ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี ได้เคาะนโยบาย สนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ตามนโยบาย 30/30 คือ ในปี ค.ศ. 2030 หรือปี พ.ศ. 2573 จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30% ของการผลิตรถยนต์ในประเทศ โดยผลิตประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะ 725,000 คัน และรถจักรยานยนต์ 675,000 คัน โดยมีสิทธิพิเศษมากมากมาย ทั้งมาตรการอากรภาษี โดยมีเงินอุดหนุน 18,000-150,000 ทั้งรถยนต์ และมอเตอร์ไซค์
เรียกว่าโปรโดนใจ คนอยากมีรถกันเลยทีเดียว แต่...สิ่งที่คนกำลังมองหารถยนต์ EV สักคัน กลับไม่ใช่เรื่อง มีเรื่องต้อง “ชั่งใจ” หลายเรื่อง ทั้งความมั่นใจในประสิทธิภาพ ความคงทนของยานยนต์ ปั๊มชาร์จ หรือที่เรียกว่า สถานีอัดไฟฟ้าประจุ ที่เวลานี้มีเพิ่มมากขึ้น และทั้งหมดทั้งมวลนี้คือสิ่งที่คนที่จะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าร้อยเปอร์เซ็นต์ (BEV) ต้องคิด....
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้พูดคุยกับ รศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล หัวหน้าศูนย์วิจัย Mobility & Vehicle Technology Research Center (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เรียกว่าเป็น กูรูรถยนต์ไฟฟ้าอีกคน และใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามามากกว่า 2 ปีแล้ว
เชื่อว่า สิ่งที่คนอยากรู้เลย ว่า ณ ปัจจุบันนี้ พ.ศ. นี้ แนะนำให้ซื้อรถ EV ไหม รศ.ดร.ยศพงษ์ บอกว่า คนส่วนใหญ่ที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าขณะนี้ เพราะมีที่ชาร์จ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือคอนโดฯ แต่บางส่วนที่ไม่มีที่ชาร์จ แต่จำเป็นที่บ้านต้องอยู่ใกล้สถานีชาร์จสาธารณะ
...
1. รถยนต์ไฟฟ้า ชาร์จไฟ 1 ครั้ง วิ่งได้ 200-300 กิโลเมตร
“รถยนต์ไฟฟ้าต่อ 1 การชาร์จ จะอยู่ได้ 200-300 กิโลเมตร ส่วนตู้ชาร์จเร็ว จะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ถึงจะเต็ม ฉะนั้น ถามว่าเหมาะสมแค่ไหนที่จะซื้อ คำตอบของผม คิดว่า ถ้าใช้เดินทางในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัดที่ไม่ไกลมาก เช่น กทม.-หัวหิน สามารถขับไปได้สบายๆ แต่อาจจะไม่พอขากลับ ต้องหาสถานีชาร์จ”
