วันนี้ (2 ก.พ.) เป็นอีกวันที่สภาพฝุ่นพิษจิ๋ว PM 2.5 ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร และ จังหวัดใกล้เคียง มีสภาพย่ำแย่ ถึงขนาดผู้ว่าฯ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ได้ออกมาให้ข่าว ถึงสภาพฝุ่นจิ๋ว ใน กทม. มาจาก 2 ส่วน คือ สภาพอากาศปิด และลมต่ำมาก ทำให้ฝุ่นหมุนเวียนในกรุงเทพฯ ไม่ได้ระบายออก โดยต้นกำเนิดฝุ่นมาจากรถยนต์ และการเผาชีวมวลรอบนอก ซึ่งพบจุด Hot Spot ค่อนข้างสูงราว 1,200 จุดในเขตประเทศไทย พร้อมกับเตรียมแผนแก้ปัญหาฝุ่นเป็น “วาระแห่งชาติ” หากฝุ่นสูงเกิน 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต่อเนื่องกัน 3 วันรวมพยากรณ์ ต้องมีมาตรการต่างๆ ซึ่ง กทม.พยากรณ์ว่าวันที่ 1-3 ก.พ. 66 จะมีค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน จึงสั่งให้หน่วยงานในสังกัด Work From Home ทันที 

จากประเด็นดังกล่าว ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ติดต่อผู้คุยกับ นายจักรพันธุ์ ผิวงาม รอง ผู้ว่าฯ กทม. ที่ดูแลด้านนี้โดยตรง กล่าวว่า ส่วนหนึ่งของฝุ่นใน กทม. เกิดจากการเผา ในพื้นที่โดยรอบ กทม. โดยสามารถเช็กได้จากเผา โดยดูผลจากกระแสลม หากเป็นลมทางใต้ที่พัดจากอ่าวไทย ฝุ่นก็จะไม่ไปกองรวมใน กทม. แต่... เมื่อเจอลมตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ เฉียงใต้พัดลงมา ก็จะส่งผลให้ฝุ่นมารวมกันใน กทม. และมีสภาพนิ่งอยู่ในขณะนี้

...

อย่างไรก็ตาม เมื่อเจาะลึกลงในรายละเอียด พบว่า ปัญหาฝุ่นใน กทม. จำแนกได้หลัก ดังนี้

51% รถยนต์ รถบรรทุก (โดยเฉพาะรถน้ำมัน “ดีเซล”)
21% โรงงานอุตสาหกรรม
10% ครัวเรือน
6% เผาในที่โล่ง
1% เกษตรกรรม
1% พลังงาน
0.5% การจัดการขยะ
9.5% อื่นๆ

นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า ภาคเกษตรส่วนหนึ่ง ก็เป็นต้นตอของ PM 2.5 เพราะเมื่อชาวไร่ ชาวนาเก็บเกี่ยวเสร็จ ก็จะทำการเผาเคลียร์ดิน เพราะหากไม่เผา ก็ต้องเสียเงิน เสียแรงในการ ขุดตอ หรือ ซังข้าว และการเผา จึงเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุด ด้วยเหตุนี้ จึงถือเป็นปัญหาฝุ่นที่เกิดขึ้นทุกปี อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลข้างต้น ปัญหาฝุ่นที่มาจากรถยนต์นั้น ส่วนมากมาจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล

วางแผนแจ้งเตือนฝุ่นพิษ 4 ระดับ

สำหรับแผนในการแจ้งเตือนประชาชน และแผนปฏิบัติงานนั้น นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า เรามีแผนแบ่งออกเป็น 4 ระดับตามค่าฝุ่น ประกอบด้วย

ระดับที่ 1 : ค่าฝุ่น ไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร

เราจะใช้ 15 มาตรการ โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ติดตามเฝ้าระวัง กำจัดต้นตอ และ ป้องกันประชาชน

ระดับที่ 2 : ค่าฝุ่น 37.6 - 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร จะใช้ 7 มาตรการ 3 ส่วนเช่นกัน อาทิ การกำจัดต้นตอ ด้วยการสุ่มตรวจโรงงาน สุ่มตรวจควันดำ หรือ การป้องกันประชาชน แจ้งเตือนประชาชน ผ่านแอปฯ หรือ การแจกหน้ากากอนามัย หรือ ออกหน่วยสาธารณสุข

ระดับที่ 3 : ค่าฝุ่น 51 - 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ใช้ 4 มาตรการ อาทิ การสนับสนุนการ Work From Home, หยุดกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่น เช่น การก่อสร้างต่างๆ รวมไปถึงการควบคุมการเผา แจ้งดำเนินคดี แจ้งดับเพลิง ส่วนการป้องกัน ส่งแจ้งเตือนผ่านแอปฯ และให้งดกิจกรรมกลางแจ้ง

