“รับหิ้วสินค้าค่ะ
เข้า SHOP พรุ่งนี้ตอนห้างเปิด
ราคาหิ้วชิ้นแรก 80 บาท ชิ้นต่อไป 70 บาท
ค่าส่งคิดตามน้ำหนัก หรือนัดรับบีทีเอสทุกสถานี
ขอคนที่สะดวกโอน
สนใจ INBOX มานะคะ”
ท่ามกลางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนผัน ได้ผุดช่องทางการทำเงินรูปแบบใหม่ จากบรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่เคยเปิดร้านช็อปปิ้งออนไลน์ ตุนสต๊อกของจนบางเจ้าเจ๊งไม่เป็นท่า แปรเปลี่ยนหันมาเป็นพ่อค้าคนกลาง รับหิ้วสินค้าของแบรนด์ชั้นนำที่ขยันตั้งโปรโมชั่นลดราคากันแบบกระหน่ำซัมเมอร์เซลส์ชนิดที่เรียกได้ว่าไม่เกรงใจลูกค้าที่ซื้อราคาเต็มกันเลยทีเดียว ก่อนคิดราคาค่าหิ้วตั้งแต่หลักสิบไปจนถึงหลักพันต่อชิ้น เพียงแค่นี้ก็อยู่ได้สบาย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ พาไปเจาะลึกธุรกิจทำเงิน “รับจ้างหิ้วของ” เขาเรียกกันแบบนี้ ซึ่งมีหลายประเด็นที่น่าสนใจมาก และสิ่งที่ได้ยินแล้วสะดุดหูมากที่สุด ก็ตรงที่บอกว่า มีรายได้หลักแสนต่อเดือนนี่แหละ อ่านไม่ผิดหรอกที่บอกว่าได้เงินเป็นแสนบาทต่อเดือน หลายคนคงยังไม่เชื่อว่า อาชีพรับจ้างหิ้วของอะไร ทำไมถึงมีรายได้งามขนาดนี้ ดังนั้น ผู้อ่านต้องติดตามตั้งแต่บรรทัดนี้เป็นต้นไป...
...
ศึกษา รีวิว โฆษณา จัดส่ง แจงทุกขั้นตอนการรับหิ้วละเอียดยิบ
คุณเอ (ไม่ขอเปิดเผยชื่อสกุล) หญิงสาววัย 31 ปี ก้าวเข้าสู่อาชีพรับหิ้วของมาได้ 1 ปีแล้ว เธอเล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า จุดเริ่มต้นของการทำอาชีพนี้ เนื่องจากเห็นตามเพจโปรโมตสินค้าลดราคา มีคอมเมนต์รับหิ้วมากมาย จึงลองทำดูบ้างเพราะเธอไปซื้อของที่ช็อปนี้อยู่แล้ว และเผื่อว่าจะได้ค่าขนมเป็นส่วนลดเสื้อผ้าที่ต้องการอยู่ในงานนั้นด้วย เมื่อเห็นว่ารายได้ดี มีเวลาว่างให้ครอบครัว จึงหันมาทำอย่างจริงจัง โดยปัจจุบันเธอรับหิ้วสินค้าแฟชั่นทั่วไป เสื้อผ้า กระเป๋า นาฬิกา รองเท้า
คุณเอ ยังแจกแจงถึงขั้นตอนการรับหิ้วของด้วยว่า...
