ทั่วโลกมากกว่า 140 ประเทศ รวมทั้งไทย กำลังรับมือกับโควิดสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” ซึ่งแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และจะมาแทนที่สายพันธุ์เดลตา แม้ความรุนแรงอาจน้อยกว่าสายพันธุ์ที่ผ่านมา จากอัตราผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่น้อยกว่า และอัตราการตายลดลงกว่าสายพันธุ์อื่นที่มีการระบาดก่อน แต่ก็ประมาทไม่ได้ เพราะสายพันธุ์นี้หลบหลีกภูมิต้านทานที่เกิดจากวัคซีน ทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนที่ใช้อยู่ลดลง
ความกังวลใจของคนทั่วโลกไม่ทันหาย กลับมีการพบสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน ชื่อ “BA.2” หรือเรียกกันว่า “สายพันธุ์ล่องหน” เมื่อปลายปีที่แล้ว โดยนักวิจัยอังกฤษ ภายหลังโอมิครอนสายพันธุ์เดิม “BA.1” ระบาดไปหลายประเทศ จนมาพบ “โอมิครอนตัวน้อง” มีแนวโน้มการกระจายได้ไวกว่าโอมิครอนรุ่นพี่ หรือ “BA.1” เพราะขณะนี้การระบาดของโอมิครอน “BA.1” ในหลายประเทศเริ่มลดลง และกำลังมาแทนที่ด้วยสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน “BA.2” ซึ่งเริ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน
ความแตกต่างจากโอมิครอน “BA.1” แม้ว่า “BA.2” มีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งเหมือนกัน แต่มีหลายตำแหน่งที่แตกต่างชัดเจน โดยขาดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมในยีนโปรตีนหนาม หรือตรวจไม่พบยีนโปรตีนหนาม ทำให้การตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR ยากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งต้องใช้การวิเคราะห์ข้อมูลพันธุกรรม จึงเป็นที่มาของ “สายพันธุ์ล่องหน”.

...