“สวัสดีค่ะ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ เรื่องของเรื่องคือ เมื่อวันอาทิตย์ลูกสาวชวนไปซื้อของเล่น และบอกว่าตอนนี้ฮิตมากๆ ใครไม่รู้จักถือว่าเชย ใครไม่มีถือว่าเอาต์ พอมาถึงร้าน ดิฉันก็เห็นมีเด็กๆ เลือกซื้อกันแน่นร้าน และทยอยมาเรื่อยๆ

ตอนเลือกซื้อ ลูกดูยิ้มแย้ม ดีใจและมีความสุขมาก คนเป็นแม่เห็นลูกมีความสุขก็สุขใจไปด้วยค่ะ สักพักลูกเดินมาพร้อมของในมือ 3 ชิ้น เราพากันไปจ่ายเงิน คนขายบอกสี่พันกว่าบาท ดิฉันอึ้งกิมกี่ รีบถามย้ำอีกที และภาวนาขอให้ฟังผิด .... แต่ก็ได้คำตอบเดิม

ดิฉันครุ่นคิดอยู่นานว่าจะซื้อดีไหม เพราะเงินตั้งเกือบครึ่งหมื่น แต่ถ้าไม่ซื้อให้ ลูกคงเสียใจแย่ สุดท้ายดิฉันตัดใจควักเงินจ่ายอย่างจำนน ด้วยเหตุผลว่าเทอมที่ผ่านมาลูกสอบได้คะแนนดี และไม่เคยเอ่ยปากขอให้ซื้อของเล่นให้หลายปีแล้ว

มาทราบจากลูกภายหลังว่าของเล่นนี้คือ สกุชชี่ ดิฉันจึงอยากให้ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ช่วยไขข้อสงสัยให้กระจ่างทีว่าไอ้ของเล่นนี้ มีดีอะไร... ทำไมราคาโคตรแพงสุดๆ... สีสันก็ฉูดฉาด ไม่รู้จะเป็นอันตรายไหมคะ

จากจดหมายของแฟนไทยรัฐออนไลน์ฉบับดังกล่าว วันนี้ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ได้เชิญเจ้าของสกุชชี่แบรนด์ไทยที่ส่งขายทั่วโลก และอาจารย์ภาควิชาเคมี  ม.เกษตรศาสตร์ มาให้คำเฉลย เคลียร์ชัดๆ กับทุกประเด็นข้อสงสัย...

...

รู้หรือไม่? ต้นกำเนิดมาจากวงการแพทย์

5 เดือนที่แล้ว ‘แสตมป์’ หรือ ศิวกร สมบูรณ์ เปิดร้านขายกิ๊ฟช็อปที่ อ.เมือง จ.น่าน ลูกค้าเด็กประถมฯ 1-6 หลายๆ คน มักถามเขาบ่อยๆ ว่ามีสกุชชี่ขายไหม... เลยเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาศึกษาเกี่ยวกับสกุชชี่อย่างจริงจัง ทำให้รู้ว่าฮิต ฮอตในเด็กไทย จึงสร้างแบรนด์ StampBrand Kitz เป็นของตัวเอง ออกแบบและสั่งทำจากจีน ขายออนไลน์ไปทั่วโลกผ่านไอจี

“ที่ฮิตเพราะปัจจุบันเด็กๆ ตามรีวิวในโลกโซเชียลกันเยอะ เพื่อนมีก็อยากมีบ้าง อยากเป็นที่ยอมรับของสังคม บางคนมีเพื่อสร้างความมั่นใจให้ตัวเอง” แสตมป์เริ่มบทสนทนากับทีมข่าวฯ โดยวิเคราะห์จากประสบการณ์ที่ได้พูดคุยกับลูกค้า

และกล่าวกับทีมข่าวฯ อีกว่า สกุชชี่นั้น มีต้นกำเนิดจากฝั่งอเมริกา เมื่อก่อนเป็นของใช้ทางการแพทย์ สำหรับบีบเพื่อบริหารกล้ามเนื้อของคนป่วยที่เป็นอัมพาต ในไทยเข้ามาเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ตอนนั้นกระแสเงียบ แต่มาเริ่มฮิตไม่กี่ปีนี้เอง