1. เริ่มต้นจากการหาข้อมูลว่า งานลดราคาจัดที่ไหน วันไหน เวลาอะไร เป็นสินค้าที่อยู่ในกระแสหรือไม่ เป็นช่วงที่ตลาดกำลังต้องการด้วยไหม เช่น รองเท้าผ้าใบที่ลดราคามากๆ หรือเสื้อผ้าแบรนด์นี้ที่ไม่เคยลดราคาเลยแล้วมาลดช่วงกลางปี
“แหล่งรับหิ้วสินค้าส่วนใหญ่ก็จะเป็นตามห้างสรรพสินค้าที่มีงานลดราคาทั่วไป ศูนย์สิริกิติ์ฯ ไบเทคบางนา เมืองทองธานี และงานลดราคาสินค้าอื่นๆ หรือตามประกาศที่แบรนด์ต่างๆ แจ้งส่วนลดลงบนสื่อโซเชียลมีเดีย ดังนั้น สิ่งที่เราต้องทำคือ ต้องติดตามเพจเฟซบุ๊ก หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่ให้ข้อมูลการลดราคาของแบรนด์สินค้า หรืองานลดราคา
รวมไปถึงสื่อเฉพาะของแบรนด์นั้นๆ ด้วย เพื่อจะได้ทราบว่าแบรนด์ใดมีโปรโมชั่นลดราคาบ้าง และนำข้อเสนอรับหิ้วสินค้าไปประชาสัมพันธ์ให้แก่ผู้ที่ต้องการ เช่น จะมีคนมาคอมเมนต์อยากได้สินค้าชิ้นนั้นชิ้นนี้ เราก็ไปตอบคอมเมนต์รับหิ้วสินค้า” แม่ค้าขาช็อป เผย
2. ต้องสร้างรีวิวการันตีความน่าเชื่อถือให้กับร้านรับหิ้วด้วยเช่นกัน เช่น ได้ของแน่นอน ราคาถูกใจ สินค้ามีสภาพดีไม่มีตำหนิเหมือนไปช็อปปิ้งด้วยตัวเอง โดยการทำแฟนเพจเฟซบุ๊ก สร้างแอคเคาท์ไอจี อ้างอิงรีวิวจากลูกค้าเก่าที่เคยใช้บริการ เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือว่าทางร้านไม่ได้หลอกลวงเอาเงินไปซื้อของให้ตัวเอง
3. เมื่อไปถึงร้านถ้าทางร้านเคยโปรโมตสินค้านั้นไว้อยู่แล้ว ลูกค้าก็จะสั่งกับคนรับหิ้วโดยตรงเลยว่าเอาชิ้นนี้ รุ่นนี้ และคนรับหิ้วไปหยิบสินค้าในร้านและจ่ายเงินได้ทันที คล้ายกับการรับพรีออเดอร์จากต่างประเทศ แต่จะต่างตรงที่ไม่ต้องรอนานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน แค่รอเข้าในงานลดราคาตามวันเวลาที่ระบุได้เลย
ส่วนการรับออเดอร์หน้างานในลักษณะที่อยู่ในร้านและมีลูกค้าสั่งของ และคนรับหิ้วไปหยิบมาถ่ายรูปให้ลูกค้าดูนั้น มีอยู่ตลอด เพราะต้องไปดูราคาในร้านด้วยว่าลดราคากี่เปอร์เซ็นต์เหลือราคาเท่าไร ซึ่งต้องถ่ายรูปไปให้ลูกค้าดูด้วยว่า สินค้าเป็นอย่างไร
4. เมื่อได้สินค้าเรียบร้อยก็จัดส่งทางไปรษณีย์หรือผู้ให้บริการส่งของรายอื่นๆ ได้ หรือส่งตามแนวรถไฟฟ้า สำหรับค่าจัดส่งนั้น ขึ้นอยู่กับจำนวนชิ้น ขนาดของสินค้า น้ำหนักสินค้า แบรนด์ต่างๆ และราคาส่วนลด
“ค่าหิ้วเริ่มต้นของร้านเรา 50 บาทขึ้นไป ตามความยากง่ายของสินค้าด้วย เช่น งานลดวันแรก งานแย่งชิงของกัน งานที่มีสินค้าจำนวนจำกัด ส่วนราคาค่าหิ้วสูงสุดหลักพันบาท หากเป็นสินค้าแบรนด์เนม อย่างกระเป๋าหลุยส์ ส่วนค่าส่งคิดตามจริง ไปรษณีย์อยู่ที่ราคา 40 บาทขึ้นไปแบบลงทะเบียน” คุณเอ อธิบายถึงเรตราคา
...