กูรูด้านรถยนต์ไฟฟ้า บอกว่า เวลานี้สถานีชาร์จ มีมากกว่าเดิม เรียกว่า อาจจะมากกว่าจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าขณะนี้ แต่...สถานีชาร์จ ยังถือว่าไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ เพราะบางจังหวัดมีมาก บางจังหวัดมีไม่มาก
ใช้รถยนต์มา 2 ปี มีปัญหาเรื่องการซ่อมบำรุงบ้างไหม รศ.ดร.ยศพงษ์ กล่าวว่า ถ้าไม่นับการขับรถยนต์เข้าศูนย์ตามรอบ ก็อาจจะมีค่าทำความสะอาด กรองฝุ่นแอร์ รอบละประมาณ 300 กว่าบาท แบตฯ หากมีปัญหา ถ้ายังอยู่ในประกันเขาก็เปลี่ยนให้ฟรี ซึ่งขับได้ 30,000 กม. โดยผมเสียค่าใช้จ่ายกับรถยนต์ตรงนี้ไม่ถึง 1,000 บาท แต่ถ้าเป็นรถยนต์น้ำมัน อาจจะต้องเปลี่ยนน้ำมันหล่อลื่น 6 รอบ ดังนั้น หากซื้อในบริษัทที่น่าเชื่อถือ มีช่างดูแล และมีประกัน เท่าที่ใช้ขณะนี้ก็ยังไม่เห็นว่าเป็นปัญหา
2. ระยะเวลาในการชาร์จไฟ กับราคาที่ต้องจ่าย
ระยะเวลาการ “การชาร์จไฟ” จะเป็นปัญหาหรือไม่ หากมียานยนต์ไฟฟ้าในท้องถนนมากขึ้น คำถามนี้เป็นข้อคำถามที่คนทั่วไปกังวลกันมาก รศ.ดร.ยศพงษ์ ให้ความเห็นว่า ส่วนตัวยังเชื่อว่า หากมีการบริหารจัดการที่ดี หากเราเห็นคอนโดฯ ขึ้นเต็มไปหมด แต่ละห้องก็ใช้ไฟจำนวนมาก ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องปกติ หมายความว่าการเติบโต ถือเป็นเรื่องปกติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีหน้าที่ทำการซัพพอร์ตให้ทัน
กูรูด้านยานยนต์ไฟฟ้าบอกว่า การชาร์จไฟ ราคาจะแบ่งตามช่วงเวลา เช่น เวลากลางคืน คนใช้ไฟเยอะ โดยเฉพาะช่วง 2 ทุ่ม เราอาจจะต้องจ่ายแพงกว่าช่วงเวลาปกติ แต่ถ้าชาร์จหลัง 4 ทุ่ม ราคาจะถูกกว่า แบบนี้คนก็หันมาชาร์จหลัง 4 ทุ่ม เพราะก็เต็มตอนเช้าเหมือนกัน หรือ ถ้าชาร์จเวลากลางวัน ยิ่งไม่มีปัญหาเลย เพราะมีโซลาร์เซลล์ เพราะมีไฟเหลือ...
รถยนต์ไฟฟ้า อาจจะเป็นตัวช่วยลดค่าใช้จ่าย หากมีการบริหารจัดการที่ดี และเชื่อว่าบริษัทที่เขาทำตู้ชาร์จ เขาก็เริ่มมองความต้องการ ปัจจุบัน ผู้ประกอบการที่ซื้อไฟฟ้า จากการไฟฟ้านครหลวง ในราคา 2.63 บาท/หน่วย แล้วเขาไปขายในราคาเท่าใดก็ได้ (ปัจจุบันพบว่ามีการขายในราคา 4-6 บาทตามช่วงเวลา) ซึ่งผู้บริโภคจะเป็นคนตัดสินใจ ดังนั้น จึงเชื่อว่าต่อไปจะมีสถานีชาร์จมากขึ้น เพราะตู้ชาร์จ ใครก็ได้
“หากบ้านอยู่ติดถนน มีที่จอด ก็ติดตั้งตู้ชาร์จได้ ใครจะมาใช้ก็ได้ และต่อไปก็ร่วมกับแพลตฟอร์มต่างๆ ให้เข้ามาชาร์จได้ เหมือนบริการจองที่พักทั่วไป ข้อดีของการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในวันนี้ คือ เราไม่ต้องเสียเงินไปกองทุนน้ำมัน ทุกอย่างถูกลงมาก”
...
