มลพิษทางอากาศ จากฝุ่นละออง PM 2.5 สามารถผ่านเข้าขนจมูก และพาสารเคมีมากมาย เข้าสู่ชั้นในสุดของปอดได้ หากสูดดมเข้าสู่ร่างกายสะสมเป็นเวลานาน มีความเสี่ยงจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และยังเป็นภัยเงียบต่อเด็ก เนื่องจากภูมิคุ้มกันของเด็ก พัฒนาได้ไม่เต็มที่ในการป้องกันสิ่งแปลกปลอม และเด็กหายใจเร็ว เมื่อออกไปวิ่งเล่นข้างนอก จึงมีโอกาสที่จะรับฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่มากกว่าผู้ใหญ่
การดูแลเด็กๆ ท่ามกลางฝุ่น PM 2.5 ปกคุลมไปทั่วจากสภาพอากาศเย็นและแห้ง ความกดอากาศสูง ในช่วงปลายฤดูหนาวของทุกปี จะต้องเฝ้าดูแลเป็นพิเศษ ควรจะจำกัดเวลาให้เด็กออกไปวิ่งเล่นด้านนอก หรือหลีกเลี่ยงการออกกำลังภายนอกอาคาร โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ควรจะอยู่ภายในอาคารให้มากที่สุด
ข้อมูลองค์กรยูนิเซฟ ระบุฝุ่น PM 2.5 มีขนาดเล็กกว่าความกว้างของเส้นผมมนุษย์ถึง 25 เท่า และขณะที่หายใจเข้าทำให้ฝุ่นขนาดเล็กนี้เข้าสู่ร่างกายทางจมูกและปาก ผ่านทางเดินหายใจไปถึงถุงลม ซึ่งเป็นถุงอากาศเล็กๆ ในส่วนลึกที่สุดของปอด
...
เมื่อฝุ่นขนาดเล็กที่สุดเข้ามาในปอด แทรกตัวผ่านถุงลม เข้าสู่กระแสเลือด และเคลื่อนตัวไปยังอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย จะส่งผลกระทบต่ออวัยวะสำคัญทั้งปอด ระบบภูมิคุ้มกัน หัวใจและสมอง โดยเฉพาะสมองเด็ก อยู่ระหว่างการพัฒนาตั้งแต่แรกเกิด และจะพัฒนาต่อเนื่องจนถึงวัยรุ่น ซึ่งมีความสำคัญในเรื่องความจำของเด็ก ความสนใจระยะสั้น การควบคุมอารมณ์ และการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
หากฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าไปถึงสมองของเด็กที่กำลังพัฒนา จะสร้างความเสียหายให้เซลล์สมอง ก่อให้เกิดความบกพร่องในพัฒนาการทางสติปัญญาและความสามารถในการเรียนรู้ อาจมีผลร้ายแรงในการทำงานตลอดช่วงชีวิต และเกิดการเสื่อมของระบบประสาท นอกจากนี้อาจทำให้ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ ตลอดช่วงชีวิต รวมถึงสมองขาดเลือด ปอดบวม โรคหลอดเลือดหัวใจแข็ง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และมะเร็งปอด.