โดนเท! บทเรียนแม่ค้าใจดี ลูกค้าสั่งจองแต่หายเงียบ ของค้างสต๊อก
ด้าน น้องบี (ไม่ขอเปิดเผยชื่อสกุล) สาววัย 25 ปี นักศึกษาม.รัฐ ผู้ผันตัวมาเป็นแม่ค้ารับหิ้วพาร์ตไทม์ เผยว่า เกณฑ์การตั้งราคารับหิ้วขึ้นอยู่กับแบรนด์ หากคนสนใจเยอะราคาต้องสูงตามไปด้วย โดยค่าหิ้วเริ่มต้นที่ 20 บาทขึ้นไป หากเป็นเสื้อผ้าชุดละ 100 บาท ส่วนรองเท้าคู่ละ 100-150 บาท เหตุที่แพงเพราะมีข้อจำกัดในการหิ้วและสินค้าหนัก อาจจะหิ้วได้น้อยจึงต้องตั้งราคาสูง นอกจากนี้ ยังคิดค่าส่งต่างหากอีก 40 บาทด้วย
“บางทีไม่ได้ให้ลูกค้าโอนเงินมาก่อน เพราะเกรงใจหากไม่ได้ของต้องโอนคืนกันไปมา ทำให้ลูกค้าต้องเสียค่าธรรมเนียมฟรี เราก็เลยซื้อให้ก่อน และให้โอนมาทีหลัง แต่ก็เจอลูกค้าไม่โอนเงินมาหายเงียบอยู่บ่อยครั้ง ประมาณสัปดาห์ละ 2-3 คน เราก็เลยแคปและโพสต์ลงเพจ ติดแบล็กลิสต์ แต่ตอนนี้ไม่ทำแล้ว เราก็ต้องระวังมากขึ้น ถ้าเป็นคนอื่นก็คงให้โอนก่อนซื้อ แต่บางทีเราสงสารลูกค้าต้องเสียค่าธรรมเนียมแต่ไม่ได้ของ เราก็เลยเลือกเฉพาะลูกค้าประจำโอนช้าได้ ส่วนลูกค้าใหม่ให้โอนเงินก่อนซื้อ” นักหิ้ววัยเรียน เล่าถึงประสบการณ์โดนลูกค้าเท
...
ลูกค้าชอบสั่งหิ้วของ ไม่พึ่งสั่งออนไลน์ผ่านแบรนด์
เพราะเหตุใดลูกค้ามักจะฝากหิ้วสินค้า โดยไม่นิยมสั่งผ่านเว็บไซต์ออนไลน์ของแบรนด์นั้นๆ น้องบี ให้เหตุผลว่า ปัจจุบันนี้คนบ้าของเซลส์ที่เพจข่าวสารโปรโมชั่นของเซลส์เอามาโพสต์ ทำให้คนเกิดความรู้สึกว่าอยากได้ พอยิ่งมีคนมาคอมเมนต์เยอะว่าอยากได้ ร้านรับหิ้วสินค้าก็จะมาเสนอขาย อย่างไรก็ตาม หากเพจเซลส์ไม่โพสต์คนเหล่านี้ก็จะเฉยๆ
นอกจากนี้ ของเซลส์ไม่ได้มีในเว็บออนไลน์ของแบรนด์นั้นด้วย และที่สำคัญคนจะชอบเห็นสินค้าของจริงก่อนตัดสินใจซื้อ โดยที่เขาสามารถสอบถามทุกคำถามที่อยากรู้ได้ แต่ในขณะเดียวกัน หากเป็นเว็บออนไลน์ เขาไม่สามารถสอบถามรายละเอียดหรือพูดคุยกับพนักงานได้อย่างรวดเร็วทันใจ เพราะการฝากหิ้วของก็เหมือนส่งคนมาซื้อของแทนโดยที่ไม่ต้องเหนื่อยเดินทางหรือเสียเวลา
...