เป็นแค่ฟองน้ำบีบเล่น แต่ราคามหาโหด

สกุชชี่เป็นฟองน้ำที่มีรูปร่างหน้าตาหลากหลายแบบ หลายขนาด เช่น ขนมปัง ตุ๊กตา หรือผลไม้ ได้รับความนิยมสูงในเด็กตั้งแต่ 4 ขวบ - 15 ปี บางชิ้นหากเป็นของแท้มีลิขสิทธิ์และนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ยี่ห้อ I-Bloom (ไอบลูม) ราคาสูงหลักพัน ดังที่ผู้สื่อข่าวได้รวบรวมมาบางส่วนจากสกุชชี่เกือบ 200 ชิ้นที่ประกาศขายในโลกออนไลน์

- ขนมปังแผ่นไอบลูม นุ่ม สโลว์ แผ่นใหญ่จัมโบ้ ชิ้นละ 590 บาท
- กล้วย dipped ไอบลูม หอม นุ่ม สโลว์ ชิ้นละ 650 บาท พร้อมส่ง
- ขนมปังไอบลูมกลม ก้อนโต หอม นุ่ม สโลว์ ชิ้นละ 890 บาท
- สกุชชี่ Panda Egg (Super Soft) ขนาด 15 cm ราคา 1,100 บาท
- สกุชชี่ Pat Pat Zoo สีชมพู ขนาด 15 cm ราคา 1,290 บาท

กับข้อสงสัยนี้ แสตมป์ทำหน้าครุ่นคิดก่อนให้ทรรศนะแบบไม่หมกเม็ดกับผู้สื่อข่าวว่าจากการที่เขาสร้างแบรนด์มาขายเองทั้งในไทยและอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น อเมริกา ออสเตรเลีย ฮ่องกง สิงคโปร์ พบว่านอกจากลิขสิทธิ์ที่ทำให้ราคาสูงแล้ว ต้นทุนการผลิตก็มีส่วนด้วยเช่นกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดของสกุชชี่ที่มีตั้งแต่ 4 - 30 ซม. ในจีนสกุชชี่ขนาด 8-10 ซม. ใช้เงินลงทุน 5 แสน ถ้า 15 ซม. ใช้เงินถึงล้านกว่าบาท และผลิตขั้นต่ำ 3 พันชิ้น

สำหรับสกุชชี่ในไทย ทีมข่าวฯ ได้ลงพื้นที่ไปสำรวจตลาดพบว่ามีหลายเกรด ถ้าวางขายในสำเพ็งจะเป็นของมาจากจีน เด็กไทยในต่างจังหวัดนิยมซื้อพวงกุญแจสกุชชี่ขนมปัง ราคาไม่แพงมาก 20 - 60 บาท สกุชชี่ของแท้นั้นเนื้องานละเอียดกว่า แพ็กเกจสวย แบรนด์ฮิตติดตลาดคือ ไอบลูม ผลิตในญี่ปุ่นมา 20 กว่าปี ถือว่าเป็นเจ้าแม่สกุชชี่ 

...

สูงค่า หาซื้อยาก หลักการตลาดล่อให้ตกเป็นเหยื่อ

ทำไมเด็กๆ ถึงอยากเล่นสกุชชี่... ผู้สื่อข่าวจึงออกไปสอบถามความรู้สึกกับเด็กๆ ที่มาซื้อสกุชชี่ในร้านดังแห่งหนึ่งในห้างย่านลาดพร้าว พบว่า

1. ความน่ารัก เพราะสกุชชี่บีบแล้วนุ่มนิ่ม ความนุ่มยังแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ Standard, Soft, Super Soft และ ‘สโลว์’ คือ คืนตัว คลายตัวอย่างเชื่องช้า

2. ความหลากหลายของรูปร่างและลาย เช่น แพนด้า ขนมปังปอนด์ ไอศกรีม แยมโรล เค้ก ปลาวาฬ มิลลี่ คิตตี้ และตัวการ์ตูนดังๆ จาก Disney โดยเฉพาะสกุชชี่จากญี่ปุ่นออกลายมาแต่ละทีแห่กันซื้อจนบางชิ้นบางลายกลายเป็นของสูงค่า เพราะเลิกผลิต พอหายาก ราคาก็แพง เลื่อนระดับเป็นสกุชชี่แรร์

...

