทุกขั้วการเมืองเช่นกัน    

และทั้งหมดนั้น คือ สิ่งที่ต้อง “จับตา” หลังวันที่ 14 พ.ค. ว่า อะไรๆ ที่เคยพูดไว้ จะเป็นไปเช่นนั้นอยู่หรือไม่ เพราะสิ่งที่ต้องไม่ลืมคือ “การเมืองไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวร มีเพียงผลประโยชน์แลกเปลี่ยนและราคาที่ต้องจ่ายเท่านั้น” 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :