“นกน้อยจากท้องนาราคาถูก เธอเป็นลูก...ที่ถูกพ่อแม่ขายไป..”
เขาว่าบทเพลงยุคไหน...มักจะสะท้อนสังคมยุคนั้น... ซึ่งเพลง “แม่สาย” นี้ถูกขับกล่อมโดย “เทียรี่ เมฆวัฒนา” จากวงคาราบาว และดังสุดขีดในปี พ.ศ.2531
“อาสาม ไทม์แมชชีน” หนึ่งในทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้อ่านคดีค้ากาม จ.แม่ฮ่องสอน ที่ทางเจ้าหน้าที่เตรียมขอหมายจับ ข้าราชการระดับสูง โดยเฉพาะการถูกโยงไปถึงชื่อผู้ว่าราชการคนหนึ่ง ก็ทำให้ "อาสามฯ" หวนนึกถึงเพลงนี้อีกครั้ง...
แต่เมื่อนึกถึงเพลงนี้ ก็มีคำหนึ่งคำผุดขึ้นมาในหัว ทั้งที่ไม่ได้ยินได้ฟังมายาวนานกว่า 20-30 ปี แล้ว คำนั้นคือคำว่า “ตกเขียว”
คุณผู้อ่านทราบหรือไม่ คำว่า “ตกเขียว” หมายถึงอะไร หากยังไม่ทราบ “อาสาม” จะ “อาสา” พาไปทำความรู้จักพร้อมกับเรื่องราว “เน่าเฟะ” ที่เกิดขึ้นในอดีต เมื่อ 20-30 ปีก่อน

...
เปิดความหมาย "ตกเขียว" เงินซื้อตัวเด็กจากอกพ่อแม่ ก่อนส่งไปค้าประเวณี
ตามความหมายพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2554 ให้ความหมายคำว่า “ตกเขียว” หมายถึง วิธีการของนายทุนทำสัญญาซื้อขายข้าวหรือผลไม้ตามที่ตกลงกันไว้กับชาวนา ชาวสวน หรือ ชาวไร่ เมื่อข้าวลัดใบหรือผลไม้ยังอ่อนอยู่ โดยตกลงกันว่า นายทุนจะได้ข้าวเปลือกหรือผลไม้นั้นไปหลังจากนวดข้าวแล้วหรือเมื่อผลไม้นั้นแก่เต็มที่แล้ว เช่น ตกเขียวลำไย,
แต่อีกความหมายที่ซ่อนเร้นจากคำนี้ ก็อาจจะหมายถึง พ่อแม่รับเงินจากนายทุนซึ่งจ่ายเป็น “ค่าตัวเด็กผู้หญิง” ไว้ล่วงหน้า แล้วนายทุนจะมารับตัวเด็กเพื่อไปค้าประเวณีเป็นการใช้หนี้แก่นายทุน
เมื่อเข้าใจความหมายแล้ว “อาสามฯ” ขอพาทุกท่านย้อนเวลากลับไปยุคสมัยไร้ 4 จี ถนนหนทางยังเต็มด้วยฝุ่น สัมผัสวิถีชีวิต “ไกลปืนเที่ยง” และชาวบ้าน ชาวเมือง หรือ ชาวเขาในชนบทต้องเผชิญชะตากรรมสุดแสนโหดร้าย โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง

เปิดตำนาน “ตกเขียว” เด็กหญิงถูกตีตรวนจองเพื่อมาค้ากาม ตะลึง...ผลวิจัยเด็กมีความฝันเป็นโสเภณี
คำว่า “ตกเขียว” ถูกใช้อย่างกว้างขวาง และกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง ในยุคของรัฐบาล นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ช่วงปี พ.ศ.2536-2537 จึงต้องแก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วยนโยบายทางการศึกษา
กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ.2536 คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) แจ้งในที่ประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ สะท้อนปัญหาสังคมอย่างแจ่มชัดถึงขั้นวิกฤติทางวัฒนธรรมที่มีผลกระทบต่อบ้านเมือง เศรษฐกิจ และ สังคม โดยมีทั้งหมด 5 เรื่อง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ กรณีการวิจัยได้แยกแยะกลวิธีในการค้าประเวณี ซึ่งในประเทศนั้นได้ใช้วิธีส่งนายหน้าไปติดต่อขอซื้อเด็กจากพ่อแม่ หรือ มีพ่อแม่นำลูกมาขายโดยตรงแก่เจ้าหน้าที่และสถานประกอบการ หรือ มีการล่อลวงว่าจะหลอกไปทำงานร้านอาหาร และลงท้ายด้วยการบังคับการค้าประเวณี