"แรร์" คือ ของเก่า ของหายาก ผลิตมานาน หาซื้อไม่ได้แล้ว คือ พวกลิมิเต็ด ราคาห้าพันบาทต่อชิ้น บางชิ้นเกือบหมื่นบาท ราคาสูงถึงขั้นเอาไปประมูลกันก็มี

ราคาแพงสุดที่เคยเห็นเป็นลูกพีชสีทอง ลูกละแสนบาท แต่คิดว่าตั้งราคาแพงเพื่อไม่ให้ใครกล้าซื้อ ตั้งราคาสูงก็เหมือนไม่อยากขายอยู่แล้ว เพื่อคุณค่าที่สูงขึ้น ให้คนอยากเอาไปเก็บสะสมเป็นโมเดลตั้งโชว์เพื่อความสุขทางใจ” แสตมป์กล่าวทิ้งท้าย

พ่อแม่ควรรู้! ค่านิยมซื้อของแพงอวดเพื่อน เตือนลูกอย่างไร

กับข้อสงสัยนี้ รวมถึงของแพงประเภทอื่นๆ ด้วยนั้นทีมข่าวฯ ได้โทรสอบถาม พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ชี้แจงว่าเหตุที่เด็กบางคนอยากโอ้อวด เพราะขาดความมั่นใจ จึงหาสิ่งอื่นมาชดเชยให้รู้สึกดี สิ่งใดที่ทำให้เกิดการยอมรับจากคนอื่นก็จะทำ จะได้รู้สึกว่าไม่แตกต่างจากคนอื่น บางคนมีของแพงแล้วเพื่อนให้ความสำคัญ มาชื่นชม เด็กจึงรู้สึกดี

...

เพื่อนมีก็ต้องมี ความคิดนี้ไม่ได้เป็นโรค เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องการการยอมรับ เด็กหลายคนพยายามไขว่คว้าหาการยอมรับ เพราะไม่ค่อยได้รับการยอมรับในสิ่งที่เป็นตัวตนของตัวเอง ต้องใช้เปลือกนอกมาทำให้ได้รับการยอมรับ

การอยากมีอยากใช้ของแพงๆ  สังคมเพื่อนฝูงก็เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เด็กเกิดการเลียนแบบได้เช่นกัน ฉะนั้นพ่อแม่ควรส่งเสริมการยอมรับสิ่งที่เป็นภายใน ไม่ว่าจะเป็นคุณลักษณะนิสัยที่ดี มีน้ำใจ ชอบช่วยเหลือคนอื่น เรียนดีหรือเล่นดนตรีเก่ง เมื่อเด็กมีความมั่นใจในตัวเองพอ ก็ไม่จำเป็นต้องแสวงหาการยอมรับโดยมีของแพงไปอวดคนอื่น

“พ่อแม่มีหน้าที่เสริม หรือทำให้ลูกเชื่อมั่นในตัวเอง มีความรู้สึกดีในทางบวกกับเรื่องอื่น เช่น ชื่นชมเขาในสิ่งที่เขามีดี ต้องหนักแน่น มั่นคง ไม่สนับสนุนให้ซื้อของแพงไปอวดเพื่อน พูดให้เข้าใจเหตุผลและชวนทำกิจกรรมอื่น ก็จะช่วยให้ลูกเข้าใจการผิดหวังได้ดีขึ้น” พญ.จิราภรณ์กล่าวสรุป

