ปัญหาหนี้ครัวเรือนต้องแก้ให้ตรงจุด เพื่อให้ครัวเรือนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังเร่งดำเนินการฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อหาทางออกในหลายแนวทางโดยเฉพาะหนี้เรื้อรังของกลุ่มเปราะบาง ในกลุ่มคนอายุมากและมีปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรง รวมถึงการออกเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อให้คำนึงถึงความสามารถในการจ่ายหนี้ และผลักดันให้มีกฎหมายที่ช่วยให้ลูกหนี้รายย่อยทั่วไปที่ไปต่อไม่ไหว ได้เข้ากระบวนการฟื้นฟู หรือขอล้มละลายด้วยตนเอง
ทุกอย่างมีที่มาที่ไปว่าทำไมคนไทยถึงเป็นหนี้มากมายขนาดนี้ ส่วนหนึ่งมีจากพฤติกรรมติดหรูชอบความสบายใช้เงินเกินตัว และคนวัยทำงานอายุ 25-29 ปี ส่วนใหญ่มากกว่า 58% เป็นหนี้บัตรเครดิตหลายใบตั้งแต่ทำงานได้เพียงปีเดียว ใช้บัตรเครดิตนำไปใช้จ่าย กินเที่ยวจนเต็มวงเงินภายในไม่ถึง 1 ปี ต้องจ่ายหนี้ขั้นต่ำจนหนี้พอกพูน สุดท้ายกลายเป็นหนี้เสีย
ความน่ากลัวของการเป็นหนี้บัตรเครดิตและหนี้ส่วนบุคคล พบว่าเกือบ 30% มีหนี้เกิน 4 บัญชีต่อคน วงเงินรวมสูงกว่าเงินเดือนหรือรายได้มากถึง 10-25 เท่า ทำให้แต่ละเดือนมีภาระจ่ายหนี้เกินครึ่งของรายได้ จนเงินไม่พอใช้ จึงไม่แปลกที่ครัวเรือนไทยกว่า 62% มีเงินออมไม่เพียงพอไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน และการผ่อนชำระขั้นต่ำมายาวนาน ทำให้คนอายุเกิน 60 ปี ยังต้องมีภาระหนี้ต้องผ่อนชำระ เป็นหนี้เฉลี่ยสูงกว่า 415,000 บาทต่อคน
...
เมื่อเกินความสามารถในการชำระหนี้ หรือถึงทางตันในการผ่อนชำระก็ต้องยอมให้ถูกฟ้อง ถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาด แต่ก็ยังปลดหนี้ไม่ได้ จนกลายเป็นหนี้ไม่จบไม่สิ้น เพราะหากไม่มีการแก้ไขหนี้อย่างยั่งยืน คาดว่าหนี้ครัวเรือนจะสูงกว่า 80% ของจีดีพี ซึ่งเป็นระดับเฝ้าระวัง อาจฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ และสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินได้.