ที่น่าตกใจคือ การได้สัมภาษณ์พ่อแม่ของเด็กที่ให้ลูกมาขายบริการทางเพศ ได้ระบุว่า “เมื่อลูกกลับบ้านแต่ละครั้ง แต่งตัวสวย มีทองหลายเส้น พูดคุยดี ไม่ถือตัว เป็นกันเองกับเพื่อนฝูง” แสดงให้เห็นว่าลูกสาวเหนือชั้นกว่าคนในหมู่บ้าน
...
ส่วนเด็ก ป.6 คนหนึ่งพูดกับครูว่า... “ถ้าหนูได้ไปใต้จริงๆ จะซื้อของมาฝากครู” และ “ครูอย่าล้อเล่น หนูจะได้เป็น...หรือไม่ได้เป็นก็ไม่รู้” ซึ่งคำตอบของนักเรียนหญิงชั้น ป.6 หลายคนชี้ให้เห็นว่าอยากไปขายบริการแม้จะบริสุทธิ์อยู่ ทั้งเป็นการแสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนว่าอาชีพนี้ดี เป็นความหวังและความใฝ่ฝันของเด็กนักเรียนชั้น ป.6
นายอาทร จันทวิมล รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในระหว่างการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการสังคมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 17 ก.พ.37 ตอนหนึ่งระบุว่า จากเอกสารข้อมูลระบุว่า หมู่บ้านที่มีเด็กหญิงเสี่ยงต่อการเป็นโสเภณีมีอยู่ 4 จังหวัด บางหมู่บ้านมีการจองตัวกันล่วงหน้าด้วยการมอบเงินให้พ่อแม่เด็กหญิงเหล่านั้น หรือ เรียกว่า “ตกเขียว” เรียบร้อยแล้ว ในบางพื้นที่ยังระบุปลายทางของการเป็นโสเภณี ไม่ว่า หาดใหญ่ มาเลเซีย หรือ ญี่ปุ่น ส่วนต้นทางนั้นมาจาก 4 จังหวัด ซึ่งทุกจังหวัดล้วนอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือทั้งสิ้น

แฉข้าราชการตัวดี ไปที่ไหนต้องถึงที่นั่น ลูกกระจ๊อกวิ่งโร่หาเด็กบำเรอ
...
9 กรกฎาคม 2536 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) ได้จัดสัมมนาในหัวข้อหนึ่ง โดยมี นายเอกวิทย์ ณ ถลาง อดีตเลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กล่าวตอนหนึ่งถึงกรณี “ตกเขียว” ว่า หญิงโสเภณีมักจะถูกลงโทษอยู่เสมอ แต่กลับไม่เคยลงโทษผู้ชาย ดังนั้น จะต้องเปลี่ยนค่านิยมในเรื่องนี้ อย่างเช่น ผู้ชายไปเที่ยวที่ไหนจะต้องให้ถึงจังหวัดนั้น ด้วยการเที่ยวผู้หญิงที่นั่น
“ข้าราชการผู้ใหญ่ของไทยนี่แหละตัวดีไปตรวจเยี่ยมดูงานที่ไหน จะมีข้าราชการผู้น้อยจัดผู้หญิงมานำเสนอ บางคนคืนละ 2 คน ชี้ให้เห็นถึงระบบอุปถัมภ์ให้คุณให้โทษในระบบราชการ เรื่องนี้มีอยู่ทุกวงการ เวลาไปไหนก็จะมีคนวิ่งโร่หาผู้หญิงมาให้บำเรอ ถ้าไปเมืองเล็กหาไม่ได้ก็เอารถไปรับจากเมืองใหญ่ ข้าราชการผู้ใหญ่คนไหนไม่เอา ก็จะถูกกล่าวหาว่าทำตัวเป็น ฤาษี...ไม่ได้เรื่อง” นายเอกวิทย์ กล่าวในตอนนั้น..
ขณะที่นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ ส.ส.พะเยา (ขณะนั้น) ได้กล่าวตอนหนึ่ง เมื่อวันที่ 24 ก.พ.37 ในระหว่างแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลว่า จากการสำรวจข้อมูลในจังหวัดพะเยา พบว่า เอเย่นต์จะติดต่อกับทางพ่อแม่ของเด็ก โดยให้ราคา 10,000 บาท, 30,000 บาท และ 50,000 บาท ต่อคน หลักเกณฑ์จะดูตามความสวย ผิวพรรณ ซึ่งการซื้อขายจะไม่มีการทำสัญญา และไม่กำหนดระยะเวลา เอเย่นต์จะไม่กล้าเบี้ยวเพราะจะเป็นคนมีอิทธิพลในจังหวัด ถ้าต้องการไถ่ตัว ค่าตัวจะเพิ่มขึ้นเป็นเงินหลักแสนบาท โดยจะมีการบวกเงื่อนไขไปมากมาย ทำให้พ่อแม่ไม่สามารถไถ่ตัวได้ และจะเป็นหนี้ผูกมัดจนกว่าเด็กจะโทรมจึงจะปล่อยตัว