3. ไลฟ์สไตล์แบบไหน เหมาะถอยรถยนต์ EV
รศ.ดร.ยศพงษ์ ตอบว่า ขอยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าคุณไป-กลับบ้าน 20 กิโลเมตร แต่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ชาร์จไฟครั้งหนึ่ง วิ่งได้ 250-300 กิโลเมตร เท่ากับว่า คุณชาร์จไฟ 1 ครั้งหนึ่ง วิ่งไปกลับได้มากกว่า 10 วัน
คำถามต่อมา ถ้าบ้านไม่มีที่ชาร์จ แล้วที่ชาร์จอยู่ตรงไหน... ยกตัวอย่างถ้าบ้านอยู่แถวไทยรัฐ ต้นวิภาวดีรังสิต ใกล้กับการบินไทย ก็จะปั๊มใหญ่ของ ปตท. ซึ่งมีหลายจุด ซึ่งหากบ้านไม่มีชาร์จ ก็อาจจะไปใช้ ควิกชาร์จ สถานที่ต่างๆ ได้ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงก็เต็ม ซึ่งเวลานั้น อาจจะแวะรับประทานอาหาร หรือทำอะไรก็ได้ ซึ่งถ้าไลฟ์สไตล์คุณแบบนั้น ผมก็อาจจะแนะนำให้ซื้อ
ระยะยาวเป็นยังไง รศ.ดร.ยศพงษ์ กล่าวว่า “ผมเชื่อว่าในระยะยาว คนจะหันมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด เหมือนกับถามว่า ทำไมเราต้องใช้โซเชียลมีเดีย ไลน์ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งเราก็ปฏิเสธมันไม่ได้”
ช่วงนี้ถือเป็น “หัวเลี้ยวหัวต่อ” สำหรับ EV ไหม รศ.ดร.ยศพงษ์ ยอมรับว่า “ใช่เลย..ยิ่งเป็นเรื่องเทคโนโลยีด้วย ส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แล้ว แต่มันเป็นเรื่องไลฟ์สไตล์ และการใช้ชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ประเด็นสำคัญ คือ ตลาด จะเป็นตัวบอก
4. ความพร้อมรถยนต์ EV กับโครงสร้างพื้นฐาน
สำหรับประเด็นด้านความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน รศ.ดร.ยศพงษ์ ตอบว่า ประเทศไทยมีไฟฟ้าเข้าถึงทั่วประเทศกว่า 99% หมายความว่า ในบางประเทศยังเข้าถึงไม่เท่ากับเรา แต่สำหรับประเทศเราถือว่าเข้าถึงสูงมากแล้ว แต่...ประเด็นนี้หมายความว่า ถ้าคนจะใช้ “ไฟฟ้า” เพื่อนำมาชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์บอกเลยว่าอาจจะหา “ไม่ยาก” เพราะบางคนชาร์จไฟที่บ้าน ตั้งตู้ชาร์จของตนเอง และอีกส่วนคือการชาร์จในที่สาธารณะ เช่น ห้าง ปั๊ม
...
นอกจากนี้ จะยังมีคนอีกส่วน ที่ไม่สามารถติดตั้งตู้ชาร์จได้ เช่น คอนโดฯ ซึ่งไม่ใช่ปัญหาเรื่องเทคนิค เพียงแต่ว่าต้องมีการจัดการเรื่องผลประโยชน์ ซึ่งเวลานี้ถือว่ามีแนวทางการจัดการในเชิงธุรกิจแล้ว
การชาร์จสาธารณะ หากต้องเดินทางไกล เรื่องนี้เป็นประเด็นหลัก ซึ่งเวลานี้มีจำนวนมากขึ้น และอยู่บนถนนสายหลัก
เมื่อถามว่า ถ้าลักษณะนี้ ถือว่ายังไม่สามารถใช้ครอบคลุมทั่วประเทศได้ใช่ไหม..รศ.ดร.ยศพงษ์ บอกว่า กลุ่มรถที่ขายเวลานี้ คือ รถ Passenger car (รถยนต์นั่งส่วนบุคคล) ถามว่าจะมีคนขับไปกรุงเทพฯ-หัวหินทุกวัน หรือนำมาใช้เป็นส่งของ
“ฉะนั้น ในปัจจุบันที่ใช้กันอยู่ ส่วนตัวเชื่อว่ามันตอบโจทย์ สำหรับคนเมืองอยู่แล้ว หากเป็นคนในต่างจังหวัด ก็ยิ่งไม่มีปัญหา เพราะเขาอยู่บ้าน มีที่จอด คนที่จะมีปัญหาจริงๆ คือคนที่ใช้เดินทางระยะไกล รถบรรทุกส่งของ เชื่อว่าอาจจะยังไม่พร้อมและยังมีปัญหาอยู่ เพราะต้องเสียเวลาในการเติมพลังงาน”
...