นักวิทย์เตือน บีบๆ ดมๆ เสี่ยงร่างกายเติบโตช้า

การทำสกุชชี่เริ่มจากสร้างแบบ แกะสลักเป็นหุ่นโมเดลเพื่อเอาไปทำแม่พิมพ์ แล้วหล่อให้แห้งตามสูตรลับว่าต้องการให้นุ่มและยืดหยุ่นแค่ไหน จึงลงสีและรายละเอียด

ในมุมวิทยาศาสตร์ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ อ.อ๊อด อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ เผยว่าสกุชชี่นั้นส่วนใหญ่ทำมาจากยางพารา หากเป็นของแท้ที่ผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) นั้นมีความปลอดภัยสูง แต่ก็ต้องแลกกับราคาที่สูงเช่นกัน

ที่น่ากังวลเพราะเป็นอันตราย คือ ของก๊อบที่ลดต้นทุนด้วยการลดคุณภาพ บางส่วนทำจากยางสังเคราะห์กลุ่มสไตรีน โพลีสไตรีน โพลียูรีเทน ใส่สารเติมแต่งที่ใช้ในสีสันที่ฉูดฉาดและกลิ่นหอมหวลชวนดม แม้อาจใช้สารตัวเดียวกับของจริง แต่ความบริสุทธิ์ต่างกัน

ความต่างนี้จะมีตัวทำละลายอินทรีย์ปนเข้าไป มีโลหะหนักที่หลุดจากสีที่ไม่ได้มาตรฐานส่งผลต่อการเจริญเติบโตช้า กลิ่นเป็นกลิ่นเคมีสังเคราะห์ ถ้าคนแพ้จะแสดงอาการทันที มีผดผื่น ระคายเคือง โดยเฉพาะคนที่เป็นลมบ้าหมู สารเคมีจะไปกระตุ้นให้ร่างกายชักดิ้นชักงอ

“พวกหัวใสที่อยากค้ากำไรจากการบูมของสกุชชี่ก็จะทำของปลอมขึ้นมา ใช้ส่วนผสมเกรดต่ำ คุณภาพต่ำ และไม่ผ่าน มอก. มีส่วนผสมของโลหะหนัก สกุชชี่บางชิ้นเป็นขนมปังปอนด์ หรือแผ่น ทำเหมือนของจริงมาก เด็กอาจกัดกินได้

การเล่นโดยบีบๆ สีและกลิ่นจะติดมือ ถ้าไม่ล้างมือ สารพวกนี้ก็เข้าปาก ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก ระบบการทำงานของต่อมไร้ท่อ ระบบประสาททำงานช้า” อ.อ๊อดแนะด้วยสีหน้าห่วงใย

แล้วประโยชน์ที่ได้จากการเล่นสกุชชี่ล่ะ มีคุณค่ามากน้อยเพียงไร...

แม่เด็กคนหนึ่งชี้ว่าตอนลูกอายุ 4 ขวบ บีบเล่นซ้ำๆ ก็ช่วยฝึกพัฒนาการกล้ามเนื้อมือให้แข็งแรง หยิบจับสิ่งของได้สะดวกขึ้น และช่วยสร้างจินตนาการ เพราะมีชุดตกแต่งตามสไตล์ตัวเองขายด้วย แต่ผู้ปกครองอีกนับหลายสิบคนมองว่า แพงและไร้ประโยชน์อย่างสิ้นเชิง แถมมีอันตรายด้วยซ้ำจากสีและกลิ่นที่ผสมลงไป

สกุชชี่เหมือนฝันร้ายของคนเป็นพ่อเป็นแม่ เพราะมันคือของเล่นตามกระแส ไม่นานคงเอาต์เหมือนตุ๊กตาบลายธ์ แต่กว่าจะถึงวันนั้นคงหมดเงินไปหลายหมื่น จากบทสนทนากันในวันนี้ คงช่วยตัดสินใจว่าควรซื้อสกุชชี่ให้ลูกหรือไม่