...
ตัวอย่างเด็กหญิง รอดเงื้อมมือแก๊ง “ตกเขียว” เพราะได้ทุนการศึกษา...
“ที่บ้านของหนูมีฐานะยากจน เมื่อเรียน จบ ชั้น ป.6 พ่อแม่บอกว่าไม่ต้องเรียนต่อ เพราะไม่มีเงินส่งเสีย ตอนนั้นในหมู่บ้านมีการชักชวนเด็กให้ไปเป็นโสเภณีกันมาก พ่อแม่เองก็เห็นด้วยที่จะให้หนูไปเป็นโสเภณี แต่ด้วยความไม่อยากทำอาชีพนี้จึงได้ขออาจารย์ให้ช่วยได้เรียนต่อ...
…ในหมู่บ้านมีเด็กรุ่นเดียวกันไปเป็นโสเภณีจำนวนมาก เพราะถูกชวนจากแม่เล้าที่เป็นคนไทย ที่เคยไปทำงานที่ญี่ปุ่น แถมผู้หญิงที่มีครอบครัวแล้วก็ยังไปเป็นโสเภณี ทำให้ในหมู่บ้านเหลือแต่เพียงเด็กเล็กกับคนแก่เท่านั้น...เมื่อมากรุงเทพฯ ผ่านย่านพัฒน์พงษ์เห็นฝรั่งเที่ยวโสเภณีแล้วรู้สึกเสียใจมาก และอยากบอกชาวต่างชาติให้บอกคนในประเทศของตนว่าอย่าเห็นคนไทยเป็นที่ระบายความใคร่ และอย่าทำลายอนาคตของคนไทยด้วยการมาเที่ยวโสเภณีอีกเลย” นี่คือเสียงจากเด็กสาว วัย 15 ปี ที่รอดพ้นจากขบวนการนี้


ทางแก้ปัญหา “ตกเขียว” รัฐบาล(ตอนนั้น)เน้นมอบโอกาสทางการศึกษา
สำหรับเรื่องตกเขียวนั้น นายชวน นายกรัฐมนตรี ขณะนั้นได้มอบนโยบายให้หลายหน่วยงานร่วมแก้ไขปัญหา แต่ที่เน้นหนักคือ ก.ศึกษาธิการ โดยกำชับให้ ก.ศึกษาฯ แก้ปัญหาด้วยการขยายโอกาสทางการศึกษา นอกจากนี้ควรใช้วัดช่วยอบรมจริยธรรมและศีลธรรมในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่ที่นิยมส่งลูกสาวไปขายตัว ได้มีส่วนช่วย
“ปัญหานี้ยอมรับว่าไม่สามารถแก้ได้ในวันเดียว เพราะเรื้อรังมานาน แต่ก็มีแนวโน้มดีขึ้น ส่วนเด็กจะเรียนต่อได้มากขึ้นแค่ไหนขึ้นอยู่กับ กระทรวงศึกษาฯ แต่การปล่อยให้นักเรียนตกเขียวไม่เรียนต่อถือเป็นความบกพร่องของหน่วยงานที่รับผิดชอบ” นายชวน กล่าว เมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2537
โดยหลังจากมีนโยบายลงมา ก็ได้มีการระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ ทำความเข้าใจกับพ่อแม่และประชาชนจนทำให้ปัญหานี้ดีขึ้น ค่านิยมผิดๆ เริ่มลดน้อยลงค่อยๆ เลือนหายไป จนคนทั่วไปลืมคำว่า “ตกเขียว” ไปแล้ว แต่วลี “ไปเที่ยวจังหวัดไหน...ต้องให้ถึงจังหวัดนั้น!” ก็ยังคงอยู่ รวมไปถึงค่านิยม “เอาใจนาย” ด้วยการส่งเด็กบำเรอกามนั้น ยังมีอยู่หรือไม่ คิดว่าคุณผู้อ่านคงรู้อยู่แก่ใจ