ระดับที่ 4 : ค่าฝุ่นมากกว่า 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร จะผสานหลายๆ มาตรการ โดยเฉพาะอยากจะให้หน่วยงานต่างๆ Work From Home 100%

14 มาตรการ รับมือฝุ่น แก้ปัญหาระยะยาว

รอง ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ที่ผ่านมา เราได้มีการมาตรการในการแก้ปัญหาฝุ่น ก่อนที่จะมีปัญหาฝุ่นในตอนนี้ ซึ่งเราวางไว้ 14 มาตรการ อาทิ การสุ่มตรวจวัดควันดำ ตรวจโรงงานอุตสาหกรรม โดยในพื้นที่ กทม. มีโรงงาน 1,044 แห่ง โดยมีการสุ่มตรวจ เดือนละ 2 ครั้ง ตรวจแพลนต์ปูน 133 แห่ง พื้นที่ก่อสร้าง 274 แห่ง โดยจะเข้าไปตรวจสอบการถมดินและทราย

...

นอกจากสุ่มตรวจแล้ว ยังเดินหน้ามาตรการเชิงรุกต่างๆ เช่น การส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า, มาตรฐานการผลิตรถ ยูโร 5 หรือ ยูโร 6 เป็นต้น

นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทาง กทม. ได้ทำโครงการ “นักสืบฝุ่น” ซึ่งถือเป็นการทำงานในด้านวิชาการ เพื่อไปหาคำตอบว่า “ฝุ่น” เกิดจากอะไร จากนั้นก็เอาผลการทำงานดังกล่าว แปลงออกมาเป็น 14 มาตรการ

หรือ จะเป็นมาตรการ ในการ “เฝ้าระวัง” เช่น เราทราบแล้วว่าจุดไหนที่เป็นจุดเสี่ยงที่จะเกิดควันดำ เราก็จะดำเนินการไปสุ่มตรวจ ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ เช่น กฎหมายจราจร กฎหมายเรื่องการส่งเสริมสภาพสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ กทม. มีอำนาจในการตรวจรถยนต์ ที่ไม่เกิน 4 ล้อเท่านั้น ส่วนหากเป็นรถโดยสาร รถบรรทุก รถขนาดใหญ่ อำนาจการตรวจจะขึ้นอยู่กับกรมขนส่งทางบก และ ฝ่ายจราจร ที่ผ่านมา ขอพยายามร่วมมือให้หน่วยงานทั้ง 2 ร่วมตรวจควันดำรถดังกล่าว

“อำนาจของ กทม. นั้น มีจำกัด สามารถตรวจรถ 4 ล้อได้เท่านั้น ส่วนปัญหาเรื่อง “รถเก่า” ซึ่งมันจะต้องมีการตรวจสภาพรถ ซึ่งจะอยู่ในอำนาจตาม พ.ร.บ.ขนส่งทางบก ประเด็นนี้ มีหน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่”

...

นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา เราพยายามแก้ปัญหาไปที่ต้นเหตุ และดำเนินการแก้ไขมาตลอด ตั้งแต่เดือนมิถุนายน แต่ก็ยอมรับว่า ปัญหาเรื่อง “รถ” ที่วิ่งบนท้องถนน เราเองไม่สามารถตรวจได้ทุกคัน ดังนั้น จึงอยากให้เจ้าของรถยนต์ แก้ปัญหาเรื่องควันดำของรถตัวเอง หรือปฏิบัติให้ถูกต้องก่อนต่อทะเบียน

ห่วงสุขภาพกลุ่มเปราะบาง

รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า หาก กทม. ทำงานเพียงหน่วยงานเดียว งานทุกอย่างจะไม่สำเร็จ ฉะนั้น สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ คือ การบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น และพยายามทำงานตามอำนาจหน้าที่ของ กทม. เช่น การตั้งคณะกรรมการ 1 ชุด ที่มี ผู้ว่าฯ กทม.เป็นประธาน โดยมีตัวแทนจากหลายหน่วยงาน ทั้งกรมขนส่งทางบก ตำรวจจราจร กรมควบคุมมลพิษ มาเป็นคณะกรรมการร่วม และมีการกระจายงานต่างๆ ออกไป

“หัวใจสำคัญคือ ความร่วมมือร่วมใจ ของทุกหน่วยงาน ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ รวมไปถึงประชาชน ก็เชื่อว่าปัญหาฝุ่น PM 2.5 ก็จะดีขึ้น ถึงแม้มันจะไม่หายไปก็ตาม”

รองผู้ว่าฯ กทม. ยอมรับว่า กลุ่มคนที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ กลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุในชุมชน ที่ผ่านมา กทม. ได้นำหน้ากากอนามัยไปแจกจ่าย ซึ่งเราพยายามดูแลให้มากที่สุด ส่วนถ้าใครมีปัญหาสุขภาพ เราก็มีสังกัด กรุงเทพมหานคร คอยให้การช่วยเหลือ

...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

กราฟฟิก Theerapong C.

อ่านบทความ