รายได้งาม! ช่วงพีคสุด หิ้วหลักร้อยชิ้นต่อวัน เงินเข้ากระเป๋าเหยียบแสนต่อเดือน
ทั้งนี้ แม่ค้ารับหิ้ววัย 31 ปี เปิดเผยว่า เคยรับหิ้วของสูงสุดถึงหลักร้อยชิ้นต่อวัน และมีรายได้เฉลี่ยตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักพันบาท แต่หากเป็นงานลดราคาที่เป็นกระแสและเจาะกลุ่มลูกค้าได้จริงๆ ได้ถึงหลักหมื่นบาทต่อวัน ส่วนรายได้ต่อเดือนช่วงพีคๆ เกือบแสนบาท ขณะที่บางร้านที่มีกลุ่มลูกค้าเยอะ รายได้ต่อเดือนเป็นแสนบาทก็มีให้เห็นมาแล้วด้วย แต่รายได้ก็ไม่แน่นอน บางวันไปแล้วไม่ได้สินค้าตามที่ลูกค้าต้องการ หรือของขาดตลาดก็มี โดยในแต่ละเดือนเธอไม่ได้ทำทุกวัน แต่จะมีหยุดบางวันที่ต้องนั่งแพ็กสินค้าส่ง
นอกจากค่าหิ้วแล้ว เธอยังได้ยอดจากบัตรเครดิตที่มีส่วนลดให้จากการซื้อสินค้า ได้แต้มสะสมของบัตรเครดิต ได้ส่วนลดเพิ่มจากเปอร์เซ็นต์ของธนาคารนั้นๆ รวมทั้งได้บัตรเมมเบอร์ส่วนลดในการซื้อสินค้าของแบรนด์อีกด้วย
ขณะที่ต้นทุนมีเพียงค่าเดินทาง ค่าน้ำมันรถ และค่าแรงการหาสินค้า หรือขนสินค้า และค่าใช้จ่ายจิปาถะทั่วไปไม่กี่บาทเมื่อเทียบกับรายได้ที่ได้มาก็ถือว่า เป็นอาชีพที่รายได้ดีอาชีพหนึ่งเลยก็ว่าได้
แต่อย่างไรก็ตาม อาชีพนี้ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน ปัญหาที่เจอส่วนมากจะเป็นการ “การดองจอง” ลูกค้าบางคนสั่งของแล้วแต่ยังไม่พร้อมโอนเงินมาต้องรออีก 2 วัน แต่จู่ๆ ก็หายเงียบไปเลยก็มี ซึ่งจะเสี่ยงตรงที่แม่ค้าได้ค่าหิ้วแค่ไม่กี่ร้อยบาท แต่ต้องมาซื้อของในราคาหลักพันให้ลูกค้าก่อน เรียกได้ว่าได้ไม่คุ้มเสียด้วยซ้ำ ซึ่งวิธีป้องกันส่วนใหญ่ของแม่ค้าบางร้าน จะระบุว่า ลูกค้าที่จะสั่งสินค้า จะต้องพร้อมโอนภายในกี่โมง หากไม่มียอดโอนเงินมาจะไม่ซื้อสินค้าให้ ซึ่งจะช่วยป้องกันลูกค้าเบี้ยวจองได้ หรือดวงซวยเจอจองแล้วไม่จ่าย ก็ต้องเอาสินค้าไปปล่อยต่อแทน
ขณะที่ แม่ค้าวัยนักศึกษา ให้ข้อมูลว่า รายได้ขึ้นอยู่กับความขยัน โดยเธอไม่ได้รับหิ้วของทุกวันและทั้งวัน แต่จะทำงานวันละ 4-5 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งจะมีรายได้ราว 1,000-1,200 บาทต่อวัน รับหิ้วมากที่สุดวันละประมาณ 10 ชิ้น
นอกจากนี้ น้องบี ยังแอบบอกอีกด้วยว่า มีเงินทุนแค่ 3,000 บาทก็เป็นแม่ค้ารับหิ้วได้แล้ว
เปิดลิสต์ 4 ข้อ เช็กพ่อค้าแม่ค้ารับหิ้ว แบบไหนไม่ถูกหลอกชัวร์
1. รีวิวการันตี : ต้องดูรีวิวการรับหิ้ว ว่า รับหิ้วมานานหรือยัง รีวิวจากลูกค้าเก่าการันตีได้ของชัวร์ ไม่โกง ถ้าไม่ได้สินค้าโอนเงินคืนแน่นอน
2. พวกโปรไฟล์ดี : เคยรับหิ้วสินค้าตัวไหนอยู่ในกระแสหรือที่เป็นความต้องการของตลาดบ้าง
3. จำนวนฐานลูกค้า : ดูว่ามีจำนวนลูกค้าในแฟนเพจเฟซบุ๊ก ในลูกค้าในกลุ่มไลน์รับหิ้วของร้านมีเยอะแค่ไหน
4. รับหิ้วราคาถูก ไม่ได้ดีเสมอไป : เพราะพ่อค้าแม่ค้าบางคน ตั้งราคาค่าหิ้วถูกเข้าไว้ล่อตาล่อใจลูกค้า แต่พอถึงเวลาโอนเงินไปให้ได้ของมาจริง แต่กลับไม่ส่งของให้เอาสินค้าไปใช้เอง และหายเข้ากลีบเมฆไปตามตัวไม่เจอก็มี
สำหรับในตอนต่อไป จะเป็นการนำเสนอเกี่ยวกับผลกระทบจากอาชีพรับหิ้วของ ใครจะได้รับผลกระทบบ้าง โปรดติดตามตอนต่อไป.