บนเวทีเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ คะแนนเสียงแต่ละยุค มีการเปลี่ยนแปลงตามผู้สมัคร และสภาพสังคมที่เกิดขึ้น การแข่งขันบางปี ผู้สมัครที่มีชื่อเสียง ลงเลือกตั้งอย่างคึกคัก ทำให้คนออกมาใช้สิทธิ์มากเป็นประวัติการณ์ ดังนั้นการสำรวจคะแนนเสียงในครั้งอดีต ย่อมทำให้เห็นถึงสภาวะทางการเมือง ที่เปลี่ยนแปลง มาจนถึงผู้ว่าฯ กทม. คนล่าสุด ลำดับที่ 17 ที่จะสะท้อนความนิยมทางการเมืองบนเวทีระดับชาติ
หากย้อนกลับไปในการเลือกตั้งครั้งแรกปี พ.ศ. 2518 “ธรรมนูญ เทียนเงิน” จากพรรคประชาธิปัตย์ ครองเก้าอี้ ด้วยคะแนนเสียง 99,247 คะแนน จากผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เพียงร้อยละ 13.86 ส่วนดาวรุ่งในการแข่งขันคือ “ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์” พรรคพลังใหม่ ที่เพิ่งลาออกจากตำแหน่งราชการ ได้รับคะแนนเสียงในพื้นที่ชั้นใน แต่พ่ายแพ้ในพื้นที่รอบนอก เช่น หนองแขม, มีนบุรี

เวทีเลือกตั้งครั้งต่อมาปี พ.ศ. 2528 “พล.ต.จำลอง ศรีเมือง” จาก "กลุ่มรวมพลัง" ได้รับคะแนนเสียง 408,237 โดยมีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งร้อยละ 34.65 เป็นการได้ครองตำแหน่งสมัยแรก ท่ามกลาง สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้รับเลือกมากที่สุด 35 คน จาก 54 ที่นั่ง จึงมีคำถามถึงการทำงานร่วมกัน แต่ “พล.ต.จำลอง” ยืนยันไม่มีปัญหาในการทำงาน
...
แต่การลงสมัครอีกครั้งของ “พล.ต.จำลอง ศรีเมือง” ปี พ.ศ. 2533 ได้กุมชัยชนะอีกครั้ง ด้วยคะแนนเสียง 703,672 คิดเป็นร้อยละ 35.85 การชนะหนนี้ มีผลต่อจำนวนสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ที่พรรคพลังธรรม ได้รับเลือกถล่มทลายถึง 50 ที่นั่ง จากทั้งหมด 57 ที่นั่ง ส่วนผู้สมัครอิสระอย่าง “วรัญชัย โชคชนะ” ได้คะแนนกว่า 1 หมื่นเสียง
ห้วงเวลานั้น พื้นที่กรุงเทพฯ กลายเป็นฐานเสียงสำคัญของ “พรรคพลังธรรม” โดยการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ปี พ.ศ. 2535 ส่ง “ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา” แข่งขัน และได้รับชัยชนะ ด้วยคะแนนเสียง 363,668 คะแนน ซึ่งมีผู้มาใช้สิทธิ์เพียงร้อยละ 23.02 นับว่าน้อยกว่าครั้งก่อนๆ
เวทีเลือกตั้งผู้ว่าฯ คึกคักอีกครั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2539 มีผู้สมัครถึง 29 คน มากกว่าทุกปีที่ผ่านมา โดย “ด.ร.พิจิตต รัตตกุล” ครองใจคนกรุง ด้วยคะแนนเสียง 768,994 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 43.53 แซง “พล.ต.จำลอง ศรีเมือง” อดีตผู้ว่าฯ กทม. อย่างถล่มทลาย

ในปี พ.ศ. 2543 สถิติคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ได้รับการบันทึกไว้มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อ “สมัคร สุนทรเวช” จากพรรคประชากรไทย ได้คะแนนมากถึง 1,016,096 คิดเป็นร้อยละ 45.85 ทิ้งห่าง “สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” พรรคไทยรักไทย ที่ได้ 521,184 คะแนน
กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์ กลับมาปักธงได้ในพื้นที่กรุงเทพฯ ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ปี พ.ศ. 2547 โดย “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” ด้วยคะแนนเสียง 911,441 คิดเป็นร้อยละ 38.20 เอาชนะคู่แข่งอย่าง “ปวีณา หงสกุล” ผู้สมัครอิสระ ที่ได้คะแนนเสียง 619,039 คิดเป็นร้อยละ 25.95

เช่นเดียวกับการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2551 คะแนนเสียงของ “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้ต่างจากการเลือกครั้งแรกนัก โดยรอบนี้ได้คะแนนเสียง 991,018 คิดเป็น 45.93% เบียดคู่แข่งอย่าง “ประภัสร์ จงสงวน” พรรคพลังประชาชน ที่ได้คะแนน 543,488 เสียง
...
ส่วนการเลือกตั้งครั้งถัดมา ปี พ.ศ. 2552 พรรคประชาธิปัตย์ ยังรักษาฐานเสียงเมืองกรุงเอาไว้ได้ ด้วยคะแนนเสียง ไม่ได้ต่างจากรอบที่แล้วมาก โดยรอบนี้ส่ง “ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร” ที่ได้รับคะแนน 934,602 เสียง ทิ้งห่างอันดับรองคือ “ยุรนันท์ ภมรมนตรี” ที่ได้คะแนนเสียง 611,669

กระแสตื่นตัวทางการเมืองของคนกรุงเทพฯ แสดงให้เห็นในปี พ.ศ. 2556 มีผู้มาใช้สิทธิ์ สูงสุดถึงร้อยละ 63.38 มากกว่าการเลือกตั้งทุกครั้ง หนนี้ “ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร” ได้รับความไว้วางใจอีกครั้ง ด้วยคะแนนเสียง 1,256,349 เบียดอันดับสอง “พล.ต.อ. พงศพัศ พงษ์เจริญ” พรรคเพื่อไทย ที่ได้คะแนนเสียง 1,077,899
แน่นอนว่าการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2565 ที่เกิดขึ้นภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 นอกจากต้องลุ้นคะแนนเสียงผู้ว่าฯ กทม. กันแบบตัวโก่งแล้ว ต้องรอดูว่าวันที่ 22 พ.ค. 2565 ชาวกรุงเทพฯ จะออกมาใช้สิทธิ์กันมากเป็นประวัติการณ์อีกหรือไม่?
...