Killers of the Flower Moon งานของ สังฆราชสกอร์เซซี ที่น่าจะไปไกลจนถึงขั้นคว้าออสการ์...
ดูเหมือน "สัตว์" จะถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ตีความ ในหนังหลายต่อหลายเรื่องของ มาร์ติน สกอร์เซซี ตั้งแต่ยุคแรกๆ ...มาจนถึงตอนนี้....ไม่ว่าจะเป็น "สัตว์กลางคืน" ที่ออกหากิน ใน Taxi Driver (ซึ่งก็คืออาชีพ แมงดา โสเภณี) ในนิวยอร์ก, กระทิงนอกคอก ใน Raging bull, หมูบ้าและควายป่าใน Goodfellas ยังมีสัตว์อีกหลายตระกูล (โดยมาก เดรัจฉานสายเลื้อยคลาน) ที่ปรากฏเป็นตัวละครในงานของ "สกอร์เซซี" ที่บางทีก็มาเป็นคำสบถ!
แต่กับ "หมาใน" และ "หมาป่า" เหมือนจะถูกใช้ใน Killers of the Flower Moon เรื่องล่าสุด เป็นครั้งแรก แบบเต็มความหมาย....ชื่อหนังมาจากหนังสือดี ที่ติด 1 ใน 10 ของวรรณกรรมยอดเยี่ยมปี 2017 ที่ Time สรุปประจำปี "สกอร์เซซี" คงชอบงานเขียนของ "เดวิด แกรนน์" จึงนำมาทำเป็นหนัง
...
เออร์เนสต์ (ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ) พ่อครัวในกองทัพทหาร กลับมาทำงานกับลุงวิลเลียม (โรเบิร์ต เดอ นีโร) ผู้มีอิทธิพลกว้างขวางในหมู่บ้านของชาวเผ่าอินเดียนแดง
ต้นเรื่อง เราได้เห็นชนเผ่าโอเซจ นั่งทำพิธีกรรม ก่อนที่เราจะค่อยๆ "ซึมซับ" ข้อมูลมากขึ้นว่า ก่อนหน้านั้น เมื่อยุคคนขาวไล่เข่นฆ่าชาวเผ่า ชนพื้นเมือง อย่างอินเดียนแดง จนแตกกระเจิง
ที่สุด อินเดียนแดงต้องหนีไปหาที่อยู่ใหม่ ที่ไกลพ้นและกันดาร โดยยอมให้ "คนขาว" ยึดถิ่นเดิมไป เรื่องมันตลกร้าย เมื่อถิ่นฐานใหม่ของเผ่าโอเซจ ดันกลายเป็นแหล่งน้ำมัน ทำให้ชาวเผ่าโอเซจ กลายเป็นมหาเศรษฐีขึ้นมา ทุกบ้านมีทรัพย์สินมากมาย สามารถจะซื้อรถคันใหม่ เหมือนซื้อของเล่นชิ้นเล็กๆ....มีหรือ - ที่ชีวิตแบบนี้ จะไม่ถูกมองเห็นและอยากเขมือบ โดยคนขาว!
สกอร์เซซี เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ฝรั่งเรียกว่า New Hollywood ตอนที่แรงขึ้นมา (มีสปีลเบิร์ก, วู้ดดี อัลเลน) แต่เขาโดดเด่นที่ วิธีเล่า ของ "เรื่อง" ซึ่งเลี่ยงเทคนิคต่างๆ...สรุปคือ เน้นที่การแสดง วิธีถ่ายทอด แต่เหนืออื่นใด เขาดึงเอาความโง่เขลา อ่อนแอ และสกปรกในตัวมนุษย์ออกมา
สายตาที่ วิลเลียม กับ เออร์เนสต์ มองชนเผ่าโอเซจ ไม่ต่างจากการชำเลืองสายตาของ หมาป่า หรือ หมาใน ที่จ้อง "เหยื่อ”....คนดูได้เห็นความทุกข์ทรมาน ที่บรรดาสัตว์หมาต่างสายพันธุ์ ได้งับ กัด แทะ ชนเผ่าโอเซจ ศพแล้วศพเล่า ที่ตายลง โดยบางที ไม่มีสาเหตุ "การเสียชีวิต"
ข้อดีที่สุดของหนังนอกจากการแสดงแล้ว บทเลือกจะเล่า "จากมุมมองตัวร้าย" แทนที่จะพูดจากมุมตัวละครที่ดี
การใช้วิธีการแบบนี้ ทำให้คนดูได้ข้อสรุปตั้งแต่ต้น และใช้เวลา 206 นาที หรือ 3 ชั่วโมงครึ่ง! เพื่อสังเกตการณ์ว่า มนุษย์แบบหนึ่ง สามารถจะแทรกตัว เข้าไปกัดกินมนุษย์อีกแบบหนึ่งได้อย่างไร
การเคลื่อนตัวของกล้อง ของตัวละคร ไม่ต่างจากการเดินของหมาในและหมาป่า แต่ที่อยากจะยกย่อง การทำหนังชั้นครู สำหรับเรื่องนี้ก็คือ ส่วนที่เรียกว่า transition หรือ "ช่วงเปลี่ยนผันของเรื่อง"
...
หลายครั้ง หนังไทยร้อย 70 มักมีปัญหาเรื่อง Transition เพราะเน้นไปที่ดราม่า หรือ Spectacle ความตื่นเต้นของภาพและเสียง ผมนึกว่าตัวเองจะเบื่อ - แต่กลายเป็นว่า เวลาเกือบ 4 ชั่วโมง หนังเล่าเรื่องราบรื่น และเพลิดเพลิน ดูแล้ว สมบูรณ์แบบ...แทบไม่ที่ติเลย เมื่อพิจารณาในทุกส่วนของหนัง
และเมื่อนำมาทาบดู ส่องผ่านแว่นเทรนด์ของหนัง ซึ่งถูกจริตออสการ์ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อันว่าด้วย เรื่องราวของ Minority คนชายขอบ
ขอฟันธงว่า บนเวทีออสการ์ 2024 Killers of the Flower Moon จะชนะ Oppenheimer ของ "เสด็จพ่อโนแลน”....เสด็จพ่อโนแลน จะสู้ สังฆราชสกอร์เซซี ได้ไง!
อ่านบทความ "นันทขว้าง สิรสุนทร" เพิ่มเติม :