5. มาตรการด้านภาษี กับส่วนลดที่ได้
รศ.ดร.ยศพงษ์ กล่าวว่า ในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการด้านนโยบายยานยนต์แห่งชาติ ถ้าจะมาบอกว่าไม่เห็นด้วยก็คงไม่ใช่ ที่ผ่านมา มีการคุยกันตลอด ในแง่การจัดการ แม้จะไม่ถูกใจ 100% แต่มันก็ไม่ได้เลวร้ายมาก เพราะหากเรามี “เงินอุดหนุน” มันก็ทำให้ผู้ใช้สามารถซื้อรถได้ถูก อีกทั้งยังเป็นการช่วยตลาด เพื่อให้บริษัทต่างๆ เข้ามาแข่งขัน ช่วงแรกยังไม่พร้อมในการผลิต ก็ได้ส่วนลด 40% ลงมา ก็ถือว่าต่ำมากอยู่แล้ว นโนบายตรงนี้เชื่อว่าจะทำให้รถยนต์เข้ามาแข่งขันมากขึ้น อีกทั้งนโยบายก็ยังดีกว่าเมื่อ 2-3 ปีก่อน ที่ยืดหยุ่นมากขึ้น
6. เป้าหมายที่ไปถึง ค.ศ. 2035 รถทุกประเภท เป็นรถ EV
จากเป้าหมายที่ทางกระทรวงพลังงานได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี 2035 รถยนต์ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ จักรยานยนต์ หรือรถในภาคขนส่งจะเป็นรถ EV ส่วนตัวมองว่ามีโอกาสเป็นไปได้สูงมาก
ที่สหรัฐฯ มีประกาศเรื่องการลงทุน สร้างสถานีชาร์จรถ EV ทุกๆ 80 กิโลเมตร ของไทย ควรจะเดินไปในทิศทางเดียวกับเขาหรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์ EV ระบุว่า ประเด็นนี้ตอบยากมาก ขึ้นอยู่กับ โมเดลทางธุรกิจและความต้องการ ถ้าสมมติว่ามีความต้องการจำนวนมาก อาจจะอยู่ห่างกันแค่ 5 กิโลเมตรก็ได้ หรือถ้าน้อยอาจจะห่างกัน 10-20 กิโลเมตร
“หากมองในมุมธุรกิจ ทุกที่ ก็ใช่ว่าจะสร้างสถานีได้ เพราะต้องมาดูว่าตรงจุดนั้นเป็นอย่างไร... หากนึกภาพไม่ออก ก็ลองนึกถึงปั๊มน้ำมัน เราเห็นปั๊มห่างกันไม่กี่กิโลเมตร หรือร้านสะดวกซื้อ เราก็เห็นอยู่ติดกัน ตรงข้ามกันก็มี เพราะความต้องการแตกต่างกัน เชื่อว่าพอถึงจุดหนึ่ง ตลาดจะเป็นตัวกำหนด หากมีได้ทุก 5-10 กิโลเมตร ก็จะถือว่าดีมาก ซึ่งในกรุงเทพฯ เวลานี้กระจายกันน้อยกว่านั้นอีก เชื่อว่าห่างกันแค่ 1 กิโลเมตรก็มีในบางที่”
7. รัฐดันนโยบาย เอกชน จะเป็นผู้ชี้ขาด EV ไปรอด ไม่รอด
รศ.ดร.ยศพงษ์ ในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการด้านนโยบายยานยนต์แห่งชาติ เชื่อว่า ประเด็นหลัก คือ การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าไม่ได้อยู่แค่การใช้ เราต้องส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมในประเทศ ควรสร้างมูลค่าจากการผลิต ซึ่งในวันนี้ประเทศไทยก็เป็นแบบนั้นอยู่ แต่เป็นอุตสาหกรรมรถยนต์น้ำมัน ถามว่าทำไมเป็นแบบนั้น ก็เพราะทั่วโลกเป็นแบบนั้น
อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ยังไม่ได้กระจาย เป็นแกนหลักของทั่วโลก เรียกว่าเป็นกำลังเติบโตเท่านั้น ปัจจุบัน ผู้ประกอบการหลักในการขายรถยนต์ในบ้านเรา ก็คือ ประเทศญี่ปุ่น สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะเวลานี้รถยนต์น้ำมันยังมีสัดส่วนมากอยู่ ในขณะที่ รถยนต์ยุโรป เขาเริ่มเปลี่ยน เพราะเขาเป็นรถยนต์ระดับพรีเมียม พอเขาเริ่มขยับ เมืองไทย เองก็จะเริ่มเปลี่ยนตามไปด้วย เพราะไทยก็ได้ประโยชน์ด้วย
เมื่อมองไปที่ประเทศจีน เขาเปลี่ยนไปอย่างมาก ส่วนหนึ่งเพราะเขามีบริษัทรถยนต์หลายร้อยบริษัท ซึ่งเพิ่งจะเข้าเมืองไทย เพียง 2-3 บริษัทเท่านั้นเอง ซึ่งตอนนี้ในประเทศเขาก็อาจจะดีมากอยู่แล้ว เขาก็เลยขยายมาที่เมืองไทย โดยจะมาหาจุดต่างของตลาด
“การที่เขาจะเข้าไปตลาดน้ำมันในประเทศไทย ถือเป็น red ocean (คู่แข่งมาก แข่งขันกันดุเดือด) ฉะนั้น การที่เขาโดดหนีมายังพื้นที่ที่บริษัทอื่นยังไม่มีของมาขาย ก็เห็นชัดว่า รถไฮบริด หรือ EV ค่ายอื่นยังไม่มีของ แต่บริษัทจีนเหล่านี้มี ทำให้เขามีโอกาส เมื่อรัฐบาลส่งเสริมว่าจะสนับสนุน 70,000-150,000 บาท โดยที่คุณต้องมีฐานการผลิตในประเทศ เขาเองก็พร้อมอยู่แล้ว เพราะตั้งใจมาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย ใช้ไทยเป็นฐาน เพื่อเป็นการขยายโอกาส”
ในขณะที่ค่ายเดิม อย่างประเทศญี่ปุ่น ยังไม่มีกลไกอะไรมาก เพราะเขาเชื่อว่าเขายังเป็นผู้คุมตลาด และยังไม่ได้เร่งรีบ เพราะเขาประเมิน ว่าตลาด EV ยังไม่ได้เยอะอะไร แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า บริษัทญี่ปุ่นที่เป็นระดับโลกเหล่านี้ก็คงต้องคิดและวางแผนจริงจังแล้ว ซึ่งล่าสุด ทางโตโยต้า ระดับโลก เขาก็ประกาศแล้วว่ามียานยนต์ 20 กว่าโมเดลรองรับ
8. แชมป์ยานยนต์ทั่วโลก อาจเปลี่ยนโฉมหน้า
รศ.ดร.ยศพงษ์ กล่าวอย่างมั่นใจว่า “ผมเชื่อว่าตลาดเปลี่ยนไปอยู่แล้ว ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย ระดับโลก ก็น่าจะเปลี่ยนด้วย ดูตัวอย่างง่ายๆ ตอนเปลี่ยนมาใช้สมาร์ทโฟน เมื่อก่อนผู้นำตลาด คือ โมโตโรล่า โนเกีย พอวันหนึ่งกลายเป็น ไอโฟน ซัมซุง หัวเว่ย
“เกมนี้เปลี่ยน และอาจเปลี่ยนหลายระลอกด้วยซ้ำ เพราะตลาดยานยนต์ ไม่ได้มีแค่ EV แต่จะมีอีกหลายแบบที่จะเกิดขึ้น ใครจะเป็นผู้นำได้ ขึ้นอยู่กับสินค้าที่จะมาตอบสนองลูกค้าได้หรือไม่
ทุกวันนี้ตลาดโตมาก ถึงแม้ตัวเลขคนใช้จะไม่เยอะ แต่ก็ถือว่าเติบโตสูง
“ผมเชื่อว่า ภาครัฐทำมาเยอะแล้ว ถูกทางแล้ว เหลือแค่ภาคเอกชนจะตอบรับแค่ไหน ถ้าเป็นไปได้ ก็อาจจะบูสต์เพิ่ม เช่น M FLOW ฟรี ทางด่วนฟรี ต่อไป คอนโดฯ ต้องถูกกำหนดว่า ควรมีหัวชาร์จไฟไม่น้อยกว่ากี่เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น โดยอาจจะหาวิธีจูงใจต่างๆ ทำให้มีสถานีชาร์จมากขึ้น โดยเน้นไปที่โครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเวลานี้ถือว่าไม่พร้อม แต่ก็ไม่ถือว่าแย่ แต่ต้องเตรียมพร้อมให้มากกว่านี้ เพราะเป้าหมายสูง ซึ่งต้องทำยังไงก็ได้ให้เอกชนสนใจลงทุน และเขาอยู่ได้ ซึ่งเวลานี้เห็นหลายบริษัท เริ่มลงทุนแล้ว”
9. ผู้ประกอบการไทย ต้องปรับตัว ชี้ควรพลิกวิกฤติเป็นโอกาส สร้างแบรนด์
เรื่องที่ห่วง... คือ ผู้ประกอบการชิ้นส่วนของไทย ที่ต้องปรับตัว ช่วงเปลี่ยนถ่ายตรงนี้จะทำอย่างไร เมื่อเกมเปลี่ยน ตลาดเปลี่ยน แต่ผู้ประกอบการในไทยเวลานี้ยังอยู่กับผู้เล่นเดิม (รถยนต์น้ำมัน) คำถามคือ เขาจะเปลี่ยนไปยังผู้เล่นใหม่อย่างไร
ยกตัวอย่างง่ายๆ เดี๋ยวนี้เราดูทีวีญี่ปุ่นอยู่ไหม...คำตอบคือ น้อยมาก เวลานี้เรายังดูซีรีส์เกาหลี จีน ถึงแม้คุณจะทำ แต่ถ้าทำช้ากว่าคนอื่น...มันไม่ได้ ผู้เล่นไทย หากยังอยู่ที่เดิมก็กลัวจะปรับตัวไม่ทัน
ทุกวันนี้เราทำหน้าที่ผู้รับจ้าง เราจะสามารถเปลี่ยนเป็นผู้ออกแบบ และผลิตได้ไหม...
ส่วนตัวอยากให้ประเทศไทย ไม่ใช่แค่ “ผู้นำเข้า” ชิ้นส่วนต่างๆ แต่ควรจะทำอะไรให้ลึกมากขึ้น ซึ่งเดี๋ยวนี้เราเห็นผู้ประกอบการไทย ผลิตสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าขาย ก็ถือว่าดีมาก
“ตอนนี้เราเริ่มเห็นแบรนด์ไทย ทำรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ตอนนี้ เราเห็น ปตท. ไปจับมือกับ HOZON จากจีน ศึกษาการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า”
เมื่อถามว่า มีโอกาสที่จะเกิดแบรนด์ไทยไหม กูรูยานยนต์ไฟฟ้า ตอบทันที “ใช่..ถือเป็นช่วงเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยี เราต้องสร้างแรงจูงใจให้เกิดตรงนี้ ซึ่งโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ ต้องมี 3 ข้อหลักประกอบ คือ 1. แนวคิด 2. เทคโนโลยี 3. วัฒนธรรมการสร้างเทคโนโลยีในองค์กร”
หวังว่าในอนาคต เราอาจจะเห็นรถยนต์แบรนด์ไทยที่มีคุณภาพระดับสากล วิ่งบนท้องถนนบ้าง
ผู้เขียน : อาสาม
กราฟิก : Anon Chantanant, Varanya Phae-araya
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